นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศึกษาพัฒนาสบู่ดำพันธุ์ใหม่เป็นพืชทางเลือกทดแทนน้ำมัน โครงการวิจัยการศึกษาพันธุ์และการปฏิบัติที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิตสบู่ดำในไร่เกษตรกร นำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน
วันนี้ (18 ก.ค.) รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย มัจฉาชีพ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า สบู่ดำเป็นพืชพลังงานทดแทน ในประเทศไทย มีอยู่ 1 สายพันธุ์ เป็นพันธุ์ที่มีพิษให้ผลผลิตต่ำ ซึ่งพืชชนิดนี้ขึ้นอยู่ในทุกภาคของประเทศ แต่อาจมีลักษณะต่างกันเนื่องจากสภาพดิน ฟ้า อากาศ ของแต่ละแห่ง
จากการศึกษาวิจัย พบว่า สบู่ดำไทย สามารถให้ผลผลิตเพียง 500 กิโลกรัมต่อไร่ โดยการวิจัยได้นำสบู่ดำสายพันธุ์ที่ไม่มีพิษและให้ผลผลิตสูง จากประเทศศรีลังกา และแมกซิโก มาผสมพันธุ์กับสบู่ดำไทย ด้วยวิธีการผสมเกษรเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมนำมาปลูกและดูแลโดยการให้ ปุ๋ย ให้น้ำ เปรียบเทียบกับปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ทดลองนำไปปลูกในไร่เกษตรกรจังหวัดลพบุรีที่สภาพดินเป็นดินลูกรังผสมดินเหนียว และจังหวัดสระแก้วเป็นดินร่วน ซึ่งคาดหวังว่าจะสามารถเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรได้ถึง 800 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ จะทราบผลการวิจัยใน 2 ปีข้างหน้า
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย กล่าวอีกว่า ในอนาคตพลังงานจากฟอสซิล หรือน้ำมันดิบจะหมดไป ซึ่งทั่วโลกพยายามที่จะหาพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และสบู่ดำก็เป็นพืชชนิดหนึ่งที่สามารถผลิตน้ำมันได้โดยเป็นน้ำมันบนดินที่ ไม่ต้องรอการทับถมของฟอสซิลและหากสามารถเพิ่มผลผลิตของสบู่ดำได้มากขึ้น จากพืชพลังงานทดแทนที่ใช้ในครัวเรือนก็อาจกลายเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ ให้เกษตรกร หรือเป็นพืชที่สามารถสร้างพลังงานทดแทนให้กับภาคอุตสาหกรรม ลดการนำเข้าน้ำมันได้ในอนาคต
ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ โทรศัพท์/โทรสาร 035-709096 หรือเข้าไปที่ http://www.agri.rmutsb.ac.th
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย มัจฉาชีพ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น