ขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงหน้าร้อนซึ่งอาจจะร้อนกว่าเมืองไทยด้วยซ้ำเพราะมีความชื้นสูง แต่ระหว่างนักการเมืองกับประชาชน ไม่รู้ว่าใครจะรับรู้ถึงความร้อนมากกว่ากัน ผลกระทบสำคัญจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อ 11 มีนาคมที่ผ่านมาก็คือ การขาดแคลนไฟฟ้า ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่มีการใช้ไฟฟ้าต่อหัวสูงเป็นลำดับต้นๆของโลกก็ว่าได้ หากเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย 15 ประเทศของอียู ญี่ปุ่นใช้ไฟฟ้าต่อหัวคิดเป็นประมาณ 1.15 เท่าหรืออีกนัยหนึ่งก็คือใช้ไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ 15 โดยเฉลี่ยของที่ประชากรกลุ่มอียู 15 ประเทศนั่นเอง โครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของญี่ปุ่นโดยหลักจะพึ่งพาจากแหล่งพลังงาน 3 ส่วนหลักคือ ถ่านหินและก๊าซในระดับใกล้เคียงกันคือประมาณร้อยละ 27 และมาจากพลังงานนิวเคลียร์อีกประมาณร้อยละ 24 ส่วนที่เหลือจะมาจากน้ำมันร้อยละ 13 และพลังน้ำร้อยละ 8 ว่าไปแล้วก็มีความสมดุลเพียงพอ ไม่ได้พึ่งพาพลังงานจากแหล่งใดมากจนเกินไปในการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่พึ่งพาพลังงานจากก๊าซเป็นหลักและยังไม่มีทางออกว่าจะลดการพึ่งพานี้ได้อย่างไรเพราะเดิมก็มีการวางแผนจะนำเอาพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ | |||
กำหนดการเปิดเตา 2 เตาของโรงไฟฟ้าที่เกงไกในเมืองซะกะ (หากดูจากรูปประเทศญี่ปุ่นในบทความสัปดาห์ที่แล้วจะอยู่ตรงส่วนบนซ้ายสุดพื้นที่สีเหลืองที่เรียกว่า North Kyushu) หลังจากที่ปิดไปเพื่อบำรุงรักษาตามรอบเวลา จึงเป็นกรณีที่นายกฯ ใหญ่คือนายนะโอโตะ คัง ต้องมาพึ่งพานายกฯ เล็กเมืองซะกะคือนายยาสุชิ ฟุรุคาวาเป็นคน “เคาะ” ว่าจะเดินเครื่องปฏิกรณ์อีกครั้งหรือไม่ นายฟุรุคาวาจึงมี “งานเข้า” มาโดยไม่รู้ตัวเพราะยังมีนายกฯ เล็กของอีกกว่า 10 เมืองที่ไม่ตัดสินใจแต่รอว่าจะมีคำสั่งให้เปิดเตาเดินเครื่องจากรัฐบาลกลางเมื่อใด แต่เมื่อรัฐบาลกลางไม่มีความมั่นคงทางการเมืองเพียงพอจึงทำให้ไม่สามารถรับผิดชอบว่าจะมีนโยบายที่แน่ชัดในเรื่องการใช้นิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟนี้อย่างไร การตัดสินใจจึงตกมาอยู่ในมือของนายฟุรุคาวาไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว หากนายกฯ เล็กคนนี้ไม่สนใจโดยโยนให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง อีกหลายๆ เมืองที่รออยู่ก็อาจจะทำตามและอาจมีผลให้นโยบายยกเลิกการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่นอาจมาเร็วกว่าที่คาดเอาไว้ก็เป็นได้อันเนื่องมาจากมีเตาที่เปิดใช้งานลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เช่น ที่ฟุคุชิมะที่จะไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟอีกต่อไป ในหน้าร้อนนี้ญี่ปุ่นมีการใช้ไฟฟ้าในระดับกว่าร้อยละ 80 ของไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ซึ่งอยู่ในระดับที่อันตรายเพราะอาจเกิดภาวะไฟฟ้าไม่พอใช้ได้โดยง่ายเนื่องจากมีไฟสำรองเหลือเพียงร้อยละ 10 ต้นๆ เท่านั้น การบังคับดับไฟในวงกว้างโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าจะเป็นอันตรายต่อทั้งสวัสดิภาพของประชาชนและเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากหากมีการใช้ไฟมากกว่าที่ผลิตได้ มาตรการโดยรวมที่นำออกมาใช้เพื่อลดการใช้ไฟให้อยู่ในระดับที่สามารถผลิตโดยพึ่งพาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เท่าที่มีอยู่ก็คือ การลดการใช้ไฟลงร้อยละ 15 จากระดับการใช้ไฟในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วโดยผู้ใช้เกินจะถูกปรับเงิน ในส่วนมาตรการย่อยก็เช่นโรงงานผลิตรถยนต์ก็หันมาเปลี่ยนวันทำงานไปเป็นช่วงเสาร์อาทิตย์แทนวันพฤหัสฯ กับศุกร์เพื่อใช้ไฟฟ้าในวันหยุดที่มีคนใช้น้อยแทน การหยุดใช้เครื่องปรับอากาศ 10-15 นาทีในทุกๆ ชั่วโมง หรือการปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้สูงขึ้นเป็น 28-29 องศา หรือแม้กระทั่งการแต่งกายให้เหมาะสมกับหน้าร้อนที่แม้แต่พนักงานบริษัทก็เลือกใส่กางเกงขาสามส่วนรองเท้าแตะเสื้อแขนสั้นมาทำงานโดยไม่ใส่เสื้อนอกผูกไท ก็ล้วนเป็นความพยายามที่จะลดการใช้ไฟ แปลกไหมที่ทำไมคนไทยยังคงต้องเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำจนหนาวต้องห่มผ้าหนาๆนอนหรือต้องใส่เสื้อนอกมาทำงาน เช่น ในสภาไทยที่ระบุเป็นข้อบังคับ ทั้งๆ ที่สภาญี่ปุ่นในปัจจุบันก็ใส่เสื้อผ้าธรรมดามาประชุมสภา สุดท้ายของคลื่นความร้อนก็คือ ความละอายเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของจริยธรรมไม่ว่าจะร้อนแค่ไหนก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้มีรัฐมนตรีฟื้นฟูภัยพิบัติชื่อนายมัตซึโมโตะ ริวต้องลาออกจากตำแหน่งหลังจากที่รับตำแหน่งนี้ไปได้เพียง 9 วัน ประเด็นที่ต้องลาออกก็คือ “ความกร่าง” เพราะในภาพข่าวเมื่อรัฐมนตรีไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยพิบัติกลับไปแสดงท่าทีที่ไม่ดีกับนายกฯ เล็กเมืองมิยางิโดยพูดจาและแสดงออกในตอนที่พบกันเป็นครั้งแรกในทำนองต่อว่านายกฯ เล็กเมืองมิยางิว่าเป็นเจ้าบ้านเหตุใดจึงต้องให้ผู้เป็นแขกมาเยือนต้องมารอทั้งที่จากภาพข่าวนายริวนี้ก็มาถึงสถานที่นัดหมายก่อนไม่นาน นอกจากจะไม่ยอมจับมือทักทายแล้วยังบอกอีกว่านายกฯ เล็กควรรักษาเวลาเพราะเคยเป็นทหารเก่ามาก่อนมิใช่หรือ และหากผู้นำธุรกิจในท้องถิ่นไม่ร่วมมือไม่มีแผนมาเสนอให้ฟื้นฟูรัฐบาลกลางก็จะไม่ช่วยเหลืออะไร ดูภาพข่าวจาก BBC News - Japan Reconstruction Minister Ryu Matsumoto quits เท่านี้เอง “งานก็เข้า” โดยทันทีเพราะสื่อฯ ที่ติดตามลงพื้นที่ไปด้วยก็เสนอเป็นข่าวให้ปรากฏการวิพากษ์ไปทั่ว ทำให้นายกฯ ใหญ่นายคังต้องเรียกไปพบเพราะรัฐบาลกลางมีหน้าที่ไปช่วยไม่ใช่ไปทำ “กร่าง” ขี่คอผู้ประสบภัยและเมื่อกลับออกมาก็ต้องมาแถลงลาออกไปในที่สุดทั้งๆ ที่รัฐมนตรีตำแหน่งนี้น่าจะทำงานได้ทั้งหน้าตาและชื่อเสียงเพราะลักษณะงานมันให้อยู่แล้ว ถ้าเป็นประเทศไทยนักการเมืองจะยอมลาออกง่ายๆ อย่างนี้หรือ สื่อฯ จะซวยเพราะจะต้องโทษสื่อฯ ว่ารายงานผิด ตนเองมิได้มีความตั้งใจจะแสดงอาการดูหมิ่นเช่นนั้น ซึ่งนายริวไม่กล้าบอกเช่นนี้เพราะภาพและเสียงมันฟ้อง แต่ก็ยังไม่วาย “แถ” ไปว่าเป็นเพราะกลุ่มเลือดของตนเองเป็นเหตุที่ทำให้ตนมีลักษณะเป็นคนจริงใจ พูดตรง คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น ฟังดูแล้วคุ้นๆ ใช่ไหม คำสำคัญ หรือ key word ที่ไม่จำกัดเฉพาะในหน้าร้อนนี้ของญี่ปุ่น จึงไม่ได้อยู่ที่แฟชั่นว่าจะเป็นกระโปรงยาวหรือกางเกงขาสั้น หากแต่เป็นเรื่องของ ทางเลือกของนโยบายพลังงานกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังขัดแย้งเดินสวนทางกัน ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานนิวเคลียร์แม้จะมีราคาถูกที่สุดในแง่ต้นทุนของปัจเจกชน(ประมาณ 4-6 เยน/กิโลวัตต์ชั่วโมง) แต่หากประชาชนไม่ต้องการทางเลือกนี้ สังคมและนักการเมืองจะจัดการอย่างไรต่อไปกับต้นทุนไฟฟ้าจากทางเลือกอื่นๆ ที่มีราคาแพงขึ้น เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ที่อาจมีราคาสูงกว่า 10 เท่าของไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์และมีให้ใช้อย่างจำกัด ในเชิงเศรษฐกิจการผลิตต่างๆ ก็ต้องถูกจำกัดไปโดยปริยายแล้วจะให้มีผลผลิตมีรายได้เข้ากิจการไปฟื้นฟูประเทศได้อย่างไร ในเชิงการเมืองการเปิดโรงไฟฟ้าที่ปิดอยู่เฉยๆ เพื่อผลิตให้มีไฟพอใช้นักการเมืองก็ไม่กล้าทำเพราะไม่กล้ารับผิดชอบหากเกิดอะไรขึ้นมาอีก ดูรูปสวยๆ ของการแต่งกายสาวเกียวโตในหน้าร้อนหลากสไตล์เพื่อความสบายใจดีกว่า | |||
| |||
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง1 source : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000086258 |
วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
เรื่องเล่าจากคันไซ ตอนที่ 2
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น