วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โรงไฟฟ้าถ่านหิน ภัย"เขาหินซ้อน"


"พนมสารคาม" และ "สนามชัยเขต" 2 อำเภอ จ.ฉะเชิงเทรา มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีคลองหลักอยู่ 2 สาย คือ คลองท่าลาด กับคลองสียัด ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นปลูกข้าว สวนมะม่วง ไร่มันสำปะหลัง เพาะเห็ด

แต่แล้วเมื่อปีพ.ศ.2550 เริ่มมีแผนผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 600 เมกะวัตต์ โดยใช้ถ่านหิน ตั้งอยู่ใน ต.เขา หินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการขยายฐานการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่กลุ่มโรงงานนี้มีอยู่แล้ว อาทิ โรงงานผลิตกระดาษ โรงผลิตไม้อัด โรงผลิตแป้งมัน โรงหลอมเหล็ก อีกทั้งกลุ่มโรงงานก็มีโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่แล้ว 2 โรง ที่ป้อนพลังงานให้

ต่อมาปีพ.ศ. 2552 รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผ่านความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชาวบ้านในพื้นที่กังวลว่าจะ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จึงคัดค้าน โดยส่งหนังสือไป ยังหน่วยงานราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทบทวนโครงการด่วน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ หรือเอชไอเอ

ประกอบกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถือเป็น 1 ใน 11 โครงการ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง กำหนดให้ต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรืออีเอชไอเอ

ถัดมาผู้ผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จัดเวทีทบทวนร่างรายงานการประเมินผลอีเอชไอเอ แต่ยังไม่ส่งเรื่องไปยัง สผ. ขณะที่ฝ่ายชาวบ้านเสนอให้ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน จนนำมาสู่การจัดเวที "แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อค้นพบเบื้องต้น" จากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

โดยมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ หน่วยงานรัฐ ร่วมรับฟัง จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน อาจทำให้ชุมชนเกษตรอินทรีย์ สวนมะม่วงในพื้นที่ล่มสลาย และอาจเกิดกรณีพิพาทแย่งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค

ส่วนพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในรัศมี 5 ก.ม. อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษทางน้ำ พื้นดิน อากาศ ซึ่งมลพิษทางน้ำเป็นปัญหาที่ชาวบ้านกังวลมาก และยิ่งวิตกหากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เจ้าของโครงการก็พร้อมที่จะขุดอ่างเก็บน้ำขนาด 11 ลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในกิจการทันที ทั้งที่ขณะนี้ภายในพื้นที่โรงงานมีอ่างเก็บน้ำ 5 ลูกบากศ์เมตร

"อากาศ น้ำ ไม่มีอะไรกั้น มีน้ำเสียปล่อยมาตลอด ยิ่งถ้าใช้ถ่านหินน้ำจะปนเปื้อนมากเกิดหายนะแน่นอน โรงงานมีท่อสูบน้ำขนาดใหญ่สูบน้ำจากคลองสาธารณะไปใช้ พอถึงหน้าแล้งคลองก็แห้ง ชาวบ้านไม่รู้จะเอาน้ำมาจากไหน" เสียงสะท้อนจากการแลกเปลี่ยนความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่

นายไมเคิล คอมมันส์ อายุ 40 ปี ชาว อเมริกัน อาศัยและทำการเกษตรอยู่ที่ อ.พนมสาร คาม มาแล้ว 3 ปี ร่วมสะท้อนว่า ในต่างประเทศพื้นที่ที่ชุมชนไม่เข้มแข็งจะถูกรังแก แม้เป็นคนต่างชาติแต่รักประเทศไทย คิดว่ามีทรัพยากรที่ดีมากควรรักษาสมดุล การใช้ถ่านหินทำให้โลกร้อน เคยไปมาหลายประเทศเมื่อมีโรงไฟฟ้าถ่าน หินไม่มีที่ใดอากาศเหมือนเดิมหรือบางคนที่ ไม่สู้อาจคิดว่าหายใจไม่ออกแต่มีงานทำแบบนั้นเอาหรือเปล่า

ขณะที่ น.พ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สช. กล่าวว่า การทำประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน เป็นการนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการอนุมัติอีไอเอ พิจารณา และชาวบ้านยังไปฟ้องศาลปกครองได้ หากไม่มีการปฏิบัติ หรือไม่ดูแล จะนำไปสู่การยุติโครงการได้

"ผมมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกับโรงงาน ข้อมูลจากการประเมินจะช่วยให้การพิจารณามีความสมบูรณ์ เท่ากับเป็นการช่วยโรงงานด้วยที่ให้เกิดความถูกต้องก่อน จะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง การลงทุนในยุคสมัยที่เป็นประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมกับภาคประชาชนต้องโปร่งใส" น.พ.วิพุธ กล่าว

ขณะเดียวกัน จากการที่เจ้าหน้าที่ นักวิชาการ สช. ลงพื้นที่สวนมะม่วง ต.เขาหินซ้อน ของนางตรีเนตร เข็มมาลัย เมื่อไปถึงพบว่าต้นมะม่วงบางส่วนถูกโค่นไปแล้ว เพราะไม่ติดผล

นางตรีเนตร แสดงความกังวลว่า หากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน สถานการณ์จะยิ่งแย่ลง เพราะขนาดปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวล เพียง 2 โรง ก็ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปัญหา ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมาอีกคงไม่สามารถปลูกมะม่วงได้เหมือนเดิม

"ทุกวันนี้มะม่วงออกดอก แต่ไม่ติดผล โค่นไป 41 ไร่แล้ว หลือไว้ 13 ไร่ ปัญหาเพิ่งจะเป็นมา 4-5 ปี ไร่มะม่วงอยู่ในทิศทางลมที่พัดมาจากโรงงานโดยตรง มันจึงเป็นปัญหา ตอนนี้ก็เริ่มปลูกยางแทนแล้ว เพราะคิดว่าน่าจะทนกว่ามะม่วง สู้ไม่ไหวเพราะเมื่อก่อนจะได้ 700,000-800,000 บาทต่อปี ระยะหลังขาดทุนบ้างได้ 300,000-400,000 บาทต่อปี" นางตรีเนตร กล่าว

นอกจากนี้ คณะเดินทางไปยังตรวจสอบพื้นที่เกษตรอินทรีย์ แปลงเห็ดฟาง ที่มีอยู่ทั่วพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน จากผ่านมาทั้งหมดเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ ส่งออกทั้งในและต่างประเทศ แต่ขณะนี้เกษตรกร และชาวบ้าน กังวลว่าหากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ ผลผลิตทั้งหมดจะได้รับกระทบไปด้วย

นี่เป็นอีกตัวอย่างที่กลุ่มชาวบ้านเอง ต้องใช้ช่องทางตามกฎหมายขับเคลื่อนต่อสู้กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม

source:http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNakk0TURnMU5BPT0%3D&sectionid=TURNeE53PT0%3D&day=TWpBeE1TMHdPQzB5T0E9PQ%3D%3D

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น