วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กองทุนพัฒนาไฟฟ้าสร้างสรรค์การพัฒนาชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กระจายอำนาจการบริหารเงิน"กองทุนพัฒนาไฟฟ้า"เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นรอบโรงไฟฟ้าให้กับคณะกรรมการในพื้นที่ประกาศ ซึ่งมาจากการสรรหาตัวแทนภาคประชาชนไม่น้อยกว่าสองในสาม ร่วมกับผู้แทนภาครัฐและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนา สร้างสรรค์ประโยชน์และความสุขสู่ประชาชนและชุมชนให้ตรงกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง


"การสรรหาคณะกรรมการในพื้นที่ประกาศ"สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ได้ออกประกาศจัดตั้งกองทุนแล้วจำนวน 145 กองทุน โดยจะมีการกำหนด พื้นที่ประกาศซึ่งก็คือรายชื่อตำบลในรัศมี 1 หรือ 3 หรือ 5 กิโลเมตร โดยรอบโรงไฟฟ้า ประเภทการบริหารเงินกองทุนซึ่งจะกำหนดตามขนาดของเงินกองทุนที่จะ ได้รับในแต่ละปี จำแนกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภท ก (เกิน 50 ล้านบาท) ประเภท ข (เกินกว่า 1 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท) และประเภท ค (ไม่เกิน 1 ล้านบาท)โดยกองทุนที่ได้รับการจัดสรรเงินมากกว่าหนึ่งล้านบาทต่อปี จะมีการสรรหาคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า หรือ คพรฟ. ซึ่งมาจากตัวแทนภาคประชาชนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อทำหน้าที่บริหารเงินกองทุนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าและกองทุนที่ได้รับการจัดสรรเงินมากกว่าห้าสิบล้านบาทต่อปี จะมีการสรรหาคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล หรือ คพรต.ซึ่งมาจากตัวแทนหมู่บ้านๆ ละ 1 คนเข้าร่วมการบริหารเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วย

ในขณะที่กองทุนที่ได้รับการจัดสรรเงินไม่เกินหนึ่งล้านบาทต่อปี สกพ. จะจัดให้มีตัวแทนองค์กรบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นผู้พิจารณาอนุมัติโครงการชุมชนเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูท้องถิ่นที่มาจากการประชาคมหมู่บ้านตามที่ กกพ. กำหนด

"การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนไปกับกองทุนพัฒนาไฟฟ้า"ประชาชน ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านของตำบลโดยรอบโรงไฟฟ้าจะเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนของตนในทุกขั้นตอน ดังนี้

การสมัครและเข้าร่วมการคัดเลือกผู้แทนหมู่บ้านในการประชาคมหมู่บ้านตามวัน เวลา และสถานที่ที่คณะกรรมการหมู่บ้านหรือคณะกรรมการชุมชนกำหนดเพื่อเลือกตัวแทนที่เป็นคนเก่ง คนดี เข้าร่วมเป็นตัวแทนหมู่บ้านของท่านได้ในเดือนสิงหาคม - กันยายนนี้ เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

การเสนอโครงการชุมชนที่ผ่านเวทีประชาคมหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันเสนอโครงการที่เป็นประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนในด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนา อาชีพ การพัฒนาชุมชน การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการศึกษาและศาสนา เป็นต้นในเดือนตุลาคมนี้ เป็นต้นไป

การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อให้การดำเนินงานของกองทุน มีการดำเนินงานที่ถูกต้อง โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาที่ตรงตามความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง และสามารถตรวจสอบได้ทั้งจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และประชาชนรอบโรงไฟฟ้า

ร่วมพัฒนาชุมชนไปกับกองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วยตัวของท่านเองในทุกขั้นตอนเพื่อให้การใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาชุมชน และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า

source:http://www.ryt9.com/s/bmnd/1221246

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น