ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ประเทศญี่ปุ่นจะยังไม่ผ่านพ้นวิกฤตการณ์จากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมา แต่ญี่ปุ่นก็แสดงให้เห็นอีกด้านหนึ่งว่า ผลพวงจากการปิดตัวลงของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมา ซึ่งส่งผลให้เกิดการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ ญี่ปุ่นก็สามารถแก้ปัญหาและนำพลังงานไฟฟ้าในส่วนอื่นเข้ามาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว
ญี่ปุ่นได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างขีดสุดในทุกๆ ด้าน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้สิ่งหนึ่งที่เราพบคือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามญี่ปุ่นจะต้องมีการวางแผนในรูปแบบระยะยาวเสมอ ทั้งนี้เรื่องของพลังงานก็เช่นเดียวกัน ซึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน นั่นก็คือการให้ความสำคัญกับ 3 สิ่งด้วยกัน คือ สิ่งแวดล้อม ชุมชน และความมั่นคงทางพลังงาน
นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นมีนโยบายในการฟื้นฟูประเทศ ด้วยการเปิดประเทศและการพัฒนาอุตสาหกรรมทุกรูปแบบ ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบปีหลังจากนั้น สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลก นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นคิดค้น ทำให้เกิดสินค้าที่มีจุดเด่นทางด้านความล้ำสมัยและมีราคาถูกกว่าสินค้าจากฝั่งตะวันตก จึงทำให้อุตสาหกรรมเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก
แต่ในอีกด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมก็นำมาซึ่งมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้เองญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก
ประเด็นเรื่องของภาวะโลกร้อนคือประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ได้เริ่มส่งผลโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ จึงเป็นที่มาในการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันหาทางออกในเรื่องดังกล่าว ซึ่งญี่ปุ่นในฐานะประเทศสมาชิกและได้มีส่วนในการผลักดันแนวคิด Low Carbon Society หรือ “สังคมคาร์บอนต่ำ” ซึ่งประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ องค์ประกอบแรกสุด คือ ภาคการผลิต จะต้องพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการให้ปล่อยของเสียออกสู่ธรรมชาติน้อยที่สุด องค์ประกอบที่สอง คือ ภาคการบริโภค จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าและการบริการ โดยต้องคำนึงถึงความจำเป็นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และองค์ประกอบสุดท้าย คือ มนุษย์ จะต้องเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติให้มากที่สุด ดังนั้นมนุษย์จะต้องบำรุงรักษาธรรมชาติเพื่อให้อยู่คู่กับเราตลอดไป
ตัวอย่างที่สำคัญในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำในประเทศญี่ปุ่น นั่นก็คือภาคการผลิตพลังงาน จากการที่เราได้มีโอกาสเดินทางไปดูการทำงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดทาเคฮาราในจังหวัดฮิโรชิมา เราพบว่าที่นี่คือหนึ่งในโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สามารถเป็นแบบอย่างได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นขุมพลังในการสร้างความมั่นคงทางไฟฟ้าแล้ว กระบวนการในการผลิตยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนในการนำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิง แน่นอนว่าการเผาไหม้ย่อมส่งผลให้เกิดมลพิษตามมา แต่ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ได้นำเอาเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาใช้ จึงส่งผลให้ไม่เกิดปัญหาทางมลพิษใดๆ นอกจากนี้การบริหารงานด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ คือสิ่งที่ทำให้ชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้าเกิดความเชื่อมั่นและยอมรับ โดยตัวอย่างที่เราเห็นก็คือ ทางโรงไฟฟ้าได้มีการติดตั้งอุปกรณ์วัดค่ามลพิษทางอากาศ ซึ่งสามารถเข้าไปเช็กผลออนไลน์ได้ทางอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง หรือจะเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่ชุมชนสามารถเข้าไปเยี่ยมชมและศึกษากระบวนการในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และนอกจากนี้การเข้ามาของโรงไฟฟ้ายังได้ช่วยทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน ซึ่งจากกระบวนการทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดการเข้าใจซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าก็เข้าใจและตระหนักดีว่า โรงไฟฟ้าคือส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ และโรงไฟฟ้าก็ตระหนักดีว่า ชุมชนคือส่วนที่ใกล้ชิดกับโรงไฟฟ้ามากที่สุด ดังนั้นไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามจะต้องไม่ให้ชุมชนได้รับผลกระทบมากที่สุดนั่นเอง และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นปราศจากปัญหาและได้รับการยอมรับจากประชาชน
เมื่อพูดถึงประเทศไทยเรื่องของความมั่นคงทางพลังงาน ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ได้รับการพูดถึงไม่มากนัก แต่หากมองในระยะยาวแล้วกลับเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วนไม่แพ้วาระอื่นๆ ซึ่งจากกรณีของประเทศญี่ปุ่นนั้น คุณสุมิต วงศ์แสงจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นได้สะท้อนให้เห็นถึงการวางแผนในระยะยาว เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีวินัยและความรับผิดชอบสูง ดังนั้นในส่วนของการพัฒนาโรงไฟฟ้า จึงได้มีการวางแผนในระยะยาวมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการที่โรงไฟฟ้าเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้าง ซึ่งจากกระบวนการที่ได้กล่าวมานี้ได้ทำให้เกิดความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งในอนาคตบทบาทของถ่านหินในประเทศไทยก็จะมีมากขึ้นเหมือนเช่นญี่ปุ่น เพราะถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีความเหมาะสมที่สุดในขณะนี้ ดังนั้นการได้ศึกษาและเรียนรู้กรณีของญี่ปุ่น จึงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศไทยในการนำมาปรับใช้ ซึ่งในอนาคตแน่นอนว่าเราจำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพราะการมีส่วนร่วมระหว่างกันนี่เองที่จะทำให้การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยเกิดความยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการพัฒนาในระยะยาว
ท้ายที่สุดนี้ การพัฒนาพลังงานในประเทศไทยอาจจะต้องใช้เชื้อเพลิงหลายชนิดร่วมกัน คงไม่มีอะไรดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด แต่สิ่งสำคัญที่เราจะต้องขบคิดกันต่อไปว่า ในแต่ละครอบครัวมีจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกวัน เรามีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งก็ส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่อพูดถึงการผลิตแล้วเรายังคงมีเท่าเดิม ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกันหาทางออกอย่างจริงจัง อย่ารอช้าจนถึงเวลาที่ไฟฟ้าในประเทศไทยขาดแคลน
source : http://www.posttoday.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น