วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โรงเรียนลำไพลราษฎร์อุทิศ จิตสำนึกเริ่มขึ้นได้ แค่ลงมือทำ

ท่ามกลางร่มไม้เขียวโดยรอบบริเวณโรงเรียน เสียงน้องๆ เจื้อยแจ้วพร้อมชี้ชวนให้ดูฐานการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมต่างๆ ภายในโรงเรียนลำไพลราษฎร์อุทิศ โรงเรียนระดับประถมศึกษา ในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ที่มีนักเรียนทั้งไทยพุทธและมุสลิมกว่า 150 คน และเป็นโรงเรียนมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ซึ่งเข้าร่วมโครงการโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม เฉลิมพระเกียรติ "ตามรอยเท้าพ่อ..กับฮอนด้า" ในครั้งที่ 5 ต่อเนื่องมาถึงครั้งที่ 6

ด.ญ.สุฑารัตน์ สาดเอี่ยม หรือน้องแบ็มซ์ นักเรียนชั้น ป.6 เริ่มต้นเล่าถึงกิจกรรมการจัดการขยะภายในโรงเรียนให้ฟังว่า "กิจกรรมเก็บขยะทำได้ไม่ยากค่ะ หนูกับเพื่อนๆ อยู่ที่บ้านก็ทำกันทุกคน พ่อแม่เองก็สนับสนุน เพราะทำได้ไม่ยากและยังเพิ่มรายได้ให้กับเราเองด้วย ขยะที่แยกก็ เช่น พวกเปลือกไข่ กล้วย เปลือกผลไม้ ใบไม้ต่างๆ จะแยกไว้สำหรับทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ส่วนพวกขยะขวดน้ำ แก้วน้ำพลาสติก ที่นำไปรีไซเคิลได้ ก็จะแยกไว้สำหรับนำไปขาย ทำให้มีรายได้เสริม หรือบางส่วนก็แยกไว้สำหรับทำชิ้นงานสิ่งประดิษฐ์นำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก

หากย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน เราอาจไม่ได้เห็นภาพโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ที่สะอาดเอี่ยมไร้ขยะเช่นทุกวันนี้ ต้องขอบคุณครูราตรี เนาวรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่เป็นผู้ปลุกปั้นและเป็นแม่แบบให้กับคุณครูและนักเรียนในโรงเรียนได้จัดระเบียบและมีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม ครูราตรี เล่าว่า "ที่เข้าร่วมโครงการกับฮอนด้า เพราะต้องการปลูกจิตสำนึกเยาวชนและถือเป็นการกระตุ้นตัวเองไปในตัวให้ลงมือทำอย่างจริงจัง โดยตอนแรกโครงการฯ จะจัดให้ไปเข้าค่ายเพื่อเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและเสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเน้นไปที่ด้านขยะ น้ำและพลังงาน หลังจากนั้นก็จะมีนักวิชาการและเจ้าหน้าที่โครงการฯเข้ามาเยี่ยมชมโรงเรียนเพื่อเติมเต็มความรู้และให้คำแนะนำ ซึ่งเราก็ได้นำคำแนะนำมาปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น โดยล่าสุดคือ การปรับปรุงบ่อดักไขมันหลังโรงเรียนในบริเวณที่ล้างจาน ที่ทำให้เป็นระบบมากขึ้น ให้สามารถดักกรองไขมันและเศษอาหารก่อนระบายน้ำสู่ท่อ เพื่อจะได้ไม่ปล่อยให้น้ำเสียลงสู่แม่น้ำเป็นภาระของชุมชน และสุดท้ายก็จะมีคณะกรรมการโครงการเข้ามาประเมินว่าโรงเรียนของเราผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของโครงการฯหรือไม่

"ตอนที่เข้ามารับหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนแรกๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เจอก็คือ เรื่องขยะและการขาดแคลนน้ำ เพราะคนในละแวกนี้และในหมู่บ้านยังไม่มีการปลูกฝังเรื่องการเก็บและคัดแยกขยะ ยังมี พฤติกรรมการเผาทำลายและทิ้งขยะไม่เป็นที่ เมื่อเราเข้าร่วมโครงการกับฮอนด้า สิ่งแรกที่ทำเลยคือจัดการกับปัญหาหลัก 2 ด้านนี้ โดยเริ่มที่โรงอาหารก่อน จัดมาตรการยกเลิกการจำหน่ายขนมกรุบกรอบที่เป็นถุงๆ ภาชนะใส่อาหารกลางวันก็เปลี่ยนเป็นถาดหลุม ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก แล้วหันมาใช้ใบไม้ เช่น ใบตองและใบเล็บครุฑ มารองอาหารหรือนำมาทำเป็นภาชนะห่ออาหารแทน ส่วนเรื่องการจัดการน้ำและพลังงาน ก็จะรณรงค์ให้นักเรียนและคุณครูช่วยกันประหยัดน้ำและไฟ โดยน้ำที่ใช้จากการแปรงฟันและการละหมาดจะนำไปหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์โดยใช้รดน้ำต้นไม้

ตอนนี้ในละแวกใกล้เคียงยังไม่มีโรงเรียนไหนที่รณรงค์หรือกำหนดมาตรการจัดการสิ่งแวดล้อมเหมือนเช่นโรงเรียนลำไพลราษฎร์อุทิศ แต่คุณครูก็ใช้ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับชุมชนในการรณรงค์สร้างเครือข่ายสิ่งแวดล้อม โดยให้นักเรียนในโรงเรียนเป็นตัวเชื่อมประสาน บอกต่อและนำวิธีการคัดแยกขยะ รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมง่ายๆ ไปใช้ที่บ้าน โดยจัดกิจกรรมประกวดครอบครัวสิ่งแวดล้อม ให้นักเรียนและครอบครัวที่เข้าร่วมกิจกรรมประกวดบ้านสะอาด คัดแยกขยะ และประหยัดไฟฟ้า โดยคุณครูจะไปตรวจเยี่ยมบ้านและตัดสินรางวัล บ้านไหนที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมดีเด่นก็จะให้รางวัลเป็นเกียรติบัตร นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่โรงเรียนทำร่วมกับชุมชน คือ ถนนไร้ขยะ จากปากทางเข้ามาที่หมู่บ้าน ซึ่งชุมชนก็ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดบริเวณหน้าบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของตัวเอง

"ทุกเช้าพวกเราก็จะเดินมาโรงเรียนแทนการให้ผู้ปกครองขับรถมารับมาส่ง โดยจะรวมกลุ่มกันเป็นบ้านๆ หมู่บ้านทางเหนือ ใต้ ออก ตกแล้วเดินแถวมาโรงเรียนพร้อมกัน เดินทางทางเดียวกันไปด้วยกัน ก็จัดเป็นกิจกรรมประหยัดพลังงานรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ก็จะพยายามปิดไฟ ปิดพัดลมเมื่อไม่ใช้ และยังมีห้องเรียนธรรมชาติท่ามกลางสวนและต้นไม้ที่จะใช้เป็นที่เรียนรู้นอกห้องเวลาอากาศร้อนๆ ด้วยค่ะ" น้องแบมซ์กล่าวเพิ่มเติม

"เชื่อว่าจิตสำนึกที่ดีต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังเยาว์ คนที่รักสิ่งแวดล้อมจะไม่ทำอะไรเพื่อตัวเอง อย่างน้อยเด็กหนึ่งคนจากเราถ้ามีกำลังมากพอก็สามารถที่จะเป็นแกนนำในการขยายเผยแพร่เรื่องสิ่งแวดล้อมต่อไป ดังนั้นการปลูกฝังที่ดีที่สุดคือ ต้องเริ่มตั้งแต่โรงเรียนและครอบครัว เราต้องเชื่อและต้องทำให้เขาเห็นเป็นแบบอย่าง การที่โรงเรียนประสบความสำเร็จด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ ก็เป็นเพราะ

ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งจากคุณครูทุกคนและชุมชน ที่เขาเอาใจใส่ร่วมกับเรา เมื่อเขาเห็นเราทำจริง เขาก็จะทำตามและเต็มที่ด้วย ทุกวันนี้เมื่อเดินผ่านขยะก็อดไม่ได้ที่จะเก็บเองทุกชิ้น" ครูราตรีกล่าวปิดท้าย

จากสิ่งที่ได้เห็นในวันนี้ ทำให้มั่นใจได้ว่า จิตสำนึกที่ดีๆนั้น จะเริ่มขึ้นได้โดยง่ายหากพวกเราจะช่วยกันลงมือทำอย่างจริงจัง โดยไม่เกี่ยงว่า ผู้ทำจะต้องเป็นเพศหญิง หรือ เพศชาย และ ไม่ต้องถูกบังคับว่า เขาเหล่านั้นจะเป็น ผู้ใหญ่ หรือเด็ก ทุกคนล้วนแต่จะทำให้ จิตสำนึกที่ดีกลายเป็น ภาพจริงที่ยอดเยี่ยมได้ทุกช่วงเวลา

source : http://www.naewna.com/news.asp?ID=274785

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น