วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

City of Kitayushu เมืองต้นแบบ Eco-Town

จาก Grey city ที่เคยปกคลุมด้วยควันพิษจากโรงงาน วันนี้เมืองคิตะคิวชูกลายเป็น Green Frontier City แห่งเอเชีย ซึ่งสามารถบริหารจัดการปัญหามลพิษอุตสาหกรรมได้สำเร็จ จนกระทั่งกลายเป็นเมืองต้นแบบ Eco-Town แห่งแรกของประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2540 และยังคงพัฒนาต่อเนื่องสู่สังคม Low Carbon Society และ Sustainable Development Society ที่จะเป็นมาตรการทางการค้าใหม่ของโลก

คิตะคิวชู (The City of Kitakyushu) เป็นเมืองเล็กๆ ติดอ่าว Dokai ตั้งอยู่ในจังหวัดฟูกูโอกะ (Fukuoka) บนเกาะคิวชูทางใต้ของญี่ปุ่น เมืองนี้มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น โรงงานเหล็กกล้า ปิโตรเคมี พลังงานไฟฟ้า ไอที ฯลฯ ตั้งอยู่จำนวนมาก เพราะใกล้แหล่งวัตถุดิบถ่านหิน และทำเลที่ดีติดทะเลและมีท่าเรือน้ำลึก เหมาะสำหรับส่งออกสินค้าไปยังประเทศบ้านพี่เมืองน้องที่อยู่ในแถบทะเลเหลือง (Pan-Yellow Sea Economic Zone)

ยุทธศาสตร์ที่กำหนดให้เมืองคิตะคิวชูเป็นเมืองอุตสาหกรรม เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ 110 ปีที่แล้ว โดยรัฐบาลสร้างโรงงานเหล็กกล้า Yawata Steel Works ขึ้นในปี 2444 เพื่อเป็นโรงเหล็กต้นน้ำ ที่ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำอื่นๆ ตามมา จนกระทั่งทำให้เมืองคิตะคิวชูกลายเป็นเมืองนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 1 ใน 4 แห่งของประเทศญี่ปุ่นระหว่างปี 2503-2513

จากมายาคติ “ควันเจ็ดสีแห่งความสุข” ซึ่งถูกปล่อยจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นยุคนั้น กลับกลายว่าเป็นมลพิษรุนแรงที่เต็มไปด้วยสารพิษที่กัดกร่อนสุขภาวะของชาวเมืองคิตะคิวชู และทำลายสิ่งมีชีวิตในทะเลอ่าว Dokai ให้กลายเป็น “Sea of the Death” !!!

ปรากฏว่า คนกลุ่มแรกที่ตื่นตัวตระหนักรู้ถึงภัยใกล้ตัว คือ “กลุ่มแม่บ้านคิตะคิวชู” ซึ่งทนไม่ได้ที่จะเห็นชีวิตลูกหลานตกอยู่ในอันตรายจากมลพิษทางอากาศและน้ำเสีย และบ้านช่องปกคลุมด้วยฝุ่นสกปรกเกาะหนา ที่ตกจากปล่องโรงงานสูงเดือนละ 70-80 ตันต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร

ยิ่งกว่านั้นมลพิษอุตสาหกรรมในช่วงปี 2503-2513 ก่อให้เกิดโรคร้ายต่างๆ เช่นเดียวกับที่เมืองอุตสาหกรรมอื่นๆ ของญี่ปุ่น เช่น โรค Itai-itai ที่จังหวัดโตยามะ, โรค Minamata ที่เกิดจากสารปรอทที่จังหวัด Kumamoto, โรค Kawasaki Asthma เป็นโรคภูมิแพ้รุนแรง, โรค Yokkaichi Asthma ซึ่งเกิดในเมือง Yokkaichi ที่ตั้งเมืองรถยนต์โตโยต้า ฯลฯ

กลุ่มพลังแม่บ้านคิตะคิวชู จึงรวมตัวเดินขบวนอย่างเข้มแข็ง โดยมีแนวร่วมคือสื่อมวลชนและนักวิชาการที่ให้ความรู้ จนจุดประกายให้ชาวเมืองตื่นตัวรับรู้ปัญหา มลพิษสิ่งแวดล้อมที่เผชิญอยู่ และกดดันให้เทศบาลเมืองคิตะคิวชูทำหน้าที่ตรวจสอบโรงงานให้ยอมรับและแก้ไขปัญหาสำเร็จ

นี่คือที่มาของโมเดลการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบ “Multi-Stakeholder” ครั้งแรก ที่ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับพื้นที่มลพิษร่วมกันคิดแก้ไขปัญหาควบคุม Total Emissions อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นทำข้อตกลงระหว่างเมืองคิตะคิวชูกับภาคโรงงานเอกชน ถือเป็นสัญญาสุภาพบุรุษที่ให้อำนาจเทศบาลเมืองมีอำนาจควบคุมและให้แรงจูงใจแก่ธุรกิจเอกชนที่ลงทุนแก้ไขปัญหามลพิษด้วยภาษี (ปัจจุบันที่ญี่ปุ่นมีการเซ็นสัญญาลักษณะนี้ประมาณ 40,000 ฉบับ)

เนื้อหาของข้อตกลงระหว่างคิตะคิวชูกับโรงงานเน้นเรื่องหลักคือ มลพิษทางอากาศ (Air Pollutions) ถ้าค่ามลพิษสูงขึ้นๆ โรงงานจะต้องลดเวลาทำการลง หรือหยุดกระบวนการผลิตบางส่วนที่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน จะต้องมีมาตรการแก้ไขและรายงานเหตุทันทีโดยไม่ต้องรอชาวบ้านถาม ที่สำคัญในยุคนั้นใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ก็จะต้องมีรายงานการใช้เชื้อเพลิงเพื่อควบคุมสาร Sulfer Dioxide ที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ ถ้าสูงมากก็ต้องให้โรงงานเปลี่ยนเชื้อเพลิงและพัฒนากระบวนการผลิต รวมทั้งเรื่องประหยัดพลังงาน ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดีที่สุดในโลก

ส่วนการแก้ไขมลพิษน้ำเสีย ในปี 2517 มีการนำเรือไปขุดลอกตะกอนจากอ่าว Dokai ขึ้นมาต่อเนื่องถึงสามปี วัดน้ำหนักตะกอนที่ขุดได้ถึง 300,000 ตัน โดยค่าใช้จ่ายในการจัดการมลพิษส่วนนี้ ทางโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้จ่าย 70% ส่วนตะกอนที่ลอกได้ก็นำไปฝังกลบ (Landfill) เป็นพื้นที่ใหม่ของเมือง
นอกจากนี้ทางเมืองคิตะคิวชูก็เริ่มวางระบบท่อรับน้ำเสียและบำบัดน้ำเสียทั้งของชุมชนและอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน ทำให้ตัวเลขค่าความสกปรกที่ต้องใช้ออกซิเจนไปย่อยสลายสารพิษจนกระทั่งทุกอย่างดีขึ้น มลพิษน้อยลงและทำได้ดีกว่าค่ามาตรฐานที่รัฐบาลกลางกำหนดไว้เสียอีก

น่าสังเกตว่าการแก้วิกฤติแบบ Multi Stakeholder ที่ทุกภาคส่วนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นนั้นร่วมกันประสบความสำเร็จ เพราะโครงสร้างการกระจายอำนาจสู่ “องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น” เทศบาลเมืองคิตะคิวชู สามารถบริหารด้วยตัวเอง โดยออกกฎหมายควบคุมมลพิษที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่ทันสมัยมากยุคนั้น ก่อนที่รัฐบาลกลางจะเข้ามาสนับสนุน

นอกจากนี้ โครงสร้างภาษีที่เก็บจากภาคธุรกิจเอกชนญี่ปุ่น 40% เงินภาษีนี้จะเข้าคลังส่วนกลาง 30% ส่วนที่เหลืออีก 10% จะให้ท้องถิ่นบริหารงบประมาณตัวเอง ได้และมีอำนาจตัดสินใจให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี เพื่อจูงใจอุตสาหกรรมสะอาดเข้าไปลงทุนในพื้นที่ของตนเอง

วิธีการแก้ปัญหามลพิษของเทศบาลเมืองคิตะคิวชู คือตัดสินใจไม่ปิดโรงงานต้นเหตุ เพราะถ้าปิดแล้ว ภาระแก้ปัญหาหนักจะตกกับรัฐอย่างเดียว จึงใช้วิธีประคองให้โรงงานยังดำเนินการต่อไปได้ และนำรายได้มาจัดการแก้ปัญหามลพิษที่ตัวเองก่อไว้ให้ลุล่วง ด้วยองค์ความรู้จัดการปัญหาที่เกิดจากการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดเข้ามาใช้และพัฒนาพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Renewable Energy) ด้วย

“แม้ว่าในวันนี้เมืองคิตะคิวชูจะประสบความสำเร็จเรื่องควบคุมมลพิษทางอากาศและน้ำที่เป็นปัญหาในอดีตได้แล้ว แต่ปัญหายุคปัจจุบันคือ “ขยะล้นโลก” ไม่มีที่ฝังกลบจนต้องเอาไปถมทะเล ขณะที่ค่าถมทะเลก็แพงมาก ถือเป็นปัญหาร่วมของทุกเมืองในโลก

นี่คือที่มาของ Eco-Town ของเมืองคิตะคิวชู ที่สามารถแก้ปัญหาจัดการขยะนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและกลายเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” (Eco-Town Model) แห่งแรกจากในจำนวน 26 เมืองที่ได้รับฉันทามติจากรัฐบาลกลางของประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2551 ที่มีแผนปฏิบัติการนำของเสียจากอุตสาหกรรมมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการปล่อยของเสียจากโรงงานเป็น Zero Emission

เมืองคิตะคิวชูได้รับงบประมาณสนับสนุนเต็มที่จากรัฐบาลกลาง ภายใต้การบริหารงานของสองกระทรวงคือ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) และกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MOEJ) รับผิดชอบส่วนสิ่งก่อสร้างและเครื่องจักรจะได้รับงบช่วยเหลือครึ่งหนึ่งหรือหนึ่งในสามจากรัฐบาลกลาง โดยตั้งแต่ปี 2537 งบประมาณเพื่อ Eco-Town ทั้ง 26 แห่งใช้ไปแล้วประมาณ 17,000 ล้านเยน

หลักเกณฑ์ของเมือง Eco-Town คือ หนึ่ง-มีนวัตกรรมของโรงงานรีไซเคิลที่วางแผนอย่างดี ได้รับความร่วมมือจากชุมชน ชาวบ้าน NGO นักวิชาการ และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ สอง-กิจการรีไซเคิลมีผลกำไรและอยู่ได้ด้วยตัวเอง สาม-การดำเนินการต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะของเมืองนั้นๆ และสี่-ต้องสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือต้องนำหลัก 3R-Reduce, Reuse, Recycle (ลดการใช้น้อยลง, การใช้ซ้ำ, การแปรรูปกลับมาใช้ใหม่)

ปัจจุบันเมืองคิตะคิวชูก้าวพ้นจากเรื่องขยะพิษ ไปสู่ positioning ตัวเองใหม่ ว่าเป็นเมือง Green Frontier City แห่งเอเชีย โดยดำเนินโครงการบุกเบิกเศรษฐกิจสังคมที่สะอาดมีระดับคาร์บอนต่ำ หรือที่เรียกว่า Low Carbon Society และ Sustainable Development Society ที่มีบทบาทในการกำหนดมาตรการใหม่ด้านเศรษฐกิจการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ใหม่ของต้นทุนธุรกิจกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเทศไทย เมือง Kita-kyushu ได้เข้ามาช่วยให้ความร่วมมือด้านความรู้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในเรื่องการรีไซเคิลขยะอุตสาหกรรมของเสียในพื้นที่เป้าหมายอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง โดยเริ่มดำเนินการในปี 2553 ต่อจากเดิม Yamaguchi Prefecture ที่เริ่มต้นศึกษาไว้แล้วเมื่อปี 2552
ล่าสุด กรมโรงงานอุตสาหกรรมนำโดย อธิบดีอาทิตย์ วุฒิคะโร พาทีมงานและสื่อมวลชนไทยเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเยี่ยมชม Eco-Town City of Kita-kyushu เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
โปรแกรมที่กำหนดคือ ไปเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์ตรวจสอบมลพิษ (Pollution Monitoring Center) ที่เทศบาล เมืองคิตะคิวชูคอยมอนิเตอร์อากาศทั่วเมือง ซึ่งปัจจุบันปล่อยมลพิษต่ำมาก, ศูนย์ส่งเสริมกิจกรรม Eco-Town City of Kita-kyushu, โรงงานรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าของ บริษัท Nishinihon kaden Recycle, โรงงานรีไซเคิลอุปกรณ์และของเสียทางการแพทย์ของบริษัท Econovate Hibiki (6) และศูนย์วิจัยการใช้ก๊าซจากถ่านหิน J-Power

นี่คือจุดแข็งสำคัญของเมืองต้นแบบ Eco-Town แห่งนี้คือ การมีศูนย์วิจัยพัฒนานับร้อยแห่งทั้งของรัฐและเอกชนตั้งอยู่ที่ Kitakyushu Science and Research Park บนพื้นที่ของ Wakamatsu area ของเมืองคิตะคิวชู ที่ทำงานด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสะอาดขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสังคมแบบยั่งยืน (Sustainable Development Society)

วิธีการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มต้น 3 ขั้นตอน คือ
1. จากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน เช่น เทคโนโลยีกำจัดไดออกซิน
2. การวิจัยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เช่น การหมักเศษอาหาร การรีไซเคิลพลาสติก การลดคาร์บอนไดออกไซด์ การบำบัดน้ำ การบำบัดดิน
3. ทำเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างการไปเยี่ยมชมบริษัท Nishinihon kaden Recycle ซึ่งเป็นบริษัทแห่งแรกที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายรีไซเคิลเครื่องไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่น เมื่อเมษายน 2544 ที่กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า 9 แห่งต้องรับผิดชอบ รับรีไซเคิล ตู้เย็น แอร์ เครื่องซักผ้าและโทรทัศน์ในพื้นที่เกาะคิวชู โอกินาวา และยามากูฉิ ผลปรากฏว่ากระบวนการรีไซเคิลได้พัฒนาต่อเนื่องและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 และก๊าซฟรีออนได้มากและใช้ประโยชน์จากวัสดุที่ได้จากรีไซเคิล เช่น เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม ไปผลิตสินค้าอื่นได้อีก เช่น เสื้อผ้าที่ผลิตมาจากวัสดุที่แปรรูปรีไซเคิลเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์

จากนั้นก็เดินทางไปดูบริษัทกำจัดของเสียทางการแพทย์ Econovate Hibiki ผู้นำเทคโนโลยี ETD ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ บริษัท สเตย์รีไซเคิลของสหรัฐอเมริกา มาใช้ฆ่าเชื้อโรคด้วยคลื่นความถี่สูง กำจัดของเสียทางการแพทย์ได้ถึงวันละ 25 ตัน และสามารถรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบใหม่ ส่วนที่ใช้การไม่ได้ก็เข้าเตาเผาอุณหภูมิสูงของโรงเหล็ก

ที่สุดท้ายที่ไปดูงานคือ J-Power ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีปรัชญาว่า “การทำพลังงานกับสิ่งแวดล้อมต้องไปด้วยกัน” โดยตั้งศูนย์วิจัย Wakamatsu Research Center ค้นคว้าวิจัยการผลิตก๊าซจากถ่านหินและ Fuel Cell โดยใช้ถ่านหินเต็มประสิทธิภาพและปลอดมลภาวะ Zero Emission คือ 1. นำก๊าซจากถ่านหินไปเผา เพื่อต้มน้ำและปั่นกังหันไฟฟ้า 2. นำก๊าซถ่านหินไปใช้ Fuel Cell เพื่อผลิตไฟฟ้า 3. นำความร้อนที่เหลือไปต้มน้ำและปั่นกังหันไฟฟ้า

นอกจากนี้เรายังได้เห็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะคิวชู ขนาดผลิต 1,000 กิโลวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพด้วย โดยสร้างมาแล้ว 4 ปีด้วยเงินทุน 200 ล้านบาทที่มี อายุใช้งาน 15 ปี

ความรู้ทั้งหมดถูกนำไปแสดงเป็นนิทรรศการข้อมูลความรู้ที่ศูนย์ส่งเสริมกิจกรรม Eco-Town City of Kitakyushu Eco-Town ที่แสดงกระบวนการรีไซเคิลแปรรูปจากของเสียมาเป็นวัสดุใหม่ที่ใช้ต่อไปได้ และมีมุมรายงานสิ่งแวดล้อมด้วย ที่คนสนใจสามารถเข้าไปศึกษาแหล่งเรียนรู้ข้อมูลบริษัทถึง 280 แห่ง
เมื่อย้อนมาดูประเทศไทย หลังจากการเดินทางไปดูงาน Eco-Town Kita-kyushu ของประเทศญี่ปุ่นที่เดินหน้าไปไกลมาก พบว่าโครงการเมืองอุตสาหกรรมนิเวศ หรือ Eco-Town (แผนปี 2553-2557) ที่อยู่ในความดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังอยู่ในระยะเริ่มต้นพื้นฐาน โดยมีโครงการนำร่องอยู่สองแห่งคือ ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา และสวนอุตสาหกรรมบางกระดี่ จ.ปทุมธานี ส่วนปีนี้ มีโรงงานอุตสาหกรรมที่เสนอเข้าร่วมโครงการอีกนับ 100 แห่ง

ส่วนความร่วมมือที่ภาครัฐได้รับความร่วมมือจาก METI ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2552 โดยมีพื้นที่เป้าหมายของไทย คือ พื้นที่จังหวัดชลบุรี พื้นที่จังหวัดระยอง และนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ที่มีปัญหาขยะของเสียมลพิษอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก

แนวทางอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industry) หรืออุตสาหกรรมสีเขียว ที่ว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ปลอดมลพิษ Zero Emission, สร้างเครือข่ายร่วมกันประหยัดพลังงานและแลกเปลี่ยน โดยใช้หลัก 3R เป็น Material Cycling Society, การสร้างสังคม Low Carbon Society และการพัฒนาสังคมบริโภคแบบยั่งยืน ภายใต้ โครงสร้างอำนาจการบริหารท้องถิ่นที่กระจุก มากกว่ากระจาย, ปัญหาขาดงบวิจัยพัฒนา, ปัญหาขาดสำนึกรับผิดชอบร่วมจัดการทรัพยากรและพัฒนาพื้นที่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย Multi Stakeholder และอื่นๆ อีกมากมาย

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อาทิตย์ วุฒิคะโร มองเห็นปัญหานี้ หลังจากก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ได้ไม่นาน เขาเคยเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนผู้ประกอบการ SME จนประสบความสำเร็จมาแล้ว เมื่อมาเป็นอธิบดีกรมโรงงาน จุดแรกที่เขาและทีมงานลงไปในพื้นที่คือพื้นที่โครงการ IRPC ที่มาบตาพุด ระยอง ได้รับเรื่องร้องทุกข์ของชาวบ้านและได้พูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทด้วย จนได้รับการแก้ไขลดมลภาวะทางกลิ่นลงได้

“โครงการอีโคทาวน์ที่คิตะคิวชูเกิดจากภาคเอกชน 70% และภาครัฐ 30% แต่บ้านเราทางภาคเอกชนต้องตระหนัก เพราะภาครัฐของเรามีข้อจำกัดยิ่งกว่าญี่ปุ่นมาก ดังนั้นในช่วงแรกๆ กรมโรงงาน ก็ไม่ได้หวังผลมากใน 2-3 ปี เราเน้นการให้ความรู้และให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมเข้าอกเข้าใจและกระแสสังคมจะเป็นตัวผลักดันให้ผู้ประกอบการ ถ้าไม่ดูแลสังคม ผู้ประกอบการก็อยู่ไม่ได้” นี่คือทัศนะของอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อาทิตย์ วุฒิคะโร

สถานการณ์ที่จะบังคับให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ใหม่ นอกจากผลกระทบ Climate Change จากภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นถี่และเสียหายรุนแรงมากขึ้นแล้ว ยังมีเรื่องผลกระทบทางการค้าของโลกใหม่ ที่ Low Carbon Society กำลังจะกลายเป็นมาตรการใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า “Boarder Carbon Adjustment” หรือ BCA ที่ส่งผลกระทบจากการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าตามระดับคาร์บอน ใครจะค้าขายประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นก็จะมีต้นทุนสินค้าสูงขึ้น เพราะต้องถูกเก็บภาษีพิเศษจากผู้นำเข้า หรือต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการ CDM หรือต้องทำกิจกรรมปลูกป่าและลงทุนทำพลังงานหมุนเวียน ต้องติดฉลาก Carbon Footprint เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตด้วย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคก้าวเข้าสู่ Low Carbon Society

ด้วยเหตุนี้ หากโรงงานอุตสาหกรรมไทย เช่น อุตสาหกรรมเคมีปิโตรเคมี เหล็ก ซีเมนต์ ไม่สามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามมาตรการ BCA ก็อาจสูญเสียโอกาสทางการค้าในตลาดโลกได้ ถึงแม้ไทยจะไม่มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ตาม แต่ปัญหาการขาดการจัดการสิ่งแวดล้อมก็จะสร้างต้นทุนภาระใหญ่ที่คนไทยทุกคนต้องจ่ายมากเกินคาด!!


โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
source : http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=92546 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น