วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 : คนใต้กำหนดอนาคตตนเอง


ในช่วงวันที่ 21-22 สิงหาคมนี้ กลุ่มภาคประชาชนในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้ได้นัดหมายกันเพื่อแสดงให้รัฐบาลใหม่และสังคมไทยทราบว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับแผนพัฒนาภาคใต้ที่ดำเนินการอย่างไม่ชอบมาพากล โดยหน่วยงานต่างๆ ในหลายรัฐบาลที่ผ่านๆ มา

พวกเขาเรียกกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “ปฏิบัติการเพชรเกษม 41” ซึ่งเป็นชื่อถนนสายหลักสู่พื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยสถานที่นัดหมาย คือ จังหวัดชุมพร

ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามเรื่องราวอย่างใกล้ชิด คงไม่ทราบว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับภาคใต้ของเรา ของคนไทยทุกคน (ขอย้ำ) เพราะแม้แต่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เจ้าของโครงการก็แอบเชิญเอาเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น

ขอเริ่มที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก่อนนะครับ ที่จังหวัดชุมพรมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดหนึ่งพันเมกะวัตต์ ซึ่งแม้เขาได้เลื่อนการตัดสินใจว่าจะตั้งที่ใดออกไปอีก 3 ปีเพื่อลดกระแสการต่อต้านจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นระเบิดก็ตาม แต่ก็ทราบกันในพื้นที่ว่าทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตยังคงลงพื้นที่โฆษณาชวนเชื่ออย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ที่กำลังเป็นกระแสคัดค้านกันอยู่คือโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 โรง (รวม 1,600 เมกะวัตต์) ที่นครศรีธรรมราช และโรงไฟฟ้าก๊าซ 800 เมกะวัตต์ ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า “ในเมื่อบ้านเมืองต้องการพัฒนา ก็ต้องใช้ไฟฟ้าสิ จะให้กลับไปใช้ตะเกียงหรือ” บางท่านห่วงใยไปว่า “รัฐบาลใหม่ยังไม่ได้ทำงานเลย จะมาประท้วงกันแล้วเหรอ”

การทำความเข้าใจในเรื่องที่มีรายละเอียดต้องใช้เวลา แต่น่าเสียดายที่สังคมไทยยุคนี้มักจะ “ไม่มีเวลา” ที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งที่มากระทบกับวิถีชีวิตของตนเอง แต่ขณะเดียวกันสังคมไทยก็ใช้เวลาไปกับการดูละครน้ำเน่าที่สนับสนุนรายการโดยพ่อค้าพลังงานขนาดใหญ่ (โปรดอ่านอีกครั้ง)

ขอโทษนะครับ ถ้าเปรียบสังคมเป็นไก่ในลานบ้านเดียวกัน โดยปกติไก่ตัวผู้จะไม่ชนกันเอง อาจจะมีการไล่จิกกันบ้างเพื่อแย่งอาหารหรือตัวเมีย แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่จะต้องชนกัน แต่ถ้าเราอยากจะให้มันชนกัน เราก็ใช้เขม่าก้นหม้อหรือ “มีดหม้อ” (ในภาษาปักษ์ใต้) มาทาหน้าไก่ คราวนี้แหละมันจะชนกันเอง

“มีดหม้อ” ทำให้ไก่ในบ้านเดียวกันจำกันไม่ได้ฉันใด ในสังคมคนก็คือ “ชุดความคิดและข้อมูล” ทำให้คนเรามีความคิดเห็นต่างกันฉันนั้น

กลับมาที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้า หลังจากผ่านการคิดด้วย “ชุดข้อมูลที่สาธารณะไม่ได้รับรู้” พบว่า ปัจจุบันคนภาคใต้ใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 2,200 เมกะวัตต์ แต่ทำไมต้องสร้างเพิ่มมาอีกถึง 3,400 เมกะวัตต์ จำนวนประชากรก็ไม่ได้เพิ่มมากมายถึงขนาดนั้น

จาก “ชุดข้อมูล” อีกนั่นแหละพบว่า เขาจะสร้างเตรียมไว้รับภาคอุตสาหกรรม เช่น โรงถลุงเหล็กต้นน้ำที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา หรือที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งโรงถลุงเหล็กนี้ นอกจากจะใช้ไฟฟ้าจำนวนมากแล้ว ยังต้องใช้ถ่านหินนำเข้าแร่เหล็กที่เป็นวัตถุดิบก็นำเข้าทั้งหมด เมื่อถลุงแล้วผลผลิตส่วนใหญ่ก็ส่งออก

นอกจากนี้ยังต้องแย่งน้ำจืดกับชาวนาอีกด้วย สื่อมวลชนอาวุโสท่านหนึ่งซึ่งได้ไปดูโรงถลุงเหล็กในญี่ปุ่นมาแล้วเล่าว่า “มันสกปรกมาก ผู้ที่จะต้องตายเป็นรายแรกคือชาวประมงพื้นบ้าน” สิ่งที่ผมเล่าก็คือสิ่งที่เครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามเรื่องแบบนี้มายาวนาน อยากจะบอกกับสาธารณะ บางคนมีประสบการณ์ตรง บางคนไปดูความล้มเหลวจากที่อื่น และบางคนมีทางออกให้กับการแก้ปัญหาประเทศ แต่คนเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ ไม่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพี่น้องร่วมชาติ กับรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมารวมทั้งรัฐบาลชุดใหม่นี้ด้วย พวกเขาจึงจำเป็นต้องใช้ปฏิบัติการเพชรเกษม 41

ในเรื่องทิศทางการพัฒนาประเทศ เราได้เดินตามก้นประเทศมหาอำนาจมาตลอด 50 ปี แล้วเป็นอย่างไรครับ เศรษฐกิจและสังคมของมหาอำนาจกำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรงที่สุด หนี้สินภาครัฐล้นพ้นตัว คนตกงานจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ในสหรัฐฯ เท่านั้น ในยุโรป รวมทั้งการจลาจลในอังกฤษก็เริ่มต้นจากคนว่างงานซึ่งมีอัตราสูงถึง 19.6%

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัญหาสังคม ยาเสพติด การหย่าร้าง รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม-โลกร้อน ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังเกิดขึ้นและรุนแรงมากในบ้านเกิดเมืองนอนของเราเอง

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคิดใหม่เรื่องเป้าหมายของชีวิตและเป้าหมายของประเทศชาติ การเดินไปตามทางเดิมที่มุ่งแต่การเติบโตเพียงอย่างเดียวเป็นหนทางไปสู่หายนะอย่างแน่นอน เพราะมีการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติ (ซึ่งควรจะเป็นของคนรุ่นหลังด้วย)อย่างมโหฬาร

เราเคยส่งดีบุกมากเป็นอันดับสองของโลก เดี๋ยวนี้หมดเกลี้ยงแล้ว เราผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้เป็นอันดับที่ประมาณ 25-30 ของโลก แต่ประชาชนไทยได้ผลประโยชน์ต่ำที่สุดในโลก คนไทยต้องใช้น้ำมันในราคาที่สูงกว่าที่พ่อค้าส่งออก มีการคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่ซับซ้อน ยากที่จะจับได้ไล่ทัน

ในเรื่องเป้าหมาย ตอนที่ผมเป็นเด็ก ทางโรงเรียนได้เชิญวิทยากรมาอบรม มีครั้งหนึ่งผมยังจำได้ไม่ลืมเพราะเป็นนิทานเรื่อง “เทวดากับหนอนในอาจม” ทั้งสองเคยเป็นเพื่อนรักกันมากเมื่อชาติก่อน เมื่อเจอกันก็ต้องถามสารทุกข์สุกดิบ เทวดาบอกว่า “ชีวิตข้าฯ สบายมาก เพราะมีคนมาคอยบำเรอ คิดจะกินอะไรก็ได้กิน” หนอนได้ฟังดังนั้นก็สงสารเพื่อนที่ต้องลำบาก “เอ็งโชคร้ายมาก ที่ต้องเหนื่อยกับการคิด สู้ข้าฯ ไม่ได้ ไม่ต้องคิด เพียงแค่อ้าปากก็ได้กินแล้ว”

ผมเรียนตามตรงว่า ในตอนนั้นผมชื่นชมกับความคิดของหนอนมาก อาจจะติดวัฒนธรรมศรีธนญชัยมาบ้าง แต่มาวันนี้เป้าหมายของชีวิต ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการได้กินเพียงอย่างเดียว แต่ควรจะมีองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจ การมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง มีหลักประกันสุขภาพ เป็นต้น

แต่การพัฒนาของประเทศเรากลับเน้นในเรื่องการส่งออกเพียงอย่างเดียว แล้วเป็นการส่งออกของทุนต่างชาติอีกต่างหาก ไม่สนใจความเหลื่อมล้ำ ถึงค่าแรง 300 บาทก็คงไม่พอยาไส้ ด้วยเหตุนี้แหละ คนใต้จึงขอกำหนดอนาคตตนเองและขอบอกให้รัฐบาลใหม่รับทราบล่วงหน้า ไม่เกี่ยวกับการประท้วงแต่อย่างใดครับ


ประสาท มีแต้ม
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000101437


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น