วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข้าวไทย...หลงทาง

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์






ช่วงนี้เห็นป้ายหรือได้ยินรถโฆษณาหาเสียงแล้วเศร้าใจ พวกเขาเอาเงินมาล่อ ราวกับคนไทยเป็นคนเห็นแก่ได้และหลอกง่ายเหลือเกิน ยกตัวอย่างเรื่องข้าว...

พรรคประชาธิปัตย์จะประกันรายได้ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 11,000 บาท

พรรคเพื่อไทยจะทำบัตรเครดิตชาวนา ที่ออกโดย ธกส. เพื่อนำไปซื้อปุ๋ยซื้อยา และรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท

พรรคภูมิใจไทยจะตั้งกองทุนประกันราคาสินค้าเกษตร ข้าวเปลือกตันละ 20,000 บาท

พรรคชาติไทยพัฒนาที่ซึ่งมีฐานเสียงอยู่ในภาคกลางแหล่งอู่ข้าวอู่ข้าวของเมืองไทยบอกจะประกันราคาข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท

คำถามก็คือ พวกเขาตอบโจทย์ชาวนาไทยและสถานการณ์ที่ข้าวไทยกำลังเผชิญอยู่หรือไม่ ?

เมื่อสแกนดูปัญหาของข้าวไทย ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่ต้นทุนสูงและผลผลิตต่อไร่ต่ำ

จากปากคำของนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่จากนาปีและนาปรัง ปีเพาะปลูก 2551/52 ได้เพียงไร่ละ 453 กิโลกรัม นับว่ายังต่ำมากถ้าเปรียบเทียบกับผลผลิตเฉลี่ยข้าวของโลกที่ไร่ละ 669 กิโลกรัม โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาผลิตได้ 1,294 กิโลกรัม จีน 1,029 กิโลกรัม และเวียดนาม 797 กิโลกรัม...เฉพาะเจ้านี้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยเกือบสองเท่า

เขาบอกว่าสาเหตุมาจากพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน สภาพดินเสื่อมโทรม ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี และต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกปีเนื่องมาจากชาวนาส่วนใหญ่มีการใช้ปัจจัยการผลิตที่สูงมากเกินความจำเป็น และใช้กรรมวิธีการผลิตที่ยังไม่ถูกต้องเหมาะสม



จากการสัมมนา International Conference on Agriculture and Agro-Industry (ICAAI) 2010 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเมื่อปลายปีที่แล้ว เหงียน ลอง บัค จากเวียดนามวิเคราะห์จุดอ่อน - จุดแข็งของอุตสาหกรรมการผลิตข้าวของไทยและเวียดนามไว้ว่า ไทยจะได้เปรียบเวียดนามในเรื่องของเทคโนโลยีและคุณภาพของข้าว แต่เวียดนามจะได้เปรียบไทยด้านต้นทุนการผลิตและทรัพยากร เช่น น้ำ คุณภาพของดิน และต้นทุนแรงงาน ดังนั้นข้าวไทยจึงมีราคาแพงกว่า

ถ้าอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับผลผลิตข้าวไทยที่แม้จะส่งข้าวออกเป็นอันดับหนึ่งแต่ผลผลิตต่ำเตี้ยติดดิน มีกระทู้น่าสนใจในห้องหว้ากอ แห่งพันทิป ที่มีผู้รู้ผู้สนใจเขาเข้าไปโพสต์ข้อมูลและสถิติทั้งระดับชาติและระดับโลกที่ทันสมัยและมากกว่าเว็บไซต์ของกรมการข้าวและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมกันเสียอีก

จึงสรุปได้ว่านโยบายของทุกพรรคการเมืองเกี่ยวกับข้าวในยามนี้ไปคนละทางกับปัญหาของข้าวไทยและชาวนาไทย นั่นคือก้มหน้าก้มตาปั่นราคาโดยไม่สนใจพัฒนาคุณภาพและปริมาณสินค้า

คงจะดีไม่น้อยถ้ามีพรรคการเมืองที่ประกาศว่ารักชาวนาและรักประชาชนสักพรรคออกมาประกาศนโยบายให้ชัดเจนและผูกพันไปเลยว่า จะเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ให้ได้อย่างน้อยร้อยละสิบของปัจจุบันก็ยังดี

อย่างไรก็ตามเมื่อพรรคการเมืองยังมุ่งไปที่การซื้อคะแนนเสียงด้วยการจำนำหรือประกันราคาข้าวหรือการค้าขายในตลาดอนุพันธุ์ ในยามนี้จึงต้องฝากความหวังไว้กับยุทธศาสตร์ข้าวไทยฉบับที่ 2 ปี 2554-2558 ที่จัดทำโดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเพิ่งออกมาสดๆ ร้อนๆ พอสรุปความได้ว่าจะมุ่งเน้นไปที่ 3 ยุทธศาสตร์หลักคือ การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาการผลิตข้าวและผลิตภัณฑ์ และการสร้างความเข้มแข็งแก่ชาวนา

เป้าหมายหลักคือเมื่อสิ้นสุดแผนในปี 2558 ไทยจะได้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพดี ต้านทานโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ และทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างน้อย 12 พันธุ์ ได้เทคโนโลยีการผลิตข้าวและผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 8 เทคโนโลยี ผลผลิตข้าวต่อไร่ในปีเพาะปลูก 2558/59 เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ของผลผลิตข้าวต่อไร่ ต้นทุนการผลิตข้าวลดลงอย่างน้อยร้อยละ 15 ชาวนาได้รับการบริการและสนับสนุนทางด้านวิชาการและข้อมูลข่าวสารด้านข้าว ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปี 2558 เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน และเมื่อสิ้นสุดปี 2558 ศูนย์ข้าวชุมชนมีความเข้มแข็งจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70

แต่ก็ยังหวั่นใจว่าจะเป็นหวังลมๆ แล้งๆ เพราะในยุทธศาสตร์ข้าวไทยฉบับแรกปี 2550-2554 ที่ตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตเฉลี่ย จาก 439 กิโลกรัมต่อไร่เมื่อเริ่มต้นแผน เป็น 529 กิโลกรัมต่อไร่เมื่อสิ้นสุดแผนก็ยังคงทำได้แค่ประมาณ 450 กิโลกรัมเท่านั้น...เหมือนวิ่งอยู่กับที่

source : http://www.greenworld.or.th/columnist/green-news/1348

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น