ผู้ได้รับผลกระทบ ‘มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช’ ๕๓๗,๙๖๐ ล้าน ส่งสภาทนายความฟ้องศาลปกครองสูงสุดรับเป็นคดีสิ่งแวดล้อม ยับยั้งตั้งแต่แผนแม่บทปี ๒๕๔๐ สมัย ‘สุวัจน์ ลิปตพัลลภ’ เป็นรมว.คมนาคม พฤติการณ์ส่อไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมรอบด้าน หวั่น! มลพิษจากท่อไอเสียลงสู่ลำตะคอง
เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ นายไสว จิตเพียร และคณะตัวแทนสภาทนายความ ผู้รับมอบอำนาจจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทก่อสร้างทาง หลวงพิเศษระหว่างเมือง(Motor Way) สายบางปะอิน-นครราชสีมา รวมมูลค่าโครงการทั้งสิ้น ๕๓๗,๙๖๐ ล้านบาท ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ถูกฟ้อง ๓ ราย คือ กรมทางหลวงโดยอธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีผู้เห็นชอบแผนแม่บทดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๐ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้าง Motor Way ในเส้นทางสายบางปะอิน– นครราชสีมา(ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖)-ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง ๕๓๕ กิโลเมตร และสายนครราชสีมา-อุบลราชธานี ระยะทาง ๓๐๑ กิโลเมตร รวมระยะทาง ๘๓๖ กิโลเมตร
ผู้ถูกฟ้องส่อไม่ชอบกฎหมาย
ทั้งนี้ เนื่องจากพฤติการณ์ทั้งหมดของผู้ถูกฟ้อง ส่อว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคแรก (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ เพราะมิได้ผ่านกระบวนการพิจารณาทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ไม่มีการศึกษาถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้รอบด้าน ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๖๖ และ ๖๗ นอกจากนี้ยังส่อถึงความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างไม่สุจริต ไม่คุ้มค่าเกินกว่าความเป็นจริง สร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควรด้วยดุลพินิจโดยไม่ชอบ โดยเฉพาะโครงการ Motor Way สายบางปะอิน–นครราชสีมา ระยะทาง ๑๙๙ กิโลเมตร เริ่มก่อตัวในปี ๒๕๔๗–๒๕๔๘ โดยมีมูลค่าโครงการประมาณ ๒๙,๐๐๐ ล้านบาท แต่ปรากฏว่าได้เพิ่มขึ้นถึง ๖๐,๐๐๐ ล้านบาทในปัจจุบัน
ศาลรับเป็นคดีสิ่งแวดล้อม
นายไสว จิตเพียร จากสภาทนายความ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ศาลปกครองสูงสุดรับคำฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเพิ่งเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ คำฟ้องตอนหนึ่งสรุปได้ว่า โครงการ Motor Way สายบางปะอิน–นครราชสีมา มีเส้นทางตัดผ่าน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, สระบุรี และจังหวัดนครราชสีมา โดยแนวก่อสร้างจะพาดผ่านทั้งสิ้น ๓๖ หมู่บ้าน หรือชุมชนถึง ๒๑ ตำบล ๑๗ อำเภอ ของ ๓ จังหวัด เส้นทางการก่อสร้างโครงการนี้ตัดผ่านพื้นที่หลายแห่งอันเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตหวงห้ามสัตว์ป่า เขตอุทยานแห่งชาติ ผ่านโบราณสถานสำคัญ คือ แหล่งตัดหินสีคิ้ว และเมืองโบราณเสมา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๒ ตามมติครม. จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งด้านสภาพภูมิประเทศ นิเวศน์พืช นิเวศน์สัตว์ การเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ขัดต่อพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ และไม่ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาทางปกครอง ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คือไม่มีการศึกษาถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้รอบด้าน โดยไม่มีการจัดทำ EIA หรือรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๖๖ และ ๖๗ รวมไปถึงไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดการระบบการจราจรทางบก ทั้งที่สำนักงบประมาณ และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีหนังสือประท้วง
ระบุ‘สุวัจน์’มีส่วนร่วมผลักดัน
“แต่ทั้งนี้ กลับปรากฏว่ารัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ถึงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น คือ นายวัน มูหะหมัด นอร์ มะทา และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กลับพยายามผลักดันแผนแม่บทนี้ ทั้งที่ขณะนั้นมีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมออกมาบังคับใช้แล้ว โดยให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อีกทั้งเส้นทาง Motor Way โดยเฉพาะสายบางปะอิน-นครราชสีมา เป็นแผนแม่บทที่จะก่อสร้างขึ้นมาทับซ้อนกับเส้นทางของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่ได้รับอนุมัติดำเนินการอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว” นายไสว กล่าว
ร่นกว่าถนนมิตรภาพแค่ ๕ กม.
นายไสว ระบุถึงคำฟ้องตอนหนึ่งด้วยว่า โครงการ Motor way บางปะอิน–นครราชสีมา ประหยัดระยะทางกว่าเดิมเพียง ๕ กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อเทียบกับเส้นทางถนนมิตรภาพ การสร้างให้คดเคี้ยวไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด โครงการนี้แบ่งแยกพื้นที่ ๒ ฝั่ง วิถีชีวิตของคนและสัตว์จะเปลี่ยนไปตลอดกาล นอกจากนี้มลพิษจากท่อไอเสียบน Motor Way จะลงสู่ลำตะคองซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบของเมืองโคราช และยังมีความไม่โปร่งใสในการเพิ่มงบประมาณจาก ๒๙,๐๐๐ ล้านบาท เป็น ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท
ระงับตั้งแต่แผนแม่บทปี’๔๐
ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดรวม ๑๖ คน จึงขอให้ศาลมีคำสั่งระงับยับยั้ง(คุ้มครองชั่วคราว) และพิจารณายกเลิกเพิกถอนการดำเนินการใดๆ ในโครงการดังกล่าวทั้งหมด ตามความท้ายคำฟ้อง ดังนี้
ข้อ ๑. ให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอน แผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๐ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่นร.๐๒๐๕/๕๗๓๒ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๐ ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ยกเลิกการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ สายบางปะอิน –นครราชสีมา(ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖)–ขอนแก่น–หนองคาย ระยะทาง ๕๓๔ กิโลเมตร และทางหลวงพิเศษสายอื่นๆ ทุกเส้นทาง ในแผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทยดังกล่าวตามฟ้อง ที่ยังมิได้ดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด
ข้อ ๒. ให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ แผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย และมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๐ ตามคำขอท้ายฟ้องข้อ ๑. ข้างต้น รวมทั้งให้ยุติกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างทางหลวงพิเศษตามฟ้อง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพ หรือการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ หรือคำสั่งทางปกครอง หรือการ กระทำอื่นใดไว้ก่อนชั่วคราว ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ชี้ภาวะโลกร้อนมุ่งสู่ระบบราง
ทางด้านนายสุรินทร์ สนธิระติ ที่ปรึกษาเครือข่ายภาคประชาชน อำเภอปากช่อง ซึ่งออกมาคัดค้านโครงการนี้ร่วมกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง กล่าวกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า เป็นความพยายามของกรมทางหลวงที่จะผลักดันโครงการนี้ ตามมติครม. เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๐ เพื่อพัฒนาการคมนาคม ผ่านมากว่า ๑๐ ปี ขณะนี้มุมมองการคมนาคมเปลี่ยนไป โลกเข้าสู่ภาวะโลกร้อน พลังงานขาดแคลน ประเทศจึงมุ่งเน้นการประหยัดพลังงาน ดังนั้น การพัฒนาคมนาคมขนส่งในปัจจุบัน ควรมุ่งเน้นระบบรางมากกว่าเพิ่มถนนและปริมาณการใช้รถยนต์ แต่การผลักดันโครงการในขณะนี้กลับเพิ่มการใช้พลังงานมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนมากขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีความพยายามผลักดันโครงการนี้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของกรมทางหลวงที่จะผลักดันหรือพัฒนาระบบราง ขณะที่วิศวกรที่ออกแบบโครงการนี้ เมื่อถามว่า Motor Way มีความจำเป็นต่อชาติแค่ไหน ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่าไม่มีความจำเป็นเลย แต่นายจะเอา เพราะฉะนั้น ชี้ให้เห็นว่าบ้านเมืองเรามาถึงวันนี้ เลยจุดที่นักการเมือง และข้าราชการ จะคิดเหมือนไดโนเสาร์ล้านปีไม่ได้ เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว
นายสุรินทร์ กล่าวด้วยว่า หลายสัปดาห์ก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ปลัดกระทรวงคมนาคมเข้าถวายรายงาน โดยพระองค์ท่านตรัสถึงความจำเป็นการขยายระบบราง ซึ่งกระทรวงคมนาคมก็ระบุด้วยซ้ำว่า เป็นนโยบายของกระทรวงอยู่แล้ว ที่จะเปลี่ยนแนวทางมาสู่ระบบราง เพื่อลดการใช้พลังงานระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาสู้กับระบบการขนส่งระดับประเทศ แต่มาวันนี้ก็ออกมาระบุว่า จะเดินหน้าโครงการนี้เสนอรัฐบาลใหม่ ทั้งที่ควรจะคิดใหม่ทำใหม่ได้แล้ว เพราะไม่ใช่แค่กระทบกับชุมชน และสิ่งแวดล้อม แต่จะกระทบถึงภาวะโลกร้อน การใช้พลังงานในอนาคต รวมไปถึงงบประมาณประเทศ เฉพาะสร้าง Motor Way สายบางปะอิน-นคร ราชสีมา สามารถนำงบประมาณไปพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ได้ทั่วอีสาน วันนี้ต้องพับการก่อสร้าง Motor Way ได้แล้ว
ทางหลวงปรับแผนดันต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(Motorway) สายบางปะอิน-นครราชสีมา มีระยะทางรวม ๑๙๖ กิโลเมตร แบ่งเป็น ๒ ตอน คือ ตอน ๑ จากอำเภอบางปะอิน-อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง ๑๐๓ กิโลเมตร และตอน ๒ จากอำเภอปากช่อง-อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง ๙๓ กิโลเมตร โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ตามที่มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติไว้ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๐ จำนวน ๑๓ เส้นทาง รวมระยะทาง ๔,๑๕๐ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๔๗๒,๓๖๐ ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง ๒๐ ปี โดยกรมทางหลวงดำเนินการแล้วเสร็จ ๒ เส้นทาง คือ กรุงเทพมหานคร-ชลบุรี (สายใหม่) ระยะทาง ๘๒ กิโลเมตร และสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ระยะทาง ๖๔ กิโลเมตร ซึ่งก่อนหน้านี้กรมทางหลวงปรับแผนการก่อสร้างใหม่เป็นแผนระยะเร่งด่วน ๑๐ ปี โดยคัดเลือกแผนระยะแรก ๕ เส้นทาง ดำเนินการห่างจากกรุงเทพมหานคร ในรัศมี ๒๕๐ กิโลเมตร ออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ รวมถึงสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมาด้วย จึงทำให้กรอบการลงทุนเดิมปี ๒๕๕๐-๒๕๖๐ เป็นปี ๒๕๕๔-๒๕๖๔ แต่เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง กรมทางหลวงจึงกำลังนำร่อง Motorway สายนี้ เป็นโครงการแรกที่จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม
source : http://koratdaily.com/home/-1/633.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น