วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สุดยอดไอเดีย 'คลื่นลูกใหม่' นำพัฒนาชุมชนยั่งยืน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวด 2011 SIFE Thailand National Exposition โชว์โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ตามด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหิดลตามลำดับ

การประกวด 2011 SIFE Thailand National Exposition โดยโครงการ SIFE (Students in Free Enterprise) ประเทศไทย มูลนิธิรากแก้ว ซึ่งเป็นการประกวดผลสำเร็จของโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ระดับประเทศ โดยวัดผลสำเร็จจากเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ดีขึ้น ณ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม

โดยให้นิสิต นักศึกษา ลงปฏิบัติจริงในพื้นที่ชุมชน ได้ใช้ประโยชน์และความต้องการของชุมชน เป็นที่ตั้งในการสร้างสรรค์โครงการที่เหมาะสม โดยมีมหาวิทยาลัยเข้าประกวดร่วม 21 แห่ง ทั่วประเทศเข้าร่วมประกวด ผลปรากฎว่าทีม SIFE จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ชนะเลิศ ตามด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหิดลตามลำดับ

หลากหลายโครงการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในปีนี้มีความน่าสนใจ และน่าภาคภูมิใจ ที่คลื่นลูกใหม่เหล่านี้สามารถผลักดันจนก่อเกิดเป็นโครงการที่พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยลำแข้งของตนเอง มีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

อาทิ "โครงการ Soil Booster" ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการทำน้ำปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือน เพื่อใช้ในการเกษตร แทนการใช้ปุ๋ยเคมี โดยโครงการได้ทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว เริ่มจากสอนกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นชาวนาในจังหวัดนครนายก หันมาเลี้ยงไส้เดือน เพื่อนำมูลไส้เดือน มาหมักเป็นปุ๋ยน้ำเพื่อการเกษตร ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตนเอง และต่อผู้บริโภค และยังได้ขยายไปอีกหลายจังหวัดในปีเดียวกัน

ต่อมาได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ ในสถานที่ศึกษา ปลูกฝังแนวคิดประโยชน์ของไส้เดือนให้กับน้องๆ ในชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อม และช่วยให้มีรายได้จากการเลี้ยงไส้เดือน จนเป็นที่รู้จักในพื้นที่ ในปัจจุบันได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้มูลไส้เดือนอย่างครบวงจร ที่ ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา มีระบบการเพาะเลี้ยง ระบบโรงเรือนเพาะเลี้ยง การหมักสาธิต และร้านอาหารต้นไม้ เริ่มจากระบบเพาะเลี้ยงด้วยการใช้วิธีเก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โครงการที่น่าสนใจอีกโครงการหนึ่งคือ “โครงการนาโยน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นนวัตกรรม ที่จะช่วยชาวนา ย่นระยะเวลาการทำนาลง ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ และไม่ต้องก้มหลังดำนา โดยสามารถลดต้นทุนการทำนาได้ 30-39% ลดปริมาณการใช้สารเคมี 66% ลดปัญหาวัชพืช 80% ทำให้ชาวนาบางกลุ่ม ในจ.พระนครศรีอยุธยา ตัดสินใจมาใช้วิธีการทำนาโยนประกอบเป็นอาชีพหลัก รับจ้างโยนกล้า โดยที่ราคาไร่ละ 1,200 บาท มูลนิธิชัยพัฒนาได้เล็งเห็นถึงข้อดีการทำนาโยนจึงได้ให้การสนับสนุน และนำวิธีการทำนาโยนไปเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ทำให้มีผู้สนใจเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมี "โครงการชุมชนอินทรีย์เพื่อวิถีที่ยั่งยืน" ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการเลี้ยงสุกรหลุม เพื่อลดปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ น้ำเน่าเสีย กลิ่นเหม็น แหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค และแมลงวันให้กับ 215 ครัวเรือน ใน ต.เบิกไพร อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

โดยการเลี้ยงสุกรหลุมเป็นวิธีการเลี้ยงสุกรโดยพึ่งพิงธรรมชาติ โดยจะเน้นการใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นตลอดกระบวนการเลี้ยง เช่น ใช้วัสดุธรรมชาติในการปูพื้นคอก เลี้ยงด้วยอาหาร เช่น หยวกกล้วย ใช้จุลินทรีย์แทนยา และวัคซีน ทำให้ 1 บาทที่ใส่ไป จะสร้างเงินให้กับชาวบ้านได้ 50 สตางค์ งบประมาณรายได้รวม 290,080 บาท กำไรสุทธิ 119,200 บาท จะสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 10 เดือน รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนชุมชนเพื่อวิถีชีวิตที่ยั่งยืน

นับว่าเป็นศักยภาพของเด็กไทยที่มีความรู้ความสามารถ และจิตอาสาที่ดี ที่จะช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง และประเทศชาติให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยพลังของเยาวชนเหล่านี้ คือรากแก้วของแผ่นดิน ที่จะหยั่งรากความมั่นคงให้ประเทศให้ก้าวเดินทัดเทียมนานาประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยไม่ว่าการประกวดในครั้งนี้ทีมใดจะเป็นผู้ชนะ แต่ชาวบ้าน และชุมชนที่พวกเขาเหล่านั้นเข้าไปพัฒนา สามารถชนะความยากจน และสามารถเลี้ยงดูตนเอง ครอบครัว และใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ตัวแทนจากทั้งสามทีมโชว์ถ้วยรางวัล


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น