วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เร่งถกเพิ่มสัดส่วน"พลังงานทดแทน"

พพ.วุ่นกำหนดสัดส่วนพลังงานทดแทนเพิ่มตามเป้ารัฐบาล เผยแสงอาทิตย์-ก๊าซธรรมชาติอัดมีลุ้นนำร่อง แต่หวั่นเพิ่มแอดเดอร์กระทบค่าเอฟที

 นายธรรมยศ ศรีช่วย รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยถึงนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนที่รัฐบาลปรับเป้าแผนพัฒนาพลังงานทดแทนเพิ่มจากเดิม 20% เป็น 25%ว่า พพ.กำลังหารือเพื่อกำหนดแผนขยายการส่งเสริมพลังงานทดแทนว่าจะเพิ่มสัดส่วนใดมากขึ้น เพื่อให้ได้ตามเป้าที่ปรับขึ้น เบื้องต้นที่มีความเป็นไปได้มากสุดคือ พลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) แต่ทั้งนี้อยู่ที่การพิจารณาของรัฐบาลด้วย เนื่องจากจะต้องมีการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (แอดเดอร์) ให้ ซึ่งจะมีผลต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ด้วย

 “โซลาร์เซลล์คงรับซื้อเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะมีศักยภาพมากสุด โดยขณะนี้มีโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมค้างอยู่ในท่อถึง 2,000 เมกะวัตต์ จากเป้าที่ตั้งไว้แค่ 500 เมกะวัตต์ และอีกตัวที่น่าจะเป็นเชื้อเพลิงที่จะส่งเสริมเพิ่มเข้ามาคือก๊าซธรรมชาติอัด (ซีบีจี) ซึ่งสามารถใช้ทดแทนก๊าซเอ็นจีวีได้ ส่วนก๊าซซีบีจีจะได้รับแอดเดอร์เท่าไหร่ คงต้องรอให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พิจารณา แต่น่าจะอยู่ในกลุ่มเดียวกับก๊าซชีวภาพที่ระดับ 2.50-3.50 บาทต่อหน่วย” นายธรรมยศกล่าว

 ทั้งนี้ พลังงานแสงอาทิตย์ได้แอดเดอร์ที่ระดับ 6.50 บาทต่อหน่วย พลังงานลมอยู่ที่ 3.50 บาทต่อหน่วย พลังงานชีวภาพ เช่น พลังงานจากขยะอยู่ที่ 2.50-3.50 บาทต่อหน่วย และพลังงานชีวมวล เช่น พลังงานจากแกลบอยู่ที่ 0.30 บาทต่อหน่วย

 นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า พลังงานแสงอาทิตย์แม้จะมีความพร้อมที่จะขยายการส่งเสริมเพิ่มมากที่สุด แต่ยังมีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 11-12 บาทต่อหน่วย ขณะที่ค่าไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3-4 บาทต่อหน่วยเท่านั้น.

source:http://www.thaipost.net/news/270811/43995

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น