วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คนเล็กๆ จะกู้วิกฤติของโลกได้อย่างไร

คำว่า "คนเล็กๆ" มักใช้หมายถึง ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ชนชั้นผู้ปกครอง หรือชนชั้นนำที่มีอำนาจมีอิทธิพลต่อสังคมสูง

แต่การใช้คำนี้โดยคนแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับการตีความเชิงอัตวิสัยของคนแต่ละคนอยู่มาก คนที่มองแบบยอมจำนนหรือเย้ยหยัน ผู้มองว่า "เราเป็นแค่คนเล็กๆ ที่คงทำอะไรไม่ได้มาก" มักจะทำได้น้อยกว่าที่เขาควรทำได้ แต่คนที่มองโลกในทางบวกอย่างสร้างสรรค์ ผู้มองว่า "ถึงเราจะเป็นคนธรรมดาสามัญที่ไม่มีอำนาจในสังคม แต่เราก็ควรจะพยายามทำอย่างเต็มที่ให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้" มักจะทำอะไรได้มากกว่าคนแบบแรก

ถ้าประชาชนไทยสามารถคิดและทำแบบคนประเภทหลังได้มากขึ้น คนเล็กๆ ของเราน่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยที่ขณะนี้เป็นปัญหาวิกฤติหลายด้านให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ได้มากกว่าอีกมาก

ความหลงผิดซึ่งนำมาสู่ความล้าหลังและปัญหาวิกฤติทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และระบบนิเวศ (สิ่งแวดล้อม) ของประเทศไทย คือ ค่านิยมแบบอยากเป็นใหญ่ อยากมีอำนาจอยากร่ำรวยเหนือคนอื่น ด้วยความเชื่อว่านี่คือ เรื่องสำคัญที่ทำให้คนเราประสบความสำเร็จ มีความสุข ความภาคภูมิใจ แต่ความจริงแล้วเรื่องที่จะทำให้คนมีความสุขนอกจากการมีปัจจัยพื้นฐานให้ยังชีพพอเพียงแล้ว คือ การมีครอบครัว เพื่อน การทำงานและชีวิตทางสังคมที่อบอุ่นสร้างสรรค์ มากกว่าเรื่องการมีอำนาจและความร่ำรวย

มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งในบรรดาสิ่งมีชีวิต (สัตว์, พืช, จุลชีพ) ราว 3 พันล้านชนิด (Species) ในโลกที่เป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงเล็กๆ ในจักรวาลที่มีดาวหลายล้านล้านดวงและกว้างใหญ่ไพศาลเกินกว่าที่เราจะวัดได้ มนุษย์แต่ละคนมีชีวิตอยู่ โดยเฉลี่ยก็สัก 70-80 ปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับโลกซึ่งอยู่มาแล้วราว 4,500 ล้านปี มนุษย์เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ในจักรวาลและกาลเวลาที่ยิ่งใหญ่

ถึงแม้มนุษย์จะเป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการได้ฉลาดที่สุดเมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และเป็นผู้ครองโลกในปัจจุบัน แต่มนุษย์ก็ไม่ได้ "ใหญ่" ได้ตามลำพัง มนุษย์ยังต้องพึ่งพาสิ่งมีชีวิตอื่น พึ่งพาทุนธรรมชาติและพึ่งพาเพื่อนมนุษย์คนอื่นอย่างมาก สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งเล็กและใหญ่ต่างสำคัญด้วยกันทั้งนั้น

แม้แต่มนุษย์ที่ขึ้นมาเป็นผู้ปกครองหรือผู้นำ ก็ไม่ได้มีใคร "ใหญ่" อย่างแท้จริง ทั้งกษัตริย์ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ประธานบริษัทระดับโลก ฯลฯ ไม่มีใคร "ใหญ่" เหนือธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นกฎธรรมชาติ ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม (การผลิตโดยนายทุนเพื่อขายในตลาด) ที่มนุษย์สมัยใหม่สร้างขึ้นเมื่อราว 250 ปี นำความเจริญความมั่งคั่ง ความสะดวกสบายให้กับมนุษย์ยุคใหม่ (โดยเฉพาะคนรวยและคนชั้นกลาง) มากกว่าบรรพบุรุษของเราในยุคก่อนหน้านั้นมากก็จริง แต่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีการถลุงทรัพยากรธรรมชาติในรอบ 250 ปีมากกว่าในรอบ 1.5 ล้านปีนับแต่ที่มนุษย์เกิดขึ้นมานั้น ได้ทำลายล้างเอาเปรียบทั้งธรรมชาติและแรงงาน สร้าง วิกฤติความขัดแย้งการเมือง (สงคราม การก่อการร้าย) วิกฤติทางเศรษฐกิจและทางสังคม และ วิกฤติสิ่งแวดล้อม ที่กำลังทำให้มนุษยชาติก้าวไปสู่ความหายนะภายใน 50-100 ปีข้างหน้านี้ได้ ถ้ามนุษย์ส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัวลุกขึ้นมาหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง

เฉพาะปัญหามลภาวะโลกร้อน (อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้น) จะทำให้น้ำทะเลท่วมเมืองชายฝั่งที่มีประชากรโลกราว 1 ใน 3 มนุษย์จะขาดแคลนที่อยู่อาศัย อาหาร น้ำ พลังงานอย่างกว้างขวางรุนแรงขึ้น และภัยพิบัติธรรมชาติจะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น จนมนุษยชาติไม่ได้ "ใหญ่" อีกต่อไป

สิ่งที่คนเล็กๆ อย่างพวกเราจะคิดและทำได้ คือ มองตนเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติหรือระบบนิเวศ และ พยายามเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติแทน ที่จะคิดเอาชนะหรือทำลายธรรมชาติซึ่งกำลังย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์ ธรรมชาติมีความเรียบง่ายแต่ทุกสิ่งเชื่อมโยงและทำงานร่วมกันอย่างซับซ้อน ระบบธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทำงาน แบบควบคุมตนเอง พึ่งพาตนเองและสร้างตนเองได้ใหม่ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะมีการแทรกแซงรบกวนจากภัยที่เกิดเองตามธรรมชาติในบางครั้ง แต่ระบบนิเวศก็สามารถ ฟื้นคืนสู่สภาพเดิมที่สมดุลได้ ถ้าไม่ถูกแทรกแซง/รบกวนจากมนุษย์มากเกินไป

ในระบบธรรมชาตินั้น สิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ จุลชีพดำรงอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน ใช้ทรัพยากรพลังงานที่จำเป็น เบียดเบียนธรรมชาติและผู้อื่นแต่น้อย แข่งขันกันบ้าง แต่ก็เอื้อเฟื้อช่วยเหลือร่วมมือกันเป็นด้านหลัก ของเสียจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งกลายเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่มีขยะของเหลือใช้ที่เปล่าประโยชน์หรือมีก็น้อยมาก และธรรมชาติสามารถดูดซับฟื้นฟูให้กลับอยู่ในสภาพดีหรือเป็นประโยชน์ได้

นี่คือ ความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่มนุษย์เราควรจะเรียนรู้และใช้ชีวิตเลียนแบบธรรมชาติ แทนที่มนุษย์จะมุ่งแข่งขันทำงานการผลิตเพื่อหาเงินมาบริโภคแบบเกินพอเพียง มนุษย์ควรสร้างสรรค์โลกใบนี้ที่เราแต่คนเป็นผู้มาอาศัยอยู่แค่ช่วงสั้นๆ ให้เป็นโลกที่เติบโตทางวัตถุช้าลง ผลิตและบริโภคสินค้าเฉพาะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แบ่งปันผลผลิตและบริการที่จำเป็นเหล่านี้อย่างเป็นธรรม ลดการทำลายมลภาวะและทำให้โลกสวยงามขึ้น เพื่อที่ลูกหลานของเรา (รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่นๆ) จะสามารถดำรงชีพอยู่ในโลกใบนี้ได้ยาวนานขึ้น

อุดมการณ์ที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ คือ อุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยแนวระบบนิเวศ (Ecological Socialism) เนื่องจากระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมผูกขาด คือ ตัวการที่ล้างผลาญและเอาเปรียบทั้งธรรมชาติและมนุษย์ ระบบทุนนิยมหรือตลาดเสรีไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤติที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ได้ ขณะที่ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมประชาธิปไตยแนวระบบนิเวศสอดคล้องกับกฎธรรมชาติมากกว่า เนื่องจากระบบนี้ มุ่งจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม กระจายผลผลิตและบริการอย่างเป็นธรรม และเน้นการพัฒนาทางเลือกเพื่อจำกัดขนาดการเติบโตทางเศรษฐกิจ (แต่ยังพัฒนาเชิงคุณภาพได้) เพื่อให้สังคมมนุษย์อยู่ได้อย่างยั่งยืนถึงรุ่นลูกหลาน

หากเราปล่อยให้ชนชั้นนายทุน และผู้มีอำนาจทั้งหลาย "คิดเล็กๆ คิดระยะสั้นๆ แบบเห็นแก่ตัว" ขยายการลงทุน ทำลายทรัพยากรและพลังงาน สร้างมลภาวะ เพียงเพื่อกำไรส่วนบุคคลต่อไปอย่างไม่มีขีดจำกัด จะทำให้ระบบนิเวศทั้งในไทยและทั่วโลกเสื่อมโทรม เกิดภาวะโลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงไปอย่างถึงขีดอันตราย จะเกิดวิกฤติทั้งสิ่งแวดล้อม วิกฤติทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมที่รุนแรงเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่สงครามแย่งชิงที่ดิน ทรัพยากร และพลังงานที่เหลืออยู่น้อย จนนำไปสู่ความป่าเถื่อน (Barbarism) ความหายนะ และการสูญเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ได้

มาร์กาเร็ต มีค (ค.ศ. 1901-1978) นักมานุษยวิทยาสตรีชาวอเมริกันผู้เคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ เคยกล่าวถึงบทบาทกลุ่มคนเล็กๆ ไว้อย่างน่าสนใจว่า

"อย่าสงสัยเลยว่า พลเมืองที่ช่างคิดและมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่ง จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้หรือไม่ เพราะความจริงก็คือ มันเป็นวิธีทางเดียวที่โลกเคยเปลี่ยนแปลงมา"
รศ.วิทยากร เชียงกูล
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/wittayakorn_c/20110829/406706/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%86-%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น