วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ใช้ชีวิตอย่างไรในภาวะ 3 วิกฤติ : พลังงาน ข่าวสาร อาหาร

เรื่อง : กรวิกา วีระพันธ์เทพา

เคยตั้งคำถามกับตัวเองกันไหมว่า
เรา เป็นคนหนึ่งที่ผลิตขยะถุงพลาสติกทุกครั้งที่เดินออกจากร้านสะดวกซื้อหรือเปล่า?
เรา เป็นคนหนึ่งที่ต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกอาทิตย์หรือเปล่า?
เรา เป็นคนหนึ่งที่ปล่อยให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนเพราะความขี้เกียจของตัวเองหรือเปล่า?

คำถามข้างต้นคงเป็นเพียงคำถามธรรมดาๆ หากไม่มีใครคิดถึงอนาคตของการกระทำนั้นว่า เศษเสี้ยวของถุงพลาสติกใบน้อยอาจเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์สัตว์ทะเล กองเสื้อผ้าอาจทำให้ดินเป็นพิษจนไม่มีที่ปลูกข้าวกินอีกต่อไป เครื่องปรับอากาศที่เปิดตลอดเวลาอาจเกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติอันรุนแรง ฯลฯ

แน่นอนว่า “การบริโภค” ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่คงดีไม่น้อยหากเรารู้จักตั้งคำถามกับการบริโภคนั้นว่ามันจำเป็นแค่ไหน และจะส่งผลกระทบถึงใครหรืออะไรรอบตัวบ้าง

ด้วยมุมมองจากผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านพลังงาน ข่าวสาร และการเกษตร อาจช่วยตอบคำถามให้เราได้ชัดเจนขึ้น

-1-
วิกฤติพลังงาน : ความท้าทายของคนยุคนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พลังงาน” ได้กลายมาเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนยุคใหม่แล้ว สิ่งของทุกอย่างรอบตัวแทบทุกอย่างต้องใช้พลังงานมากมายในการผลิต แต่โลกปัจจุบันการบริโภคกับปริมาณพลังงานดูจะสวนทางกัน เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ท้าทายมนุษย์ทุกคนให้ต้องหันมาวางแผนการใช้พลังงานอย่างมีสติ

เรื่องนี้ ดร. เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายพลังงาน ได้ชี้ให้เห็นถึงแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในบ้านเราที่มีแผนจะสร้างมาหลายปีแล้ว แต่มีอันต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเพราะเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่น

“เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องของการบริโภค จริงๆ แล้ว สิ่งที่รัฐบาลวางแผนไว้ว่าจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง 5 พันเมกะวัตต์ ถ้ามองตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ โรงไฟฟ้า 5 โรงนี้ก็จะเพียงเท่ากับประมาณร้อยละ 10 ของการบริโภค

“ถ้าพูดในมุมกลับกันคือ มันเป็นโจทย์ท้าทายคนไทยว่า ถ้าเราลดการบริโภคลงได้ร้อยละ 10 จำนวนนี้คือจากที่คิดว่ามันจะเพิ่มขึ้น ไม่ใช่จากปัจจุบัน ก็แปลว่าเราไม่จำเป็นจะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง ผมไม่ได้จะไปคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ผมกำลังบอกว่าเดิมพันของการที่เราจะใช้ชีวิตบริโภคอย่างรู้จักวางแผน มันมีเดินพันที่ใหญ่มาก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่ละโรงใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้าบาท ถ้าเราไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เราก็จะประหยัดไปได้ 5 แสนล้านบาท ซึ่ง 5 แสนล้านบาทนี้เราสามารถที่จะไปใช้ลงทุนอย่างอื่นได้

“แต่ถ้าเราทำไม่สำเร็จ รวมทั้งถ้าเราไม่มีพลังงานทางเลือกอื่นมาเสริม แน่นอนว่าเราก็อาจจะต้องก้าวไปสู่จุดที่จำเป็นจะต้องมีโรงไฟฟ้าประเภทนี้ซึ่งมันมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเราสามารถบริหารพลังงานขณะนี้ให้ดี ขณะเดียวกันก็พัฒนาพลังงานหมุนเวียน มันก็เป็นโจทย์ที่น่าสนใจว่าเราจะมีทางเลือกอื่นนอกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในระยะเวลา 20 ปีนี้ได้อย่างไร

“การวิเคราะห์ขององค์การพลังงานนานาชาติ ก็เขียนออกมาชัดเจนว่าถ้าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็อยู่ในระยะ 20-30 ปี พ้นจากนี้ก็ไม่ต้องกังวลแล้ว คือ เขาไม่เลือกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว มันจะมีรูปแบบอื่นๆ เข้ามาทดแทนนิวเคลียร์ได้ เพียงแต่ว่าใน 20 ปีนี้ มันยังไม่มี การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพนี่ล่ะที่เป็นการเดิมพันว่าเราจะหลีกเลี่ยง ไม่จำเป็นต้องเสียเงิน 5 แสนล้านได้หรือไม่”

และทุกครั้งเมื่อเราพูดถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะมีคำถามเกิดขึ้นว่า แล้วเราไม่ต้องเปิดแอร์หรือ ไม่ต้องใช้ไฟหรือ ใช้คอมพิวเตอร์ได้หรือเปล่า ซึ่ง ดร.เดชรัตเน้นว่า เราสามารถใช้ของเหล่านี้ได้ แต่ต้องใช้อย่ามีสติและใช้อย่างฉลาดด้วย รวมทั้งยกตัวอย่างการออกแบบให้อาคารที่ช่วยประหยัดพลังงานไปหลายเท่าตัว

“ขณะนี้ห้างสรรพสินค้าทั่วไปใช้ไฟฟ้าประมาณ 500 หน่วยต่อตารางเมตรต่อปี แต่ในอาคารที่ออกแบบอย่างดี อาคารขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์ราชการ สนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีการออกแบบกันความร้อน ใช้แสงธรรมชาติ จะใช้ไฟประมาณ 100 หน่วยต่อตารางเมตรต่อปี จะเห็นว่ามันสามารถลดลงมาได้มากทีเดียว

“โจทย์นี้เป็นเรื่องใหญ่ครับ เพราะว่าการก่อสร้างใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด เห็นห้างสรรพสินค้าไปอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็เป็นการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งเราก็ไม่ได้คัดค้านอย่างใด แต่ต้องให้การก่อสร้างเหล่านี้เป็นไปในลักษณะที่ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าเกิดไม่ออกแบบให้มีประสิทธิภาพ ปัญหาก็จะพ่วงไปอีกยาว มันอยู่ที่ว่าเราจะออกแบบอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและเราก็อยู่สบายด้วย

“ตัวเลขที่น่าสนใจก็คือเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของคนไทยเรา บางจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ระยอง สมุทรสาคร ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 10 ตันต่อคนต่อปี ขณะที่จังหวัดหนองบัวลำพูน แม่ฮ่องสอน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 300 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เราจะเห็นว่ามันห่างกันมาก ประมาณ 30 เท่า เป็นเรื่องที่เราต้องรณรงค์กันว่าผู้ที่ปล่อยของเสียเยอะจะมีส่วนรับผิดชอบอย่างไรบ้าง

“ถ้าที่บ้านผมเอง ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ก็มีการออกแบบบ้านให้ประหยัดพลังงาน ปลูกผักกินเอง ซึ่งช่วยลดจำนวนครั้งที่ต้องออกจากบ้าน ทำบ่อเก็บน้ำฝน และยังรอรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถ้าเสร็จแล้วก็จะลดการใช้รถยนต์ได้ ผมอยากบอกว่า มันสนุกนะครับกับการบริโภคอย่างมีจิตสำนึกและรู้จักวางแผน สิ่งเหล่านี้คุณไม่สามารถจะไปหาซื้อได้ในห้างสรรพสินค้า แต่มันคืออนาคตชีวิตคุณเอง”

+++ เคล็ดลับง่ายๆ +++
การสร้างบ้านประหยัดพลังงาน ที่เหมาะกับเมืองร้อนอย่างบ้านเรา
1) ทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศรับแดดช่วงบ่ายก่อนที่เราจะกลับมาถึงบ้าน
ซึ่งมีวิธีป้องกัน เช่น ปลูกต้นไม้ ทำแผงบังแดด เอาห้องน้ำ บันได ห้องเก็บของ
ไปไว้ทางทิศตะวันตก ก็จะเป็นเหมือนฉนวนไปด้วยในตัว
2) หลังคาที่จะเป็นตัวเก็บความร้อน ใส่ใจศึกษาข้อมูลสักนิด
สมัยนี้มีเทคโนโลยีหลายประเภทที่จะทำให้อากาศไหลผ่านหลังคา
บ้าน ดร. เดชรัต ใช้วิธีติดตั้งโฟมอยู่ข้างในหลังคา ทำให้มันไม่ค่อย
ผ่านความร้อนลงมาสู่ด้านล่าง
3) ทำอย่างไรให้มีลมไหลผ่าน ซึ่งมีวิธีการที่สำคัญก็คือ
การเปิดช่องหน้าต่างและประตูทั้งหลาย เพราะบางครั้งแม้อุณหภูมิไม่สูง
แต่ถ้าอากาศไม่ไหลเวียน เจอภาวะอบอ้าว เราจะรู้สึกไม่สบายตัว
เพราะฉะนั้นควรออกแบบบ้านให้ความชื้นและเหงื่อในร่างกายได้ระบายออกไป

-2-
วิกฤติข่าวสารสิ่งแวดล้อม : ถึงเวลาเปิดตาและเปิดใจรับรู้ข้อมูล
เรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผลกระทบส่งผลต่อตัวเอง อีกทั้งเมื่อพื้นที่ของข่าวสารข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในสื่อต่างๆ ทุกวันนี้ ถูกยึดด้วยข่าวการเมือง บันเทิง อาชญากรรม ฯลฯ ก็ยิ่งดูเหมือนเราจะไกลห่างจากสิ่งแวดล้อมขึ้นทุกที ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเปิดใจและใส่ใจกับสิ่งรอบตัวดูบ้าง



นิรมล มูนจินดา บรรณาธิการหนังสือเล่มมูลนิธิโลกสีเขียว ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับข่าวสารและการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ ทุกๆ 20 นาที สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตจะหายไปจากโลก 1 ชนิด เป็นปรากฏการณ์ที่ถือเป็นอันตรายมาก แต่น้อยคนนักจะสนใจ เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นตรงหน้า

"สิ่งที่ดูเหมือนไกลตัว แท้จริงมันใกล้ตัวมาก ถ้าสัตว์หรือพืชอื่นๆ อยู่ไม่ได้ เราจะอยู่ได้หรือเปล่า คนเราไม่สามารถสังเคราะห์แสง สร้างอาหารเองได้ เพราะฉะนั้นการสนใจสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ หรือสนใจภยันตรายของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคนด้วยกันเอง เช่น ประชาชนที่ระยอง หรือสัตว์อื่นๆ มันเป็นเรื่องสำคัญมาก

"มีงานวิจัยของอาจารย์จากประเทศอังกฤษ เขาเก็บขยะตามชายหาดตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาจนเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และพบว่าขยะที่อยู่ที่ชายหาด จากที่เคยเป็นพลาสติก เป็นถุงหรือเป็นขวด มันเล็กลงๆ ทุกที จากที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า พลาสติกมันกร่อนโดยธรรมชาติจนเป็นเม็ดเล็กมากๆ จนต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่อง มันหมายถึงว่าขยะเล็กๆ เหล่านี้พบในสัตว์เล็กๆ ที่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็นเช่นกัน เช่น แพลงตอน ซึ่งคนเรากินปลาจากทะเล และปลาเหล่านี้ก็กินสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่อยู่ในทะเล ก็เท่ากับว่าเราก็กินถุงพลาสติกที่เราทิ้งไปนั้นเอง มันกระจายไปในระบบนิเวศแล้ว ดิฉันรู้สึกว่าข้อมูลเล็กๆ เหล่านี้ไม่มีใครมาต่อเป็นภาพใหญ่ให้เราเห็น มันช่างขัดสนไปหมดในพื้นที่สาธารณะ เพราะสื่อต่างๆ อาจจะไม่เห็นความสำคัญ

“และไม่ใช่เฉพาะข่าวสาร แต่หมายถึงการเรียนรู้ด้วย ในบ้านเรา ในสังคมเมือง ยังไม่ค่อยตื่นเต้นกัน เช่น เคยสังเกตไหมว่าบริเวณบ้านเรามีรังนกหรือเปล่า มีนกกี่ชนิด การที่บ้านแต่ละหลังมีหรือไม่มีนก มันมีเหตุปัจจัยอะไร เมื่อเราเห็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าไลเคนเกาะอยู่บนต้นไม้มันบอกอะไรเรา และมันจะเชื่อมโยงอะไรกับตัวเรา ในแง่ของคนที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม คิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ปัจเจกแต่ละคนมองเห็นภาพใหญ่ทั้งหมดได้

“อย่างเรื่องเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นเรื่องของพื้นที่ใบหน้าส่วนบุคคล แต่ที่จริงมันกระทบส่วนรวม มีผลการสำรวจจากต่างประเทศพบว่าในครีมกันแดดนั้นมีสารเคมีเยอะมาก และในแต่ละปีมีครีมกันแดดของคนที่ไปว่ายน้ำเจือปนในทะเลมากถึง 4,000-6,000 ตัน ซึ่งมีส่วนที่ทำให้ปะการังฟอกขาว

“นอกจากนี้ยังพบว่าเครื่องสำอางหลายยี่ห้อเขาทดลองกับสัตว์ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีสาวๆ รู้บ้างไหมว่า หนึ่งป้ายที่เพิ่มความสวยบนหน้าเรา มันมาจากความทรมานของสัตว์ กระต่ายที่ถูกขังกรงแออัดโผล่ออกมาแค่หัว จะถูกป้ายเครื่องสำอางที่ขอบตาจนระคายเคืองและเป็นแผลถึงขั้นตาบอด มีรายงานว่ามันร้องอย่างเจ็บปวดทุกครั้งที่ถูกป้ายตา และพยายามหนีออกจากช่องเล็กๆ ที่มันอยู่จนคอหักตาย

“เมื่อเรารู้สึกว่าทุกสิ่งที่เราทำมันส่งผลกระทบ เราจะระวังการใช้ชีวิตมากขึ้น รู้จักเลือกผลิตภัณฑ์มากขึ้น รู้จักพกถุงผ้าติดตัว เพราะสิ่งที่เราทำมีความหมายเสมอ คือ มันรวมทุกแง่ในแง่บวกและลบ การทิ้งทุกพลาสติกชิ้นเดียวอาจทำให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดสูญพันธุ์ แต่ขณะเดียวกันที่เราเริ่มเปลี่ยนแปลง มันก็จะเป็นกองใหญ่ๆ ที่เป็นบวก มันจะช่วยซ่อม ช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์บางอย่างได้”

-3-
วิกฤติอาหาร : แรงบันดาลใจสู่การพึ่งพาตนเอง
นอกจากการบริโภคอย่างรู้คิดแล้ว การพึ่งพาตนเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เรื่องที่เราเคยพึ่งพาตัวเองได้ตั้งแต่สมัยโบราณ อย่าง “อาหาร” ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องที่อยู่ในครอบครองของนักธุรกิจไปหมด สิ่งนี้ทำให้ใครบางคนลุกขึ้นมาสร้างวิถีทางอาหารให้ตนเองและกำลังเป็นแรงบันดาลใจให้คนในสังคม

นคร ลิมปคุปตถาวร นักวิชาการอิสระประจำโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ฉายภาพให้เห็นว่า “วิกฤติความมั่นคงทางอาหาร” กำลังคืบคลานเข้ามาหาคนยุคนี้เนื่องจากแหล่งพลังงานที่เริ่มร่อยหรอลงทุกที

“มีคนบอกว่า ปัจจุบันน้ำมันกำลังจะหมดโลก มาปลูกพืชพลังงานกันดีกว่า กลายเป็นว่าตอนนี้รังสิต ปทุมธานี นาข้าวเป็นปาล์มไปหมดเลยนะครับ คนอาจจะเห็นว่าอนาคตดี น้ำมันขายโรงงานมีมูลค่า ชาวสวนก็น่าจะรวยขึ้น แต่อย่าลืมว่า น้ำมันมันกินไม่ได้นะครับ นี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต คือพื้นที่อาหารกับพื้นที่พลังงานจะซ้อนทับกัน เมื่อก่อนมันไม่ทับซ้อนกันเพราะน้ำมันมันก็อยู่ใต้โลก อาหารก็อยู่บนดิน แต่ตอนนี้พื้นที่อาหารหายไป

“อีกปัจจัยที่ทำให้วิกฤติอาหารใกล้ตัวมาก คือเรื่องสภาพอากาศ เห็นเลยว่าวันเดียวมีหลายฤดูมาก ซึ่งอาหารมันโตด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ แสงแดด ถ้าฤดูกาลเปลี่ยน อาหารเราก็เปลี่ยน แต่คนทั่วไปก็ยังคิดว่า ไม่เห็นต้องกังวล ในตลาดยังมีกะหล่ำปลีอยู่เลย แต่อย่าลืมว่านั่นไม่ได้เป็นของธรรมชาตินะ มันมีสารเคมีที่ตกค้างอยู่ เพราะเขาต้องใช้เพื่อไปควบคุมมัน

“มีคนถามว่า ทำไมต้องปลูกกินเอง อยู่เมืองมีเงินซื้อเอาก็ได้ ของดีๆ ก็ซื้อได้ แต่ผมปลูกแล้วพบความจริงว่า ผักที่เราปลูกเอง ทิ้งไว้ 5 วันยังไม่เน่าเลย มีแค่กลิ่นเหม็นเขียวธรรมดา แต่ผักในตลาดมันจะเหม็นเหมือนน้ำเน่า เพราะมีสารเคมี ซึ่งนี่คือสิ่งที่เรากินเข้าไป และรสชาติก็ต่างกันด้วย มันสดอร่อยกว่ามาก หวานกรอบกว่า

“และผมก็พบอีกว่า ปลูกผักนี่มันถูกกว่าซื้อเขากินจริงๆ นะ สมมติซื้อตะไคร้กำละ 5 บาท เดือนหนึ่ง ปีหนึ่งเท่าไหร่ แต่ถ้าเราซื้อต้นตะไคร้มาปลูก ต้นละ 20 บาท เราก็มีกินทั้งปีแล้ว ต้นหนึ่งไม่ถึงสลึงเลยครับ อันนี้ผักทั่วไป ยังไม่ต้องพูดถึงผักอินทรีย์ที่ขายตามห้างเลย ถุงหนึ่งมีน้อยมากแถมราคาแพงมาก เราปลูกเองถูกกว่าอยู่แล้ว

“นอกจากนี้ พืชผักที่เราปลูกก็กลายเป็นของใช้ได้ด้วย ผมปลูกถั่วเขียว และผมก็เอาไปบดทำสบู่ เป็นภูมิปัญญาโบราณครับ ซึ่งวิธีก็ง่ายมาก ใช้ถั่วเขียวที่เรากินมาบดด้วยเครื่องปั่นหรือครก ผสมน้ำแล้วถูนิดหน่อย พอล้างแล้วผิวเราจะลื่นนิดหน่อย ซึ่งในถั่วมีสารชำระล้างทำความสะอาด

“ปลูกผักกินเองง่ายกว่าที่เราคิดเยอะ บางคนบอกว่าปลูกยังไงก็ไม่ขึ้น ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าธรรมชาติมันส่งผลถึงกันหมด ก่อนจะปลูกผักต้องดูก่อนว่าดินดีหรือยัง ชีวิตครึ่งหนึ่งของผักเขาอยู่กับดิน เพราะเขากินน้ำเองไม่ได้ แต่รากเขาอยู่กับดิน เพราะฉะนั้นถ้าดินดีนี่ดีทุกอย่างเลย

“สิ่งที่ผมทำคือไม่ต้องถึงขนาดไม่พึ่งคนอื่น แต่เราก็พึ่งตัวเองได้มากขึ้น และที่สำคัญ ผมคิดว่าการที่เราทำอะไรอย่างตั้งใจจริง มันจะพาเราไปเจอคนที่ทำแบบเดียวกัน และจะรวมกลุ่มกันเป็นสังคมที่มีคนทำเรื่องดีงามเหมือนกัน ขยายไปมากขึ้น และทำให้สังคมเราน่าอยู่ขึ้น”

+++เคล็ดลับง่ายๆ+++
วิธีทำให้ดินดีไม่ยากเลย
ลองไปดูต้นไม้ตามธรรมชาติสิ
ดินเหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกบำรุงด้วยปุ๋ยแต่อย่างใด
แต่เพราะมันถูกทับถมโดยธรรมชาติ
ถ้าที่บ้านเราก็กวาดใบไม้ กิ่งไม้ที่ร่วงหล่นรวมไว้ หาตะแกรงมาครอบ
มีเศษอาหารในบ้านเหลือก็เททับลงไป รดน้ำให้ชุ่ม ขึ้นไปเหยียบให้แน่น
ทิ้งไว้เดือนหนึ่ง โกยเอาข้างใต้ออกมาก็ได้ปุ๋ยหมักแล้ว


source : http://www.greenworld.or.th/greenworld/local/1349

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น