วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ผ่าปม"ขุดก๊าซอ่าวไทย" ผลประโยชน์ทับซ้อนในพื้นที่ทับซ้อน

ล้วงลึกประเด็นรัฐบาลใหม่โยนหินถามสังคม จับมือกัมพูชาขุดแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย...ใครได้ประโยชน์?



นักวิเคราะห์สายความมั่นคงหลายรายประเมินตรงกันว่า ปมขัดแย้ง "ไทย-กัมพูชา" ว่าด้วยพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร และปราสาทพระวิหาร จะเป็นหนึ่งใน "จุดตาย" ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
แต่ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐนาวาจะไม่ได้อนาทรร้อนใจ หนำซ้ำยังพยายามเปลี่ยนโจทย์จากประเด็นขัดแย้งแนวชาตินิยมให้กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ร่วมแบ่งปันความโชติช่วงชัชวาลระหว่างกัน โดยเฉพาะการเจรจาตกลงเรื่องแหล่งพลังงานในอ่าวไทยซึ่งยังมีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเกี่ยวเนื่องผูกพันกันอยู่

เป็นจังหวะก้าวอันสำคัญและน่าจับตา เพราะไทยกับกัมพูชายังมีคดีความร่วมกันอยู่บนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ว่าด้วยการตีความคำพิพากษาศาลโลก พ.ศ.2505

บทสรุปของนักวิเคราะห์สายความมั่นคงที่ฟันธงเปรี้ยง! ก็คือ เมื่อกลุ่มทุนการเมืองสองฟากปรองดองกันได้ ข้อพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารจะกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งเพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางทะเล!
สัญญาณกัมพูชา

ช่วงที่ศาลโลกพิจารณาคำร้องพิพาททางบก สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเปิดประเด็นว่า “กัมพูชากับไทยไม่มีพื้นที่ทับซ้อนทางบก มีแต่ทับซ้อนทางทะเล” (6 มิ.ย.54)

3 ก.ค.54 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง นายฮอ นำฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ก็เชิญชวน (ว่าที่) รัฐบาลชุดใหม่ของไทยอย่างกระตือรือร้นให้เปิดเจรจาเปิดทางให้กลุ่มธุรกิจพลังงานรับสัมปทานเข้าสำรวจขุดเจาะทรัพยากรทางทะเลได้

ขณะที่ เว็บไซต์วิกิลีกส์ (Wikileaks) เปิดข้อมูลว่า ช่วงเดือน พ.ค.50 คณะทำงานให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและอาเซียน รวมทั้งตัวแทนบริษัท โคนอโค ฟิลิปส์ กระตุ้นให้ไทยและกัมพูชาเร่งเจรจาจัดสรรพื้นที่ในอ่าวไทย นายเกา กิมฮวน อดีตเลขาธิการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ชี้แจงการเจรจาที่ผ่านมาเป็น 3 สูตร กล่าวค่อ 1) พื้นที่ใกล้ฝั่งไทย ร้อยละ 80 เป็นของไทย ร้อยละ 20 เป็นของกัมพูชา 2)พื้นที่ส่วนกลาง สัดส่วน 50 ต่อ 50 และ 3) พื้นที่ใกล้ฝั่งกัมพูชา ร้อยละ 80 เป็นของกัมพูชา และร้อยละ 20 เป็นของไทย

“การทำความตกลงไม่คืบหน้า หลังจากรัฐบาลทักษิณพ้นอำนาจ” วิกิลีกส์ อ้างคำพูดนายเกา

สัญญาณฝ่ายไทย

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งหมาดๆ ยังไม่ได้แถลงนโยบาย ขายไอเดียว่าจะนำเงินสำรองระหว่างประเทศ 1.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งก้อนใหญ่มาตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ซื้อแหล่งพลังงานต่างประเทศ รวมถึงสินทรัพย์ที่มั่นคง เช่น ทองคำ เงินสกุลหยวน รวมทั้งเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเพื่อนำก๊าซขึ้นมาใช้ (16 ส.ค.54)

ระหว่างบรรทัดในคำกล่าวของ รมว.พลังงาน ปรากฏข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีดนายกฯ พี่ชายของนายกรัฐมนตรีหญิงคนปัจจุบัน มีแผนเดินทางเข้ากัมพูชาก่อนห้วงเวลาไปปฏิบัติภารกิจที่ญี่ปุ่น ขณะที่มีข่าวบางกระแสระบุว่า ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 20-21 ส.ค. อดีตนายกฯทักษิณลงเครื่องบินแวะพำนักที่บ้านรับรองของนายกฯกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บอกเพียงว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของพี่ชาย (17 ส.ค.54)
ข่าวนี้เสมือนเช็คกระแสคนในประเทศ และมีความเป็นไปได้สูงที่ พ.ต.ท.ทักษิณและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังหยิบเอ็มโอยู 44 กลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ หลังจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 10 พ.ย.52 ให้ยกเลิก เมื่อกัมพูชาตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจ

ที่สำคัญเอ็มโอยู 44 นั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้ถูกยกเลิกในทางปฏิบัติ เพราะรัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่ได้ส่งเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ ผลจริงๆ จึงแค่ "แขวน" เพื่อทำลายเครดิต พ.ต.ท.ทักษิณ

ถอดรหัสเอ็มโอยู 44

ย้อนไปเมื่อ 18 มิ.ย.44 รัฐบาลพรรคไทยรักไทยไปเยือนกัมพูชา นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศ ลงนามร่วมกับ นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และประธานองค์การปิโตรเลียมกัมพูชา ในบันทึกความเข้าใจร่วมไทย-กัมพูชาว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน หรือ เอ็มโอยู 44

สาระสำคัญคือ
1) ปักปันหลักเขตแดนทางบก
2) พัฒนาร่วมกันในทะเล นำพลังงานขึ้นมาใช้

วันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีทักษิณ กับนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ลงนามแถลงการณ์ร่วม หรือ เจซี 44
ความพยายามตีตั๋วเพื่อเดินหน้าต่อในเรื่องนี้คือ ตกลงเรื่องเขตแดนทางบกให้เสร็จในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ตามแถลงการณ์ร่วม 18 มิ.ย.51 ซึ่ง นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น ลงนามร่วมกับ นายสก อาน เห็นชอบการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวของกัมพูชา
แต่ภาคประชาชนยื่นฟ้อง กระทั่งมีคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ 23 และ 24 พ.ศ.2551 และคำพิพากษาศาลปกครอง 30 ธ.ค.52 ทำให้กระบวนการทั้งหมดชะงักงัน

เปิดปูมเจรจาทางทะเล

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดสัมมนาเมื่อ 22 ก.ย.51 หัวข้อ “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา” ในเอกสารประกอบการสัมมนาของ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ สาระสำคัญสรุปว่า รัฐบาลนายพลลอนนอล ประกาศเขตไหล่ทวีป พ.ศ.2515 ลากเส้นจากหลักที่ 73 ผ่าเกาะกูดของไทย (บ้างว่าอ้อมเกาะกูด) โดยไม่ใช้หลักเส้นมัธยะ ไม่มีค่าพิกัดแน่นอน

ส่วนไทยประกาศเขตไหล่ทวีป พ.ศ.2516 แม้ค่าพิกัดไม่แน่นอน แต่ไทยใช้เส้นฐานตรง ช่วงแบ่งครึ่งมุมระหว่างเกาะกูดกับเกาะกงของกัมพูชา ที่เหลือเป็นเส้นแบ่งครึ่งทะเลระหว่างแนวเกาะของไทยกับกัมพูชา โดยใช้หลักเส้นมัธยะ (Equidistance Lines)

ต้นปี 2516 จอมพลประภาส จารุเสถียร รมว.มหาดไทย ประธานคณะกรรมการเจรจาฝ่ายไทย พูดคุยส่วนตัวกับนายพลลอนนอล ทราบว่าการลากเส้นไหล่ทวีปทำตามการเสนอของบริษัทขอรับสัมปทานปิโตรเลียม และพร้อมจะปรับปรุงเส้นไหล่ทวีป แต่ปี 2518 เขมรแดงยึดอำนาจได้เสียก่อน

เขมรแดงส่ง นายเอียง สารี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศเยือนไทย โดยได้หารือเรื่องทางทะเล แต่เขมรแดงไม่พร้อม ถึงสมัยรัฐบาลผสมรณฤทธิ์-ฮุนเซน พ.ศ.2538 จึงตกลงตั้งคณะกรรมการเทคนิคร่วม (Joint Technical Committee)

กัมพูชาเร่งเร้าให้ใช้วิธีแสวงประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อนไปก่อน กระทั่ง พ.ศ.2545 ตกลงเจรจากำหนดเขตแดนทางทะเล แต่เจรจาหลายรอบก็ไม่เป็นผล จึงเสนอให้ฝ่ายเทคนิคหารือกัน แล้วนำผลส่งให้แต่ละฝ่ายพิจารณา

ต่อมา 16 ก.พ.52 พลเรือตรี วีรศักดิ์ จันหนู รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 (ขณะนั้น) ระบุว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เชฟรอน บริษัทเดียวที่ได้รับอนุญาตจากไทยและกัมพูชาให้สำรวจพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนเนื้อที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร ประเมินว่ามีก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมัน 1.5 ล้านล้านบาท (ภายหลังประเมินสูงกว่านี้)

พลเรือตรีวีระศักดิ์ ระบุด้วยว่า การเจรจาเขตไหล่ทวีป ตั้งแต่ 14 มี.ค.35 และ 27-28 เม.ย.38 ท่าทีคือ กัมพูชาไม่พิจารณาพื้นฐานกฎหมายต่อเส้นที่อ้างสิทธิ์ ไม่มีการต่อรองเส้นเดิมที่อ้างสิทธิ์ แต่เสนอให้ทำพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA)

เงื่อนไข คือ แบ่งผลประโยชน์เท่ากัน ไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิ์และอธิปไตยของกัมพูชา ไม่คำนึงถึงสิทธิ์ใดๆ ที่เคยมีมาก่อนของบุคคลที่สามเกี่ยวกับการให้สัมปทาน

ประเด็นนี้ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการในนามภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหาร แย้งไว้โดยยกคำกล่าวของ พลเรือเอกถนอม เจริญลาภ (กรุงเทพธุรกิจ 10 ก.ค.54) “ไม่ว่าใครขีดเส้นในแผนที่ใดๆ ก็ตาม ถ้าไม่ผ่านข้อตกลงร่วมกันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ย่อมไม่มีผล”
จับตาผลประโยชน์ทับซ้อน

สิ่งสำคัญในทางปฏิบัติจะได้เปรียบเสียเปรียบจึงขึ้นอยู่กระบวนการกลไกเจรจา เมื่อพรรคเพื่อไทย (ลอกคราบจากพลังประชาชน และไทยรักไทย) จะตีตั๋วต่อโดยนำขุมทรัพย์พลังงานมหาศาลขึ้นมาใช้ คำถามคือจะมีข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอีกหรือไม่

มีข้อมูลมากมายชี้ว่าในรัฐบาลไทยรักไทยออกมติ ครม.เอื้อประโยชน์กัมพูชา ทั้งในรูปเงินกู้ระยะยาว เงินให้เปล่า และโครงการร่วม อีกทั้งถือหุ้นร่วมกลุ่มพลังงาน บริษัท แฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี(ประเทศไทย) จดทะเบียนในไทย 22 พ.ค.41 บริษัท ปตท.สผ.(ทุนกลุ่มการเมืองถือหุ้นใหญ่) ถือหุ้นร่วม 50% ไปรับสัมปทานในกัมพูชา รวมทั้งบล็อก B รหัส G9/43 ซึ่งสองประเทศอ้างสิทธิ์ทับซ้อน

ต่อมา 16 ก.พ.47 แอร์รอดส์ฯ เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Pearl Energy PTE.Ltd กลุ่มเทมาเสก (ซื้อหุ้นชินคอร์ปทั้งหมด) ถือหุ้นร่วมใน Pearl oil โดยมี Pearl oil (Siam) ถือหุ้นใหญ่ และยังถือหุ้นไขว้โยงกับอีก 8 บริษัท
เมื่อเป็นอย่างนี้ ภาคประชาชนคงต้องออกแรงคัดค้านและกดดันให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 และเจซี 44 กันอีกรอบ!

source :http://www.bangkokbiznews.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น