18ส.ค.54 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. กล่าวว่ากรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมพาคณะนักธุรกิจในต่างประเทศ ไปพบสมเด็จฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา เพื่อเจรจาเกี่ยวกับการลงทุนในธุรกิจพลังงานปิโตเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอ่าวไทย-กัมพูชา ว่า เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีบทบาทใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ส่วนตัวมองว่าหากพ.ต.ท.ทักษิณ ดำเนินการเรื่อดังกล่าวจริงจะเป็นสิ่งที่เป็นจุดอ่อนต่ออนาคตของกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ส.ว. กทม. กล่าวอีกว่า เรื่องที่ปรากฎเป็นข่าวนั้น เชื่อว่าสังคมจะจับตาและร่วมตรวจสอบว่า ผลประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนนั้นกำไรจะตกอยู่ที่ประเทศชาติ หรือบุคคลเพียงแค่บางกลุ่ม อาทิ จากข้อมูลงบประมาณปี 2554 พบว่ารายได้ของรัฐที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำรายรับให้รัฐ เพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่มาจากการเก็บภาษีทุกประเภท ทั้งที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ขุดน้ำมันขายเป็นอันดับ 33 จากประเทศที่ขุดน้ำมันขาย 224 ประเทศทั่วโลก และนำก๊าซธรรมชาติมาขายเป็นอันดับที่ 23 ของประเทศที่นำก๊าซธรรมชาติมาใช้จาก 224 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นหากรัฐบาลเดินหน้าในยุทธศาสตร์ที่สร้างความร่ำรวยให้กับบุคคลบางคน ต้องนำมาหารือกัน
“รัฐบาลชุดใหม่อย่ามั่วนิ่ม จัดแจงเป็นธุระให้กับคุณทักษิณในการเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเจรจาการค้า ทั้งที่คุณทักษิณเป็นบุคคลหนีคดี ซึ่งหากรัฐบาลใช้วิธีตีเนียนจะทำให้รัฐบาลเสียชื่อ ทั้งนี้ต้องจับตาดูว่าผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล จะเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาเกียเซี๊ยะเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางบกด้วยหรือไม่” ส.ว.กทม. กล่าว"คำนูณ"แบะท่าหนุน“ทักษิณ”ไเจรจาก่อนรัฐบาลไทย
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวหากมองด้วยความเป็นกลางและเป็นธรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ถือว่าเป็นคนไทยคนหนึ่ง หากสามารถช่วยเหลือประเทศได้ในทางใดทางหนึ่ง และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
อีกทั้งนโยบายการพัฒนาด้านพลังงานถือเป็นนโยบายใหม่ ที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะเร่งผลักดันให้เป็นนวาระแห่งชาติ ถือเป็นเรื่องที่ดี และไม่ขอคัดค้าน แต่ควรระวัง รวมถึงรัฐบาลควรแถลงให้ชัดเจนว่าประเด็นดังกล่าว ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีผลประโยชน์ของกลุ่มนักการเมือง และกลุ่มทุนใดทุนหนึ่งแอบแฝงอีก รวมทั้งต้องปรับระบบหรือกระบวนการกำหนดราคาพลังงานในประเทศให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
นายคำนูณ กล่าวอีกว่าต้องยอมรับว่าพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้นมีขนาดพื้นที่มาก ถึง 27,000 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งเส้นแดนทางทะเลที่ประเทศกัมพูชาขีดไว้เป็นไปอย่างผิดธรรมชาติ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการคุยถึงรายละเอียด ซึ่งหากรัฐบาลตั้งใจผลักดันเรื่องพลังงานเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ควรใจกว้างที่จะรับฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภา ซึ่งตนสนับสนุนให้รัฐบาล เปิดประชุมรัฐสภา ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 เพื่อเปิดให้มีการอภิปรายโดยไม่มีการลงมติ เพื่อให้การดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นไปอย่างโปร่งใส และใช้เวทีของการรับฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภาเป็นที่เคลียร์ข้อสงสัย รวมถึงชี้แจงให้ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้ไว้วางใจรัฐบาล แต่หากรัฐบาลเห็นว่าการประชุมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผยก็สั่งให้เป็นประชุมลับก็ได้ ทั้งนี้เรื่องการเปิดรับฟังความเห็นจากรัฐสภาเรื่องพลังงานควรทำหลังจากที่มีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาแล้ว
"สุรพงษ์"เรียกประชุมหน่วยงานรับผิดชอบกรณีไทย-กัมพูชา
มีรายงานว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 18 ส.ค.นี้ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เรียกประชุมข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่รับผิดชอบกรณีปัญหาไทย-กัมพูชา ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ เขตแดน รวมถึงบันทึกความเข้าใจต่าง ๆ ระหว่างสองประเทศที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้ยกเลิกไป และกรณีที่ประเทศไทยถอนตัวออกจากการเป็นภาคีสมาชิกมรดกโลก เมื่อการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศฝรั่งเศส ครั้งที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีการหารือรวมไปถึงกรณีศาลโลกจะมีคำพิพากษากรณีที่กัมพูชายื่นขอตีความคำพิพากษาปราสาทพระวิหารปี 2505 ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวเพื่อสรุปข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายหลังการแถลงนโยบายรัฐบาลอย่างเป็นทางการ
“นพดล”ยัน“ทักษิณ”ยังไม่มีแผนเดินทางไปเขมร
เมื่อเวลา 15.00 น.ที่พรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายพ.ต.ท.ทักษิณแถลงถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางไปประเทศกัมพูชาในช่วงวันที่ 19-21 ส.ค.หรือหลังจากไปประเทศญี่ปุ่นแล้วว่า เมื่อ 17 นาทีก่อนหน้าที่ตนจะมาแถลงข่าวนั้น ตนได้คุยโทรศัพท์กับพ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ยืนยันว่าท่านจะไม่เดินทางไปประเทศกัมพูชาในระยะเวลานี้หรือช่วงเวลาที่เป็นข่าวอย่างแน่นอน และยืนยันว่าพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเข้าไปพูดคุยเรื่องทรัพยากรน้ำมันอย่างที่มีกระแสข่าวแน่นอน เพราะท่านเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยดี รวมทั้งไม่ต้องการตกเป็นเป้าโจมตี และไม่ต้องการให้รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์กังวลเกี่ยวกับตัวท่านแล้วทำให้เสียสมาธิในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณอยากให้รัฐบาลเดินหน้าทำงานแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นถอดถอนรมว.ต่างประเทศนั้น ตนคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรนำน.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย และต้องดูข้อกฎหมายให้ดีด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะเจอข้อหายื่นถอดถอนด้วยข้อความอันเป็นเท็จได้ อย่างไรก็ตาม เรารู้ทันและจะไม่ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน
ย้ำไม่เคยขอให้รัฐ-กต.-สถานทูตช่วย
นายนพดล กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าการเดินทางไปประเทศต่างๆ ของพ.ต.ท.ทักษิณนั้นเป็นเรื่องปกติเหมือนกับสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ทั้งนี้ การเดินทางไปประเทศต่างๆ นั้นเป็นการไปเพื่อพูดคุยเรื่องธุรกิจ ไม่มีอะไรที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของตัวเองกับประเทศชาติอย่างแน่นอน พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปไหนก็ไปแบบเงียบๆ ไม่ได้ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ สถานทูต หรือรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ เพราะท่านไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาล เนื่องจากไม่ต้องการให้เป็นประเด็นที่รัฐบาลจะต้องมาคอยตอบคำถาม
เผยกลับไทยเมื่อจังหวะเวลาเหมาะสม
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นแล้วพ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางไปประเทศไหนอีก นายนพดล กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่การเดินทางไปประเทศกัมพูชานั้นยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจน เพราะพ.ต.ท.ทักษิณไม่อยากให้มีการนำเรื่องดังกล่าวมาเป็นประเด็น สำหรับการเดินทางกลับประเทศไทยของพ.ต.ท.ทักษิณนั้น ท่านคงจะมาในจังหวะเวลาที่เหมาะสม แต่ขณะนี้ท่านต้องการให้รัฐบาลมีความนิ่งเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ท่านจะไม่ทำอะไรให้เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ดังนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องมาเสียเวลาตอบคำถามเกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนสุขภาพของพ.ต.ท.ทักษิณนั้น ยืนยันว่าตอนนี้แข็งแรงดีตามธรรมชาติของคนอายุ 62 ปี ไม่ได้เป็นโรคอะไร โรคมะเร็งก็ไม่ได้เป็น
ปชป.แนะศึกษาเส้นแบ่งแดนไทย-กัมพูชาให้ชัดก่อนลงทุนผลิตก๊าซธรรมชาติ
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีแนวทางการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศมาเป็นทุนสำรองและผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของรัฐบาลว่า พื้นที่ดังกล่าวทั้งไทย-กัมพูชา ต่างอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ และยังมีปัญหาเรื่องความถูกต้องของแผนที่ทะเล ทั้งนี้รัฐบาลชุดก่อนเคยมีการยกเลิกในหลักการ สนธิสัญญาทางทะเล เมื่อปี 2544 แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการแจ้งต่อรัฐสภาอย่างเป็นทางการเพราะอยู่ระหว่างให้ผู้เชี่ยวชาญดูข้อกฎหมายที่จะตีเส้นเขตแดนทางทะเลที่ถูกต้อง อีกทั้งการตีเส้นเขตแดนของกัมพูชาไม่ถูกตามหลักวิชาการและกินพื้นที่เข้ามาในพื้นที่อ่าวไทยจำนวนมาก ดังนั้นในกรณีหากจะมีการดำเนินงานในส่วนพื้นที่ตรงนั้นจริง ควรจะมีการกลับไปศึกษาใหม่
นายชวนนท์ กล่าวด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาแหล่งพลังงานทางธรรมชาติแต่ความเป็นธรรมในการจัดสรรนั้นสำคัญกว่า เหตุนี้ไม่ว่าจะเป็นรมว.พลังงาน และรมว.ต่างประเทศ ก็ควรจะทบทวนเรื่องการขีดเส้นดังกล่าวหากไม่รู้ก็ต้องปรึกษาผู้เกี่ยวข้อง และชี้แจงกับประชาชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น