วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เจาะนโยบายพลังงาน เพื่อไทย “พิชัย นริพทะพันธุ์” “อย่าเพิ่งไปปิดช่องทางนิวเคลียร์เพราะอาจจะจำเป็น”

สำรวจจุดยืนพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานและโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ผ่านปากคำของ พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ซึ่งเขาเชื่อว่าถึงที่สุดแล้ว ประเทศไทยไม่สามารถปฏิเสธโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ เพียงแต่ว่าเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไหร่

นโยบายด้านพลังงานของพรรคเพื่อไทยโดยรวมๆ แล้วเป็นอย่างไร
คือปัญหาพลังงานเป็นเรื่องอนาคตระยะยาว เป็นปัญหาที่เราจะต้องปูพื้นฐานตั้งแต่ปัจจุบัน เรามองว่าต้นทุนของพลังงานจะขึ้นไปสูงมากในอนาคต เพราะเหตุการณ์ผันผวนในตะวันออกกลางน่าจะเป็นปัจจัยหลัก เราจึงมองการปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบว่าจะแก้ปัญหายังไง
อย่างเช่นเรื่องภาคการขนส่งที่ใช้น้ำมันดีเซลกันเยอะ ต้องปรับมาใช้เอ็นจีวีหรือไม่ ซึ่งเรามีนโยบายว่าต้องปรับมาใช้เอ็นจีวี เพราะเราสามารถคุมได้ในประเทศและราคาถูกกว่า หรือรถยนต์ส่วนบุคคลจะปรับมาใช้เชื้อเพลิงชีวภาพหรือเปล่า เช่น การส่งเสริม อี85 ให้เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็ต้องมาสู่เรื่องพลังงานทดแทนว่าเราจะทำยังไง ต้องเป็นการจัดการแบบบูรณาการ การเกิด อี85 เราจะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศเรามีพื้นที่ที่สามารถปลูกพืชพลังงานได้ ทุกกระทรวงจะต้องมาคุยกันว่าจะทำยังไง ดูโมเดลบราซิลเป็นหลัก คือต้องคิดทั้งหมด
ขณะเดียวกันก็ต้องบาลานซ์ให้ดีระหว่างพลังงานกับอาหาร เกิดปลูกพลังงานหมด อาหารขาดก็ไม่ได้ ต้องมีการจัดโซนนิ่ง คือพรรคเพื่อไทยเราคิดกรอบทุกอย่างไว้ครบแล้ว เราจึงมีนโยบายประกันราคาข้าวว่าต้องราคาเท่าไหร่ ไม่อย่างนั้นถ้าข้าวราคาตก เกษตรกรจะหนีไปปลูกพืชพลังงานหมด ข้าวก็จะขาด พอจะกลับมาปลูกข้าวก็ทำไม่ได้แล้วเพราะพื้นที่เอาไปปลูกพืชพลังงานหมดแล้ว
เราจึงต้องคิดทุกอย่างให้ครบ ไม่สามารถคิดแต่เรื่องพลังงานโดยไม่มองความสัมพันธ์กับอย่างอื่น มันต้องไปด้วยกัน

แล้วเฉพาะเรื่องไฟฟ้า
เรื่องไฟฟ้าค่อนข้างจะเป็นปัญหาระยะยาว นโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยจะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งจะต้องมีศูนย์การผลิต การจัดจำหน่าย และการบริการ แล้วเศรษฐกิจจะโตขึ้นเอง ซึ่งต้องคิดด้วยว่าเมื่อตั้งโจทย์แบบนี้ การใช้พลังงานเราจะเยอะมาก เพราะเราจะให้มีการเจริญเติบโตอย่างต่ำ 5 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราคิดว่าด้วยนโยบายที่เราเสนอน่าจะโตได้มากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามองอินเดียกับจีนที่เขาโตได้ 8-10 เปอร์เซ็นต์ เราเล็กกว่า เราจะถูกเขาทิ้งไม่เห็นฝุ่น ดังนั้น เราจึงต้องมีการโตที่ใกล้เคียงกับเขา
เมื่อเรามีโจทย์แบบนี้ พลังงานก็ต้องใช้อีกเยอะมาก ต้องกลับมาดูว่าปัจจุบันเราพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะเราสามารถเอามาจากพม่า เอามาจากอ่าวไทยได้ แต่ในทางทฤษฎี การพึ่งพาพลังงานตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไปก็อาจจะไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าจะใช้ได้นานขนาดไหน
ถ้าเรามองแหล่งพลังงานในอนาคตเพื่อการผลิตไฟฟ้าจะต้องมองที่พื้นที่ระหว่างไทย-กัมพูชา ปัจจุบันดูเหมือนเราทะเลาะกันอยู่ซึ่งค่อนข้างเป็นปัญหา แต่ทีนี้ด้วยตรรกะของรัฐบาลควรจะต้องอยู่ด้วยผลประโยชน์ของประเทศ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าจุดใดจุดหนึ่งในอนาคต ถ้าเราเป็นรัฐบาลต้องหาทางคุยกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ตีกัน ต้องยอมรับว่าปัจจุบันทั้งสองประเทศนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง
ทราบมั้ยครับว่า ก๊าซธรรมชาติที่ขุดในอ่าวไทย ในกัมพูชา ต่างจากก๊าซธรรมชาติที่ได้จากพม่านะครับ ก๊าซธรรมชาติของพม่าเอามาเผาอย่างเดียว แต่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยสามารถนำมาแยกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 9-20 เท่า จุดนี้ประเทศเรามีโรงงานทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่กัมพูชายังไม่มีเลย อย่างนี้ใครได้ประโยชน์ อยากให้ทุกคนในประเทศเห็นภาพนี้ เราได้ประโยชน์เต็มที่อยู่แล้ว ถ้ากัมพูชาคิดจะทำเราก็ให้ ปตท. ไปร่วมมือกับเขา เราก็ได้ประโยชน์อีก แล้วอย่าลืมว่าประชากรเรา 60 กว่าล้านคนนะ กัมพูชา 10 กว่าล้านคน คนที่ได้ประโยชน์คือประชากรเรา เพราะก๊าซมันเดินตามท่อ เราก็จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และผมคิดว่านี่แหละคือแหล่งสำหรับผลิตงานในอนาคต คือจะเล่นเกมการเมืองยังไงก็ตาม สุดท้าย ต้องตอบโจทย์นี้ ไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้

หมายความว่าพรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณทักษิณและฮุนเซน จะช่วยปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ดีขึ้นได้
ผมเชื่อว่าอย่างนั้น คือปัญหาของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถือว่าล้มเหลว ไม่ใช่แค่กัมพูชานะ เราตั้งโจทย์ว่าจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเพื่อนบ้าน เราทำไม่ได้ แต่ถ้าเราสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน เราจะโตได้อีกมโหฬาร

การนำก๊าซธรรมชาติจากกัมพูชามาใช้ แต่สุดท้ายก็เป็นการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติอยู่ดี?
คืออย่างนี้ครับ ตอนนี้ก๊าซธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราพึ่งได้มากที่สุด ถ้ามองเรื่องไฟฟ้า ผมคิดว่าในระยะยาวคงต้องมองเรื่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ว่าเป็นเรื่องจำเป็น ตอนนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ดีขึ้นเยอะ สามารถใช้พื้นที่น้อยแต่ว่าได้พลังงานมาก บ้านเราแสงแดดเยอะ ตรงนี้เป็นจุดหนึ่ง แม้ว่าจะได้ไม่มากนัก
แล้วก็มีโครงการที่เราจะจัดระบบน้ำ เรามีเมกะโปรเจ็กต์เยอะ โปรเจกต์หนึ่งคือการทำระบบท่อเพื่อนำน้ำมาใช้สำหรับการปลูกพืชได้หลายครั้งต่อปี เพราะทุกวันนี้น้ำฝนที่ตกลงมา เรานำมาใช้แค่ 3 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือปล่อยทิ้งไป ดังนั้น ระหว่างที่เราเอานำเข้ามา เราก็จะมีระบบการปั่นไฟจากน้ำ

คุณกำลังพูดถึงเขื่อน?
ไม่ได้พูดถึงเขื่อนทั้งหมด แต่เป็นเรื่องของระบบท่อและบางอันที่เราจะทำอย่างไรให้เกิดการปั่นไฟได้ เรามีแผนงานอยู่แล้ว บางทีเราอาจต้องซื้อน้ำจากเพื่อนบ้านด้วยซ้ำ แต่เราก็จะได้การปั่นไฟด้วย เรามองว่ายังไงยังเราต้องพึ่งก๊าซอยู่ และจัดหาเพิ่มจากแสงอาทิตย์และลม แต่ลมนี่ก็ยังน้อย ต้องมานั่งวิเคราะห์กันว่าจะทำยังไง
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเราจะต้องพึ่งพลังงานเหล่านี้เยอะ เพราะว่านิวเคลียร์ยังมีปัญหาอยู่

การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ทางพรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่จะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์เลยหรือไม่ว่าต้องเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของการผลิตไฟฟ้าในประเทศ
ไม่มีครับ เราจะใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากที่สุด คือนโยบายที่เราคิด เราคิดบนพื้นฐานการประหยัดพลังงานอยู่แล้ว ยกตัวอย่างการสร้างเมืองใหม่ ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของกรุงเทพ รถก็จะติดน้อยลง ประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น มีการใช้รถไฟฟ้าเชื่อมต่อ ในเมืองใหม่ ตึกทุกตึกต้องออกแบบให้ประหยัดพลังงาน เป็นเมืองสำหรับอนาคต หรือตัวอย่างนโยบายรถคันแรกก็ต้องเป็นรถที่ประหยัดพลังงาน เราก็ต้องส่งเสริมว่าจะเป็นพลังงานประเภทไหนที่จะใช้กับรถพวกนี้ หรือนโยบายกองทุนเพื่อการตั้งตัว ให้มหาวิทยาลัยละ 1,000 ล้านบาทไปปล่อยกู้ นโยบายหนึ่งก็คือการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทน ถ้านักศึกษาคิดเรื่องการวิจัยพลังงานหรือการปลูกสาหร่ายเพื่อผลิตดีเซล เราก็จะให้การพิจารณาในอันดับต้นๆ

คำถามสำคัญ พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างไร
ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นกระทบกระเทือนความรู้สึกของคนไทย แต่ถามว่าญี่ปุ่นเองจะไม่พึ่งพลังงานนิวเคลียร์ได้มั้ย ก็ไม่ได้ แล้วปัญหาที่ญี่ปุ่น หนึ่งเป็นเพราะโรงงานเก่า สองปัญหาด้านการบำรุงรักษา จริงๆ แล้วญี่ปุ่นที่คนมีระเบียบที่สุดยังมีปัญหาเรื่องนี้เลย ซึ่งมันไม่น่าเกิดกับคนญี่ปุ่นได้ ก็เป็นบทเรียนให้เรา
แต่ผมมองว่า ถ้าเราดูเหตุการณ์ในญี่ปุ่นจะพบว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ไม่มีปัญหานะครับ คำถามที่สองคือประเทศไทยจะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์มากขนาดไหน มันน้อยมากนะถ้าถามผม ส่วนตัวผมมองว่าด้วยความจำเป็นด้านพลังงานในอนาคต เราอาจจะหนีการใช้นิวเคลียร์ไม่พ้น ขณะที่ปัจจุบันอาจจะยังไม่เหมาะสม พูดไปชาวบ้านอาจจะรู้สึกไม่ดีเพราะเพิ่งเกิดเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่น แต่ที่สุดแล้วก็อย่าเพิ่งไปปิดช่องทางนิวเคลียร์เพราะอาจจะจำเป็น
เพราะถ้าเราไม่มี เพื่อนบ้านเรามี เราก็เจอปัญหาเหมือนกัน หรือเราตั้งไม่ได้ ก็ต้องไปยุให้เพื่อนบ้านเราตั้ง แล้วเราก็ไปซื้อจากเขา
ผมว่าโอกาสที่เราจะมีปัญหาเหมือนญี่ปุ่นมีน้อย และความจำเป็นในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเราที่ต้องมีแหล่งพลังงานสำหรับอนาคต ไม่ใช่ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สร้างปุ๊บได้ปั๊บ ต้องใช้เวลาก่อสร้างเป็นสิบปี แล้วช่วงสิบปีในการก่อสร้างจะเอาพลังงานจากไหน แล้วถ้าเราศึกษาจริงๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือเป็นพลังงานสะอาดนะครับ มลพิษต่างๆ โดยเปรียบเทียบแล้วน้อยกว่าเยอะ
เราต้องเผื่อตัวเลือกสำหรับอนาคต มองทุกๆ ตัวเลือกว่าถ้าเราจะโต แล้วมาติดเรื่องไฟฟ้าเราก็จะมีปัญหา สมมติว่าการสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทยมันยากมาก เอ็นจีโอก็ไม่ยอมให้สร้าง แต่ประเทศเราต้องเจริญต่อ ถ้าเราผลิตไฟฟ้าไม่ได้ก็ให้คนอื่นผลิต แล้วเราไปซื้อกับเขา ซึ่งต้นทุนก็จะสูงขึ้น

ที่ผ่านมาการทำความเข้าใจเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อสาธารณชนถือว่ามีความยากลำบากมาก เมื่อพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนเรื่องนิวเคลียร์แบบนี้ จะมีวิธีการสร้างความเข้าใจต่อสังคมยังไง
ประเด็นที่หนึ่งเขาบอกว่าถ้าจะแข่งกับเอ็นจีโอก็ต้องทำแบบเอ็นจีโอ คือต้องให้คนไปเดินตามบ้าน อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากเสนอไอเดียคือ ปัจจุบันนี้ถามว่าควรมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มั้ย ทุกคนบอกว่าจำเป็นๆ ต้องมีๆ แต่อย่ามาอยู่บ้านฉันนะ ทุกคนพูดแบบนี้หมด แล้วเราจะทำยังไง สิ่งหนึ่งที่เราจะโน้มน้าวเขาได้ คือคนบริเวณนั้นจะต้องได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ หนึ่ง เขาอาจจะต้องใช้ไฟฟ้าฟรีซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว สอง ผลประโยชน์จากโรงไฟฟ้าควรลงสู่ชุมชนตรงนั้น ก็ต้องมาคิดวิธีการกันว่าชุมชนจะได้อะไรเป็นพิเศษบ้าง แล้วก็ต้องทำความเข้าใจกับเขา

สมมติว่าถามแทนจากฝั่งที่ไม่เอา คุณคิดว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะทำให้สามารถยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้
ผมว่ายังไงก็ต้องเก็บเป็นทางเลือกเอาไว้ คนเราอย่าไปปิดตัวเอง นอกจากเราหวังว่าจะไม่โต ประเทศเราอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีการขยายตัว ซึ่งเราต้องเลือกนะ ถามว่าเลื่อนไปเป็นไปได้มั้ย ได้ ถ้าเราขุดก๊าซธรรมชาติจากกัมพูชาได้ก็อาจจะเลื่อนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปได้ แล้วก็มีแนวความคิดว่าถ้าทุกคนประหยัดไฟเยอะๆ ก็จะมีพลังงานเหลือใช้อยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งผมว่าก็ยังยากนะที่จะบังคับให้คนประหยัดได้ขนาดนั้น แต่จริงๆ แล้วผมว่าประเทศไทยจุดที่เราขาดกันทุกคนคือการประหยัดพลังงาน เมืองนอกเขาประหยัดกันมาก ปลูกฝังนิสัยตั้งแต่เด็ก
ผมยังเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ยังไงเราก็คงต้องสร้าง เพียงแต่ว่าเวลาไหน ตอนไหนเท่านั้นเอง ที่คนมีความรู้เต็มที่และคิดว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอนาคตของประเทศไทย แต่ก็หวังว่าจุดนั้นจะไม่มาสายเกินไป ไม่ใช่ว่าพลังงานเริ่มขาดแคลนแล้วจะมาสร้าง กว่าจะเสร็จ แล้วเราจะทำยังไง

ถ้าจุดยืนของพรรคเพื่อไทยเป็นแบบนี้ นั่นหมายถึงการเตรียมความพร้อมอีกมากที่รออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยที่หลายฝ่ายกังวล
แน่นอน ถ้าประชาชนมีการศึกษาที่ดี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ มีความปลอดภัยมาเลยนะครับ สวิสเซอร์แลนด์ประเทศเล็กนิดเดียวมีโรงไฟฟ้าตั้งห้าหกโรง เหมือนบอกว่ามีคนขับรถประสบอุบัติเหตุ แล้วบอกว่าจะไม่ใช้รถแล้ว เป็นไปได้หรือเปล่า

เราคงพูดเรื่องไฟฟ้านิวเคลียร์โดยไม่พูดถึงโครงสร้างการใช้พลังงานไม่ได้ เพราะตัวเลขการใช้ไฟฟ้าตอนนี้เกือบครึ่งอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ซึ่งบางคนมองว่าไม่เป็นธรรม
ที่ผ่านมาต้องมองว่าประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยอะไร ผมมองในแง่เศรษฐกิจ ผมดีใจที่ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม เพราะว่าเราใช้เพื่อให้เกิดการผลิต มีรายได้ มีการกระจายรายได้ให้กับคนทั่วไป คือต่อไปนี้เราต้องมองการกระจายรายได้ เพราะแต่เดิมเรามองแค่ว่าให้ประเทศเจริญ จีดีพีสูง แต่การกระจายไม่มี ถ้าเรากลับมาดูนโยบายของพรรคเพื่อไทย เรามีการกระจายรายได้สูงนะครับ
ขณะที่หน่วยธุรกิจใหญ่ๆ ก็ต้องเดินไปข้างหน้า ในอนาคตอย่างรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ต้องใช้ไฟฟ้าอีกมโหฬาร เราจะเอาไฟฟ้าจากไหน จริงๆ แล้ว ในสเกลเดิม คนใช้ไฟเยอะเขาก็จ่ายเงินมากกว่าปกติอยู่แล้วนะ ไม่ใช่ว่าราคาเท่ากัน

กิจการไฟฟ้าของประเทศไทยค่อนข้างผูกขาด แล้วคุณก็พูดเองว่าค่าไฟฟ้าบ้านเราแพง ถ้าเป็นอย่างนี้จะมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร
เราไปศึกษากรณีต่างประเทศ อย่างลอสแองเจิลลิสที่เปิดให้เอกชนผลิตไฟและส่งสายส่งกันเอง ก็มีปัญหามากกว่าเดิมนะ ไฟขาดบ้าง ราคาแพงบ้าง มีการซื้อขายล่วงหน้าทำให้มีการปั่นราคากันบ้าง เราต้องระวังเรื่องนี้เหมือนกัน เราอาจส่งเสริมให้มีการผลิตได้แต่ถ้าควบคุมไม่ดีมันก็จะเจอปัญหาแบบที่เมืองนอกเจอ
ผมเห็นด้วยกับระบบที่ต้องมีการค้าเสรี แต่ที่ผมศึกษาอยู่ ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้ายังเป็นลักษณะการผลิตปริมาณมากเพื่อความประหยัด (Economy of Scale) ถ้าเราเปิดให้เอกชนผลิต เป็นรายเล็กๆ แต่ไม่ประหยัดขึ้น ยังต้องแบกภาระกัน จะเป็นเตี้ยอุ้มค่อมหรือเปล่า กลายเป็นว่าต่อไปต้นทุนของโรงไฟฟ้ารายย่อยๆ เหล่านี้สูง ต่อไปราคาก็ลงไม่ได้ ประชาชนต้องมาแบกรับต้นทุนที่แพงขึ้น ผมไม่เห็นด้วยครับ มีพลังงานเกินดีกว่าขาด คือถ้าเราผลิตได้ถูกจริง ผมก็ยินดีให้เปิดเสรีนะ ถ้าประชาชนได้ประโยชน์ ใช้ไฟฟ้าถูกลง ผมเห็นด้วย แต่ถ้าทำเพื่อให้ดูว่ามีการแข่งขัน แต่ราคาไฟฟ้าไม่ได้ถูกลงแล้วจะมีประโยชน์อะไร ต้องตอบโจทย์ข้อนี้ให้ได้ก่อน เราส่งเสริมเต็มที่ ถ้าทำแล้วถูกลง ทำครับ แต่ถ้าทำแล้วพลังงานไม่ถูกลง ทำทำไม คืออย่าไปมองโมเดลฝรั่ง ของเขาใหญ่ แคลิฟอร์เนียรัฐเดียวก็อาจจะมีความประหยัดจากขนาดพอแล้ว แต่ประเทศเรายังเล็กกว่าเขาด้วยซ้ำ
ส่วนที่ว่าค่าไฟฟ้าบ้านเราแพงเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่น เพราะที่อื่นเขามีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ค่าไฟเขาก็ถูกกว่า เราเองก็ไม่สามารถทำให้ถูกลงได้ นอกจากจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พูดตรงๆ นะ ต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้ามีแต่จะเพิ่มขึ้น คงไม่ลดลงง่ายๆ นอกจากว่าราคาน้ำมันจะลดลง แต่ค่อนข้างยาก ถ้าจะให้ราคาไฟฟ้าถูกลงก็คงต้องใช้นิวเคลียร์อย่างเดียว ต้องเอาความจริงมาคุยกันนะครับ
ปัจจุบันเรามีน กฟผ. เป็นผู้ผลิต เราก็รู้ต้นทุนอยู่ ไม่ได้เป็นการเอาเปรียบประชาชน ราคาไฟฟ้าปัจจุบันก็เหมาะสมอยู่แล้ว

แล้วประเด็นเรื่องการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือแผนพีดีพีที่ค่อนข้างรวบรัดและไม่มีส่วนร่วม?
ผมเชื่อว่าเรื่องไฟฟ้าเอกชนน่าจะรู้มากกว่ารัฐด้วยซ้ำ ในความคิดผมนะ พรรคเพื่อไทยการกำหนดนโยบายในอนาคตต้องกำหนดร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน เอกชนต้องบอกว่าเขามีปัญหาอะไร จะใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ ทุกคนต้องมานั่งวางแผนด้วยกัน

หมายถึงภาคประชาชนด้วยหรือเปล่า
ใช่ครับ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ต้องมาดูร่วมกันว่าต้องการใช้ไฟเท่าไหร่ นี่จะเป็นจุดหลักว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราต้องทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว ทุกคนต้องเห็นด้วยกันว่ามันไปไม่รอดแล้ว ผลิตกันไม่พอแล้ว แล้วจะเป็นคำตอบในตัวว่าถึงเวลาหรือยังที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือคนไม่รู้ว่าการขยายตัวต้องใช้ไฟเท่าไหร่ ถ้าไฟไม่พอขึ้นมาอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศนี้

คอการเมืองวิเคราะห์กันว่า รัฐบาลชุดหน้าน่าจะเป็นรัฐบาลผสม ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะดูแลกระทรวงพลังงานเองหรือเปล่า
ยังไม่รู้ครับ คือเรายังเชื่อว่าเราน่าจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ แต่เราก็อาจจะมีพรรคร่วมด้วยเพื่อให้ภาพดูดีหน่อยว่าไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ถ้าเราได้เสียงเกินครึ่ง เราคิดว่าเราจะดูพลังงานเอง เพราะเราถือว่าเรื่องพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ

สุดท้ายนี้อยากจะเพิ่มเติมอะไรหรือเปล่า
เรื่องพลังงานเรายังอยากเห็นการปรับโครงสร้างทั้งหมด ไม่ใช่แค่ไฟฟ้าอย่างเดียว เราต้องพึ่งตัวเองให้ได้ในระดับหนึ่ง อย่างที่บอกเราเชื่อว่าถ้าเรายังไม่อยากใช้พลังงานนิวเคลียร์ตอนนี้ ที่เดียวที่เราจะได้พลังงานมาได้ก็คือกัมพูชา ต้องพูดความจริงกัน สิ่งที่ต้องไปเจรจากับกัมพูชาให้ได้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในอนาคต ถ้ารัฐบาลมีความสัมพันธ์ไม่ดี เราก็จะมีปัญหา นอกจากจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เลย ซึ่งตอนนี้ผมเชื่อว่าโอกาสยังน้อย จึงต้องใช้เวลาสักพัก ผมคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักพักหนึ่ง คนรุ่นใหม่ขึ้นมา เขาก็จะรับได้ และพรรคเพื่อไทยเชื่อว่าเราเจรจากับกัมพูชาได้ในการที่จะได้ก๊าซธรรมชาติมา อย่างน้อยก็เป็นแหล่งพลังงานไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่จุดหนึ่งก็ต้องกลับมาที่นิวเคลียร์อยู่ดี ผมเชื่ออย่างนั้นนะ คือเราอย่าปฏิเสธตัวเอง เมื่อถึงจุดหนึ่งการเลือกระหว่างมีกับไม่มีนิวเคลียร์ คุณจะเลือกอันไหน วันใดวันหนึ่งต้องถึงจุดนั้น แต่ขอให้จุดนั้นเป็นจุดที่ไม่สายเกินไป

source : http://www.tcijthai.com/interview-piece/525

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น