วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดกับการพัฒนาพลังงานอย่างแท้จริง

เมืองทาเคฮารา (Takehara) เมืองซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดฮิโรชิมาของญี่ปุ่น ที่นี่เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งในอนาคตมีการคาดการณ์กันว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินจะเข้ามามีบทบาทแทนที่การผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงจากนิวเคลียร์ ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีว่าญี่ปุ่นเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา

ย้อนหลังกลับไปเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมาได้รับความเสียหายและต้องปิดตัวไป หลังจากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้มีคำสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่ฟูกุชิมา นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาญี่ปุ่นจึงประสบกับปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าอย่างหนัก เพราะนิวเคลียร์คือแหล่งเชื้อเพลิงที่สำคัญในการผลิตไฟฟ้ามากเป็นอันดับสองรองจากก๊าซธรรมชาติ ในภาวะวิกฤตทางด้านไฟฟ้านี้ญี่ปุ่นจะหาทางออกอย่างไร หากเป็นห้วงเวลานี้ดูเหมือนว่าถ่านหินคือตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะถ่านหินคือเชื้อเพลิงที่มีกำลังการผลิตเป็นอันดับสามรองจากนิวเคลียร์และก๊าซธรรมชาติ


เมื่อพูดถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินในอดีตเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองและการเผาไหม้ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ดังนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงมักถูกนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องของภาวะโลกร้อนอยู่เสมอ แต่ในปัจจุบันได้มีการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิต จนกลายมาเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด และถูกพัฒนาขึ้นในหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี และโดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดมลพิษดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก

โรงไฟฟ้าทาเคฮาราคือ หนึ่งในโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นต้นแบบในการศึกษาการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน และที่นี่ได้นำเอาเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด หรือที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Clean coal technology” มาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมีมากมายหลายรูปแบบและแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศผู้ค้นคิด แต่ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีของใครก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่มีหลักการที่สำคัญคือ การทำให้เกิดมลพิษน้อยที่สุดใน 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ ขั้นตอนก่อนการเผาไหม้ ขั้นตอนการเผาไหม้ และขั้นตอนหลังเผาไหม้ ซึ่งก็เป็นหลักการไม่ต่างจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ กล่าวคือ การนำเชื้อเพลิงมาทำให้น้ำเกิดความร้อนจนกลายเป็นแรงดันไอน้ำไปขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั่นเอง


โรงไฟฟ้าถ่านหินทาเคฮาราให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนแรกสุดคือ กระบวนการก่อนการเผาไหม้ โดยเริ่มจากการขนส่งถ่านหินจากท่าเรือผ่านสายพานที่คลุมปิดด้วยหลังคาเพื่อนำเข้าสู่อาคารกักเก็บที่ปิดทึบอย่ามิดชิดไม่ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของผงถ่านหิน ขั้นตอนถัดมาคือ กระบวนการเผาไหม้ เริ่มตั้งแต่การนำถ่านหินจากอาคารกักเก็บ นำมาบดและผสมกับปูนขาว จากนั้นจึงนำเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิกว่า 800 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สามารถควบคุมการเกิดไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ได้ ในส่วนนี้เองน้ำจะถูกลำเลียงผ่านท่อซึ่งจะถูกเผาจนกระทั่งเป็นไอน้ำแรงดันสูงและไอน้ำก็จะถูกส่งไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือ กระบวนการหลังการเผาไหม้ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SOx) ที่ได้จากการเผาไหม้ถ่านหินจะถูกส่งไปยังเครื่องดักจับตัวที่หนึ่ง ซึ่งจะทำหน้าที่ดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์โดยใช้หลักการคือ การนำน้ำทะเลมาฉีดเป็นละอองขนาดเล็ก ผลที่ได้ก็คือ น้ำทะเลจะทำปฏิกิริยากับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และปูนขาวซึ่งเป็นส่วนผสมในขั้นตอนแรกสุดจนกลายมาเป็นยิปซัม ซึ่งภายหลังสามารถนำไปทำวัสดุก่อสร้างได้ เช่น อิฐบล็อกและผนังยิปซัม ส่วนฝุ่นละอองที่อาจเล็ดลอดจากเครื่องดักจับที่หนึ่ง ก็จะถูกเครื่องดักจับที่สอง ซึ่งใช้ประจุไฟฟ้าทำให้เกิดปฏิกิริยาขั้วบวกและขั้วลบ กล่าวคือ ทำให้เกิดเป็นสนามแม่เหล็กซึ่งมีแรงดึงดูดระหว่างขั้วบวกและขั้วลบนั่นเอง ผลที่ได้คือสามารถดักจับฝุ่นละอองได้ตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็กจิ๋ว จนท้ายที่สุดปลายทางของการเผาไหม้แทบจะไม่มีมลพิษปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมเลย

ในอดีตญี่ปุ่นเคยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงติดอันดับโลก ดังนั้นญี่ปุ่นจึงมีส่วนสำคัญในการผลักดันการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งในปี 2007 ที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นในขณะนั้น ได้มีแนวคิดที่เรียกว่า Building a low carbon society คือแนวคิดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการผลิตและการบริโภคในองค์กร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อมาภายหลังแนวคิดนี้ก็ได้ถูกหยิบยกและนำเสนอในเวทีระดับนานาชาติ จนเกิดการยอมรับและเห็นชอบในหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดเป็นแนวคิดที่เรียกว่า Low carbon society หรือสังคมคาร์บอนต่ำ และด้วยการเป็นต้นแบบของแนวคิดที่ว่านี้ ญี่ปุ่นจึงมีการออกนโยบายส่งเสริมให้ภาคการผลิตและภาคการบริโภค จะต้องมีส่วนในการสนับสนุนการสร้างสังคมคาร์ต่ำ ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินทาเคฮาราก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของภาคการผลิตที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าใส่ใจกับกระบวนการทั้งหมด ซึ่งท้ายที่สุดแล้วไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ธรรมชาติ ดังนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินทาเคฮาราจึงเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและได้รับการยอมรับจากประชาชน


เมื่อพูดถึงการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินในประเทศไทยพบว่า มีกำลังการผลิตคิดเป็นร้อยละ 20 ของการผลิตทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะดูเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก แต่ก็จัดว่าเป็นหนึ่งในขุมพลังงานที่มีความมั่นคงต่อการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด ซึ่งในเรื่องนี้คุณสุมิต วงศ์แสงจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเสริมว่า ถ่านหินคือเชื้อเพลิงที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เพราะมีปริมาณสำรองทั่วโลกให้ใช้ได้ถึงกว่า 200 ปี และราคาก็มีความผันผวนน้อย ดังนั้นถ่านหินจะกลายมาเป็นแหล่งพลังงานที่สร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทยได้ในระยะยาวเมื่อเทียบกับพลังงานอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทั่วทั้งโลกมีปริมาณสำรองเพียงแค่ประมาณ 40 ปี ส่วนนิวเคลียร์ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม และพลังงานทางเลือกอย่างลมและแสงอาทิตย์ก็ยังมีข้อจำกัดทางธรรมชาติ เช่น กำลังลมไม่เพียงพอและแสงอาทิตย์สามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะตอนกลางวัน จึงทำให้พลังงานทางเลือกสามารถเป็นแค่ส่วนสนับสนุนเท่านั้น และในทุกวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมคือ สิ่งที่กำลังเติบโตและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยจำนวนมหาศาล ซึ่งอุตสาหกรรมล้วนแล้วต้องพึ่งพาไฟฟ้าอย่างมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนเรื่องพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งในเวลานี้ถ่านหินคือตัวเลือกที่มีศักยภาพสูงสุด

ในอดีตการพัฒนาประเทศมักสวนทางกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ ดังเช่นการเติบโตของอุตสาหกรรมที่นำมาซึ่งมลพิษจากกระบวนการผลิต แต่ที่ประเทศญี่ปุ่นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถทำให้สองสิ่งที่ว่านี้ไปด้วยกันได้ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นคือ ประเทศที่พัฒนาอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยน่าจะนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศต่อไป

โดย..ทีมงานโลก 360 องศา
source : http://www.posttoday.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น