วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เปิดใจ"นักวิจัย ออสเตรเลีย"สร้างเทคโนโลยีเพิ่มพลังงานสะอาด

โครงการนักวิจัยออสเตรเลียเยือนประเทศไทย ที่สำนักงานการพาณิชย์ออสเตรเลีย ร่วมกับ สำนักงานการศึกษาออสเตรเลียแห่งนานาชาติ จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาไทย และสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกับมหาวิทยาลัยและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของไทย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสต้อนรับ ดร.เลสลี่ อายย์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนสแลนด์ (Queensland University of Technology) เชี่ยวชาญด้านพลังงานชีวภาพ และโรงกลั่นชีวมวล การผลิตชีวมวลอย่างยั่งยืน และ ดร.แมทธิว ฟิลลิปส์ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ (University of Technology, Sydney) เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาวัสดุประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

บรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียนเต็มไปด้วยองค์ความรู้จากงานวิจัยชิ้นเอกของ ดร.แมทธิว เล่าว่า เทคโนโลยีที่เขาทำการศึกษาวิจัย คือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับด้านการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ประกอบด้วย 3 ส่วน 1.เทคโนโลยีจากเซลล์แสงอาทิตย์ 2.เทคโนโลยีที่จะเก็บพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าแบตเตอรี่ และ 3.การเอาพลังงานที่เก็บไว้มาใช้ในการส่องสว่าง หรือแอลอีดี ซึ่งถ้านักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ทุกประเทศพัฒนาเทคโนโลยี 3 ส่วนไปพร้อมกัน ทุกแห่งในโลกสามารถมีไฟฟ้าใช้ได้ แถมไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม

การมาประเทศไทยของ ดร.แมทธิว เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนิสิตนักศึกษา คณาจารย์ในแต่ละมหาวิทยาลัยของไทย และหน่วยงานวิจัยระดับชาติ รวมถึงรณรงค์ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ที่กินไฟต่ำ หลอดไฟประหยัดพลังงาน หรือหลอดไฟแอลอีดี ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นอนาคตของหลอดไฟสมัยใหม่ เพราะไม่เกิน 5 ปีห้ามจำหน่ายหลอดไฟประเภทหลอดไส้ อย่างประเทศออสเตรเลีย จีน เลิกผลิต หรือบางประเทศใช้หลอดไฟแอลอีดี หลอดไฟที่ประหยัดพลังงานได้ถึง 20-30 เท่า

ประเทศไทยมีทรัพยากรทดแทนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แสงอาทิตย์ น้ำ ลม รวมไปถึงพลังงานในรูปของเชื้อเพลิง ถ่านหิน ดร.แมทธิว เล่าว่า ประเทศไทยสามารถสร้างเทคโนโลยีสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากมาย เช่น พลังงานเชื้อเพลิง การจัดการน้ำ และสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อน ที่ต้องพัฒนาไปพร้อมกัน อยากให้มีการศึกษา ค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีด้านไฟฟ้ามากขึ้น โดยต้องเป็นเทคโนโลยีใหม่ และมีคุณค่าต่อสังคม หรือทำหน้าที่ช่วยให้สังคมอยู่ได้อย่างยั่งยืน

“พลังงานประเทศไทยถูกมาก ดูได้จากค่าไฟประเทศไทยถูก เมื่อเทียบกับประเทศออสเตรเลียค่าไฟแพงมากกว่าประเทศไทย 8 เท่า อาจส่งผลให้คนไทยไม่รู้จักประหยัด ยังไม่นิยมหลอดไฟแอลอีดี ทั้งที่ช่วยประหยัด ลดพลังงานเชื้อเพลิงของประเทศลงได้ หากมีการรณรงค์ส่งเสริมให้หันมาใช้หลอดไฟแอลอีดีมากขึ้น ปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน รู้จักการใช้พลังงาน และลดการใช้พลังงานด้วย”

ดร.เลสลี่ เล่าว่า นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย มีความจำเป็นในทุกประเทศ เพราะฉะนั้น ต้องรณรงค์ สนับสนุน พยายามให้ข้อมูลแก่นักเรียน โดยเฉพาะมุมมอง เปิดโลกอาชีพในแต่ละศาสตร์ให้เด็กได้เห็นถึงชีวิตการทำงาน ทำให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์ เป็นนักวิจัยค้นพบ ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ หรือผลิตเทคโนโลยีสะอาด พลังงานสีเขียว เพื่อสังคม ได้รับการยกย่องจากสังคม กระตุ้นให้เด็กได้มีมุมมอง และรู้สึกเห็นแนวทางอาชีพของนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัย

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ประเทศไทยตื่นตัวเรื่องพลังงานสะอาดมาก ผศ.ดร.สุคคเณศ ตุงคะสมิต รองคณบดีฝ่ายพัฒนาวิชาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า สถานประกอบการได้รณรงค์หรือผลิตสินค้าที่ทำมาจากธรรมชาติ ใช้วัสดุทดแทน ลดการใช้ต้นไม้ หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ลดมลพิษทางอากาศ ประยุกต์ ทำวิจัยเพื่อใช้น้ำมันดิบให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด หรือในส่วนของเทคโนโลยีการส่องสว่าง เช่น ไฟประดับอาคาร อดีตเคยเป็นหลอดไฟไส้ กินไฟเยอะ แต่ตอนนี้ หันมาใช้หลอดไฟแอลอีดี ลดค่าไฟ 20-30 เท่า เป็นต้น

ล่าสุดคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาวิจัยสารกึ่งตัวนำชนิดไนไตรด์ ที่นำมาใช้ในหลอดไฟแอลอีดี เพื่อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยด้านพลังงานไฟฟ้า ล้วนต้องการลดปริมาณการใช้พลังงานลงพันเท่า หรือมากกว่านั้น โดยหลอดไฟ 50 วัตต์ 100 วัตต์ จะไม่มีแล้ว เหลือเพียง 0.0001 วัตต์ และคาดว่า 5 ปี ทุกประเทศทั่วโลกหันมาใช้หลอดไฟชนิดนี้ทั้งหมด ฉะนั้น ถ้านักวิจัยไทยหลอดไฟแอลอีดี ไม่ใช่ลดพลังงานอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมกับในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากหลอดไฟแอลอีดีสามารถปรับสี ความเข้มของสโคปแสงสูงขึ้นหรือต่ำลงของหลอดไฟที่ส่องว่าง
ผศ.ดร.สุคคเณศ บอกว่าปัจจุบันสังคมไทย ไม่เห็นความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ไม่มีพื้นที่ได้แสดงฝีมือ สถานประกอบการยังไม่เชื่อมั่นให้นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าไปแสดงฝีมือ ทั้งที่นักวิทยาศาสตร์ทำงานได้หลากหลาย เช่น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กองพิสูจน์หลักฐาน ภาคเอกชน รับนักวิทยาศาสตร์เข้าทำงาน หรือบริษัทที่ทำฮาร์ดดิสก์ รับนักวิทยาศาสตร์แทนนักโปรแกรมเมอร์ อยากรู้ว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเช่นใด สนใจติดต่อเยี่ยมชมโทร.0-2218-5000 หรือ www.sc.chula.ac.th

source : http://www.komchadluek.net/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น