วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ยักษ์ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ “กาลิป เยอรมัน”

ยักษ์ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ “กาลิป เยอรมัน” ทุ่ม 8 พัน ล.ผนึกโฟอัส เทคโนโลยี ผุดโรงผลิตไฟฟ้า

“กาลิป เยอรมัน” ผู้นำด้านพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชื่อดังระดับโลก เชื่อมั่นลงทุนในไทย ผนึกพันธมิตร “โฟอัส เทคโนโลยี” ทุ่มงบมหาศาล กว่า 8 พันล้าน ผุดโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ในเมืองไทย 84 เมกะวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ใน 7 จังหวัด นำร่องเปิดโรงงานแห่งแรกที่จังหวัดแพร่ หวังช่วยลดภาวะโลกร้อน ทดแทนการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ พร้อมช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของไทยหลังน้ำลด

ปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 140,000 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่การผลิตไฟฟ้าภายในประเทศจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนประมาณ 70% ของการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศ ซึ่งก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไปและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

เซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) เป็นสิ่งประดิษฐกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยการนำสารกึ่งตัวนำ เช่น ซิลิกอน ซึ่งมีราคาถูกที่สุดและมีมากที่สุดบนพื้นโลกมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อผลิตให้เป็นแผ่นบางบริสุทธิ์ และทันทีที่แสงตกกระทบบนแผ่นเซลล์ รังสีของแสงมีอนุภาคของพลังงานประกอบที่เรียกว่า โปรตอน (Proton) จะถ่ายเทพลังงานให้กับอิเล็กตรอน (Electron) ในสารกึ่งตัวนำจนมีพลังงานมากพอที่จะกระโดดออกมาจากแรงดึงดูดของอะตอม (Atom) และเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ

ดังนั้นเมื่ออิเล็กตรอนเคลื่อนที่ครบวงจรจะทำให้เกิดไฟฟ้ากระแสตรงขึ้น เมื่อพิจารณาลักษณะการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์พบว่า เซลล์แสงอาทิตย์จะมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงที่สุดในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งสอดคล้องและเหมาะสมในการนำเซลล์แสงอาทิตย์มาใช้ผลิตไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน

การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์มีจุดเด่นที่สำคัญ แตกต่างจากวิธีอื่นหลายประการ ได้แก่ ไม่มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวในขณะใช้งาน จึงทำให้ไม่มีมลภาวะทางเสียง ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษจากขบวนการผลิตไฟฟ้า มีการบำรุงรักษาน้อยมากและใช้งานแบบอัตโนมัติได้ง่าย มีประสิทธิภาพคงที่ไม่ขึ้นกับขนาด สามารถผลิตเป็นแผงขนาดต่างๆ ได้ง่าย ทำให้สามารถผลิตได้ปริมาณมาก ผลิตไฟฟ้าได้แม้มีแสงแดดอ่อนหรือมีเมฆ เป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้มาฟรีและมีไม่สิ้นสุด ผลิตไฟฟ้าได้ทุกมุมโลกแม้บนเกาะเล็กๆ กลางทะเล บนยอดเขาสูง และในอวกาศ และได้พลังงานไฟฟ้าโดยตรงซึ่งเป็นพลังงานที่นำมาใช้ได้สะดวกที่สุด

และเมื่อไม่นานมานี้ โฟอัส เทคโนโลยี จำกัด (ประเทศไทย) ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในประเทศไทยมายาวนานกว่า 10 ปี เปิดตัวการลงทุนของบริษัทในการผลิตไฟฟ้าขนาด 84 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท

นายชิงชัย ชนชีวัฒน์ ประธานบริษัท โฟอัส เทคโนโลยี จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากกระแสการรณรงค์ประหยัดและอนุรักษ์พลังงานเพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน และเพื่อทดแทนปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ บริษัทจึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างพลังงานทดแทน เพื่อลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมมองเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่มีศักยภาพ และเป็นที่ต้องการสูงในอนาคต

ด้วยเหตุผลดังกล่าว บริษัทฯ จึงได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท Galip GmbH ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก จากประเทศเยอรมนี ร่วมลงทุนก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ หรือ Solar Cell power plant ขนาดใหญ่ 84 เมกะวัตต์ ขึ้นด้วยวงเงินลงทุนกว่า 8,200 ล้านบาท โดยถือหุ้นร่วมกันในสัดส่วน Four us 60% และ Galip Gmbh 40% ซึ่งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้านี้ นับได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทย

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด และอยู่ในช่วงการเยียวยา ฟื้นฟู แต่ทางบริษัท Galip GmbH ยังมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในประเทศไทย สืบเนื่องจากกระแสของการประหยัด และอนุรักษ์พลังงานเพื่อลดภาวะโลกร้อน ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน และอนาคต ขณะเดียวกันการร่วมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในครั้งนี้ ยังทำให้เกิดการจ้างงานในหลายพื้นที่ หลายจังหวัดของประเทศไทย นับมีส่วนช่วยในการกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้ขยายตัวรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง

ด้านนายอเล็กซานเดอร์ กาลิป ประธานบริษัท Galip GmbH ประเทศเยอรมนี ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (solar cell) จากประเทศเยอรมนี กล่าวว่า บริษัทมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมที่เกิดขึ้น แต่มั่นใจว่าไทยจะได้รับการฟื้นฟูและกลับมาสู่ภาวะปกติในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งการร่วมมือกันกับบริษัท โฟอัส เทคโนโลยี จำกัด ในการสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์เป็นอุปกรณ์หลักในการผลิตไฟฟ้า (เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกรวมซิลิกอน) ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดพลังงานทดแทน เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติและลดโลกร้อน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


source: http://www.banmuang.co.th/economic.asp?id=256068