วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิกฤติ'พลังงานไฟฟ้า'ทางเลือก-ทางรอด ไทยจะไปทางไหน...(2)

เราเคารพความรู้สึกของประชาชน กฟผ. ไม่คิดจะเสนอเรื่องการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในตอนนี้แน่ จะสร้างได้เมื่อไหร่ บอกไม่ได้

ธวัช วัจนะพรสิทธิ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวระหว่างพาคณะสื่อมวลชนนั่งรถบัสอันยาวนาน 4 ชั่วโมง จากเมืองลียง ตอนใต้ของฝรั่งเศส ไปเมืองเลอมิส (Les Mess)ที่ห่างไปราว 275 กม. บ้านเรือนระหว่างทางสุดสวย ไม่ว่าหลังเล็กหลังใหญ่ดูคลาสสิกไปหมดด้วยหน้าต่างสีฟ้าอมม่วง เขียว เหลือง กระทั่งแดงสดใส น่าค้นหา บางบ้านมีราวบันไดวนแบบที่เห็นในภาพโปสการ์ดสวย ๆ อีกด้วย

อย่างที่บอก หลังเกิดวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ไดอิจิ ถูกสึนามิกับแผ่นดินไหวถล่มที่ญี่ปุ่นแล้ว ทั่วโลกก็อยู่ในอาการตื่นตระหนก เหล่าเอ็นจีโอพาเหรดออกมาต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นดอกเห็ด

ไทยน่ะถูกปิดประตูตายไปด้วยหันมาดูประเภทเชื้อเพลิงที่ไทยใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าบ้าง เป็นก๊าซธรรมชาติ 68.1%, ถ่านหินนำเข้า 8.4%, ลิกไนต์ 11.2%, น้ำมันเตา 0.3 %, ดีเซล 0.1%, พลังงานทดแทน 6.5% ซื้อจากเพื่อนบ้าน สปป.ลาว 5.3% และมาเลเซีย 0.1% (ข้อมูล 1 ม.ค. ถึง 31 พ.ค. 2554) จะเห็นว่าการผลิตไฟฟ้าของไทยฝากผีฝากไข้กับก๊าซธรรมชาติอย่างเดียวปาเข้าไปเกือบ 70% ถ้ามันเป็นเชื้อเพลิงมีใช้ตลอดชาติ ก็ไม่ต้องดิ้นรนหาอย่างอื่นแทน แต่อย่างที่บอก ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จะใช้ได้ไม่เกิน 20 ปี

ทีนี้ทำไงล่ะ??

การใช้พลังลมมาผลิตไฟฟ้านั้นดีสุด ๆ ไม่มีมลพิษ สะอาด แต่นอกจากลมเป็นพลังที่ไม่เสถียรแล้ว ต้นทุนยังแพงมาก ก๊าซธรรมชาตินั้นต้นทุนต่อหน่วยอยู่ที่ 2.88 บาท พลังลมอยู่ที่ 5-6 บาท แพงกว่าเกือบเท่าตัว โอกาสที่ กฟผ. จะหันไปใช้ลมผลิตไฟฟ้าจึงยากมาก แล้วแสงแดดเล่า ไทยเป็นเมืองร้อน มีแสงแดดจัดจ้าน

น่าจะลงตัวเลย แต่..???

โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ผู้บริหาร กฟผ. พาคณะสื่อมวลชนไปดูที่เมืองเลอมิสนั้น ก่อนไปฝนตกพร้อมลูกเห็บห่าใหญ่ กระเด็นกระดอนไปทั่ว ฝนฟ้าดูเหมือนไม่เป็นใจ ที่นี่เอาแสงแดดมาผลิตไฟฟ้าโดยอาศัยชุดเซลล์แสงอาทิตย์ที่รู้จักกันในชื่อ PV system (Photovoltaic system) เราจึงเห็นแผงพีวีแผ่เรียงเป็นแถว ๆ เต็มไปหมด เขาใช้พื้นที่ 300-400 ไร่ ใต้แผงเห็นแกะแวะเวียนมากินหญ้าอย่างมีความสุขด้วย

ผู้บริหารที่นี่ให้ข้อมูลว่าปีหนึ่งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์จะทำงานได้ 280 วันจาก 365 วัน วันหนึ่งเฉลี่ยไม่กี่ชั่วโมง และผลิตแล้วต้องใช้ให้หมด เก็บไม่ได้ เรียกว่า เป็นอีกพลังงานที่ไม่เสถียร ไม่มาตามอำเภอใจคนผลิตและคนใช้ ต้องมีแดดถึงจะผลิตไฟได้นั่นล่ะ (ต่างจาก Solar collector หรือแผงสะสมความร้อน อันนี้ดูดแสงแดดมาผลิตน้ำร้อน เก็บได้ ใช้มากตามครัวเรือนหรือโรงแรมบางแห่ง) ระหว่างบรรยาย ไฟดับ
เล่นเอาคอมพิวเตอร์เปิด ๆ ปิด ๆ เป็นว่าเล่น

แต่ดูแล้วก็อยากมีโรงไฟฟ้าพลังแสงแดดอยู่ดี มันสะอาด มีตามธรรมชาติ หากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะไม่สูงปรี๊ด เพราะ พลังลมว่าแพงแล้ว ต้นทุนอยู่ที่หน่วยละ 6 บาท แต่แสงแดดแพงกว่าอีกเท่าตัว อยู่ที่ 10-13 บาท ถ้าใช้แสงแดดผลิตไฟฟ้า ราคาไฟฟ้าจะแพงกว่าปัจจุบันไม่ใช่ 2 เท่าตัว แต่แพงกว่าเกือบ 5 เท่าตัว ระบบเศรษฐกิจ และประชาชน จะรับได้หรือ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ จึงเป็นแค่…

อีกทางเลือกเกือบลืม มีเรื่องต้องเขียนถึงสายการบินแอร์ฟรานซ์ (AF5974 ฮัมบรูกว์-ลียง) ซะหน่อย เพิ่งรู้นะเนี่ย ถ้าน้ำหนักที่บรรทุกเกิน สายการบินนี้มีสิทธิจะเขี่ยกระเป๋าของผู้โดยสารคนไหนออกไปก็ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า คณะเราเจอดี โดนไป 4 คน ดีที่เป็นชายล้วน ถ้าเป็นหญิงคงยุ่ง ไหนจะเครื่องใน ไหนจะเครื่องแต่งหน้า ใช่จะหาซื้อได้ง่าย ๆ ถึงสายการบินจะจ่ายค่าเสื้อผ้าให้ก่อนคนละ 100 ยูโรก็เหอะ ไม่คุ้มหรอก แต่ก็ยังดีที่ในที่สุดกระเป๋าก็ได้ครบหมด ถึงบางคนจะได้เมื่อถึงกรุงเทพฯแล้วก็ตาม เพราะของบางอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงิน แต่เป็นของมีคุณค่าทางจิตใจ หายแล้ว หายเลย ซื้อแทนได้ที่ไหนเล่า!!!

ย้อนมาเรื่องโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ต่อ ที่เอ็นจีโอรณรงค์ใหญ่จะให้หันไปใช้สายลมแสงแดดมาผลิตไฟฟ้า มี 1 ชุมชน 1 โรงไฟฟ้านั้น คิดน่ะได้ แต่ชีวิตจริงยังเกิดยากมาก นอกจากต้นทุนที่สูงลิ่วแล้ว ความที่พลังทั้ง 2 ไม่เสถียร ไม่ได้มีลม มีแดด ทั้งวัน ทั้งปี มีเป็นหน้า ๆ มีเป็น
ช่วง ๆ มันจึงผลิตไฟฟ้าได้ในเวลาที่จำกัด

และปริมาณที่จำกัด

นอกจากต้นทุนที่แพงลิ่ว ยังไม่นับการดูแลที่ต้องลงทุนอีกมากมาย จะทำจริงก็ต้องมีโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ลมหรือแดดมาเสริมอีก จะมิเป็นการลงทุนซ้ำซ้อนเข้าไปใหญ่หรือ โรงไฟฟ้าพลังลมหรือแดด จึงเป็นแค่ทางเลือก หาใช่ทางรอด แล้วทางรอดคืออะไร ก๊าซธรรมชาติก็จะใช้หมดใน 20 ปี โรงไฟฟ้าแต่ละแห่งจะสร้างเสร็จก็ 5-6 ปีโน่น

แล้วจะรับมืออย่างไร..??
    
source :  http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=23&contentID=152353

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น