วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ที่ฝรั่งเศสทางตอนใต้

พลังแสงอาทิตย์คือคำตอบที่มนุษย์พยายามค้นหาพลังงานหมุนเวียน และเป็นพลังงานที่วัตถุดิบได้มาเปล่าๆ โดยไม่เสียสตางค์คล้ายพลังงานลม ปัญหาก็คือว่าโลกหมุนรอบตัวเองทำให้เกิดเวลากลางวันและกลางคืน เราจึงไม่อาจผลิตกระแสไฟฟ้าได้ หลังจากพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว ความจริงแล้วเราสามารถเก็บไฟไว้ใช้โดยผ่านระบบแบตเตอรี่ได้ แต่นั่นก็เล็กเกินไปสำหรับไฟฟ้าที่จะใช้ในหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน

ในช่วงเวลาที่ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลมหรือจากพลังงานแสงอาทิตย์ เราจะต้องแปรกระแสไฟฟ้าตรงเป็นกระแสสลับเสียก่อน จึงส่งเข้าระบบกริต (ระบบสายไฟฟ้าแรงสูง)ที่มีอยู่ได้ และขณะที่กริตรับกระแสไฟฟ้าเหล่านี้เข้ามาใช้ เราก็ต้องลดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากหน่วยผลิตจากพลังงานอื่นๆ ลง อาทิ พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ

นั่นก็หมายความว่า แม้ว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ เราจะต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากหน่วยอื่นสำรองเสมอ อาทิ พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ พลังน้ำ หรือพลังงานนิวเคลียร์ อย่างฝรั่งเศสนั้นมีพลังไฟฟ้าสำรองเหลือเฟือเพราะใช้พลังนิวเคลียร์ 70 % จึงเหมาะกับประเทศเยอรมนีที่จะทำพลังงานลมและแสงอาทิตย์ และไม่ลืมว่าเมื่อเดินเครื่องผลิตแล้ว เราต้องใช้ไฟ เพราะเราไม่สามารถจะเก็บกระแสไฟฟ้าไว้นานได้ (เก็บในหม้อแบตเตอรี่) หยุดเดินเครื่องผลิต ไฟฟ้าก็หมด ซึ่งแตกต่างจากน้ำที่เราสามารถกักเก็บเอาไว้ใช้ประโยชน์ได้ในวันหลัง

โรงไฟฟ้า Photovaic Plants เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศฝรั่งเศส ตั้งอยู่ที่เมือง Les Meese แคว้นโพรวองซ์ แอลป์ โกต ดาซูร์ อยู่ตอนใต้ของประเทศ สถานที่ตั้งอยู่ผ่านเมือง Les Meese ขับรถขึ้นไปบนภูเขาสูงเทือกเขาแอลป์ เมื่อถึงยอดสุดจะกลายเป็นเนินเขาขนาดใหญ่ทอดตัวสุดลูกหูลูกตา บนเนินระยะใกล้มองเห็นแผงโซลาร์เซลล์ปูเต็มผิวพื้น ราวกับว่าจะห่มคลุมขุนเขาเหล่านี้ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ยังไงยังงั้น

แผงเหล่านี้ติดตาย คือ จะไม่เคลื่อนตัวตามแสงอาทิตย์ โดยติดตั้งไว้แบบตายตัวตามมุมและเวลาของพระอาทิตย์เคลื่อนที่ ค่าเฉลี่ยของแสงอาทิตย์บริเวณนี้ประมาณ 8 ชั่วโมงต่อ 24 ชั่วโมงหรือต่อวัน เนื่องเพราะเวลากลางวันในยุโรปจะยาวนานกว่าแถบบ้านเรา อาทิ ช่วงเดือนกรกฎาคม พระอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 05:30 น. และพระอาทิตย์ตกดินตอน 22.00 น. โดยประมาณ ขณะเดียวกันฤดูร้อนจะสั้นกว่าฤดูหนาวมาก แต่นั่นเป็นค่าเฉลี่ยของพลังงานแสงอาทิตย์บริเวณแถบนี้

โรงไฟฟ้าแห่งนี้เพิ่งจะเปิดดำเนินการได้ไม่นาน มีสำนักงานชั่วคราวอยู่ในบริเวณโรงไฟฟ้า บางส่วนอยู่ในระหว่างการติดตั้ง และดำเนินการในพื้นที่ประมาณ 60 เฮกตาร์ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 120,000 แผง ให้กระแสไฟฟ้าประมาณ 31 เมกะวัตต์ (ของไทยที่จังหวัดลพบุรี กำลังผลิตติดตั้ง 73 เมกะวัตต์) แผงโซลาร์เซลล์นำเข้าจากประเทศจีน อายุการใช้งานประมาณ 25 ปี การลงทุนเฉลี่ยประมาณ 110 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ปัญหาสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์ก็คือ หลังจากติดตั้งแล้วต้องหมั่นดูแลหน้าแผงไม่ให้มีฝุ่นจับ จึงเสียค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด

ปัจจุบันประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองประมาณ 20.4 % แต่ปีหน้าและปีต่อๆ ไปเป็นดังนี้ ปี 2555 ลดลงเหลือ 17.1 % ปี 2556 ลดลงเหลือ 15.9 % และปี 2557 ลดลงเหลือ 15.0 % และจะลดลงไปเรื่อยๆ หากเราไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่มาเพิ่มเติมได้ ความจริง กฟผ.มีแผนอยู่แล้วแต่ต้องชะงักไปทั้ง 8 โครงการ เพราะถูกต่อต้านจากกลุ่มต่างๆ และถ้าเราตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าในปีนี้ ก็นับไปอีก 4 ปีโรงไฟฟ้าโรงใหม่จึงจะผลิตได้ เราจะนั่งรอให้ไฟฟ้าติดๆ ดับ ๆ ก่อนหรือค่อยจะลงมือสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ?

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,657
31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น