วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิกฤตพลังงาน ฤา วิกฤตคน ?

ผู้รู้ด้านพลังงานท่านหนึ่ง¹กล่าวว่า เรื่อง “พลังงานประสบความสำเร็จ แต่ไม่ยั่งยืน” คือ พอมีกระแสก็ทำ ไม่มีกระแสก็ไม่ทำ รัฐบาลก็ไม่มีความต่อเนื่องในการทำงาน...
บทความผ่านการคัดเลือก ในโครงการ BEAT Article
นี่ก็คงเป็นธรรมชาติของคนส่วนใหญ่ด้วยไม่เฉพาะแต่คนไทยเรา ตัวอย่างเช่น เมื่อราคาน้ำมันแพงก็ร้องโอดโอยกัน แต่พอราคาลดลงมาก็มีพฤติกรรมการใช้พลังงานเหมือนเดิม. ปัญหาพลังงานนั้นเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ แต่ที่วิกฤติหนักคือ วิกฤติแห่งทัศนคติที่ต้องปรับเจตคติใหม่ให้ผู้คน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้เขาอยู่ได้โดยพึ่งตัวเองให้มากที่สุดก่อนแล้วค่อยไปพึ่งข้างนอก ตั้งแต่การจัดการด้านความคิดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางวิถีปฎิบัติ จัดชีวิตให้มีระเบียบวินัย ไม่ไร้สาระ ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เช่น เปิดแอร์จนหนาวแล้วก็ไปอาบน้ำร้อน ถ้าจะจัดใหม่เป็น ไปออกกำลังกายหรือทำงานบ้านสักพักหนึ่งก่อน จนเหงื่อออก เราก็จะไม่ต้องการอาบน้ำร้อน ซึ่งจะช่วยลดพลังงานลงไปได้ 10 % เป็นต้น หากรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายพลังงานต่างๆที่เพิ่มขึ้นไม่ไหวเช่นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงฯลฯ เราก็ต้องประหยัด เพราะประหยัดคุณไม่ต้องลงทุน เป็นของฟรีที่ทำได้ง่ายๆ เพียงแต่คนยังไม่ค่อยคิดจะทำกัน ส่วนการใช้พลังงานทดแทนหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจึงเป็นประเด็นถัดไปหลังจากประหยัดแล้ว เพราะในทางตรงกันข้ามพลังงานทดแทนนั้นไม่ได้มาฟรี คุณต้องซื้อหาหรือลงทุนด้วยราคาสูงไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือครัวเรือน ตัวอย่างเช่น แผงโซล่าเซลที่ติดบนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้าหรือทำน้ำอุ่นในบ้าน เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับการประหยัด หรือใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่าในแต่ละเดือน เป็นต้น

การสร้างจิตสำนึกเรื่องพลังงานจึงเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆสร้างให้เป็นวัฒนธรรมบนฐานความรู้ (Knowledged base) เป็นแบบแผนที่ฝังตัวอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันและทัศนคติของผู้คน ทำอย่างจริงจังต่อเนื่องจนชาวบ้านเห็นผลในระยะยาว.

บทความนี้ข้าพเจ้าในฐานะคนไทยคนหนึ่งขอเสนอวิธีสร้างและปลูกฝังวัฒนธรรมเรื่องพลังงานใน ๔ ภาคส่วน โดยใช้องค์ความรู้พหุปัญญา ดังนี้ คือ




  1. ภาคการศึกษา (ดูรูปที่ ๑) ตัวอย่างสอดแทรกเรื่อง “พลังงาน” ในภาคการศึกษา
  2. ภาคประชาชน-ชุมชน (ดูรูปที่ ๒) ตัวอย่างสอดแทรกเรื่อง “พลังงาน” ในภาคประชาชน-ชุมชน

  3. ภาครัฐ (ดูรูปที่ ๓) ตัวอย่างสอดแทรกเรื่อง “พลังงาน” ในหน่วยงานภาครัฐ

  4. ภาคธุรกิจเอกชน (ดูรูปที่ ๔) ตัวอย่างสอดแทรกเรื่อง “พลังงาน” ในภาคธุรกิจเอกชน


ภาคการศึกษา การศึกษาควรเน้นแนวคิดพื้นฐาน ให้เนื้อหาพลังงานมีความหมายต่อประสบการณ์และความสนใจของผู้เรียน และให้ผู้เรียนมีโอกาสอภิปรายในหมู่นักเรียนด้วยกัน ให้ทำงานเป็นกลุ่มร่วมกันเพื่อสืบค้นปัญหาพลังงานหรือประเด็นต่างๆ และได้สื่อสารสิ่งที่ค้นพบจากการสืบค้น การประเมินผลวัดจากความเข้าใจที่สามารถประยุกต์กับสถานการณ์ใหม่ๆได้ ทักษะในการสืบค้น การวิเคราะห์ข้อมูลและการสื่อสาร

ภาคประชาชน-ชุมชน ตัวอย่างหนึ่งที่ดีๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาคประชาชน-ชุมชนสามารถริเริ่ม จัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ เช่นโครงการวางแผนพลังงานชุมชน ตำบลพลับพลาไชย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนมีการยกระดับสู่การคิดวิเคราะห์เป็น รู้ว่าพลังงานเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันแต่ละครัวเรือนอย่างไร เห็นภาพพลังงานที่เข้ามาในชุมชน และชาวบ้านใช้พลังงานแต่ละประเภททำอะไรบ้างเช่น หุงต้ม ทำแสงสว่าง ทำอุตสาหกรรมในครัวเรือนเป็นต้น จากนั้นวิเคราะห์ออกมาเป็นตัวเลขเพื่อเปรียบเทียบการใช้พลังงานแต่ละประเภท และบอกได้ว่าค่าใช้จ่ายพลังงานมากน้อยเพียงใด ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า เราจะต้องประหยัดหรือวางแผนการใช้พลังงานอย่างไร ทั้งช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำฟืนหรือเผาถ่าน ช่วยลดโลกร้อน และใช้เป็นฐานข้อมูลในการเพิ่ม Carbon Credit ของประเทศได้ด้วย. (ดูรูปที่ ๒ ประกอบ) (ทำเป็นรูปเล็ก ๆ คลิกแล้วขยายเป็นรูปใหญ่)
ภาครัฐ ควรมีการจัดสรรงบประมาณประจำปี เงินกองทุนหรือจัดประกวดเพื่อสนับสนุนชุมชนที่สามารถสร้างเครือข่าย ทำโครงการวางแผนพลังงานชุมชน เช่น โครงการการใช้ต้นพลังงานร่วมกัน ได้แก่ พลังงานน้ำ ฯลฯ อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม เพื่อขยายผลให้ชุมชนอื่นนำไปปรับใช้หรือขยายผลให้เหมาะกับพื้นที่ของตนต่อไปอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน.

ภาคธุรกิจเอกชน สามารถเข้าร่วมกิจกรรม และ/หรือรับผิดตามกฎหมายหากมีการละเมิดใช้พลังงานจนเกิดมลภาวะหรือผลเสียต่อสุขอนามัยของประชาชนโดยส่วนรวมเกินระดับมาตรฐานสากลในเรื่องนั้นๆ

อิฐก้อนหนึ่งดูเหมือนไม่มีความหมายอะไร แต่เมื่อรวมกันนำมาสร้างเป็นอาคารก็จะเกิดโครงสร้างที่แข็งแกร่ง ให้ผู้คนได้อยู่อาศัยและพักพิง ดุจดังพลังจากแต่ละภาคส่วนเมื่อผนึกกำลังกันเชื่อมโยงประสานใช้พลังงานอย่างมีคุณค่า สังคมส่วนรวมก็จะได้ประโยชน์และเป็นการทำความดีถวายพ่อหลวงสมดังพระราชดำรัสของพระองค์ท่านซึ่งตรัส ณ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ความว่า

“ การที่จะมีความเจริญอยู่ดีกินดีนั้น อยู่ที่การทำงานด้วยวิชา วิชาที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องมีความรู้สูงมาก
แต่วิชาคือวิธีทำงาน....”



นางพัชรี เตียจันทร์พันธุ์ Lawwill เรียบเรียง

source : http://www.beat2010.net/index.php/technology-for-energy-conservation-in-buildings/233-beat-article-16.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น