ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับล่าสุด หรือ PDP (Power Development Plan) 2553-2573 ได้ปรับเลื่อนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไป 3 ปี จำนวน 5 โรง กำลังผลิตละ 1,000 เมกะวัตต์ เป็นผลมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟูกูชิมา ประเทศญี่ปุ่น เกิดปัญหา ทำให้รัฐบาลไทยต้องทบทวนแผนพลังงาน หากแต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังคงต้องมีหน้าที่ศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมหากนโยบายอนาคตจะกลับมาก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้ง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กฟผ.เดินทางไปเกาหลีใต้เพื่อเยี่ยมชมเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โครงการ คือ โครงการแรก Kori Nucler Power site ของบริษัท KOREA HYDRO & NUCLEAR POWER หรือ KHNP เมืองปูซาน มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 8 ตัว รวมกำลังผลิตติดตั้ง 5,137 เมกะวัตต์ ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2 เตา รวม 2,800 เมกะวัตต์ จะทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2556 และปี 2557 เตรียมจะเพิ่มอีก 2 เตา โดยปฏิกรณ์นิวเคลียร์เตาแรกเดินเครื่องผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2521 และปี 2553 สามารถเดินเครื่องได้เต็มที่สูงสุด 95.7% จนถึงวันนี้ไม่เคยเกิดเหตุขัดข้องสักครั้ง
โครงการ Kori เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบน้ำความดันสูง (Pressurized Water Reactor : PWR) จะต้มน้ำภายในถังขนาดใหญ่ อัดความดันไว้เพื่อไม่ให้น้ำเดือดกลายเป็นไอ น้ำส่วนนี้ไปถ่ายเทความร้อนให้แก่น้ำหล่อเย็นอีกระบบหนึ่งที่ไม่ได้ควบคุมความดันเพื่อผลิตไอน้ำออกมา เป็นการป้องกันไม่ให้น้ำในถังซึ่งมีสารรังสีเจือปนอยู่แพร่กระจายไปยังอุปกรณ์ส่วนอื่น ๆ ซึ่งแตกต่างจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมาที่เป็นแบบน้ำเดือด (Boiling Water Reactor : BWR) สามารถผลิตไอน้ำได้โดยตรงจากการต้มน้ำภายในถัง ซึ่งไม่ได้ควบคุมความดัน
โครงการ 2 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ KEPCO : KOREA ELECTRIC POWER CORPORATION ในกรุงโซล มีกำลังผลิตรวม 18,715 เมกะวัตต์ และยังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่น ๆ จากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งความน่าทึ่งของโรงไฟฟ้า KEPCO คือการซื้อเทคโนโลยีนิวเคลียร์จากยุโรป แต่หลังจากได้ศึกษาและพัฒนาเองจนสามารถขายเทคโนโลยีภายใต้ชื่อ KEPCO ให้ตลาดต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย อียิปต์ ฟินแลนด์ ฯลฯ
การได้แลกเปลี่ยนความเห็นจากตัวแทนของทั้ง 2 บริษัท ถึงประเทศไทยหากจะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกเหนือจากนโยบายรัฐจะต้องชัดเจนแล้ว ยังอีกประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.กฎหมายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ครอบคลุมไปถึงการดูแล "ประชาชน" ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และ 2.ต้องทำให้ประชาชนเชื่อถือมากที่สุด สำหรับกฎหมายพิเศษนี้จะต้องควบคุมดูแลทั้งตัวโรงไฟฟ้าเอง และจะต้องดูแลประชาชนทั้งก่อนและหลังการเดินเครื่องไปตลอดอายุโรงไฟฟ้า ส่วนความเชื่อถือจากประชาชนถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากว่าประชาชนในพื้นที่โรงไฟฟ้าอยู่ไม่ได้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน
การเดินทางครั้งนี้ กฟผ.ไม่ได้ละเลยที่จะศึกษาเรื่องเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ ในเกาหลี ยังได้ไปชมโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด Yeongheung Thermal Power Site Division ของบริษัท KOREA SOUTH-EAST POWER กำลังผลิตติดตั้ง 3,340 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินนำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ความโดดเด่นของโรงไฟฟ้านี้คือ การปล่อยมลพิษสู่บรรยากาศน้อยมากเมื่อเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่น ๆ กระบวนการผลิตมีความคล้ายกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปางของไทย อย่างเช่น การปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะต่ำกว่าที่มาตรฐานกำหนดคือ ต่ำกว่า 15 PPM
ด้าน นายธวัช วัจนพรสิทธิ์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม กฟผ.กล่าวว่า การจะเลือกพลังงานประเภทใดก็ตามจะต้องดูว่าดีต่อเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ด้วย เมื่อเปรียบเทียบพลังงานนิวเคลียร์กับถ่านหิน ถ่านหินต้นทุนต่อหน่วยถูก แต่ค่าก่อสร้างแพง ส่วนนิวเคลียร์ ต้นทุน เชื้อเพลิงจะแพงกว่าเล็กน้อย ค่าก่อสร้างไม่สูงมากนักขึ้นอยู่กับว่าประเทศจะไปทางใด เพราะวิกฤตของประเทศขณะนี้คือการใช้ก๊าซธรรมชาติที่สูงเกิน 72.81% ขณะที่ปริมาณก๊าซในประเทศเหลือใช้ได้เต็มที่เพียงไม่เกิน 15 ปี ฉะนั้นเพื่อความมั่นคงแล้วประเทศจะบริหารสัดส่วนการผลิตพลังงานอย่างไร
หากโรงไฟฟ้าในประเทศนับวันจะยิ่งสร้างได้ยากขึ้น แต่ความต้องการใช้กลับเพิ่มขึ้นนั้น เชื่อมั่นว่าเร็ว ๆ นี้อาจจะต้องปรับแผน PDP ใหม่อีกครั้ง เพราะไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงประเภทใด กฟผ.มุ่งเน้นจะต้องทำให้อัตราค่าไฟฟ้าเหมะสม แม้แต่คนจนก็ต้องมีสิทธิใช้ด้วยเช่นกัน
การเดินทางไปสำรวจกิจการทางด้านพลังงานในเกาหลีใต้ครั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องการจะให้เห็นมุมที่ดีและประโยชน์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
source: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1314679087&grpid=00&catid=&subcatid=
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น