วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทำทันที ลดราคาน้ำมัน พังทันที พลังงานทดแทน

รัฐบาลโคลนนิ่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันสำหรับน้ำมันดีเซล เบนซิน 95 และเบนซิน 91 ชั่วคราว ทำให้ราคาน้ำมันดีเซล ลดลง 3 บาทต่อลิตร จากลิตรละ 29.99 บาท เหลือ 26.99 บาท น้ำมันเบนซิน 95 ลดลง8.02 บาทต่อลิตร จากลิตรละ 47.43 บาทต่อลิตร เหลือ 39.32 บาท น้ำมันเบนซิน 91 ลดลง 7.50 บาทต่อลิตร จากลิตรละ 41.94 บาท เหลือ 34.77 บาท

รัฐไม่มีทางเลือก ถึงแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าการลดราคาแบบช๊อกตลาดครั้งนี้จะส่งผลกระทบอะไรบ้าง เพราะหากไม่ทำข้อกล่าวหาที่ว่าดีแต่โม้จะรุนแรงยิ่งขึ้น หลังจากที่นโยบายขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาทต่อวันทันที ปรับเงินเดือนเริ่มต้นผู้จบปริญญาตรี เป็นเดือนละ 15,000 บาททันที ถูกบิดพลิ้ว เล่นสำนวนจากค่าแรงขั้นต่ำกลายเป็นรายได้ขั้นต่ำ จากที่เคยสัญญว่าจะขึ้นให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนทั่วประเทศ กลายเป็นสัญญาแบบมีดอกจันมีข้อแม้วว่าต้องเป็นแรงงานมีฝีมือ ในบางพื้นที่ และไม่มีกำหนดว่าจะขึ้นเมื่อไร กลายเป็นเรื่องแหกตาที่รัฐบาลได้แต่หวังว่า กาลเวลา และการบริหารจัดการสื่อจะช่วยลบคำสัญญาแบบมีดอกจันนี้ให้จางหายไปจากความรับรู้ของประชาชนได้

โกหกเรื่องค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว หากยังหลอกลวงเรื่องราคาน้ำมันอีก ให้กำกับดูแลสื่อดีแค่ไหนคงไม่อาจยับยั้งกระแสความไม่ขอใจของประชาชนได้แน่ การลดราคาน้ำมันจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำทันที โดยไม่ต้องสนใจว่าผลที่เกิดขึ้นคืออะไร ขอให้ประชาชนเห็นว่า อย่างน้อยก็มีสักเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลได้ทำตามที่หาเสียงไว้ก็บรรลุเป้าหมายทางการเมืองแล้ว

การลดราคาน้ำมันครั้งนี้แน่นอนว่าประชาชนได้ประโยชน์ แม้จะเป็นประโยชน์ในระยะสั้น เพราะราคาน้ำมันที่ถูกลงลิตรละ 3-8 บาทนี่ เป็นเพราะการงดจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ไม่ใช่เป็นเพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง หากราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นราคาขายปลีกในบ้านเราก็จะต้องปรับตัวตาม ราคาน้ำมันที่ถูกลงมานี้จึงเป็นเพียงภาวะชั่วคราว

แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นที่รุนแรงมากที่สุดคือ การทำลายนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 และได้รับการสานต่อเรื่อยมาจนสามารถเพิ่มปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานทดแทน โดยเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพลังานเองมีการกำหนดแผนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนฉบับใหม่ระยะเวลา 15 ปี โดยตั้งเป้าให้มีการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 20 เมื่อสิ้นปี 2565

ภายใต้นโยลบายพลังงานทดแทน บริษัทน้ำมันต่างๆ ได้ปรับตัวเปลี่ยนแผนการผลิตและการตลาด เพื่อรองรับการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เพราะเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะจริงจังกับนโยบายนี้ บางบริษัท เช่น บางจาก ซึ่งมีปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ 600 แห่ง ไม่ขายน้ำมันเบนซิน ขายแต่แก๊สโซฮอล์อย่างเดียว บริษัทเชลล์ ลดการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน โดยเฉพาะเบนซิน 91 ลง เพิ่มหัวจ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยมีแรงจูงใจที่สำคัญคือ ราคา ทำให้จำนวนผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ในปัจจุบันมีมากกว่าผู้ใช้น้ำมันเบนซินในสัดส่วน 70 ต่อ 30 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลลดราคาน้ำมันเบนซินโดยการงดเก็นเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ในปัจจุบันไม่ต่างกันมาก โดยเฉพาะเบนซิน 91 ซึ่งยังใช้กันมาก สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 29 สตางค์เท่านั้น จึงเป็นการฆ่านโยบายพลังงานทดแทนที่รัฐบาลชุดก่อนๆ สานต่อมาเกือบ10 ปี ให้ต่ายไปอย่างเงียบๆ เพราะผู้บริโภคจะเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้น้ำมันเบนซินแทนแก๊สโซฮอล์ เพราะราคาแทบจะไม่ต่างกันเลย เมื่อหักลบกับอัตราการสิ้นเปลืองเมื่อใช้แก๊สโซฮอล์ ซึ่งสิ้นเปลื่องมากกว่าเบนซินราวๆ 5 เปอร์เซนต์

นอกจากบริษัทน้ำมันที่เหมือนถูกหักหลังจากนโยบายพลังงานของรัฐบาลแล้ว ยังมีธุรกิจเอทานอลที่ต้องตกเป็นเครื่องสังเวยคะแนนนิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วย ปัจจุบันมีผู้ผลิตเอทานอลรวม 19 ราย มีกำลังการผลิตรวม 2.95 ล้านลิตรต่อวัน ผลิตจริงเพียง 1.4 ล้านลิตรต่อวัน โดยเป็นระกับการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศที่มีประมาณวันละ 1.8 ล้านลิตร

ผู้ผลิตเอทานอลเหล่านั้นลงทุนเพราะมั่นในใจนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนของรัฐบาล การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมของเอทานอลมีส่วนยกระดับราคาอ้อย และมันสำปะหลังให้สูงขึ้น เพราะถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล เมื่อนโยบายพลังงานทดแทนถูกฉีกทิ้ง ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ทั้งที่เป็นกลุ่มทุนอย่างโรงงานเอทานอล และเกษตรกรชาวไร่อ้อย ไร่มัน ก็ต้องได้รับความเดือนดร้อนไปทั่ว

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานนายพิชัย นริพทะพันธุ์ จะยืนยันว่าการงดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันนี้จะทำเพียงชั่วคราว 1 ปี แต่กระบวนการผลิต การลงทุน การจัดการของปั๊มน้ำมัน โรงงานเอทานอล แม้แต่ไร่อ้อย และมันสำปะหลัง ต้องมีความต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ ไม่สามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมาเหมือนนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงได้ นายพิชัยเองเป็นถึงรัฐมนตรีกระทนรวงพลังงาน ยังบอกไม่ได้ว่า ที่ว่าชั่วคราวนั้นจะเป็นกี่เดือนก็ยังไม่รู้ แล้วจะให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบว่างแผนรับมืออย่างไร

คำพูดของนายพิชัยที่ว่า ขอให้ประชาชนช่วยกันใช้แก๊สโซฮอล์เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกรนั้นก็เป็นการยอมรับอยู่ในตัวว่า การลดราคาน้ำมันเบนซินครั้งนี้ ผลที่จะตามมาคืออะไร และเป็นคำพูดที่ขัดแย้งกับการกระทำของตัวเอง เพราะถ้าจะให้ประชาชนใช้แก๊สโซฮอล์แล้วจะลดราคาน้ำมันเบนซินทำไม ถ้าอ้างว่าลดราคาน้ำมันเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากภาวะค่าครองชีพ แล้วะจะเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันใช้แก๊สโซฮอล์ทำไม

มาตรการลดราคาน้ำมัน โดยการงดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเป็นผลงานชิ้นแรกของรัฐบาลโคลนนิ่งที่ทำทันที แต่เมื่อทำแล้วก็ส่งผลให้อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนพังทันทีเหมือนกัน เช่นเดียวกับนโยบายหาเสียงอื่นที่สัญญาว่าจะ “ทำทันที” หากทำเมื่อไรรับรองว่าพังเมื่อนั้น เพราะไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ และผลที่จะตามมา เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่นับว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยที่รัฐบาลโกหกในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับนโยบายถมทะเลสร้างเมืองใหม่ ที่ตอนหาเสียงบอกว่าทำทันที เมื่อได้รับเลือกตั้งกลายเป็นขอศึกษาก่อน และถ้ารัฐบาลเริ่มใช้นโยบายจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ทันทีเมื่อไร สิ่งที่จะพังทันทีเหมือนอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน คือการส่งออกข้าวของประเทศไทย

source:http://www.manager.co.th/Columnist/ViewNews.aspx?NewsID=9540000108624

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น