วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปตท.ยุคล่าพลังงาน

"ปตท.เราตั้งเป้าเป็นบริษัทข้ามชาติชั้นนำสัญชาติไทย ที่ติดอันดับ 100 ธุรกิจชั้นนำของโลก จากการจัดอันดับนิตยสารฟอร์จูนภายใน 10 ปี ดังนั้นแผนการทำธุรกิจในอนาคตของ ปตท. ก็คือการพยายามขยายการลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งวงเงินที่จะเตรียมนำมาใช้ลงทุนในช่วง 10 ปีข้างหน้า เป็นเงินกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนในต่างประเทศ" นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในระหว่างนำทีมสื่อมวลชนจากประเทศไทยไปศึกษาดูงานธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ในประเทศออสเตรเลีย

นี่คือ เจตจำนง และวิสัยทัศน์ ที่นายประเสริฐได้เตรียมส่งมอบงานให้กับทีมบริหารรุ่นใหม่ ของ "นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร" ซึ่งจะมารับช่วงในตำแหน่งซีอีโอ หรือที่เรียกติดปากกันว่า "ผู้ว่า" คนต่อไปของอาณาจักร ปตท. ในเดือนกันยายนนี้

เห็นได้ชัดว่า เป้าหมายของ ปตท.ไม่ได้มุ่งทำมาหากินกับคนไทยอีกต่อไปแล้ว แต่จะเป็นการต่อท่อ ขยายเครือข่ายไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนการทำธุรกิจระหว่างในประเทศและต่างประเทศ จะเพิ่มขึ้นเป็น 50:50 จากปัจจุบันที่ในประเทศจะอยู่ที่ 70-80 ส่วนต่างประเทศอยู่ที่ 20-30

โดยในปัจจุบัน กลุ่ม ปตท.ได้เพิ่มความสำคัญกับการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยใช้บริษัทลูกที่ตั้งขึ้นมาอย่าง บริษัท ปตท.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม เป็นแกนนำในการบุกทะลวง ซึ่งภารกิจหลักของทั้งสององค์กรคือ 1.ทำหน้าที่การจัดหาพลังงานเพื่อป้อนให้สู่ประเทศในระยะยาว และ 2.นำผลผลิตที่เหลือค้าขายเอาเงินเข้าประเทศ

โดยภารกิจที่กลุ่ม ปตท.ให้ความสำคัญก็คือ การสรรหาแหล่งพลังงานในต่างประเทศ น้ำมัน, ก๊าซ, ถ่านหิน และพืชพลังงาน อันดับต่อมา การต่อยอดทรัพยากร (Value Creation) ด้วยการทำธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งไฟฟ้า, ก๊าซธรรมชาติ, ทำโรงกลั่น, ปิโตรเคมี และสุดท้ายก็คือการทำธุรกิจในแนวรักษ์สิ่งแวดล้อม Green Energy ซึ่งในขณะนี้ ปตท.ได้เริ่มเข้าไปสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในหลายประเทศ ทั้งทวีปเอเชีย อเมริกา ออสเตรเลีย หรือจะการลงทุนธุรกิจเหมืองถ่านหินในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย บรูไน มาดากัสการ์ ฯลฯ รวมไปถึงการไปร่วมทุนในโรงงานผลิตไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงทดลองการทำพลังงานทางเลือก อย่างสาหร่ายน้ำมันในออสเตรเลียด้วย

สำหรับประเทศแรกๆ ที่กลุ่ม ปตท.เข้ามาลงทุน และให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศที่เป็นทวีปขนาดใหญ่ ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย จากเหนือลงใต้ จากตะวันออกไปตะวันตก นั้นล้วนมีแต่สินแร่ที่มีค่าและมีทรัพยากรน้ำมัน เชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติมากมาย ซึ่งในขณะนี้ ปตท.มีบริษัทลูกที่ลงหลักปักฐานในออสเตรเลีย 2 บริษัท คือ บริษัท พีทีที เอเชีย แปซิฟิก ไมนิ่ง (PTT Asia Pacific Mining) ซึ่งทำธุรกิจสัมปทานเหมืองถ่านหิน อินโดนีเซีย, มาดากัสการ์ และบรูไน รวมถึงมีแปลงที่ดินสำหรับทดลองทำพลังงานแสงอาทิตย์และสาหร่ายน้ำมัน ส่วนอีกบริษัทคือ พีทีทีอีพี ออสตราลาเซีย (PTTEP Australasia) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.สผ. ทำหน้าที่สำรวจและขุดเจาะน้ำมันในทะเลของออสเตรเลีย

ทั้งนี้ เหตุผลที่ ปตท.ต้องการลงทุนในธุรกิจถ่านหิน ก็เนื่องมาจากความต้องการกระจายความเสี่ยง โดยการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่และเพิ่มโอกาสในการเติบโตของ บมจ.ปตท.ในระยะยาว เนื่องจากถ่านหินมีปริมาณสำรองทั่วโลกกว่า 120 ปี ขณะที่น้ำมันมีปริมาณสำรองเหลือเพียง 40 ปี และก๊าชธรรมชาติเหลือเพียง 60 ปี และถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก สามารถสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทยได้ทางหนึ่ง หากในอนาคตมีความต้องการ

โดยที่ผ่านมา กลุ่ม บมจ.ปตท.ได้เข้าไปซื้อหุ้นในกิจการเหมืองถ่านหินของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ที่เป็นการลงทุนผ่านบริษัท พีทีที เอเชีย แปซิฟิก ไมนิ่งฯ (เอพีเอ็ม) ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Straits Asia Resources (SAR) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ กับบริษัท ปตท. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งปัจจุบัน ปตท.ได้ซื้อหุ้นของเอพีเอ็มมาครอบครองในอัตราส่วน 100% เป็นที่เรียบร้อย โดยเอพีเอ็ม มีเหมืองถ่านหินอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่ง Sebuku และแหล่ง Jembayan รวมกำลังการผลิตประมาณ 11 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ เอเอ็มพียังถือหุ้นอยู่ในสัมปทานแหล่งถ่านหินที่อยู่ในประเทศบรูไน 35% และสามารถเพิ่มการถือหุ้นได้ถึง 70% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อกฎหมายเกี่ยวกับการสัมปทาน ขณะที่แหล่งถ่านหินในเกาะมาดากัสการ์ ซึ่งถือหุ้นอยู่ 33.5% และสามารถเพิ่มการถือหุ้นได้ 100% โดยอยู่ระหว่างการสำรวจปริมาณสำรองถ่านหินอยู่ มีกำลังการผลิตประมาณ 3-5 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะสามารถผลิตได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนที่มองโกเลีย ถือหุ้นอยู่ 13.1% อยู่ระหว่างการสำรวจปริมาณถ่านหินสำรองอยู่

ทั้งนี้ ปตท.ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีกำลังการผลิตประมาณ 30-40 ล้านตัน ในปี 2558 และจะเพิ่มเป็น 70 ล้านตันต่อปี ในปี 2563 ซึ่งกำลังผลิตถ่านหินที่เพิ่มขึ้นนี้ จะมาจากการขยายเหมืองที่มีอยู่ และการขยายกิจการและขอสัมปทานใหม่ โดยได้ลงทุนผ่านบริษัท เอพีเอ็มฯ เป็นหลัก

ส่วนการลงทุนอีกด้านที่กลุ่ม ปตท.ให้ความสนใจเป็นพิเศษในออสเตรเลีย ก็คือ การสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในออสเตรเลีย โดยธุรกิจนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2552 กลุ่ม ปตท.ได้ส่ง ปตท.
สผ.เข้าซื้อกิจการบริษัท Coogee Resources Limited และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น พีทีทีอีพี ออสตราลาเซีย (PTTEP Australasia) อย่างในปัจจุบัน โดยบริษัทได้เริ่มดำเนินการขุดเจาะน้ำมันในแหล่ง Jaribu ปริมาณการผลิต 2,700 บาร์เรลต่อวัน และแหล่ง Challis ปริมาณการผลิต 1,500 บาร์เรลต่อวัน และกำลังพัฒนาแหล่งมอนทารา ซึ่งจะเริ่มผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 40,000 บาร์เรลต่อวัน คาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าเป็นต้นไป หลังจากแท่นผลิตได้เกิดระเบิดและมีไฟไหม้ มีความเสียหายเป็นบางส่วนในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ออสเตรเลียซึ่งมีก๊าซธรรมชาติเหลือเฟือ คือ มีระดับการสำรองก๊าซธรรมชาติสูงเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ก็เป็นประเทศที่ ปตท.สนใจธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลวเช่นกัน ซึ่งล่าสุด ปตท.อินเตอร์เนชั่นแนล ก็จับกับ ปตท.สผ.และ SBM/Linde ประเทศเยอรมนี ร่วมกันศึกษาความเป็นไปของโครงการสร้างเรือผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว หรือเอฟแอลเอ็นจี หรือ LNG (Floating LNG) ที่จะผลิตแอลเอ็นจีจากปากหลุมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งแคชแอนด์เมเปิล ในปริมาณ 2 ล้านตันต่อปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขุดเจาะสำรวจปริมาณสำรองก๊าซ ที่จะทราบผลประมาณ หากมีปริมาณสำรองผลิตเชิงพาณิชย์มากพอ ก็จะเริ่มผลิตแอลเอ็นจีส่งกลับประเทศไทยได้ประมาณปี 2559 ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 90,000 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ กลุ่ม บมจ.ปตท.ยังมองหาโอกาสการลงทุนในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลออสเตรเลียมีการประกาศแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมมากถึง 19 แหล่งทั่วประเทศ โดยอยู่ในบริเวณตะวันออกและตะวันตกของประเทศ ซึ่งทาง บมจ.ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการมองหาโอกาสที่จะเข้าไปร่วมลงทุนผลิตก๊าซแอลเอ็นจี เช่นกัน

ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนการ จะทำให้ประเทศไทยสามารถจัดหาก๊าซแอลเอ็นจีได้ในราคาถูกกว่าราคาตลาดโลก และช่วยลดต้นทุนการนำเข้าเพื่อใช้ป้อนผลิตไฟฟ้าในอนาคต จากปัจจุบันที่ บมจ.ปตท.มีแผนการนำเข้าแอลเอ็นจี 5 ล้านตนต่อปี และในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 10 ล้านตันต่อปี

อย่างที่ทราบ ปริมาณความต้องการก๊าซแอลเอ็นจีในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านตันต่อปี ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จากที่ปัจจุบันอยู่ที่ 5 ล้านตันต่อปี คาดว่าโครงการก่อสร้างเรือผลิตก๊าซแอลเอ็นจีจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี หลังจากที่ได้รับการอนุมัติโครงการจากคณะกรรมการบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นี่เป็นเพียง 1 ในแผนการบุกตลาดต่างประเทศ ตามยุทธศาสตร์ "Big-Strong-Long" ซึ่ง ปตท.จะต้องยกระดับ 3 ส่วน ส่วนที่ 1 "มีขนาดใหญ่" หรือ Go so BIG, ส่วนที่ 2 "มีความแข็งแกร่ง" หรือ Strong ทั้งทางธุรกิจ การเงิน การลงทุน, ส่วนที่ 3 "มีความยืนยาว" หรือ Long ดำเนินธุรกิจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stake holder) ทั้งในกลุ่มชุมชนสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กลุ่มธุรกิจ พลังงานของ ปตท. กลายเป็นบริษัทข้ามชาติระดับโลก ที่เชิดหน้าชูตาแก่คนไทยและประเทศไทย.

source : http://www.ryt9.com/s/tpd/1202736

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น