วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นาซาส่งยานจูโนสำรวจดาวพฤหัส

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ปล่อยยานสำรวจแบบไร้คนบังคับ "จูโน" ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันเสาร์ (6 ส.ค.) โดยมีจุดหมายที่ดาวพฤหัสที่อยู่ห่างจากโลก 2,740 ล้านกิโลเมตร

มีการคาดหมายว่า ยานอวกาศ "จูโน" จะใช้เวลาเดินทาง 5 ปีเพื่อเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพฤหัสและทำการสำรวจดาวเคราะห์สีแดงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยจักรวาล โดยจะเข้าสู่วงโคจรรอบดาวยักษ์สีแดงในวันที่ 4 กรกฎาคม 2559

ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 5 และเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ นอกจากดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์แก๊สดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะได้แก่ ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ชื่อละตินของดาวพฤหัสบดี (Jupiter) มาจากเทพเจ้าโรมัน สัญลักษณ์แทนดาวพฤหัสบดี คือ ♃ เป็นสายฟ้าของเทพเจ้าซุส

ทั้งนี้ นาซาได้ใช้ชื่อ "จูโน" ซึ่งเป็นพระนามของมเหสีของเทพ "จูปิเตอร์" หรือเทพแห่งดาวพฤหัสในความเชื่อของชาวโรมันโบราณ เป็นชื่อของยานสำรวจดาวเคราะห์สีแดงลำล่าสุดนี้

ยานจูโนที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มีภารกิจการเก็บข้อมูลเพื่อการศึกษาการกำเนิดและวิวัฒนาการของดาวพฤหัส รวมทั้งหาคำตอบด้วยว่าแกนของดาวพฤหัสเป็นของแข็งหรือก๊าซ ทั้งยังเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับดาวดวงนี้ที่ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาองค์การนาซาได้ส่งยานสำรวจไปเก็บข้อมูลถึง 8 ลำ โดยในภารกิจของยานจูโนคือการเก็บข้อมูลสภาพของดาวพฤหัสอย่างละเอียด และเข้าใกล้ดาวยักษ์สีแดงมากที่สุดเป็นลำแรก

ยานจูโนจะเริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์หลังจากทะยานขึ้นจากฐานปล่อยที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกาเพียง 1 ชั่วโมง โดยจะกางแผงโซลาร์เซลล์รับแสงอาทิตย์ทั้ง 3 แผง เพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าในการป้อนวงจรอิเล็กทรอนิกส์และใช้ในการขับเคลื่อนยานลำนี้ไปยังจุดหมายทำให้ยาน "จูโน" เป็นยานสำรวจอวกาศ "สีเขียว" ลำแรกของโลกอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ยานสำรวจอวกาศของนาซา ต่างใช้พลังงานจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กเป็นแหล่งพลังงาน

ภารกิจสำรวจดาวพฤหัสมูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์ หรือ 3.3 หมื่นล้านบาทนี้ จะสิ้นสุดในอีก 6 ปีข้างหน้า ก่อนที่ยานจูโนจะเปลี่ยนวงโคจรเข้าสู่พื้นผิวดาวพฤหัสและสลายไป

ทั้งนี้ นาซาได้ยุติโครงการยานขนส่งอวกาศเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว หลังจากภารกิจของยานขนส่งอวกาศ "แอตแลนติส" เที่ยวสุดท้ายในการขนสัมภาระสนับสนุนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) เสร็จสิ้น และกลับถึงโลกโดยปลอดภัย

ต่อจากนี้ สหรัฐจะไม่มียานที่ขนส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่อวกาศอีกแล้ว จนกว่าจะมีการพัฒนายานรุ่นใหม่ร่วมกับบริษัทเอกชน โดยมีเป้าหมายส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่ดาวอังคารภายใน 14 ปีข้างหน้า

source : http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/403800

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น