วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ชมสุดยอดโรงเผาขยะญี่ปุ่น แล้วย้อนดูเรื่องจริงที่กทม

 
eco-T.JPEG
ประเทศญี่ปุ่น...ขึ้นชื่อลือชามิใช่แค่เรื่องความสวยงามของบ้านเมือง แฟชั่น เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเท่านั้น ทว่าความมีระเบียบวินัยถือเป็นที่สุดของชาวอาทิตย์อุทัยด้วย เพราะแม้จะไม่มีรถวิ่งผ่านขณะติดไฟแดงหลายนาทีชาวเมืองปลาดิบก็ไม่คิดจะฝ่าฝืนกฎ ไม่ว่าเวลานั้นถนนจะโล่ง ไม่มีรถวิ่งผ่านเลยก็ตาม และหนึ่งในความมีระเบียบวินัยที่ได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก คือ การแยกขยะ การรักษาความสะอาดและรักสิ่งแวดล้อม

เด็กญี่ปุ่นเพียงแค่ชั้นเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ต้องรู้จักการคัดแยกขยะเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปกำจัดที่โรงงานเผาขยะอย่างที่ศูนย์บำบัดและควบคุมมลพิษโทงาริ (Togari Clean Center, eco - T) ซึ่งตั้งอยู่ที่โตโยต้า ซิตี้ (Toyota City) เมืองนาโงยา โดยที่นี่กล่าวได้ว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาความสะอาดภายในโตโยต้า ซิตี้ เขตพื้นที่ที่ประกอบไปด้วยเทศบาลจำนวน 7 แห่ง และเมืองแห่งนี้พื้นที่กว่าร้อยละ 70 ล้วนถูกปกคลุมไปด้วยผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ หลายโครงการด้านสิ่งแวดล้อมถูกริเริ่มขึ้นที่นี่โดยประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน


ห้องควบคุมการทำงานภายในศูนย์บำบัดฯทั้งหมด

สำหรับศูนย์บำบัดและควบคุมมลพิษโทงาริ โรงเผาขยะแห่งนี้สร้างขึ้นมาในปี พ.ศ. 2550 ด้วย งบประมาณจากเทศบาลนครโตโยต้าจำนวน 11,000 ล้านเยน มีอายุการใช้งานนาน 30 ปี สามารถกำจัดขยะที่เผาได้วันละ 405 ตัน เปิดปฏิบัติตลอด 24 ชั่วโมงครบทั้ง 365 วัน ซึ่งบ่อจัดเก็บขยะที่นี่มีความกว้าง 48 เมตร ยาว 16 เมตร ลึก 20 เมตร สามารถจับเก็บขยะได้เต็มที่ประมาณ 2,025 ตัน หรือคิดเป็นขยะทั้งเทศบาลนครโตโยต้าเป็นเวลา 5 วัน จากนั้นขยะที่ส่งมาที่นี่จะถูกนำไปบดเพื่อให้เป็นชิ้นเล็กลงก่อนนำไปอบและเผาด้วยเตาเผาไหม้แบบไพโรไลซิส (Pyrolysis) และแก๊สซิฟิเคชั่น (Gasification) ในระดับความร้อน 500-600 องศาเซลเซียสซึ่งจะทำให้เกิดแก๊สและขี้เถ้า ขณะที่เตาหลอมจะใช้ความร้อนที่อุณหภูมิ 1,200-1,300 องศาเซลเซียสในการเผาขยะ และเชื้อเพลิงที่ใช้เผาจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกเสียจากขยะ แต่หากไม่พอก็จะใช้แก๊ส จนท้ายที่สุดผลิตผลที่ได้จากการเผาคือกากตะกอนแข็ง (Sludge) คล้ายใยแก้วเป็นเม็ดสีดำเล็กๆซึ่งสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำอิฐบล็อก ผสมแทนคอนกรีต หรือแม้แต่ใช้เป็นยางมะตอยราดถนน โดยกากตะกอนแข็งที่ได้ตกประมาณร้อยละ 5 ของปริมาณขยะที่เผาต่อวันหรือคิดเป็นประมาณ 20 ตันต่อวัน ส่วนแก๊สที่ออกมาก็จะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการกำจัดเพื่อไม่ให้เป็นมลพิษตกค้าง ขณะเดียวกันความร้อนที่ได้จากการเผาขยะสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 6,800 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงซึ่งนำไปใช้ภายในศูนย์บำบัดฯ ตลอดจนบ้านเรือน ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในเมืองโตโยต้า ซิตี้


ตัวอย่างกากตะกอนแข็ง

พี่ๆ อาสมัคร เล่าให้ฟังว่า คนในเทศบาลนครโตโยต้าที่มีอยู่ 4.2 แสนคนจะต้องทิ้งขยะไม่เกินคนละ 900 กรัม ถ้าอยู่กัน 4 คนก็ทิ้งรวมกันได้ 3.6 กิโลกรัม โดยจะแยกขยะใส่ถุงสำหรับมันโดยเฉพาะ จากนั้นนำไปวางตามจุดที่เทศบาลนครโตโยต้ากำหนดจำนวน 4,200 แห่งทั่วเมืองตามวันและเวลาที่กำหนดในแต่ละพื้นที่เขต จากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของรถขยะทั้ง 60 คันกับพนักงานคันละ 2 คน คือคนขับและผู้ช่วยที่จ้างแบบ Out Source มาปฏิบัติภารกิจจัดเก็บ ก่อนนำมาสู่ศูนย์บำบัดฯ แต่หากแยกผิดก็จะไม่มีการจัดเก็บแน่นอน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังสามารถนำขยะที่คัดแยกแล้วมาทิ้งเองได้โดยจะมีช่องรับขยะจากรถบ้านของชาวเมืองโตโยต้าโดยเฉพาะ ซึ่งโรงงานขยะแห่งนี้ได้รับงบในการบริหารจัดการจากเทศบาลนครโตโยต้าปีละ 4,500 ล้านเยน


ช่องรับรถบ้านที่นำขยะมาทิ้ง

ในส่วนของพี่ๆ อาสาสมัครที่มีอยู่รวม 50 คน ณ ศูนย์บำบัดและควบคุมมลพิษโทงาริ ที่ขอแค่มีใจรักษ์สิ่งแวดล้อมก็สามารถมาเป็นอาสาสมัครที่นี่ได้โดยพวกเขาเหล่านี้มีการแบ่งกันทำงานเป็นกะและไม่ได้รับค่าแรงแต่จะได้รับค่ารถวันละ 2,000 เยนแทน โดยหน้าที่ของอาสาสมัครจะทำหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับภายในศูนย์ แจกคู่มือการคัดแยกขยะ หรือคอยแนะนำการคัดแยกขยะตามจุดทิ้งต่างๆ เป็นต้น


ทิ้งได้ 900 กรัมต่อคนเท่านั้น

น้องเฟรม - ศุภณัฐ ศศิพงศ์พนา นักศึกษาชั้นปีที่1 วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่อดีตเคยสวมชุดนักเรียนในสังกัดโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ บอกเล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่า จะเห็นได้ว่าบนตัวโครงสร้างอาคารของเขาใช้ธรรมชาติเข้ามาช่วย อย่างบนดาดฟ้าก็จะนำดอกเม็กซิโกมาแนนโซะที่มีความทนทาน แข็งแรง มาสกัดความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคาร

“เตาเผาขยะของบ้านเขาก็สร้างขึ้นมาเพื่อเผาขยะจริงๆ และเป็นประโยชน์ในระยะยาวโดยไม่สนว่าจะมีความคุ้มค่าต่อเงินลงทุนหรือไม่เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผมจะนำไปต่อยอดด้วยการเข้าไปปรึกษากับองค์การนักศึกษาเพื่อรณรงค์เพื่อนในสถาบันให้มีการแยกขยะก่อนทิ้ง และผมเองก็จะเข้าชมรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงไปให้ความรู้เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนแก่โรงเรียนต่างๆ เช่น ที่โรงเรียนเก่า”


โรงล้างรถขนขยะ

เฉกเช่นน้องไนซ์ - ณภัทร เพชรกัปป์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่บอกว่า การแยกขยะของที่นี่ดูเป็นระบบระเบียบจะเผาสักชิ้นต้องดูให้คุ้มค่าที่สุด อย่างขวดน้ำต้องนำไปใช้ซ้ำก่อนที่จะนำไปยังจุดหมายปลายทางสุดท้าย ซึ่งจะนำความรู้ที่ได้นี้ไปบอกต่อรุ่นน้องอันสอดคล้องกับเพื่อนสนิทจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ลำปาง


เสื้อ eco-T ที่ผลิตมาจากขวดพลาสติก

อย่าง น้องเติ้ล - เตวิชช์ ริ้วเจริญ นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่บอกว่าจากนี้ไปจะเป็นขบวนการวางแผนขยายเครือข่ายส่งต่อน้องม.6 พร้อมกับจะนำ 3 กิจกรรมรณรงค์ คือ ลดเมืองร้อน ด้วยการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ด้วยการลดขยะ และด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และโครงงานการใช้ประโยชน์จากเถ้าไม้มะขามกับดินขาวในการผลิตเซรามิก ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์นำไปขยายผลสู่ชุมชนให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป


รถขนขยะจากบริษัทต่างๆ นำขยะมาทิ้งที่ช่องรับภายในศูนย์บำบัดฯ

...เห็นความตั้งใจจริงของคนญี่ปุ่นในการคัดแยกขยะที่ต้องคิดแล้วคิดอีกว่าทิ้งได้จริงไหมอย่างนี้ซึ่งคนญี่ปุ่นบอกว่าถือเป็นจริยธรรมของชาวบ้านที่จะต้องแยกขยะอย่างซื่อสัตย์ ขณะเดียวกันก็เห็นถึงความทุ่มเทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทุ่มเทพลังในการรักษาสิ่งแวดล้อมก็ให้นึกสะท้อนในหัวอกคนพระนครอย่างเราๆ เพราะที่ผ่านมาเห็นแต่ข่าวคราวการรณรงค์การคัดแยกขยะแต่ก็ไร้ซึ่งการตอบรับ ขณะที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่บอกจะสร้างเตาเผาขยะมานานหลายปีดีดักแต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เกิดขึ้นซะที...เฮ้อ !!

ที่มา www.manager.co.th
โดย...รัชญา จันทะรัง

source : http://www.green.in.th/node/2495

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น