วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บทเรียนจาก'ฟูกูชิมะ' พวกเราไม่เอา'นิวเคลียร์'


 "เมืองไทยควรมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่" คำถามนี้ถูกโยนไปโยนมาในสังคมไทยไม่ต่ำกว่า 20 ปีมาแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้รับคำตอบชัดเจน แต่อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่ญี่ปุ่น ทำให้ทุกฝ่ายต้องพิจารณาคำตอบอย่างจริงจังอีกครั้ง !

ทุกวันนี้ การใช้พลังงานผลิตไฟฟ้าพึ่งพาแหล่งพลังงานจากก๊าซธรรมชาติร้อยละ 72 ลิกไนต์ร้อยละ 10 ถ่านหินร้อยละ 8 ที่เหลือเป็นพลังงานหมุนเวียนและอื่นๆ โดยมีตัวเลขคาดการณ์อนาคตว่า ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะเหลือใช้เพียง 18 ปีเป็นอย่างช้า และถ้ายังไม่ใช้พลังงานอย่างประหยัดอาจเหลือเพียง 15 ปี เท่านั้น ที่เหลือคงต้องพึ่งน้ำมันจากต่างประเทศ และหากพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศที่มีราคาผันผวน อาจกระทบถึงความมั่นคงด้านพลังงาน

"โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" จึงถูกเสนอให้เป็นทางเลือกใหม่ โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ, นักวิชาการด้านพลังงาน, นักวิจัยนิวเคลียร์ เป็นฝ่ายสนับสนุนให้เมืองไทยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เสนอพื้นที่คาดการณ์ว่าจะเป็นสถานที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทย 5 จุดคือ 1. อ.สิรินธร จ.อุบลฯ 2. ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ 3. ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด 4. ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี และ 5. ปากน้ำละแม อ.ละแม จ.ชุมพร

ล่าสุด กระทรวงพลังงานจัดงานเสวนาเรื่อง "ผลกระทบเชิงนโยบายการบริหารจัดการพลังงานอันเนื่องมาจากกรณีโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ" เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน วิเคราะห์ว่า หลังอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มทบทวนนโยบายบริหารเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เช่น เยอรมนีประกาศยุบเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายใน 13 ปี ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เลื่อนการตัดสินใจออกไป มีเพียงเวียดนามตัดสินใจเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 แห่ง เป็นโครงการร่วมมือกับญี่ปุ่น 2 แห่ง และรัสเซีย 2 แห่ง ส่วนญี่ปุ่นสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกแห่งในภาคตะวันออก รวมทั้งที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเพื่อทบทวนมาตรการด้านความปลอดภัยใหม่ทั้งหมด รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความจำเป็นแต่ต้องปลอดภัย ส่วนไทยเลื่อนการตัดสินใจออกไปอีก 3 ปี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเตรียมพร้อมด้านกฎหมาย

ด้าน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผอ.สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คนไทยต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นทุกปี และในอนาคตทุกครัวเรือนทั้งในตัวเมืองและต่างจังหวัดจะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายชนิดมากขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ ทีวี ตู้เย็น ฯลฯ แหล่งพลังงานหลักในโลกขณะนี้มี 3 ชนิดคือ 1.เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ 2.พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ ขยะมูลฝอย ฯลฯ และ 3.พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งพลังงานหมุนเวียนนั้นยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง ส่วนพลังงานถ่านหินถูกต่อต้านว่าเป็นพลังงานสกปรก ทำลายสิ่งแวดล้อม ตอนนี้ก็เหลือเพียงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชื่อกันว่าเป็นพลังงานสะอาด

"เหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะทำให้เกิดการเข้าใจผิด คิดว่าแผ่นดินไหวทำให้โรงไฟฟ้าพัง แต่ที่จริงแล้วเกิดจากน้ำท่วมเพราะคลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้ระบบระบายความร้อนไม่ทำงาน ต้องเข้าใจว่า โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เป็นรุ่นเก่าที่ระบบระบายความร้อนอยู่ภายใน แต่รุ่นใหม่เป็นระบบแยกส่วนแล้ว จะไม่มีปัญหาแบบเดิม ตอนนี้ต้องรอข้อมูลวิจัยและงานวิชาการของญี่ปุ่น คิดว่าอีกไม่นานคงตีพิมพ์ออกมาว่าข้อเท็จจริงคืออะไรกันแน่ และอันตรายของกัมมันตภาพรังสีมีมากน้อยแค่ไหน จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริง" ศ.ดร.บัณฑิตกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ระบุว่า ปี 2554 ทั่วโลกมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด 442 แห่ง ตั้งอยู่ใน 29 ประเทศ กำลังก่อสร้าง 65 แห่ง ได้แก่ จีน 27 แห่ง, รัสเซีย 11 แห่ง,อินเดีย 5 แห่ง, เกาหลีใต้ 5 แห่ง, บัลแกเรีย 2 แห่ง, ญี่ปุ่น 2 แห่ง, สาธารณรัฐสโลวัก 2 แห่ง, ยูเครน 2 แห่ง, อาร์เจนตินา 1 แห่ง, บราซิล 1 แห่ง, ฟินแลนด์ 1 แห่ง, ฝรั่งเศส 1แห่ง, อิหร่าน 1แห่ง และปากีสถาน 1 แห่ง

ขณะเดียวกัน กลุ่มที่คัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้แก่ กลุ่มเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม, กลุ่มสนับสนุนพลังงานทางเลือก, เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์, ชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมาย ฯลฯ ยืนยันชัดเจนที่จะต่อต้านทุกรูปแบบเพื่อไม่ให้มีการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้น

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา องค์กรเอ็นเอ็นเอเอฟ หรือเครือข่ายไม่เอานิวเคลียร์เอเชีย (No Nuke Asia Forum:NNAF) เชิญตัวแทนชาวบ้านจาก จ.อุบลราชธานี จ.ตราด และ จ.ชุมพร ไปศึกษาประสบการณ์ของชาวบ้านจากเมืองฟูกูชิมะ ผู้ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์และคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554

"สารพิษเหล่านี้ไม่มีสีไม่มีกลิ่น มันแพร่ออกมาไม่มีใครรู้ตัว บทเรียนจากฟูกูชิมะทำให้พวกเรารู้แล้วว่า ต่อให้เทคโนโลยีดีเลิศแค่ไหนก็ไม่ปลอดภัย ขอถามว่าทำไมต้องเอาระเบิดเวลามาทิ้งไว้ที่บ้านเรา ถ้าทุกคนช่วยกันประหยัดไฟฟ้าเมืองไทยก็ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เช่น ประตูเปิดด้วยมือก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบไฟฟ้า ไฟประดับตึกหรือป้ายโฆษณาก็ไม่จำเป็น ถ้าใครสร้างเราจะสู้" "สดใส สร่างโศก" สมาชิกเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.อุบลราชธานี กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
ประสบการณ์ที่ "สดใส" ได้เห็นจากญี่ปุ่นยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่า "นิวเคลียร์อยู่ร่วมกันมนุษยชาติไม่ได้" แม้ว่าจะผ่านมาร่วม 6 เดือนแล้ว ผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ ยังอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวจำนวนมาก เพราะสารกัมมันตรังสียังตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะเด็กๆ มากกว่า 8 หมื่นคน ที่เคยอาศัยในรัศมี 20-30 รอบโรงไฟฟ้าฯ กำลังมีอาการผิดปกติทางร่างกาย เด็กหลายคนเลือดกำเดาออกโดยไม่ทราบสาเหตุ แพทย์สันนิษฐานเบื้องต้นว่า เป็นปฏิกิริยาเฉียบพลันของร่างกายหลังได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าไปในกระดูกสันหลัง ขณะนี้ กำลังรองานวิจัยว่าในอนาคตเด็กๆ กลุ่มนี้จะเกิดผลกระทบด้านสุขภาพอย่างไรบ้าง ?!!

source : http://www.komchadluek.net/detail/20110822/106777/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%8C.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น