วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เกษตรอินทรีย์ กอบกู้โลก

ความจริงของเกษตรอินทรีย์ ยังถูกพยายามกลบด้วยข้อมูลข่าวสาร และพลังสถาบันที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกับเกษตรเคมี ใครกระหายความจริง ต้องอ่าน

พายุไต้ฝุ่นนากีส ถล่มพม่า เมื่อปี 2551 ปากแม่น้ำอิรวดี แหล่งปลูกข้าวดีทีสุดของพม่า และดีติดอันดับโลกย่อยยับ ชีวิตคนถูกคร่านับแสน และอีกหลายแห่งในโลกก็เผชิญหายนะจากพลังธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงได้

เมื่อภูมิอากาศโลกเปลี่ยนรวดเร็วถึงขั้นวิกฤตหายนะ ในที่ไม่เคยท่วมกลับท่วม ในที่แห้งแล้งกลับหิมะตก ในที่แหล่งฝนกลับแล้ง คนต้องอดยากลำบากด้วยความหิวโหย มิเพียงเท่านั้น ในภาวะปรกติกระบวนการผลิตแบบเคมี ก็ทำลายสมดุลตามธรรมชาติอย่างถึงรากถึงโคน แล้วมนุษย์ได้ตระหนักถึงภัยเหล่านี้แค่ไหน และตระเตรียมรับมือ อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องพืชพรรณธัญญาหาร

จากการศึกษาประมวลจากทั้งนักวิชาการและชาวบ้าน ภาวะโลกร้อนมีผลกระทบใหญ่ ๆ อยู่ 3 อย่าง

หนึ่ง อุณหภูมิสูงขึ้น กระทบต่อข้าวทั้งอินทรีย์และไม่อินทรีย์ คือ เกสรข้าวจะผสมเกสรติดน้อยลง ยิ่งประเทศร้อน ๆ ยิ่งแย่ลง ประเทศหนาวจะดีกว่า เพราะการผสมเกสรอุณหภูมิต้องพอดี อาศัยช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงเอง หากร้อนไปข้าวจะลีบ ติดผลน้อย

สอง คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนจะแปรปรวน สถิติก็ชัดเจนในช่วง 20 ปีของเมืองไทยเจออุทกภัยมากขึ้น ปีนี้ชัดเจนเลย และแล้งมากขึ้นด้วย เขาระดมนักวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศจากหลายมหาวิทยาลัย มาทำแบบจำลองในอนาคตจะเป็นอย่างไร โดยสรุป คือ สถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้งจะเกิดมากขึ้น มันจะแย่ลง สิ่งที่ตามมาคือ

สาม โรคระบาด โรคที่ไม่คิดว่าจะเจอก็เจอ เช่น เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง ในทางวิชาการพวกเรียนเกษตรถูกสอนว่า มันสำปะหลังเป็นพืชในอุดมคติ เจอแล้งไม่เป็นไร เจอฝนมันโต แมลงไม่มี โรคไม่มี แต่ในที่สุดโลกร้อนทำลายเสียหายไปร้อยละ 20 - 30 เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พอเจออุณหภูมิสูงมันระบาดไปกันใหญ่ ระบาดไปหลายล้านไร่

วัฏจักรของมันคือ 10 ปีจะเกิดขึ้นทีหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2523 ปี 2532 ปี 2543 - 44 และเมื่อสองปีที่แล้ว(2552) ผมเคยเตือน มีการจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย แต่เราไม่ได้เตรียมตัว เตรียมแต่สารเคมี ยิ่งฉีดยิ่งระบาด พอเจออากาศร้อนยิ่งไปกันใหญ่
ถ้ามาประมวลกันแล้ว เกษตรอินทรีย์มันป้องกันโรคร้อนและต่อสู้กับโรคร้อนได้อย่างไร มีข้อสรุป 7 ข้อ มี 5 ข้อที่ลดภาวะโลกร้อน
ข้อหนึ่ง เกษตรอินทรีย์เน้นการสร้างอินทรีย์วัตถุ ซึ่งเป็นคาร์บอนรูปแบบหนึ่ง มันเก็บมาอยู่ในดิน ฉะนั้น มันจะช่วยทำให้โลกไม่ให้ร้อนเร็วขึ้น
ข้อสอง เกษตรอินทร์ไม่ได้ใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ถ้าใช้ไปแล้วจะเกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ มันร้ายกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 300 เท่า การทำเกษตรอินทรีย์จึงลดก๊าซตัวนี้
ข้อสาม ไม่มีการเผาตอซัง ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ ลดอีกสารพัด เป็นการรักษาดิน รักษาน้ำในดิน และลดการฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยในดิน
ข้อสี่ ไม่ต้องใช้พลังงานผลิตปุ๋ย อย่างปุ๋ยไนโตรเจนทำมาจากก๊าซธรรมชาติ แล้วใช้ดีเซลเป็นพลังงาน 100 % ของปุ๋ยยูเรียมาจากน้ำมันทั้งสิ้น จึงยิ่งทำให้โลกร้อน
ข้อห้า เกษตรอินทรีย์ที่ดีควรจะไม่ทำการผลิตอย่างเดียว หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก ซึ่งปล่อยก๊าซมีเทน เป็นปัญหาใหญ่มาก  

แล้วเกษตรอินทรีย์จะสู้โลกร้อนได้อย่างไร ประเทศรวยกับประเทศจนพยายามต่อรองกันไป สู้กันไป ประเทศรวยก็ไม่ยอมลดเสียที ประเทศยากจนก็บอกว่า กูยังไม่รวยเลยขอใช้น้ำมันก่อน ขอพัฒนาก่อน อันนี้ก็ต้องว่ากันไป แต่ในที่สุด ก็ต้องหาทางออกกันให้ได้ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถอยู่รอดได้ เกษตรอินทรีย์เป็นการหาทางออกให้โลกทางหนึ่ง เพราะมันจะช่วยใน 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ
ข้อแรก เกษตรอินทรีย์เน้นการใช้อินทรีย์วัตถุ มันช่วยดูดซึมน้ำ มันจึงต้านทานต่อความแล้ง เมื่อเกิดน้ำท่วม น้ำก็ไม่ซะล้างผิวดินออกไป เพราะดินจะซึมซับน้ำไว้ระหว่างเม็ดดิน เป็นการอุ้มน้ำเอาไว้
ข้อที่สอง เน้นความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เลยปรับตัวได้ อากาศเปลี่ยนแปลงก็ไม่เป็นไร เราใช้พันธุ์พืชท้องถิ่นซึ่งแข็งแรงและปรับตัวอยู่ในท้องถิ่นมาช้านาน ข้าวหอมมะลิก็เป็นพันธุ์ข้าวท้องถิ่น ถูกคัดเลือกพัฒนามาโดยชาวนา ข้าวพื้นบ้านและพันธุ์สัตว์พื้นบ้านอื่น ๆ จะปรับตัวและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า ตรงข้ามการนำไก่พันธุ์ของบริษัทมาเลี้ยง แค่ฟ้าร้องมันก็ตายแล้ว มันไม่ทนทาน เพราะไม่ได้เกิดจากพื้นที่ แต่เกิดจากโรงเรือนทดลอง


สำหรับข้อกล่าวหาจากบางชาติในยุโรปว่า คนปลูกข้าวทำให้เกิดโลกร้อน เกิดก๊าซมีเทน ความจริงคือ ร้อยละ 70 สาเหตุเกิดโลกร้อน มาจากภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 12 เกิดจากภาคเกษตรแบบเคมี และเกษตรแบบหักร้างถางพง เช่น การตัดป่าดงดิบทำเป็นไร่ถั่วเหลือง ทำเป็นสวนปาล์ม ทำเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวมากกว่า แต่ทำนาอินทรีย์ดูดซับคาร์บอนฯ ไม่ปล่อยก๊าซไนตรัสฯ แม้ปล่อยก๊าซบ้างแต่มันน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรเคมี เกษตรเคมีต้องรับผิดชอบมากกว่าแน่นอน จากการศึกษาพบว่า ถ้าเปลี่ยนเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ตัวเลขการลดพลังงานเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 60 เกษตรอินทรีย์จึงมีส่วนช่วยโลกได้มาก 

ปัจจัยที่กำหนดให้เกษตรอินทรีย์รุ่งเรือง...หากพูดโดยรวมเกษตรอินทรีย์มีข้อดีเต็มไปหมดเลย แต่ทำไมรัฐไม่ผลักดันจริงจัง แต่หากมองโลกในแง่ดี เราพบมีการเปลี่ยนแปลงในหลายส่วน ตัวอย่างเช่น

หนึ่ง ในระดับประเทศทำไม่ได้ แต่ในระดับจังหวัด สุรินทร์พวกเราก็ช่วยกันทำให้เกิดขึ้นได้

สอง ระดับหน่วยงานราชการ แม้กระทรวงเกษตรจะไม่ค่อยเอาจริงเอาจัง แต่อย่างกระทรวงพาณิชย์ก็พยายามจัดงานส่งเสริมทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง รวมถึงต่างประเทศด้วย

เคยคุยกับนักวิชาการและผู้ใหญ่บางท่านในกระทรวงการคลัง เขาก็เห็นด้วยว่าเกษตรเคมีไปไม่ไหวแล้ว มีอะไรให้ช่วยเพื่อปรับโครงสร้างการผลิต จะขอร่วมมือด้วย ขอให้บอก มีแนวโน้มแบบนี้ มีบางกระทรวงที่ปรับตัวช้า แต่บางหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตร เช่น กรมพัฒนาที่ดินก็ใช้ได้ อันนี้ต้องเป็นความรับผิดชอบของราชการ ที่ผ่านมารัฐบาลและบางกระทรวง เกรงใจพ่อค้า
เช่น ส่งผักไปยุโรปแล้วถูกตีกลับ เพราะรัฐบาลปล่อยให้พ่อค้าไปขึ้นทะเบียนสารเคมีทั้งหมด 27,000 กว่ารายการ ชื่อการค้าสารเคมีของไทยมากที่สุดในโลก ส่งเสริมการใช้โดยไร้การควบคุม เวลาส่งผักไปยุโรป เขาตีกลับเพราะเขาสุ่มตรวจเจอผักมีสารเคมีตกค้างมาจากเมืองไทยมากที่สุด จีนส่งออกมากกว่าไทย 30 เท่า ตรวจเจอเมื่อปีที่แล้วแค่หนึ่งตัวอย่างเท่านั้น บางปีไม่เจอเลย ส่วนไทยเจอ 55 ตัวอย่าง ถูกตีกลับเพราะแย่มาก

สาม ที่สำคัญ คือระดับนโยบาย เช่น นโยบายรับจำนำหรือประกันรายได้ สอดแทรกการส่งเสริมเรื่องปุ๋ยเรื่องสารเคมี มาในรูปแบบดูแล้วจับไม่ติด อย่างนโยบายการประกันรายได้หรือจำนำตันละ 2 หมื่นบาท หากไปวิเคราะห์ตัวเงินรับจำนำมันไปไหน ตัวเงิน 1 ใน 3 เข้ากระเป๋าพ่อค้าปุ๋ยกับสารเคมี หากบวกค่าเมล็ดพันธุ์ประมาณร้อยละ 10 เท่ากับว่าจำนวนเงินประมาณครึ่งหนึ่งจะไปที่บริษัท

กลไกของรัฐและนักการเมืองหรือรัฐบาลต้องจัดการเรื่องนี้ หมายถึงจัดสรรทรัพยากรที่ไปส่งเสริมเรื่องเกษตรเคมี ให้ไปสู่เกษตรอินทรีย์ เช่น เปลี่ยนนโยบายประกันรายได้หรือรับจำนำ เพื่อให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ได้ผลตอบแทนดีกว่าเกษตรทั่วไป เพราะเงินที่สนับสนุนเกษตรอินทรีย์มันไม่ได้ออกนอกประเทศ อีกทั้งไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลด้วยโรคเกิดจากการใช้สารเคมี เช่น มะเร็ง และโรคอื่น ๆ

นอกจากนั้น ยังเป็นการฟื้นฟูดิน ซึ่งระยะยาวมันเป็นการปรับระบบการเกษตรของประเทศ เพราะเกษตรแบบเคมีมันไปไม่รอดแล้ว ทั่วโลกกำลังปรับตัว ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรแต่ปรับช้าที่สุด สวิตเซอร์แลนด์ตอนนี้พื้นที่เกษตรอินทรีย์มีร้อยละ 13 ลิกเค่นสไตน์เกือบร้อยละ 40 สวีเดน ร้อยละ 10 อีกสิบปีข้างหน้าสวีเดนจะเพิ่มให้ได้ครึ่งหนึ่งของประเทศ และอีก 20 ปีข้างหน้าอาจจะเต็มพื้นที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมืองไทยถ้าไม่มีสุรินทร์จะเท่ากับ 0 เปอร์เซ็นต์ เพราะเกษตรอินทรีย์ในเมืองไทยมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์

พี่น้องของเราที่บุกเบิกเรื่องนี้ ต้องเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายด้วย เพราะเกษตรอินทรีย์เป็นวิถีถูกต้อง ไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ทำร้ายผู้บริโภค เป็นวิถีเกษตรแห่งธรรม เป็นเนื้อนาบุญของเกษตรกรรมไทย

+++
บทความปรับปรุงจากเสวนา "เกษตรอินทรีย์กับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากภาวะโลกร้อน" งานมหกรรมเกษตรอินทรีย์ ครั้งที่ 2 วันที่ 31 พฤษภาคม 2554 ณ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์



source http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/reader-opinion/20110806/403569/เกษตรอินทรีย์-กอบกู้โลก.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น