วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กระตุกต่อมคิดรัฐบาลใหม่หลงทางแก้ปัญหาพลังงาน!

หลังสิ้นสุดการหย่อนบัตรเลือกตั้งไปกว่า 2 สัปดาห์ ทำให้ภาคประชาชนในกลุ่มต่างๆ เริ่มหันมาทวงสัญญากับพรรคเพื่อไทยที่ใช้นโยบายหาเสียงแบบลดกระหน่ำ ซัมเมอร์เซล จนถูกอกถูกใจชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะนโยบายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก... ไม่แพ้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เนื่องจากน้ำมันเป็นปัจจัยที่คนไทยไม่สามารถขาดแคลนได้ ขณะที่หลายรัฐบาลต่างใช้วิธีการบริหารแก้ปัญหาไม่ให้ราคาสูง แต่สุดท้ายกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิงขณะที่ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงกลับเดินสายหาเสียงแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงแบบเหมือนง่าย ชนิดที่เรียกว่าปอกกล้วยเข้าปาก ด้วยข้อความที่ว่า ... “สิ่งแรกที่พรรคเพื่อไทยจะทำหากได้เป็นรัฐบาล คือการแก้ปัญหาค่าครองชีพ ด้วยการยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ ค่ะพ่อแม่พี่น้องค้า ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลดลงลิตรละ 7.50 บาทต่อลิตรค่า ทำให้น้ำมันเบนซิน 91 ลดลง 6.78 บาท และดีเซล ลดลง 2.20 บาท ค่ะพ่อแม่พี่น้องค้า เพราะราคาน้ำมันเป็นต้นทุนใหญ่ เป็นต้นทุนของทุกประเภท จะให้พ่อแม่พี่น้องมาแบกรับภาระได้อย่างไร คะพ่อแม่พี่น้องค้า”

แม้เป็นเจตนาดีที่ให้ประชาชนลดภาระในยุค “ข้าวยากหมากแพง” แต่ก็ถูกตั้งคำถามที่เป็นเหตุเป็นผลมากมายว่า เป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะเกิดผลเสียมากมายตามมาภายหลัง โดยเฉพาะหลังการยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แล้วพลังงานทดแทน รวมถึง ก๊าซซีเอ็นจีสำหรับเครื่องยนต์เอ็นจีวี และ แอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) จะทำอย่างไร จะเอาเงินมาจากไหนในการอุดหนุน เนื่องจากแต่ละปีใช้เงินกองทุนฯในการอุดหนุนเพื่อไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อนปี ละหลายหมื่นล้านบาท

สุดท้าย “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ว่าที่นายกรัฐมนตรี ก็รีบออกมาปฏิเสธคำพูดตนเองที่ได้หาเสียงไว้ โดยให้เหตุผลว่า การ แสดงวิสัยทัศน์ของพรรคเพื่อไทย อาจสั้นเกินไป จนเกิดความสับสน ซึ่งความจริงเป็นการยกเลิกการส่งเงินเข้ากองทุนฯ เฉพาะน้ำมันเบนซิน 95, 91 และดีเซล ชั่วคราว จนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น จึงจะกลับมาจัดเก็บตามเดิม

ยิ่งเจอแนวคิดใหม่ของว่าที่นายกฯ คนใหม่ก็ยิ่งหนาว เพราะการยกเลิกเก็บเงินเบนซิน 95 และ เบนซิน 91 ยิ่งซ้ำเติมการส่งเสริมพลังงานทดแทนให้หดหายไป โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ที่มีส่วนผสมอ้อยและมันสำปะหลังของเกษตรกรไทย เพราะทำให้เบนซินกับโซฮอล์มีราคาใกล้เคียงกันมากขึ้น จนผู้ใช้รถยนต์หันมาเติมเบนซินกันหมด

หากคำนวณคร่าว ๆ พบว่าการยกเลิกเก็บเงินน้ำมันเบนซิน 95 ในอัตรา 7.5 บาทต่อลิตรทำให้กองทุนฯ สูญเสียรายได้ 16 ล้านบาทต่อเดือน, ยกเลิกเก็บเบนซิน 91 สูญเสียรายได้กว่า 1,400 ล้านบาท และยกเลิกเก็บดีเซล สูญเสียรายได้กว่า 2,000 ล้านบาทต่อเดือน รวมเงินที่สูญเสียกว่า 3,416 ล้านบาท แต่ปัจจุบันกองทุนฯ มีภาระหนักในการชดเชยแอลพีจีเดือนละ 4,000 ล้านบาท และ ก๊าซซีเอ็นจี เกือบ 400 ล้านบาท

นักวิชาการและผู้ค้าน้ำมันจำนวนมากต่างออกมาติงให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหาแบบรอบคอบและไม่ควรไปสัญยิงสัญญากับประชาชนเพื่อให้ราคาน้ำมันขายปลีกลดต่ำลง เพราะน้ำมันเป็นสินค้าที่ไทยต้องนำเข้าจึงไม่มีวันที่จะควบคุมได้ หากเข้าไปคุมรัฐบาลก็ต้องแบกรับภาระหนักอึ้งเหมือนกับอดีตเข้าให้อีก

นักวิชาการอิสระด้านพลังงานอย่าง “มนูญ ศิริวรรณ” ต้องออกมาเตือนให้พรรคเพื่อไทยทำนโยบายให้ตกผลึกแล้วจึงค่อยให้สัมภาษณ์ เพราะการเปลี่ยนแนวคิดรายวันจะเกิดความสับสน เนื่องจากผู้ค้าน้ำมันไม่กล้าวางแผนใด ๆ เพราะเกรงการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะนโยบายพลังงานทดแทน

ทั้งนี้กองทุนน้ำมันฯ ต้องมีไว้ใช้ในยามจำเป็นเมื่อเกิดวิกฤติราคาน้ำมันแพง เพื่อดูแลเศรษฐกิจได้ แต่ที่ผ่านมามีการตรึงราคาเป็นระยะเวลานานเกินไปจนแทบจะถาวร ซึ่งหากตรึงนาน ๆ เกินไปก็ไม่ไหวเพราะจะยิ่งสูญเสียงบประมาณอย่างไม่สมเหตุสมผล ที่สำคัญประชาชนไม่รู้จักคำว่าประหยัด และความคุ้มค่าส่วนนโยบายในการยกเลิกการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ชั่วคราวในส่วนของน้ำมันเบนซิน 95, 91 คงไม่เหมาะสมแม้ว่าทำให้ราคาน้ำมันเบนซิน 95, 91 ลดราคาลง 6-7 บาทต่อลิตรทันที แต่จะสวนทางกับแผนพลังงานของชาติที่ต้องการส่งเสริมพลังงานทดแทน และพลังงานที่ผลิตจากวัตถุดิบในประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลใหม่อยากจะลดราคาน้ำมันเบนซินจริง ๆ ตามที่สัญญาไว้ ก็ควรที่จะปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี และ ก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่งด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เงินในกองทุนน้ำมันฯ ต้องติดลบ เพราะปัจจุบันมีการตรึงราคาต่ำเกินไป ส่วนน้ำมันดีเซลก็ควรปรับราคาขึ้นให้สอดคล้องกับตลาดโลกบ้าง และหากสิ้นเดือน ก.ย. ก็ไม่ควรต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

ขณะที่ “ประเสริฐ บุญสัมพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศพร้อมดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าหากยกเลิกการทำหน้าที่ของกองทุนน้ำมันฯ ไปก็เสียดาย แม้ว่าทำให้ราคาน้ำมันเบนซิน ดีเซล ลดลงทันที แต่ราคาแอลพีจี และซีเอ็นจีต้องปรับตัวสูงขึ้น เพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาดูแล ซึ่ง ปตท.คงต้องหารือกับ รมว.พลังงานคนใหม่ถึงเรื่องโครงสร้างราคาพลังงานอีกครั้ง ผู้นำของประเทศไม่ควรไปสัญญากับประชาชนที่จะลดราคาน้ำมันหรือตรึงราคามากนัก เพราะปัจจัยภายนอกไม่สามารถควบคุมได้ เปรียบเสมือนการเล่นกับน้ำมันไม่ต่างกับการเล่นกับไฟที่พร้อมจะเผาได้ตลอดเวลาหากไม่มีน้ำเพียงพอในการดับไฟ.


มนัส แวววันจิตร
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=310&contentID=151693

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น