เมื่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) ถึงคราวที่ต้องจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาเมือง หลังจากที่กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2549 หรือผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 2) สิ้นสุดการบังคับใช้ลงเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2554 แต่ กทม.ได้ขยายระยะเวลาออกไปจนสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 15 พ.ค.2555 ซึ่งในระหว่างนี้ กทม.จะต้องดำเนินการวางแผนและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างต่อเนื่องหากฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
ภาพมุมสูงกรุงเทพฯ |
ผศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ระบุว่า เรากำลังจะเปลี่ยนให้ กทม.ใช้ระบบรางเป็นหลักมากขึ้น และนับตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิ มีการเปิดใช้ จะเห็นได้ว่า ทิศทางของเมืองเปลี่ยนไป โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนที่เห็นได้อย่างชัดว่า มีผลต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะเมื่อเกิดรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน ก็ก่อให้เกิดการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มากมาย ซึ่ง 60% ของการก่อสร้างมักอยู่ตามแนวเส้นทางขนส่งมวลชนระบบราง ดังนั้น ร่างผังเมืองฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 นี้ จะมีการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินให้สัมพันธ์กับระบบรางที่มีอยู่ในขณะนี้ และที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2555-2560 เช่น การปรับปรุงบริเวณจุดเชื่อมต่อที่สถานีหัวหมาก, สถานีลาดกระบัง ตามแนวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์
“โจทย์ของการวางผังเมืองครั้งนี้ คือ ปัญหาจราจรซึ่งแต่เดิมเราเป็นเมืองน้ำ ต่อมาเป็นเมืองรถ และในอนาคตเราจะปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบราง ซึ่งขณะนี้คนกรุงเทพฯกำลังเริ่มเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง”
ผศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ |
ผศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ ผู้จัดการโครงการ อธิบายต่อว่า ในร่างผังเมืองฉบับนี้จะมี 8 พื้นที่หลัก ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากเดิม คือ 1.พื้นที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ที่แต่เดิมอยู่อาศัยน้อย ก็ปรับปรุงให้ก่อสร้างอาคารได้หนาแน่นมากขึ้น 2.พื้นที่บริเวณรามอินทรา กม. 8 และบริเวณจุดตัดถนนวงแหวนรอบนอกและถนนรามอินทรา ที่จะเป็นย่านศูนย์ชุมชนเพื่อรองรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีส้ม ช่วงมีนบุรี-ตลิ่งชัน ปรับจากที่ดินประเภทที่เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นที่ดินที่ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก และที่ดินประเภทพาณิชยกรรม 3.บริเวณรามคำแหง พระราม 9 ได้ปรับเปลี่ยนที่ดินประเภทที่เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นที่ดินที่ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก และที่ดินประเภทพาณิชยกรรม 4. บริเวณสถานีหัวหมาก ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สามารถพัฒนาเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายการเดินทางได้ เนื่องจากจะมีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง พาดผ่าน
5.การพัฒนาที่ดินบริเวณสุขุมวิท ช่วงอุดมสุข-แยกบางนา ซึ่งจะมีรถไฟฟ้าระบบโมโนเรล ออกไปยังถนนบางนา-ตราด และยังมีรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยาย สายสีเขียวอ่อนนุช-แบริ่ง เปิดให้บริการ ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ขยายตัวขึ้นเหมาะที่จะเป็นพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม 6.ศูนย์ชุมชนชานเมืองตลิ่งชัน เนื่องจากมีรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 7.บริเวณวงเวียนใหญ่ ที่จะมีศักยภาพการพัฒนามีรถไฟฟ้า 3 สาย ผ่านในพื้นที่ คือ สายสีเขียว ที่วิ่งอยู่แล้วในปัจจุบัน และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงราษฎร์บูรณะ-บางซื่อ และรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ และ 8.ย่านถนนพุทธมณฑล ตลิ่งชัน ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่รับน้ำของกรุงเทพฯฝั่งตะวันตก แต่ในผังฉบับนี้ มองว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีโครงข่ายถนนและสาธารณูปโภคที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดในกรุงเทพฯ อยู่ใกล้เมืองและในอนาคตจะมีรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสายสีน้ำเงิน จึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยมีคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม
“หากร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 สำเร็จเป็นได้ดั่งที่ตั้งใจไว้จะเป็นผังเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย ดีกว่าการวางผังเมืองของประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศสิงคโปร์ แต่คนจะปฏิบัติได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”ผศ.ดร.นพนันท์ กล่าว
เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถูกจัดผังเมืองอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
อาจารย์นพนันท์ ให้เหตุผลสนับสนุนว่า ประเทศญี่ปุ่น อย่างเมืองนาโงยา (Nagoya) ที่มีการวางผังเมืองใหม่ เนื่องจากได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสามารถพัฒนาเมืองได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เครื่องมือการจัดรูปที่ดิน ปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่เมืองด้วยการตัดถนน รื้อถอนกรรมสิทธิ์ที่มีการครอบครองอยู่เดิมแล้วนำมาจัดสรรแปลงใหม่โดยไม่ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าถูกเวนคืนที่ดินจึงทำให้ตัวเมืองนาโงยาถูกจัดวางเป็นบล็อกๆ มีถนนที่ตรงยาวเป็นระเบียบ ในขณะที่ประเทศไทยเติบโตตามยถากรรม
“แม้การจัดรูปที่ดินวางโครงสร้างเมืองใหม่ จะทำให้นาโงยาเป็นเมืองที่สะดวกสบาย แต่กลับทำให้เมืองแห่งนี้ขาดความเป็นตัวตน ไม่มีหน้าตา ไม่มีจิตวิญญาณของเมือง ขาดความเป็นเอโดะ เป็นเพียงเมืองเรขาคณิตธรรมดา ซึ่งต่างจากกรุงโตเกียวที่ยังคงความเป็นเอโดะอยู่ แม้จะมีการจัดวางผังเมืองใหม่เช่นกัน ขณะที่บ้านเราด้วยความ กทม.เป็นเมืองที่ถนนคดไป คดมาแต่กลับมีคุณค่าเชิงวัฒนธรรม และต่อวิถีชีวิตทำให้เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ มีชีวิตชีวา มีจิตวิญญาณเยอะมาก และในศตวรรษนี้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มจากประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้หันมาให้ความสนใจในการวางผังเมืองโดยยึดแบบ new urbanism ที่จะปรับจากเมืองเรขาคณิตมาเป็นเมืองที่มีชีวิตมากขึ้นแล้ว”
อาจารย์นพนันท์ สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ที่สำคัญ ร่างผังเมืองรวมฉบับนี้ยังได้เพิ่มมาตรการที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือโดยการให้สิทธิพิเศษสำหรับการพัฒนาที่สนับสนุนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะคือหากภาคเอกชนรายใดจัดให้มีพื้นที่กักเก็บน้ำฝน มีการก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน และจัดให้มีที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือผู้อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่โครงการเพื่อสนับสนุนให้เอกชนพัฒนาอาคารให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะก็จะสามารถแลกพื้นที่การก่อสร้างอาคารที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นมาตรการใหม่ในร่างผังเมืองรวมฉบับนี้อันเป็นไปตามการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio Bonus) หรือ FAR Bonus ฉะนั้นร่างผังเมืองรวมฉบับนี้จะเป็นการดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ช่วยกันพัฒนากรงเทพมหานครไปสู่มหานครแห่งอนาคตต่อไป
source:http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000103811
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น