วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ 'พร้อม-ไม่พร้อม' ในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ด


กลายเป็นประเด็นร้อนแรง ตั้งแต่ช่วงก่อนตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจนถึงวันแถลงนโยบายกันเลยทีเดียว สำหรับ 'โครงการกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ' (Sovereign Wealth Fund : SWF) ที่กระทรวงการคลังเตรียมผลักดันให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการการลงทุนภาครัฐ ทั้งยังเป็นกลไกการรับมือความผันผวนทางเศรษฐกิจ หลังจากที่เห็นความสำเร็จของกองทุนแบบนี้ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะกองทุน ‘เทมาเส็ก’ ของประเทศสิงคโปร์ แถมประเทศในภูมิภาคอาเซียน ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซียก็มีการจัดตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ไม่ทันใดก็เกิดการขยายผลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการที่ พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาเชียร์สุดลิ่ม พร้อมกับชูประเด็นว่าควรจะนำไปลงทุนด้านพลังงานด้วยการซื้อน้ำมัน หรือแหล่งปิโตรเลียมในต่างประเทศ ซึ่งว่ากันว่ามีความผันผวนในเรื่องราคาสูงมาก หรือแม้แต่เงินที่จะนำมาใช้เป็นทุนของกองทุนดังกล่าว ซึ่งได้รับการเปิดเผยว่าจะมาจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่ง จากยอดเงินที่มีอยู่ประมาณ 187,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 6,171,000 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในเงินจำนวนนี้ยังมีโครงการผ้าป่าช่วยชาติของหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน รวมด้วยอีกต่างหาก โดยรัฐมนตรีคนเดิมให้เหตุผลว่า ถือเงินไว้เฉยๆ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

คำตอบที่ตามมาอย่างหนึ่งก็คือ เอาเข้าจริงแล้วประเทศไทยมีความพร้อมมากนักแค่ไหนกับการดำเนินโครงการนี้อย่างจริงจัง เพราะต้องยอมรับว่า การลงทุน (ทุกอย่าง) ย่อมมีความเสี่ยง แต่นี่ไม่ใช่การลงทุนธรรมดา เพราะถือเป็นการเอาประเทศไปลงทุนด้วย เพราะฉะนั้นเดิมพันครั้งนี้จึงน่าหวาดเสียวอยู่มาก

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความพร้อมในแง่ของการบริหารความเสี่ยง ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และบุคลากร ซึ่งเรื่องพวกนี้ต้องยอมรับว่าเป็นจุดอ่อนของระบบราชการไทยมาตลอด แถมยังยากที่จะแก้ไขเยียวยาอีกต่างหาก

และไม่เพียงแค่นั้น ถ้าย้อนดูการดำเนินงานของกองทุนเทมาเส็ก ซึ่งไทยเตรียมยึดเป็นแบบอย่าง ก็ต้องถือว่า โลดโผนพิสดารกันทีเดียว เพราะไหนจะเป็นการซื้อหุ้นบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยอย่าง บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือล่าสุด ก็ยังมีข่าวการซื้อหุ้นสุดยอดสโมสรฟุตบอลแห่งเกาะอังกฤษ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แล้วอย่างนี้กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติจะออกมาในรูปแบบที่แตกต่างอย่างไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่น่าจะนำมาคิดต่อทั้งนั้น

‘กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ’ คืออะไรกันแน่?

แต่ก่อนที่จะอธิบายถึงความเหมาะ-ไม่เหมาะ เรื่องแรกที่ควรจะทำความเข้าใจกันก่อน ก็คือ กองทุนที่ว่านี้คืออะไรกันแน่ ซึ่งจากคำอธิบายของ รศ.ดร.นริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า กองทุน SWF ก็คือกองทุนที่นำเอาเงินทุนในรูปของสินทรัพย์ต่างประเทศไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น และอาจใช้เป็นทางเลือกในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนทางอ้อมเพื่อไม่ให้ค่าเงินของตนแข็งค่าจนเกินไป

โดยจะมีการบริหารจัดการแยกจากสินทรัพย์อื่นๆ ของประเทศ โดยส่วนใหญ่กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติจะจัดตั้งโดยภาครัฐ และมีที่มาของแหล่งเงินที่แตกต่างกันไป เช่น ในประเทศผู้ค้าน้ำมัน อย่าง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต ซึ่งแหล่งที่มาของเงินทุนจะมาจากรายได้รัฐบาลที่ได้รับจากการค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่ในบางประเทศ เช่น จีน รัสเซีย จะนำเงินในส่วนที่เป็นสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ มาบริหารจัดการเป็นกองทุนและนำไปลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนเพิ่มเติม

โดยแรงบันดาลใจของเรื่องนี้ ก็มาจากกระแสของทั่วโลกซึ่งเริ่มก่อหวอดขึ้นมา เมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยประเทศคูเวตซึ่งถือเป็นเจ้าแรกที่ตั้งกองทุนนี้ขึ้น และเริ่มได้รับความสนใจจริงๆ เมื่อทั่วโลกประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันดิบ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้ประเทศต่างๆ มีรายได้หรือมีปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ในขณะที่ช่องทางการลงทุนเท่าเดิม ผลที่ตามมาก็คือ เงินในระบบมากเกินความจำเป็น จึงต้องหาช่องทางการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้นและรักษาอัตราผลตอบแทนของการลงทุนให้อยู่ในระดับที่ดี ซึ่งกองทุน SWF ก็กลายเป็นทางเลือกหมายเลข 1 ที่ประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะแถบอาหรับและอาเซียน

จนปัจจุบันนี้ ทั่วโลกมีกองทุนลักษณะนี้จำนวน 49 กองทุน มีมูลค่าสินทรัพย์รวมประมาณ 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอร์เวย์ ซาอุดีอาระเบีย จีน สิงคโปร์ คูเวต และรัสเซีย ซึ่งเรียงตามลำดับประเทศที่มีขนาดสินทรัพย์ในกองทุน SWF ที่ใหญ่ที่สุด

ที่สำคัญ แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย แค่เคยมีโยนหินถามทางมาแล้ว สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ซึ่งตอนนั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอความคิดนี้ โดยจะนำเงินจากกองทุนสำรองระหว่างประเทศ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.3 แสนล้านบาทมาเป็นทุนประเดิม แต่ทว่าความฝันดังกล่าวกลับสะดุด พร้อมกับมลายของรัฐบาลสมัครในเดือนกันยายน 2551
‘กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ’ หรือ ‘กองทุนเพื่อหนี้สินแห่งชาติ’

แม้โครงการนี้จะเกิดขึ้นกับทั่วโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีกองทุนนี้ เพราะอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า มีปัจจัยหลายเรื่องต้องนำมาคิด ทั้งความพร้อม หรือแหล่งที่มาของเงินทุน

ซึ่งในมุมของ ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า จริงๆ แล้วหัวใจหลักของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ความพร้อม แต่อยู่ที่ความจำเป็นและความเหมาะสมที่ต้องมีต่างหาก โดยเฉพาะแหล่งเงินทรัพย์สินที่จะนำมาใช้ ก็ควรจะเป็นทรัพย์สินจริงๆ ไม่ใช่ทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะหากทำไปแล้วก็โอกาสสูงที่จะสร้างภาระให้แก่อนาคตได้ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องการนำเงินออกมาใช้

"บางประเทศก็อาจจะมีการนำเงินทุนสำรองมาทำกองทุนมั่งคั่ง ด้วยสาเหตุที่อยากจะเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว จริงๆ เราก็สามารถบริหารในลักษณะนั้นได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นนั้นการทำกองทุนฯ ของเราจึงไม่มีความจำเป็นเลย และอาจจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะในสถานการณ์เช่นนี้ที่ดุลการคลังของเราขาดดุล ทำให้เราไม่มีทรัพย์สินที่เป็นตราสารนำไปทำกองทุน ดังนั้นหากในตอนนี้ ก็ต้องถามต่อไปว่า เรากำลังทำกองทุนมั่งคั่งจริง หรือกองทุนหนี้สินกันแน่ เพราะบางครั้งมันอาจจะสร้างภาระผูกพันในอนาคต ยิ่งหากทำแล้วขาดทุน เมื่อถึงเวลาที่ต้องคืนหนี้ก็อาจจะเป็นปัญหาได้

"สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกเลยก็คือ การทำกองทุนนี้จึงควรใช้ทรัพย์สินที่ไม่มีหนี้เป็นตัวหนุนหลัง เพราะถ้าเป็นหนี้ก็ควรจะคืนไปเสียให้เรียบร้อยก่อน เพราะอัตราดอกเบี้ยของหนี้มันสูงกว่าดอกเบี้ยที่เราจะได้จากกองทุนมั่งคั่ง ณ ความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกัน แต่เท่าที่เข้าใจเมืองไทยไม่น่าจะมีแหล่งทุนแบบนั้นเหลือแล้ว ถ้ามีก็มีแต่กองทุนสำรอง ซึ่งเอาจริงก็ถือว่าไม่จำเป็นต้องนำมาใช้เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยก็สามารถบริหารได้อยู่แล้ว"

เพราะฉะนั้น ถ้าให้สันนิษฐานถึงเหตุผลที่รัฐบาลอยากจะทำกองทุนนี้ คงหนีไม่พ้นความพยายามลอกเลียนแบบต่างประเทศ แต่อย่างว่าโดยทั่วไปแล้วประเทศที่ทำกองทุนนี้ก็มักมีทุนไหลเข้าค่อนข้างเยอะ อัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นอัตราลอยตัว เช่น สิงคโปร์ หรือไม่ก็ประเทศที่ยังไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับการพัฒนา เช่น จีนหรือเวียดนาม แต่ก็มีทรัพย์สินที่มีความมั่งคั่งจริงๆ ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง

แน่นอนว่า หลายคนมักยกตัวอย่างความสำเร็จของกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ แต่ถ้าพูดในแง่ที่ว่า ควรจะลอกเลียนเป็นแบบอย่างหรือไม่นั้น ศ.ดร.ตีรณกลับเห็นว่า ไม่แนะนำ เพราะก่อนอื่นต้องเข้าใจว่ารัฐบาลมีลักษณะเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งพัฒนาไปกว่าไทยมาก และที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์ไม่น้อยที่กองทุนฯ ลงทุนผิดพลาดจนขาดทุนไปหลายพันล้านเหรียญ

"คนที่นั่นเห็นอะไรก็อยากจะเสี่ยง ขณะคนขับแท็กซี่ยังมีความรู้ซื้อตราสารหนี้เลย แต่ของเมืองไทยเรายังไม่พัฒนาไปถึงขั้นนั้น เพราะฉะนั้นสเต็ปการพัฒนา เราควรไปทางอื่นก่อนมากกว่า กองทุนมั่งคั่ง เพราะผมเชื่อว่านี่เป็นแค่การเลียนแบบกันเท่านั้น แล้วอย่างแนวคิดที่จะไปลงทุนด้านพลังงาน ก็ถือว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะราคาด้านพลังงานก็มีความผันผวนสูง เพราะฉะนั้นเอาเข้าจริงมันก็อาจจะเป็นกองทุนเก็งกำไรเท่านั้นเอง แต่ไปตั้งชื่อเสียดิบดีว่าเป็นกองทุนมั่งคั่ง"

ที่สำคัญต้องยอมรับว่า เมืองไทยมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและบุคลากร ซึ่งแม้ รศ.ดร.นริศมองว่า ไม่น่ามีปัญหา เพราะในหน่วยงานเองก็มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูง เพราะหากมีการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งจริง ผู้จัดการกองทุนจะสามารถบริหารกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่นั่นก็ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง เพราะ ศ.ดร.ตีรณก็วิพากษ์ว่า เอาเข้าจริงแล้ว การดำเนินงานธุรกิจของเมืองไทย หลายๆ ครั้งก็มีการเดินเกมนอกระบบ มีการใช้ระบบตัวแทนหรือนอมินีเข้ามาทำธุรกรรม หรือแม้แต่ระบบเส้นสายเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นพื้นฐานที่แตกต่างจากประเทศที่ทำกองทุนนี้สำเร็จทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บีที จำกัด ที่แสดงความเป็นห่วงในเรื่องการบริหารจัดการเหมือนกัน

“หากกองทุนบริหารแบบไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่โปร่งใสก็มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ระบบการเงิน และสถานะทุนสำรองระหว่างประเทศ หากเป็นแบบนั้นก็แนะนำให้เก็บทุนสำรองไว้แบบนี้ดีกว่า เอาเผื่อไว้หากเกิดความผันผวนขึ้นอย่างหนักจากวิกฤตการณ์ถดถอยรอบใหม่ของเศรษฐกิจโลก”
ต้องรอบคอบและถ้วนถี่กับความเสี่ยงของประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องนี้จะมีทั้งคนออกมาสนับสนุนหรือคัดค้าน ไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร.นริศที่กล่าวว่า เรื่องนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่นโยบายของรัฐบาลจะเอาแบบนั้น โดยในส่วนข้าราชการประจำมีหน้าที่ในการเตรียมข้อมูล และเสนอทางเลือกเพื่อให้ทางรัฐบาลตัดสินใจ โดยจะวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียของนโยบายดังกล่าว หรือสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนที่ออกมาค้านอย่างสุดลิ่ม แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่าใดนัก เพราะล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า กองทุนนี้คือหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่จะดำเนินการ ฉะนั้นสิ่งที่คิดต่อไปก็คือ ภาครัฐควรจะจัดการเช่นใด ถึงจะไม่ทำให้กองทุนนี้ย้อนกลับมาเป็นปัญหาของประเทศได้

เรื่องนี้ ศ.ดร.ตีรณ บอกว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังควรทำ ก็คือการสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยให้ได้เสียก่อน เปรียบเสมือนเป็นคนรวยที่มีเงินเหลือ ก็เลยเอาเงินมาลงทุนให้งอกเงย ที่สำคัญต้องทำอย่างรอบคอบอย่างมากๆ โดยอาจใช้วิธีเก็บภาษีมากขึ้นเพื่อจะได้สะสมภาษีให้งบเกินดุลการคลัง แล้วถึงค่อยทำก็อาจจะดูมีเหตุผลมากกว่า หรือไม่ก็ทำอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สวิตเซอร์แลนด์ หรือเยอรมนี ที่ไม่จำเป็นต้องทุนสำรองระหว่างประเทศมากๆ หรือไม่จำเป็นต้องแทรกแซงค่าเงินมากมาย รวมไปถึงการไม่ทำตัวเป็นนักเก็งกำไร อย่างที่บางประเทศทำกัน คือปล่อยให้เป็นหน้าที่เอกชนเป็นผู้จัดการโดยรัฐบาลก็ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่องเท่านั้นเอง

"ถ้าอยากจะมีจริงๆ ผมว่ารัฐควรจะกระจายให้ประชาชนมากกว่า ให้ประชาชนเขาเป็นผู้เลือกเสี่ยงเอง หรือก็ให้เอกชนทำกันเอง โดยรัฐอาจจะถือหุ้นบางส่วนก็ได้ เพราะถ้าให้เอกชนหรือประชาชนทำกันเอง เพราะเขาก็จะดูแลด้วยความรู้สึกหวงแหน แต่ถ้าภาครัฐทำก็จะไม่มีใครดูแลผลประโยชน์ของส่วนรวม ก็คือแค่จ้างคนมาดูแล แล้วก็ได้คอนเน็กชันไป ระหว่างผู้จ้างที่เป็นราชการ และผู้ถูกจ้างที่เป็นเอกชน"

นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องเร่งสางปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะ และดุลการคลังให้เหมาะสมโดยด่วน เนื่องจากกองทุนนี้ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้ เพราะฉะนั้นหากรัฐยังมีหนี้ก้อนโตอยู่ เมื่อมาเจอหนี้อีกก้อน ก็จะกลายเป็นหนี้ซ้ำซ้อน และเป็นภาระต่อไปในอนาคต

เช่นเดียวกับเรื่องกฎหมายซึ่ง ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาตินั้นต้องมีกฎหมาย หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลการลงทุนที่ดี โปร่งใสและเป็นไปตามเป้าหมายเพื่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของประเทศ และความมั่นคงของระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ การลงทุนต้องได้รับการตรวจสอบจากสาธารณชนและนักลงทุน เพราะการลงทุนของกองทุนเพื่อความมั่งคั่งที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและตลาดเงินตลาดทุนโลกได้

รวมไปถึงแก้พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ซึ่งกำหนดไว้ถึงวิธีการนำเงินสำรองของประเทศไปใช้ว่าจะต้องไปในทางที่มั่นคงจริงๆ เท่านั้น เสี่ยงน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นหลักคิดที่จะนำไปลงทุนในทางที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่านี้มันก็เสี่ยงมากขึ้นด้วย ซึ่ง คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาบอกว่า จะเร่งรีบทำหรือออกเป็นพระราชกำหนดไม่ได้เป็นอันขาด แต่จะต้องรับฟังความเห็นของประชาชนให้มากที่สุด เพระนี่คือเงินของส่วนรวมไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง

และที่ขาดไม่ได้ ก็คือรูปแบบการลงทุนจะต้องเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งการลงทุนในตลาดโลกมีทั้งพันธบัตรและหลักทรัพย์จากหลายประเทศ ที่ไทยจะต้องศึกษาและเลือกลงทุนในประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยเลือกพันธบัตรหรือหลักทรัพย์ที่มีการจัดอันดับเครดิต ความน่าเชื่อถือที่ดี รวมทั้งมีการกระจายความเสี่ยงการลงทุน ซึ่ง รศ.ดร.นริศก็เชื่อว่า หากเป็นไปตามนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ที่สำคัญกองทุนที่จัดตั้งขึ้น เงินที่นำไปลงทุนจะอยู่ในรูปสินทรัพย์ต่างประเทศอยู่แล้ว ไม่ใช่การนำเงินบาทไปซื้อเงินต่างประเทศแล้วนำไปลงทุน ดังนั้นจะไม่มีปัญหาเรื่องความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างแน่นอน
……….

แม้ว่าผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนจะมีค่าตอบแทนที่สูง และล่อตาล่อใจผู้คนเป็นอย่างมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องพึงจำเอาไว้ให้ดีก็คือ การลงทุนมีความเสี่ยง ยิ่งกับกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ ซึ่งมีเงินของคนในประเทศเป็นเดิมพันด้วยแล้ว เพราะฉะนั้นความรอบคอบจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่เช่นนั้นอนาคต ประเทศไทยอาจจะมีสิทธิได้ซดพิษต้มยำกุ้งกันอีกคราก็เป็นได้
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK



source: http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000106154

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น