“นโยบายข้อ 6 เราจะจัดให้มีการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งใหม่ โดยพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ในทุกภูมิภาคที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษ และพัฒนาเส้นทางการขนส่งเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมดังกล่าวกับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด รวมทั้งการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยสำหรับรองรับอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน” สิ้นเสียงประโยคบรรทัดสุดท้ายที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร อ่านจบลง เสียงอุทานจากบังหวังชาวประมงแห่งบ้านปากบางสะกอม ก็สบถออกมาดังๆ ลั่นโรงน้ำชาว่า “อุตสาหกรรมพ่อมึงสิ ที่ไม่ก่อมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม...เกิดมากูยังไม่เคยเห็นโว้ย”
ผมเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของบังหวังและเพื่อนฝูงดี เพราะพวกเขาได้ลุกขึ้นมาสู้กับโครงการขนาดใหญ่มาก่อนหน้านี้ และพบกับความพ่ายแพ้อย่างราบคาบ โรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ และโรงไฟฟ้าจะนะ ยืนทะมึนตระหง่านเสมือนเยาะเย้ยถากถางให้อารมณ์ของบังหวังและพรรคพวกขุ่นเคืองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และวันนี้ตำบลนาทับในพื้นที่อำเภอจะนะซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกันกับตำบลสะกอม ที่บังหวังและพี่น้องที่ประกอบอาชีพทำการประมงชายฝั่งไปประกอบการประมงกันในบริเวณนั้น วันนี้เป็นพื้นที่เป้าหมายในฝั่งอ่าวไทยของโครงการสะพานเศรษฐกิจ (land bridge) ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงออกมา
การสั่งเดินหน้าโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ ในยุคสมัยที่อดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เกิดการใช้ความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ บังหวังและพี่น้องในตำบลนาทับ ตำบลสะกอม ต่างตระหนักดีถึงผลร้ายที่เกิดขึ้นในชุมชนของพวกเขา ไม่ว่าผลกระทบต่อการประกอบอาชีพทั้งบนบกและในทะเล สัตว์น้ำในลำคลองนาทับ คลองสะกอมที่เป็นแหล่งทำการประมงของพวกเขา พันธุ์สัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ยังไม่รวมถึงความขัดแย้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักศาสนากรณีที่ดินวะกัฟ ที่ทางบริษัทยึดเอาไปเป็นของส่วนตัว เป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึกจนถึงวันนี้ก็ยังไม่คลี่คลาย
กรณีการสั่งเดินหน้าโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้อำนาจบาทใหญ่ใช้อำนาจรัฐในมือทุกส่วนเข้ามาล้อมกรอบชุมชน ไม่ไยดีต่อคำท้วงติงของภาคส่วนต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม ไม่ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมาธิการการมีส่วนร่วมของวุฒิสภา ที่เสนอให้ยุติและทบทวนโครงการ หรือบรรดาเหล่านักวิชาการทั่วประเทศกว่า 1,000 คนที่ร่วมกันเข้าชื่อกันเรียกร้อง เพราะปมปัญหาของโครงการมิได้มีเฉพาะการก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่เท่านั้น แต่มันยังมีปมปัญหาอื่นๆ ที่ยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นธรรมกับประเทศชาติ ไม่ว่าปมของพื้นที่ทับซ้อนของแหล่งก๊าซในทะเล หรือปมของการแบ่งปันผลประโยชน์ที่บรรดานักวิชาการมองว่าทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ
การเหลิงในอำนาจและเชื่อมั่นกลไกรัฐในมือ การใช้อำนาจเข้าสลายการชุมนุมของพี่น้องอำเภอจะนะที่หน้าโรงแรมเจบีหาดใหญ่ ในค่ำของวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ส่งผลให้เกิดการใช้ความรุนแรงถึงเลือดตกยางออก เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในสมัยนั้น และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกหลายท่านต้องตกเป็นจำเลยในศาล จนถึงวันนี้คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้น้องได้มีโอกาสขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บทเรียนในครั้งนั้น ลิ่วล้อทั้งหลายซึ่งหลายคนก็กลับเข้ามาห้อมล้อมคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันนี้อีกครั้ง ควรจะได้สรุปบทเรียนให้ท่านได้รับทราบบ้างว่า การจะเดินหน้าโครงการใดๆ ที่ไม่รับฟังผู้คนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบและองค์กรต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมนั้น ถึงท่านจะได้รับชัยชนะในเบื้องต้น แต่ท่านก็จะพ่ายแพ้ในปั้นปลาย
การระบุให้การดำเนินการโครงการสะพานเศรษฐกิจไว้ในนโยบาย ในขณะที่ผู้คนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยและกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระดับต่างๆ รวมไปถึงข้อถกเถียงถึงเป้าหมายและทิศทางของการพัฒนาภาคใต้ ที่มีมากไปกว่าการมุ่งสู่ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปิโตรเคมี หรืออุตสาหกรรมที่เจริญตามรอยมาบตาพุด ที่มากไปกว่านั้นในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ยุติโครงการดังกล่าวเพราะมีมติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติปี พ.ศ. 2550 ได้มีข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรียุติและทบทวนแผนดังกล่าว และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ไว้ 4 ข้อคือ
1. มอบหมายให้สภาพัฒน์ทบทวนร่างแผนแม่บทภาคใต้ โดยมีหลักการที่สำคัญภายใต้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2. การดำเนินการตามข้อ 1 ให้สภาพัฒน์ตั้งกรรมการที่ประกอบด้วยทุกภาคส่วนด้วยการมีส่วนร่วมใช้เครื่องมือที่หลากหลาย มุ่งการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์คำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน 3. ให้คณะกรรมการตามข้อ 2 ผลักดันแผนให้ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งระดับภาค ท้องถิ่น กลไกติดตาม กำกับประเมิน เผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนทราบ 4. ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการตามข้อ 2 มีความต่อเนื่อง
การระบุไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่ว่าด้วยการเดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์น ซีบอร์ด (Southern Seaboard Development Plan) โดยไม่ยอมฟังข้อทักท้วงของภาคส่วนต่างๆโดยเฉพาะของภาคประชาชน ที่กังวลว่าการเดินหน้าโครงการดังกล่าวอย่างเร็วๆ อย่างลวกๆ นั้น จะส่งผลเสียให้เกิดขึ้นมากกว่าผลดี การระบุไว้ในนโยบายเช่นนั้นเสมือนท่านไม่สนใจ ไม่แคร์ และพร้อมที่จะเดินหน้าท้าชนกับคนใต้ ถ้าพวกท่านคิดเช่นนั้นก็เชิญเลยครับ.
โดย บรรจง นะแส
source:http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000108923 |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น