วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เพื่อนจากญี่ปุ่น

อภิชาติ ทองอยู่ tapichart@hotmail.com

ปลายเดือนที่ผ่านมา ศาสตราจารย์โคอิชิ โคมัตสึ ซึ่งเดินทางมาเมืองไทยได้มาพักค้างที่บ้านก่อนบินกลับญี่ปุ่น อาจารย์โคมัตสึเป็นศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องสังคมเกษตรกรรมในญี่ปุ่นและเอเชีย ปีนี้อาจารย์อายุ 68 ปีแล้ว แต่ยังแข็งแรงเหมือนกับคนอายุยังไม่ถึง 60 ปีเลย อาจารย์บอกว่าที่ญี่ปุ่นสาขาอาชีพอาจารย์จะเกษียณอายุเมื่อ 70 ปี แต่ก็สามารถหยุดตัวเองก่อนได้หากต้องการพัก ทุกปีอาจารย์เดินทางไปต่างประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 5 ครั้ง ส่วนใหญ่จะมาที่ประเทศไทย นอกนั้นก็ไปฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ภูฏาน และจีน อาจารย์รักประเทศไทยมาก

ช่วง 20 ปีที่มาเมืองไทย จะทำกิจกรรมช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกร ช่วยระดมทุนทำงานกับชาวนาหลากหลายกิจกรรมมาตลอด อาจารย์เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาและสนใจปัญหาชาวนา เกษตรกรและสิ่งแวดล้อมมาก เป็นผู้ริเริ่มค้นคว้าและรณรงค์ด้านการเกษตรกรรมปลอดสารเคมีในญี่ปุ่น เนื่องจากว่ายุคอุตสาหกรรมเบ่งบานที่ญี่ปุ่นได้ทำให้เกษตรกรรมในญี่ปุ่นหันไปพึ่งพาสารเคมีอย่างเข้มข้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างรุนแรงในช่วงกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่นับรวมผลร้ายจากโรคมินามาตะจากรังสีเคมีของระเบิดปรมาณู

การพบกันครั้งนี้มีโอกาสคุยกันถึงเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติ สึนามิ และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่พลิกผันญี่ปุ่นให้ตกอยู่ในภาวะเลวร้ายน่าเห็นใจยิ่ง อาจารย์บอกว่าสภาพที่เกิดขึ้นนั้นลำบากมากสำหรับชาวญี่ปุ่น คนจำนวนมากที่มีชีวิตปกติสุขในพื้นที่ที่ประสบภัยต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย จิตใจบอบช้ำ ซึมเศร้า ความช่วยเหลือของรัฐบาลแม้จะพยายามเต็มที่ แต่ขนาดของปัญหานั้นใหญ่โตกว้างขวางและซับซ้อน จนประชาชนต้องลุกขึ้นมาร่วมมือช่วยตัวเองเป็นหลัก นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเวลานี้มีคะแนนนิยมตกมาเหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าพรรคนี้จะสูญพันธุ์ทางการเมืองในเวลาอีกไม่นานข้างหน้า

ช่วงเย็นมีโอกาสพาอาจารย์ไปเดินดูหมู่บ้านชาวประมงที่หาดวอน บางแสน พาเดินดูคนมาเหวี่ยงแหหาปลาที่สะพานปลา คนที่เหวี่ยงแหขึ้นแกะเอาปลาที่ต้องการไปแล้วทิ้งปลาเล็กปลาน้อยดิ้นจนแห้งตาย พบเห็นอยู่ทั่วไปที่สะพานปลา หลังคนหาปลาจากไปอาจารย์ก็ก้มหยิบปลาตัวเล็กตัวน้อยที่ดิ้นอยู่โยนลงทะเลทีละตัว หลังโยนลงไปหมดก็ไปลุ้นดูว่ามันจะรอดรึเปล่า? ตัวไหนรอดก็ชี้ให้ดูแล้วยิ้มอย่างสดชื่น

เมื่อกลับออกมาอาจารย์เล่าให้ฟังว่า ประเทศไทยนี่โชคดีที่ไม่ประสบภัยพิบัติขนาดเท่าที่ญี่ปุ่นได้ประสบ จึงมีหมู่บ้านชาวประมงกระจายอยู่ตามชายฝั่งทั่วไปทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน อันเป็นพื้นที่เปิดให้ชีวิตคนเล็กๆ มีโอกาสดิ้นรนอยู่รอดร่วมในสังคม แต่ควรต้องดูแลให้มีวินัยในการจัดการทรัพยากรให้ดีกว่านี้ เพราะเมื่อสูญเสียไปแล้วไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้อีก

อาจารย์บอกว่า แหล่งประมงที่ดีที่สุด อุดมสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวประมงและเป็นแหล่งอาหารทะเลชายฝั่งที่สำคัญของญี่ปุ่น 3 แหล่งพึ่งจะล่มสลายไปคือ ชายฝั่งเมืองอีวาเตะและเมืองมิยากิ ถูกสึนามิถล่มกวาดบ้านเมืองพังราบคาบกลายเป็นซากปรักหักพังค่อนเมือง ผู้คนล้มตายสูญหายไปมาก ส่วนชายฝั่งฟุกุชิมะล่มสลายด้วยพิษภัยของโรงไฟฟ้าปฏิกรณ์ปรมานู ที่นั่นนอกจากคนตายและสูญหายมากแล้ว ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปอีกกับเมืองนี้ แต่ที่แน่ๆ ในรัศมี 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า ชาวบ้านอพยพออกไปหมด ทุกวันนี้มีเพียงคนแก่คนเฒ่าบางกลุ่มที่ไม่สนใจความตายบากหน้ากลับไปอาศัยในบ้านเดิมของตัวในเขตเมืองดังกล่าว

ที่สำคัญคืออาหารทะเลจากชายฝั่งฟุกุยามาคนทั่วไปไม่กล้าบริโภค แต่อาจารย์โคมัตสึเองยินดีนำมาบริโภคด้วยเหตุ 2 ประการคือ หนึ่งเพราะตัวเองอายุมากแล้ว ไม่กังวลเรื่องความตามเท่าใดนัก และสอง ต้องการสร้างความมั่นใจ กระตุ้นผู้คนให้ช่วยกันฟื้นฟูประเทศ ไม่อยากให้กลายเป็นเมืองร้าง เป็นดินแดนที่น่าเวทนาต่อไป การพบปะเสวนาครั้งนี้ทำให้ผมเข้าใจถึงวินัย ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความแกร่งของจิตวิญญาณญี่ปุ่นจากเพื่อนเก่าคนนี้ได้กระจ่างชัดมากขึ้นทีเดียว และอดแวบนึกถึงสังคมบ้านเมืองตัวเองไม่ได้ว่า เมื่อใดหนอความสันติสุขจึงจะหวนคืนมา?


source:http://www.ryt9.com/s/tpd/1222581

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น