รายงานสรุปสถานการณ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 1 ขนาด 34 นิ้ว ในอ่าวไทย รั่ว
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพลังงานรายงานสรุปสถานการณ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 1 ขนาด 34 นิ้ว ในอ่าวไทย รั่วตามที่กระทรวงพลังงานได้รับแจ้งจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2554 เวลา 15.00 น. ว่ามีเรือที่รับหน้าที่วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติของแหล่งปลาทอง 2 ได้วางสายสมอเรือไปเกี่ยวเข้ากับระบบท่อส่งก๊าซบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างท่อก๊าซเส้นที่ 1 และท่อกิ่งของแหล่งก๊าซปลาทอง ส่งผลให้ระบบท่อได้รับความเสียหายและเกิดรอยรั่ว
กระทรวงพลังงานได้สรุปสถานการณ์และแนวทางการแก้ไข ดังนี้
1. เพื่อความปลอดภัยและการตรวจสอบความเสียหายโดยละเอียด จึงจำเป็นต้องระงับการใช้ท่อเส้นที่ 1ที่มีกำลังการส่งก๊าซ 850 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งส่งผลต่อการจ่ายก๊าซเข้าระบบในปริมาณเดียวกัน
2. เพื่อเป็นการลดผลกระทบด้านเชื้อเพลิงดังกล่าว สิ่งที่ได้ดำเนินการแล้ว มีดังนี้
2.1 เปลี่ยนเส้นทางลำเลียงก๊าซจากแหล่งที่ส่งเข้าท่อเส้นที่ 1 ไปยังท่อเส้นที่ 2 และ 3 สำหรับแหล่งที่สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางได้ในปริมาณ 150 — 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
2.2 ลดปริมาณการจ่ายก๊าซเข้าโรงแยกก๊าซฯ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
2.3 เพิ่มปริมาณการจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จาก 140 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
2.4 หลังจากดำเนินการตาม 3.1 — 3.3 ทำให้ก๊าซฯ ในระบบที่ขาดหายไปลดลงจากเดิม 850 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเหลือ 250 — 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
3. การบริหารจัดการด้านไฟฟ้าเพื่อลดผลกระทบจากปริมาณก๊าซฯ ที่ลดลงในปริมาณ 250 — 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สิ่งที่ได้เตรียมการแล้ว มีดังนี้
3.1 เตรียมส่งน้ำมันเตาให้โรงไฟฟ้าราชบุรี 1.8 ล้านลิตรต่อวันและจะทยอยปรับเพิ่มเป็น 2 ล้านลิตรต่อวัน
3.2 ส่งน้ำมันเตาให้โรงไฟฟ้ากระบี่เฉลี่ย 1 ล้านลิตรต่อวัน
3.3 เตรียมส่งน้ำมันเตาให้โรงไฟฟ้าพระนครใต้รวม 40 ล้านลิตร
3.4 เตรียมส่งน้ำมันเตาให้โรงไฟฟ้าบางปะกง 4 ล้านลิตรต่อวัน
3.5 เพิ่มการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โดยเฉพาะจากเขื่อนรัชชประภา น้ำงึม 2 และ น้ำเทิน 2
3.6 เลื่อนการหยุดซ่อมบำรุง โรงไฟฟ้า 2 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 10 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี ชุดที่ 2 ออกไปก่อน
4. จากการบริหารจัดการดังกล่าว จะไม่ทำให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ทั้งนี้ได้สั่งการให้ ปตท. จัดหาน้ำมันเตากำมะถัน 0.5 % ปริมาณ 30 ล้านลิตร เพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำรองสำหรับ โรงไฟฟ้า
5. สำหรับสถานการณ์ ณ ปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายของระบบท่อ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลโดยละเอียดในช่วงเย็นของวันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2554 ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ ประกอบด้วย
5.1 สามารถซ่อมระบบท่อแล้วเสร็จได้ภายใน 14 วัน
5.2 กรณีที่ตรวจพบความเสียหายร้ายแรงซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาซ่อมประมาณ 60 วัน ซึ่งจำเป็นต้องมีการใช้น้ำมันดีเซลและการนำก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้เพิ่มเติม
6. ทั้งนี้ เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้ ปตท. เปิดศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวที่อาคาร ปตท. 1 สำนักงานใหญ่ ชั้น 6 และศูนย์ประสานการจัดหาก๊าซฯ จากผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชั้น 21 อาคารบี ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น