วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กฟผ.โชว์แนวทางผลิตไฟฟ้า หนุนพลังงานทางเลือกต้องเกิด

ปัจจุบันการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย ถือว่ามีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. นับเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตไฟฟ้า เพื่อประชาชนได้ใช้อุปโภคและบริโภค แต่การผลิตไฟฟ้านั้นก็ต้องมีข้อจำกัดในการผลิต และหากในหนึ่งทรัพยากรที่ใช้ผลิตไฟฟ้าหมดลงแล้วประเทศไทยจะมีแผนรองรับอย่างไร วันนี้ กฟผ.ได้นำสื่อมวลชนเดินทางไปยังสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าต่างๆ “บ้านเมือง” ขอนำเสนอรายละเอียดดังกล่าว

คิดแผนรองรับผลิตไฟฟ้า
นายธวัช วัจนะพรสิทธิ์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าในปี 2553 ที่ผ่านมา ว่า ในส่วนของพลังงานทดแทน 1.38% พลังงานพลังน้ำ 3.34% น้ำมันเตา 0.55% ถ่านหินนำเข้า 7.36% ดีเซล 0.05% ลิกไนต์ 10% ส่วนก๊าซธรรมชาติ 72.81% อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า แหล่งก๊าซในอ่าวไทยนั้นมีโอกาสจะหมดไปซึ่งต้องมีการหาแหล่งพลังงานใหม่ในการผลิต ซึ่งขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างการคิดพัฒนาพลังงานเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ให้ความสนใจสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ โดยเป็นเรื่องที่น่าจะมีการส่งเสริมพลังงานขยะมาผลิตเป็นพลังงานกระแสไฟฟ้า โดยได้ตั้งเป็นการผลิต 15 ปี แต่ขณะนี้ประชาชนยังไม่เข้าใจในการใช้พลังงานดังกล่าว ซึ่งขณะนี้เราได้มอบให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ทำการศึกษาโดยการแบ่งประเภทขยะ ว่าขยะประเภทใดสามารถดำเนินการได้ แต่ที่ผ่านมาแผนดังกล่าวประชาชนยังไม่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม หากสามารถทำความเข้าใจต่อประชาชนให้ยอมรับได้ กฟผ.ก็พร้อมดำเนินการ

ทั้งนี้ ขยะเชื้อเพลิง คือขยะมูลฝอยที่ผ่านกระบวนการจัดการต่างๆ ประกอบด้วย การคัดแยกวัสดุที่เผาไหม้ได้ออกมา การฉีกหรือตัดขยะมูลฝอยออกเป็นชิ้นเล็กๆ ขยะเชื้อเพลิงที่ได้นี้จะมีค่าความร้อนสูงกว่าหรือมีคุณสมบัติเป็นเชื้อเพลิงที่ดีกว่าการนำขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมมาใช้โดยตรง เนื่องจากมีองค์ประกอบทั้งทางเคมีและกายภาพสม่ำเสมอกว่า ข้อดีของขยะเชื้อเพลิง คือ ค่าความร้อนสูง (เมื่อเปรียบเทียบกับขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมมา) ง่ายต่อการจัดเก็บ การขนส่ง การจัดการต่างๆ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ส่วนวิธีการใช้ประโยชน์จากขยะเชื้อเพลิง การใช้ RDF นั้น ทั้งเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อน โดยที่อาจจะมีการใช้ RDF เป็นเชื้อเพลิงภายในที่เดียวกัน หรือมีการขนส่งในกรณีที่ตั้งของโรงงานไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน ทางเลือกอีกทางหนึ่งก็คือ นำไปใช้เผาร่วมกับถ่านหิน เพื่อลดปริมาณการใช้ถ่านหินลง อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมซีเมนต์ ได้มีการนำ RDF ไปใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ทำให้ลดการใช้ถ่านหินลงไปได้

แจงสัดส่วนพลังงาน
นายธวัช กล่าวว่า สำหรับประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ประกอบด้วย พลังน้ำ 50% ชีวมวล 38% ก๊าซชีวภาพ 31% ขยะ 22% แสงอาทิตย์ 19% พลังงานลม 15% ส่วนเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนประกอบด้วยแสงอาทิตย์มีศักยภาพ 50,000 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,600 เมกะวัตต์ พลังน้ำ 700 เมกะวัตต์ ชีวมวล 4,400 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 190 เมกะวัตต์ และพลังงานขยะ 400 เมกะวัตต์

สำหรับต้นทุนค่าก่อสร้าง และการผลิตไฟฟ้าโดยแบ่งเป็นประเภทเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้า ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ มีต้นทุนค่าก่อสร้าง 26.9 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยมีราคาต้นทุนการผลิต 2.88 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าถ่านหินนำเข้า มีต้นทุนค่าก่อสร้าง 55.2 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยมีราคาต้นทุนการผลิต 2.56 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีต้นทุนค่าก่อสร้าง 117.4 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยมีราคาต้นทุนการผลิต 2.46 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ มีต้นทุนค่าก่อสร้าง 122.5 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยมีราคาต้นทุนการผลิต 0.67 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าน้ำมันเตา มีต้นทุนค่าก่อสร้าง 50.5 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยมีราคาต้นทุนการผลิต 6.16 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าน้ำมันดีเซล มีต้นทุนค่าก่อสร้าง 15.5 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยมีราคาต้นทุนการผลิต 11.62 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก มีต้นทุนค่าก่อสร้าง 70 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยมีราคาต้นทุนการผลิต 2-10 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าลม มีต้นทุนค่าก่อสร้าง 60-85 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยมีราคาต้นทุนการผลิต 5-6 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ มีต้นทุนค่าก่อสร้าง 80-125 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยมีราคาต้นทุนการผลิต 10-13 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าชีวมวล มีต้นทุนค่าก่อสร้าง 40-70 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยมีราคาต้นทุนการผลิต 3-3.5 บาทต่อหน่วย

ไทยต้องจัดการเรื่องพลังงาน
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในส่วนของสาธารณรัฐเกาหลีนั้น มีทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขึ้น-น้ำลงนั้น สิ่งที่เราอยากได้ในขณะนี้ก็คือ โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งขณะนี้เรามีพลังงานก๊าซในอ่าวไทยก็จริง แต่ประมาณ 10-15 ปีนี้ มีความเป็นไปได้ว่าแหล่งพลังงานดังกล่าวอาจจะหมดไป ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นอาจจะต้องมีการใช้พลังงานก๊าซแอลเอ็นจี ซึ่งเป็นพลังงานที่ต้นทุนสูงอย่างแน่นอน แต่ถ้าเราเลือกใช้พลังงานที่เกิดจากถ่านหินนั้น อาจจะมีค่าก่อสร้างที่แพง แต่เชื้อเพลิงในการผลิตนั้นต้นทุนถูกและคุ้มค่า ซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ประเทศไทยในอนาคตก็อาจจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม แต่สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น มีความเป็นไปได้ยากมากซึ่งจะต้องผ่านการเห็นชอบถึง 3 รัฐบาลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงจะเกิด

“ในส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สำหรับประเทศไทยนั้นตอนนี้ยังเกิดไม่ได้แน่นอน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากกลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งคิดว่าหากจะสามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้นั้น รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจแบบจริงจัง โดยต้องผ่านการเห็นชอบถึง 3 รัฐบาล โดยเป็นแผนระยะยาวถึง 12-13 ปี รวมถึงต้องให้ความเข้าใจและความเชื่อกับชาวบ้านได้เพื่อให้เกิดความยอมรับ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศเกาหลีที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้นั้น เนื่องจากประชาชนให้การยอมรับโดยมีการอธิบายว่าถึงแม้จะอันตรายเราสามารถทำได้เพราะมีการควบคุม และรัฐบาลมีความจริงจังที่จะช่วยเหลือเงินชดเชยและสวัสดิการ นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายใหม่เพื่อรับรองโดยเฉพาะอีกด้วย ซึ่งอีกประเทศหนึ่งที่ให้ความสนใจกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เช่นกัน ก็คือประเทศจีน โดยคาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศจีนจะทำโรงไฟฟ้านิเคลียร์อย่างแน่นอน”

สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สาธารณรัฐเกาหลีนั้น มีกำลังผลิตเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งช่วงแรกในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้น ก็มีการต่อต้านจากกลุ่มองค์การพัฒนาภาคเอกชน หรือเอ็นจีโอ แต่ขณะนี้ไม่มีการต่อต้านจากกลุ่มดังกล่าวแล้ว รวมถึงปัญหาต่างๆ ก็สามารถแก้ไขให้จบลงด้วยได้ ซึ่งรัฐบาลให้ความช่วยเหลือประชาชน ซึ่งประชาชนรอบโรงไฟฟ้านั้นมีประมาณ 4,000 คน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทยนั้น ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเข้มงวดเรื่องของการควบคุมดูแลเหมือนเกาหลี ทั้งนี้แม้ว่าประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้าประเภทถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะแล้ว แต่ขณะนี้ก็ยังมีชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้า รวมถึงกลุ่มเอ็นจีโอยังมีการต่อต้าน

จ่อทบทวนแผนโรงไฟฟ้า
ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีแผนที่จะทบทวนการพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว (20 ปี) ภายหลังที่มีการแถลงนโยบายกระทรวงพลังงานเป็นที่เรียบร้อย โดยเฉพาะเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยจะต้องมีการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบเรื่องพลังงาน รวมถึงเพื่อรองรับหากมีการต่อต้านจากประชาชน และกลุ่มเอ็นจีโอ

นอกจากนี้ ในส่วนของยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนนั้น พลังงานที่นำมาใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถแบ่งตามแหล่งที่ได้มาเป็น 2 ประเภท คือ พลังงานทดแทนจากแหล่งที่ใช้แล้วหมดไป หรือพลังงานสิ้นเปลือง ประกอบด้วย ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ เป็นต้น และพลังงานทดแทนอีกประเภทหนึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้แล้วสามารถหมุนเวียนมาใช้ได้อีก หรือพลังงานหมุนเวียน ประกอบด้วย แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล น้ำ ไฮโดรเจน และขยะ เป็นต้น โดยสิ่งเหล่านี้ศักยภาพ และสถานภาพการใช้ประโยชน์ของพลังงานทดแทน การศึกษาและพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นการศึกษาค้นคว้า ทดสอบ พัฒนา และสาธิต ตลอดจนส่งเสริมและเผยแพร่พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาด ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล และอื่นๆ เพื่อให้มีการผลิต และการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมทั้งทางด้านเทคนิค เศรษฐกิจ และสังคม

สำหรับผู้ใช้ในเมืองและชนบท ซึ่งในการศึกษา ค้นคว้า และพัฒนาพลังงานทดแทนดังกล่าวยังรวมถึงการพัฒนาเครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์เพื่อการใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย งานศึกษา และพัฒนาพลังงานทดแทน เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานพัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่งมีโครงการที่เกี่ยวข้องโดยตรงภายใต้แผนงานนี้คือ โครงการศึกษาวิจัยด้านพลังงาน และมีความเชื่อมโยงกับแผนงานพัฒนาชนบทในโครงการจัดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า ประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับหมู่บ้านชนบทที่ไม่มีไฟฟ้า โดยงานศึกษาและพัฒนาพลังงานทดแทนจะเป็นงานประจำที่มีลักษณะการดำเนินงานของกิจกรรมต่างๆ ในเชิงกว้างเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ทั้งในด้านวิชาการเชิงทฤษฎี และอุปกรณ์เครื่องมือทดลอง และการทดสอบ รวมถึงการส่งเสริมและเผยแพร่ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนและรองรับความพร้อมในการจัดตั้งโครงการใหม่ๆ ในโครงการศึกษาวิจัยด้านพลังงานและโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การศึกษาค้นคว้าเบื้องต้น การติดตามความก้าวหน้า และร่วมมือประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาต้นแบบ ทดสอบ วิเคราะห์ และประเมินความเหมาะสมเบื้องต้น และเป็นงานส่งเสริมการพัฒนาโครงการที่กำลังดำเนินการให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้โครงการที่เสร็จสิ้นแล้วได้นำผลไปดำเนินการส่งเสริมและเผยแพร่และการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยความสำเร็จของโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับความชัดเจนของทิศทาง และนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล รวมถึงการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ความเข้าใจและการยอมรับของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ทั้งนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าไม่สูงจนเกินไป และเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศเป็นหลัก ทุกอย่างจะสามารถเดินหน้าได้


source: http://www.banmuang.co.th/economic.asp?id=246185

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น