ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านก็คงมีความรู้สึกเหมือนกับคนทั่วไปที่บ่นให้ผมได้ยิน นั่นคือ เมื่อเวลามีการประกาศเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน ก็จะบ่นว่า “เมื่อเวลาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ราคาน้ำมันหน้าปั๊มในบ้านเราลดลงช้าจัง แต่เวลาขึ้นราคาแล้ว บ้านเรากลับขึ้นทันทีทันใดเชียว”
ท่านที่มีทักษะเรื่องการคิดตัวเลขหน่อยมักจะบ่นแถมมาด้วยว่า “ราคาน้ำมันดิบลดลงตั้งเยอะตั้งแยะ แต่บ้านเรากลับลดลงนิดเดียว” เป็นต้น
ผมเคยนำเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทั้งของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ต่อหน้าข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน (ซึ่งเป็นผู้บริหารข้อมูลเรื่องนี้ต่อสาธารณะ) พบว่า ภายหลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงวิธีการนำเสนอข้อมูลบ้างเล็กน้อยแต่ก็ยังผิวเผินและหาประโยชน์อะไรไม่ได้อยู่ดี
บทความนี้ผมจะนำวิธีการนำเสนอข้อมูลเรื่องน้ำมันของประเทศสหรัฐอเมริกามาให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วท่านผู้อ่านจะรู้สึกได้เองว่า ทั้งๆ ที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการครอบงำและครอบครองแหล่งน้ำมันไปทั่วโลก แต่กับประชาชนของเขาเอง เขากลับมีความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลพอสมควร
วิกิพีเดียได้ให้ความหมายของคำว่า “ธรรมาภิบาล (good governance)” ว่าคือ การปกครอง การบริหาร การจัดการ การควบคุมดูแลกิจการต่างๆ ให้เป็นไปในครรลองธรรม นอกจากนี้ยังหมายถึงการบริหารจัดการที่ดีรวมถึง ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมและความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวง ซึ่งวิญญูชนพึงมีและพึงประพฤติปฏิบัติ อาทิ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นต้น
ในที่นี้ขอเน้นว่า ผมจะกล่าวถึงเฉพาะ “วิธีการให้ข้อมูล” เท่านั้น ว่าไม่มีความเป็นธรรมาภิบาลอย่างไร ผมจะไม่พูดถึงรายละเอียดของการซื้อถูกขายแพง การขึ้นเร็วลงช้า
ผมอยากจะสรุปในตอนนี้เสียเลยว่า การให้ข้อมูลเรื่องราคาน้ำมันของกระทรวงพลังงาน ไม่มีความเป็นธรรมาภิบาลเอาเสียเลย ด้วยเหตุผลที่จะค่อยๆ กล่าวต่อไปนี้
หนึ่ง ไม่มีการบอกราคาน้ำมันดิบ ไม่บอกค่าขนส่ง ค่าประกันการขนส่ง แต่บอกอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทกับดอลลาร์ ซึ่งไม่ทราบว่าบอกมาทำไม ในเมื่อไม่ได้บอกราคาน้ำมันดิบ (ที่ซื้อขายเป็นดอลลาร์) ก็ไม่จำเป็นต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนแต่ประการใด แม้ในระยะหลังได้มีการบอก “ค่าการกลั่นเฉลี่ย” แต่ผู้บริโภคก็ไม่สามารถสาวไปถึงต้นทุนและกำไรได้อยู่ดี เพราะไม่บอกสัดส่วนของจำนวนผลผลิตแต่ละชนิด เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่หน้าโรงกลั่นไทย ก็มีการบวกราคาค่าขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพ โดยเอาราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศสิงคโปร์เป็นตัวตั้งแล้วบวกค่าขนส่ง ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการขนส่งจริงๆ เพราะใช้น้ำมันดิบที่เจาะได้ในอ่าวไทย ทำไมไม่บอกให้ครบอย่างตรงไปตรงมา
สอง มีการให้ข้อมูลเป็นรายวัน (แถมเว้นวันหยุดราชการอีกต่างหาก) ทำให้เราไม่สามารถเห็นภาพรวมได้ “เราเห็นข้อมูลเป็นจุด แต่ไม่เห็นภาพรวม หรือเห็นต้นไม้ทีละต้น แต่ไม่เห็นป่า” เหมือนที่ท่านพุทธทาสเคยเปรียบเทียบ ถ้าผู้บริโภคจะสืบค้นหรือต้องการดูภาพรวมก็ต้องเสียเวลานานมาก ผมเคยสืบค้นข้อมูล 105 วัน เฉพาะน้ำมัน 2 ชนิด ต้องคัดลอกข้อมูลหลายตัวทุกวัน แล้วนำไปเขียนกราฟจึงจะเห็นภาพรวมหรือแนวโน้มได้ ทำเอา “ตาแฉะ” เลยครับ
สาม ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีปรากฏการณ์ “ขึ้นเร็ว ลงช้า หรือลงนิดเดียว” หรือไม่
ภาพธนบัตรข้างบน ผมนำมาจาก Energizing America Facts for Addressing Energy Policy ฉบับล่าสุด (ค้นได้จากกูเกิล)
ข้อมูลที่ระบุในภาพดังกล่าวก็คือ สัดส่วนของราคาน้ำมันหน้าปั๊มในสหรัฐอเมริกา เขาบอกเสร็จสรรพว่า ในหนึ่งร้อยบาทที่เราเติมน้ำมันจะเป็นค่าน้ำมันดิบ 68 บาท ค่าการกลั่น (refining) 13 บาทค่าภาษี (Excise Taxes -น่าจะหมายถึงภาษีทุกชนิดรวมกัน) และค่าขายปลีก (บ้านเราเรียกค่าการตลาด) 7 บาท
ข้อมูลนี้มีประโยชน์อย่างไร? อย่างน้อยก็ทำให้เราทราบกรอบของการทำธุรกิจ ว่ามีการค้ากำไรเกินควรหรือไม่ เราสามารถนำไปเปรียบเทียบกับของประเทศอื่นๆ ได้ เช่น ประเทศอังกฤษคิดค่าค่าภาษีถึง 64% ของราคาหน้าปั๊ม แต่สหรัฐฯ คิดแค่ 13% เท่านั้น
เมื่อเปรียบระหว่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษ ทำให้เราพอมองภาพออกว่าประเทศใดให้ความสนใจกับประเด็นสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน เป็นต้น เพราะภาษีที่ว่านี้ได้รวบรวมเอาภาษีเชิงนิเวศน์เข้าไปด้วย
คราวนี้มาดูวิธีการนำเสนอข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากครับ
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น