วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สภาพัฒน์แนะรัฐสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนร่วมทำ Green Economy

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง Thailand Green Economic Outlook ในงานสัมมนาในหัวข้อ Green Economy ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยยั่งยืน เจาะลึกกับแนวทางการสร้างประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสีเขียวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 กำหนด Green Economy ใน 5-6 เรื่อง แต่ทั้งนี้การให้ประเทศไทยก้าวสู่เรื่องดังกล่าวกล่าวเห็นว่าต้องดำเนินการใน 4 ด้าน

คือ 1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค ซึ่งภาคการผลิตต้องมีการปรับโครงสร้างในการผลิตในสินค้าที่ผลิตอยู่ในปัจจุบัน และหันมาให้ความสำคัญสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นกัน
2.การมีเทคโนโลยีที่ต้องวางพื้นฐานให้ระบบเศรษฐกิจ สังคม โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งต้องวางพื้นฐานตั้งแต่ในสถาบันการศึกษา แต่การนำมาใช้ประโยชน์จะต้องนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาด้วย ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 2%ของจีดีพี จากเดิมอยู่ที่ 0.2%ของจีดีพี เพราะประเทศที่จะชนะใจคนได้ ต้องมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา
3. การมีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริม Green Economy ทำให้เกิดแรงจูงใจให้มีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อตอบสนองการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ
4. การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน แม้เอกชนจะเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต แต่ในเรื่องนี้การมีส่วนร่วมของภาครัฐต้องเป็นตัวนำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว แม้การใช้จ่ายภาครัฐจะมีไม่ถึง 20%ของจีดีพี แต่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสามารถกำหนดเงื่อนไขสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ ส่วนภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการดูแลชุมชนและองค์กร

"บางเรื่องอาจทำหมดทั้งประเทศได้ แต่บางเรื่องอาจทำทั้งหมดไม่ได้ แต่เราสามารถขับเคลื่อนเป็นโครงการนำร่องได้ ตอนนี้มีการพูดถึง smart community , smart city อาจมีการออกแบบเมืองที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องใช้เทคโนโลยีและมีต้นทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งมีราคาไม่ถูก เพราะเราต้องพึ่งเทคโนโลยีจากต่างชาติ ดังนั้นการขับเคลื่อน แม้เราไม่สามารถทำทีเดียวได้ แต่ทำบางจุดก่อนขยายผลออกไปได้" นายอาคม กล่าว

เลขาธิการสภาพัฒน์ มองว่า พลังงานภาคขนส่งเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งนโยบายภาครัฐจะเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการจัดสรรทรัพยากร และภาครัฐต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และภาคเอกชนต้องมีการลงทุนตาม ในส่วนของสภาพัฒน์มีเรื่องดังกล่าวกำหนดอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 11 ซึ่งบางเรื่องอาจต้องนำมาร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนร่วมกัน

source:http://www.ryt9.com/s/iq03/1220649

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น