วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พลังงานทางเลือก...ไหน?!? โจทย์ใหญ่รอรัฐบาลตัดสินใจ

ความสูญเสียที่เกิดกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ(Fukushima) ของประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในแวดวงการพลังงานทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทบทวนแผนและนโยบายการพลังงานเพื่อการผลิตไฟฟ้าในแทบทุกประเทศ พร้อมๆ กับสนับสนุนส่งเสริมโครงการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน หรือพลังงานสะอาดที่มุ่งเน้นการเข้าหาธรรมชาติมากขึ้น

ประเทศไทยก็ไม่มีข้อยกเว้น! ความเสี่ยงด้านพลังงาน...โจทย์บังคับให้ต้องเลือก
จากรายงานของ กฟผ.เรื่อง "วิกฤติพลังงานและทางเลือกของประเทศไทย" เปิดเผยถึงแหล่งพลังงานที่ กฟผ.ใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้าว่า ประกอบด้วยก๊าซธรรมชาติเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดคือ 68.1% รองลงมาคือ ลิกไนต์ 11.2% ถ่านหินนำเข้า 8.4% พลังงานทดแทน 6.5% น้ำมันเตา 0.3% และดีเซล 0.1% นอกจากนั้นก็มีการนำเข้าพลังงานจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 5.3% กับมาเลเซีย 0.1%
หมายความว่า ประเทศไทยพึ่งพา "ก๊าซธรรมชาติ" เพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้าสูงมากถึง 72% ซึ่งในด้านเทคนิคแล้วนับว่ามีความเสี่ยงด้านการใช้เชื้อเพลิงอย่างยิ่ง

เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศทั่วโลกจะพบว่า ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่พึ่งพา "นิวเคลียร์" ในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด หรือ 76% ในขณะที่จีนใช้ถ่านหินถึง 79% สำหรับเกาหลี เยอรมนี เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา ใช้ถ่านหินระหว่าง 43-49% ส่วนญี่ปุ่นนั้นมีความหลากหลายในการเลือกใช้พลังงานมากกว่าทุกประเทศ เพราะมีสัดส่วนระหว่างนิวเคลียร์ ถ่านหิน ก๊าซ ใกล้เคียงกันประมาณ 24-27% และใช้น้ำมันประมาณ 13%

อย่างไรก็ตาม ในความเหมือนของการพึ่งพาเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยกับฝรั่งเศสและจีนนั้น มีความแตกต่างในส่วนที่ประเทศไทยมีข้อด้อย หรือจุดเสี่ยงมากกว่าเพื่อน นั่นคือ แหล่งพลังงานก๊าซจากอ่าวไทยของเรานั้น มีอายุที่จะเหลือให้เราสามารถใช้งานได้ไม่เกิน 20 ปีเท่านั้น

ข้อเท็จจริงคือ ในอีก 15 ปีข้างหน้า ก๊าซในอ่าวไทยจะหมดลง หากยังต้องพึ่งก๊าซในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงอยู่เช่นนี้ และพบว่าวันหนึ่งก๊าซขาดแคลน วิกฤติพลังงานที่สังคมไทยจะต้องเผชิญคงไม่พ้น ค่าไฟ และเสถียรภาพในการมีไฟใช้

ถือเป็นโจทย์ปัญหาข้อใหญ่ที่ไม่เพียง กฟผ.เท่านั้น แต่กระทรวงพลังงาน อีกทั้งรัฐบาลชุดใหม่ จำเป็นที่จะต้องหาคำตอบว่า มีการเตรียมตัวเตรียมใจ ศึกษาหาหนทางหนีทีไล่ หรือวางแผนเพื่อป้องกันมิให้เกิดวิกฤติพลังงานในอนาคตอันใกล้นี้อย่างไรบ้าง เราจะยอมรับได้หรือไม่กับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศอื่นจากสัดส่วนที่ กฟผ.นำเข้าจากสหภาพพม่าอยู่แล้วประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งหมายถึงค่าไฟที่จะต้องสูงตามมา ในขณะที่เชื้อเพลิงอย่างก๊าซนั้นจะมีกำหนดระยะเวลาที่จะเหลือใช้ทั่วโลกประมาณ 50 ปีเท่านั้น และที่ลืมไม่ได้คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความต้องการใช้ไฟในประเทศนั้น นับวันมีแต่เพิ่มขึ้นๆเรียนรู้จากบ้านเขา...ก่อนตอบโจทย์บ้านเรา

พลังงานนิวเคลียร์ถูกตอกฝาโลง ก๊าซในอ่าวไทยกำลังจะหมด ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในประเทศในระดับปฏิบัติการ หน่วยงานอย่าง กฟผ.ไม่อาจปฏิเสธหน้าที่ในการศึกษา มองหาช่องทางที่จะป้องกัน แก้ไขปัญหาอันไม่พึงปรารถนาว่าด้วยความเสี่ยงต่อการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า อันถือเป็นวิกฤติระดับชาติที่ไม่มีใครยอมรับได้

ทั้งนี้จากรายงาน "วิกฤติพลังงานและทางเลือกของประเทศไทย" กฟผ.ได้วางกรอบแนวคิดการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าไว้ พร้อมเสนอทางเลือกของประเทศเพื่อการป้องกันวิกฤติพลังงาน ได้แก่ 1.ส่งเสริมใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ 2.พลังงานหมุนเวียน 3.รับซื้อไฟฟ้า 4.ซื้อไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน 5.พลังงานนิวเคลียร์ 6.พลังงาน LNG และ 7.พลังงานถ่านหินนำเข้า

การเสนอทางเลือกดังกล่าว กฟผ.ใช้เวลาในการศึกษาข้อดีข้อเสีย ข้อเด่น-ข้อด้อย ทั้งด้านเทคนิค ด้านสังคม เศรษฐกิจในเชิงลึก โดยเข้าไปขอศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั่วโลก อย่างการศึกษาดูงานครั้งล่าสุดระหว่างวันที่ 9-15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส นำทีมโดย นายธวัช วัจนะพรสิทธิ์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายพงษ์ดิษฐ พจนา ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม และ นายรัตนชัย นามวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมโรงไฟฟ้า ก็เป็นการตอกย้ำภารกิจที่ กฟผ.ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าสถานการณ์การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ จะโน้มเอียงไปทางด้านไหนก็ตาม

ประเทศเยอรมนีเพิ่งออกประกาศนโยบายพลังงานที่ชัดเจนว่า ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และส่งเสริมพลังงานลมและพลังงานแสงแดด ในขณะที่ประเทศของเขามีแหล่งพลังงานถ่านหินมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก อีกทั้งยังมีโรงงานไฟฟ้าถ่านหินกระจายอยู่ทั่วประเทศที่ใกล้แหล่งถ่านหิน สำหรับประเทศฝรั่งเศสแม้ไม่ได้แสดงออกหรือฟันธงว่าจะไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอีกแล้ว แต่ก็มีการเพิ่มระบบตรวจสอบ และให้ความสนใจเพิ่มทางเลือกในการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งพลังงานแสงแดดและพลังงานลม

การศึกษาเส้นทางผลิตพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสจึงกล่าวได้ว่า เป็นการเรียนทางตรงจากผู้มีประสบการณ์มากที่สุด

เริ่มจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ Sprembreg ของเยอรมนี ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวหลังจากสัมผัสด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิดทุกซอกทุกมุม ว่า "ขณะนี้เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินพัฒนาไปมาก แตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง วันนี้ขนาดเดินในโรงไฟฟ้ายังไม่ได้กลิ่นซัลเฟอร์และฝุ่นให้เห็น ควันที่เห็นพุ่งออกมาจากปล่องระบายความร้อนคือไอน้ำ ทั้งปริมาณฝุ่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนที่จะทำให้เกิดกรดไนตริก และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ล้วนต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนด ปัญหาเรื่องมลพิษจึงไม่ก่อให้เกิดปัญหากับชาวบ้านและชุมชนใกล้เคียงที่อาศัยอยู่รอบๆ โรงไฟฟ้า"

ในขณะที่รองผู้ว่าการและผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม มีคำถามกับผู้บริหารและเจ้าของโรงงานแห่งนี้ถึงประเด็นการยอมรับจากชุมชนและชาวบ้านบริเวณดังกล่าว เพราะต้องยอมรับว่า ถ่านหินในทัศนคติของคนไทยนั้นยังเป็นด้านลบอยู่มาก เห็นได้จากกระแสข่าวการต่อต้านการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยเป็นระยะๆ

"เราไม่มีปัญหาการต่อต้าน มีแต่คนสนับสนุน เพราะเราเป็นประเทศที่มีถ่านหินจำนวนมาก และชาวบ้านจะคัดค้านการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินได้อย่างไร ในเมื่ออันเก่านั้นแย่กว่า และเมื่ออันเก่าถูกปิดไป มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก พวกเขาต้องการงาน และของใหม่ที่ดีกว่า เทคโนโลยีทันสมัยกว่าแน่นอนอยู่แล้ว" มันคือคำตอบที่ชัดเจนว่า สภาพแวดล้อมที่แตกต่าง ทัศนคติของคนย่อมไม่เหมือนกันไปด้วย

เฉกเช่นเดียวกับโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ฮัมบูร์ก ของเยอรมนี ซึ่งมีกังหันลมยักษ์ขนาดต่างๆ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ใกล้ชายฝั่งติดต่อกับชายแดนประเทศเดนมาร์ก ผู้บริหารโรงไฟฟ้าให้ข้อมูลว่า "ความเสถียร" ของแรงลมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โรงงานไฟฟ้าพลังงานลมคุ้มค่าต่อการลงทุน ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เพราะต้องพึ่งพาลมฟ้าอากาศนั้น ก็เป็นปัญหาที่ต้องเสี่ยงตลอดเวลา ทำให้เกิดเงื่อนไขว่า โรงไฟฟ้าพลังงานลมเกือบทุกแห่งต้องมีพลังงานชนิดอื่น "สำรอง" ไว้ในโอกาสที่ลมไม่มี หรือลมแรงไม่พอที่จะทำให้กังหันหมุน ซึ่งที่ฮัมบูร์ก เขายอมรับว่า ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการปั่นไฟเพื่อทำให้กังหันทำงาน

ทางเลือกของพลังงานสะอาด จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นปัญหาความเสถียรของพลังงาน ที่ขึ้นอยู่กับชั่วโมงของดินฟ้าอากาศ

"คำถามคือ เราอยากมีพลังงานสะอาดเหมือนกัน แต่เพื่อป้องกันวิกฤติพลังงาน เราจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าสำรองจากพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงอื่น อย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหินควบคู่ไปด้วยทุกแห่งหรือไม่ มันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า หรือเสียซ้ำเสียซ้อนโดยไม่จำเป็นกันแน่" นายรัตนชัยกล่าวชวนให้ช่วยกันถกคิด

สำหรับพลังงานสะอาดอย่างลม ก็ใช่ว่าจะไม่พบกับแรงต้านจากชาวบ้านหรือความไม่พึงพอใจจากชุมชน
ในเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ชาวบ้านรำคาญกับเสียงใบพัดของกังหัน จนต้องมีการรวมตัวร้องเรียนทางการ อย่างไรก็ตาม ผู้รับผิดชอบโรงงานไฟฟ้าพลังงานลมก็ได้เสนอทางออกของปัญหาในรูปแบบ "อยู่ร่วมกัน ผลประโยชน์แบ่งกัน" นั่นคือ ให้เจ้าของที่รอบโรงไฟฟ้าเป็น "หุ้นส่วน" ของโรงงาน ส่วนที่ไกลออกไปและได้รับผลกระทบก็จะได้ส่วนแบ่งจากรายได้การขายไฟฟ้าลดหลั่นกันไปด้วย

วิธีการจัดการที่ฮัมบูร์กถือเป็นตุ๊กตาที่น่าสนใจ เพราะไม่มีใครชอบจะถูกรุกพื้นที่หรือทำลายสภาพแวดล้อมที่ตัวเองเคยชินมาก่อนอย่างแน่นอน

นับว่าแตกต่างจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โดยสิ้นเชิง เพราะแผงโซลาร์เซลล์ที่เมืองเลเมส์ ลึกเข้าไปในหุบเขาที่ห่างจากเมืองลีอองของฝรั่งเศสกว่า 275 กิโลเมตร เจ้าของที่ดินเต็มใจขาย ชาวบ้านไม่รู้สึกต่อต้าน เพราะไม่ได้อยู่ในชุมชน และไม่พบว่ามีผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นทางเลือกที่ดี ยกเว้นข้อจำกัด "ความเสถียร" ของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ "เทวดาฟ้าดิน" กำหนด อีกทั้งชั่วโมงของแสงอาทิตย์เพื่อสร้างพลังงานนั้นมีไม่เกิน 5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น

คำถามที่ต้องมีคำตอบเพื่อการตัดสินใจเลือกคือ กลางวันมีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ แล้วกลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้กันเมื่ออาทิตย์อัสดง ใช่จำเป็นต้องพึ่งพาโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงดั้งเดิมอย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินอีก (แล้ว) หรือไม่เลือกความมั่นคงชาติหรือความมั่นคงเก้าอี้

หากพิจารณาปัญหาและศึกษาข้อมูลทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างสนใจ ใฝ่หาทางเลือกเพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวมแล้ว เชื่อว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ จะต้องพบคำตอบที่สามารถนำเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ได้มีมติตัดสินใจ แต่ถ้าผู้มีอำนาจเลือกที่จะรักษาผลประโยชน์ส่วนตน นั่นคือเสถียรภาพทางการเมือง โดยไม่ยอมชี้ขาดว่าประเทศไทยควรจะเลือกพลังงานประเภทใดล่ะก็ เป็นไปได้อย่างสูงว่า ในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี สังคมไทยอาจจะต้องถูกบีบบังคับให้เลือก บนซากแห่งความสูญเสีย ทั้งๆ ที่รัฐบาลในวันนี้ หากกล้าหาญในการตัดสินใจ ทุกคนก็จะมีความพร้อมในการรับมือกับวิกฤติพลังงานไปพร้อมๆ กันอย่างมีอนาคตและวิสัยทัศน์

ขอยืนยันว่าปัจจัยความสำเร็จที่จะหลุดพ้นจากวิกฤติความเสี่ยงด้านพลังงานนั้น ขึ้นอยู่กับความชัดเจนในทิศทางและนโยบายด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งได้เวลาแล้วที่ต้องเลือกว่า จะเดินทางไหน.

source : http://www.ryt9.com/s/tpd/1207560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น