หลังจากที่ น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกหน้าเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ(เอ็มโอยู)ระหว่างบริษัท โปร เวทุม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดจากเยอรมนี กับบริษัท จีอี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เพื่อร่วมลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลมขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ในนามโครงการ "เทพสถิต วินด์ ฟาร์ม"เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว ความสำเร็จของโครงการนี้ยังขึ้นอยู่กับการหาผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพในไทยที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้เดินหน้าอย่างราบรื่นและมั่นคง
เปิดแผนลงทุน 300 เมกะวัตต์
นางสาวจุรีย์ ขวัญคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เทพสถิต วินฟาร์ม จำกัด เป็นบริษัทที่ร่วมทุนระหว่างบริษัท โปร เวนทุม อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ผู้พัฒนาพลังงานไฟฟ้าพลังงานลมจากประเทศเยอรมนี กับบริษัท จีอี เอนเนอร์ยี ประจำประเทศไทยและภาคพื้นอินโดจีน เพื่อพัฒนาพลังงานไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทยเปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ โดยกำหนดแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (2551-2565) ขึ้นมา และกำหนดเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมให้ได้ 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 นั้น
ล่าสุดบริษัท โปร เวนทุม อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน และเริ่มศึกษาศักยภาพความเร็วลมในพื้นที่อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 เป็นต้นมา และจากการติดตามการตรวจวัดปริมาณลมและความเร็วลมโดยเฉลี่ยพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพสูงอยู่ที่ 6.5 ไมล์ต่อวินาที เหมาะแก่การที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ จึงได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้ากับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ขนาดกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 เฟส.
เฟสแรก จะใช้เงินลงทุนประมาณ 5,800 ล้านบาท ผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ เสนอขายให้กับกฟผ. 90 เมกะวัตต์ อีก 10 เมกะวัตต์ เสนอขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในเดือนเมษายน 2556
เฟสที่ 2 อีก 200 เมกะวัตต์ แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 โครงการโครงการละ 100 เมกะวัตต์ โดยจะเสนอขายไฟฟ้าให้กับกฟผ.และกฟภ.ในลักษณะเดียวกับเฟสแรก มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ประมาณปลายปี 2557 โดยโครงการทั้งหมดจะใช้เงินลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท
-เตรียมเซ็นสัญญากฟผ.
นางสาวจุรีย์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าของโครงการเฟสแรกนั้น ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ จะมีการลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับทางกฟผ. ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้เกิดการพัฒนาโครงการต่อไป ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) กับทางบริษัท จีอี เอนเนอร์ยี ประจำประเทศไทยและภาคพื้นอินโดจีน เพื่อให้เป็นผู้จัดหากังหันลมที่มีกำลังผลิต 2.5 เมกะวัตต์ จำนวน 36 ตัว มาติดตั้งที่โรงไฟฟ้ากังหันลมแห่งนี้ ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 200 ล้านหน่วยต่อปี
กำลังลมในพื้นที่แห่งนี้มีอย่างสม่ำเสมอ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดทั้งปี เมื่อเทียบกับกำลังลมที่อยู่ชายฝั่งทะเลจะผลิตได้เพียงแค่ 4 เดือน ประกอบกับการที่กระทรวงพลังงานให้ค่ารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มหรือ Adder อีก 3.50 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี รวมกับค่าไฟฟ้าปกติอีก 3 บาทต่อหน่วย รวมเป็น 6.50 บาทต่อหน่วย ถือว่าเป็นโครงการที่คุ้มค่ากับการลงทุน และจะสามารถคืนทุนได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ที่ประมาณรายได้ไว้ไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านบาทต่อปี
-รุกหนักจีบ3บิ๊กธุรกิจ
แหล่งข่าวในกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ทางบริษัท โปร เวนทุมฯต้องการหาพันธมิตรร่วมทุน จึงได้ชักชวนบริษัท จีอีฯ เข้าร่วมถือหุ้นในโครงการเฟสแรกนี้ด้วยในสัดส่วน 50 % ซึ่งการเข้าถือหุ้นของจีอี ถือเป็นการตอกย้ำให้การลงทุนในโครงการดังกล่าวมีความน่าเชื่อมากขึ้น เพราะจีอีเองเป็นผู้ผลิตกังหันลมชั้นนำของโลก โดยที่ผ่านมาได้ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ไปแล้วกว่า 14,000 ตัวทั่วโลก
นอกจากนี้บริษัทโปร เวนทุมฯก็กำลังเจรจาหาพันธมิตรในประเทศไทยอีก 2-3 ราย มาเข้าร่วมลงทุนโครงการนี้ โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทย อย่างบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) และยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมอย่างบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือกลุ่มเอสซีจี ซึ่งล่าสุดกลุ่มเอสซีจีได้ข้อยุติแล้วที่จะเข้ามาถือหุ้นด้วยแต่ยังไม่ชัดเจนเรื่องสัดส่วนการร่วมทุน
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่าเหตุผลที่ทั้ง 3 บริษัท จะเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วยนั้น แม้จะมีสัดส่วนที่ไม่มากนัก เนื่องจากเป็นบริษัทธุรกิจด้านพลังงานขนาดใหญ่ของไทย และเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนระดับต้นๆ ต้องการเข้ามาพัฒนาโครงการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคม และต้องการพัฒนาพลังงานทดแทนให้ครบวงจร และสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทได้
-บางจากรับมีการต่อสาย
ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เนื่องจากขณะนี้บมจ.บางจากกำลังรุกธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และจากพลังงานลม ทำให้มีผู้สนใจติดต่อให้บมจ.บางจากเข้าร่วมโครงการหลายราย เพราะเห็นว่ามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจด้านนี้ อย่างการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เวลานี้ก็มีอยู่ 2-3 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีบริษัท โปร เวนทุมฯอยู่ด้วย
"อย่างไรก็ตามบมจ.บางจาก จะตัดสินใจเข้าร่วมถือหุ้นในโครงการที่อำเภอเทพสถิตด้วยหรือไม่นั้น เวลานี้ยังไม่มีการตัดสินใจ เพราะต้องพิจารณาให้มั่นใจว่าโครงการนี้มีความเสี่ยงหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาต่างๆในวงการพลังงานว่า หากจะลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม จะต้องดูให้ดีว่าความเร็วลมในพื้นที่นั้นอยู่ระดับใด มีความสม่ำเสมอหรือไม่ หากต่ำกว่า 6 เมตรต่อวินาที ก็ถือว่ามีความเสี่ยงและไม่ควรจะเข้าไปลงทุน ที่สำคัญการตรวจวัดปริมาณและความเร็วลม จะต้องมีข้อมูลอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป ถึงจะทำให้ทราบข้อมูลลมที่ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร หากศึกษาเพียง 1-2 ปี จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนและเป็นความเสี่ยง"
ดร.อนุสรณ์กล่าวด้วยว่า บมจ.บางจาก ก็มีความสนใจที่จะลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และมีการศึกษาในบางพื้นที่อยู่ ถ้าโครงการไหนมีความชัดเจนแน่นอน บมจ.บางจาก ก็จะเข้าร่วมทุนด้วย เพราะเป็นทิศทางในการดำเนินงานด้านพลังงานทดแทนของบมจ.บางจาก อยู่แล้ว
เอสซีจีแบ่งรับแบ่งสู้
ด้านแหล่งข่าวจากเอสซีจีกล่าวว่าก่อนหน้านี้เคยได้ข่าวว่าเอสซีจีก็สนใจในเรื่องพลังงานทดแทน ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจในแต่ละกลุ่มของเอสซีจีก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เห็นได้จากการนำระบบ WHG (waste heat power generation) หรือระบบนำพลังงานความร้อนทิ้งกลับมาใช้ในการผลิต ส่วนโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลมหากลงทุนไม่มาก ในอนาคต ก็อาจจะมีบริษัทในเครือเอสซีจีที่สนใจร่วมทุน แต่ในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีกลุ่มทุนรายใดเข้ามาเจรจาด้วย
-จีอีเปิดใจ
นายโกวิทย์ คันธาภัสระ ผู้บริหารสูงสุด บริษัท จีอี เอนเนอยี ประจำประเทศไทยและภาคพื้นอินโดจีน เปิดเผยว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมแห่งนี้ จะเป็นโรงไฟฟ้ากังหันลมที่มีกำลังผลิตมากที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการเข้าร่วมทุนกับบริษัท โปร เวนทุมฯครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับบริษัทและเป็นการสื่อถึงความมุ่งมั่นของจีอี ที่จะลงทุนพัฒนาพลังงานสะอาดให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต และการที่ภาครัฐให้แรงจูงใจในรูปค่า Adder ทำให้การพัฒนาพลังงานลม เป็นที่ดึงดูดสำหรับนักลงทุน ส่วนจีอีจะมีการร่วมทุนในระยะ ต่อไปหรือไม่นั้น จะมีการพิจารณาภายหลัง เมื่อการดำเนินงานในระยะแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว
-ที่ดินพุ่งรับกังหันลม
ด้านนายสถาพร สิริสิงห รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการ บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือเคทีซี เปิดเผยว่า ตนเองมีที่ดินอยู่ 80 ไร่ ที่ตำบลเทพพนา อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ได้รับการติดต่อขอเช่าที่ดินจากบริษัทผู้ทำการศึกษาเรื่องโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม โดยเบื้องต้นได้มีการทำสัญญาเช่าไร่ละ 200 บาทต่อปี หลังสำรวจพบว่าที่ดินอยู่ในเขตทิศทางลม และมีข้อตกลงว่าหากสำรวจเพิ่มเติมพบว่าอยู่ในพื้นที่ที่สามารถติดตั้งกังหันลมได้ก็จะจ่ายค่าเช่าไร่ละ 1,800 บาทต่อปี ขั้นสุดท้ายถ้าติดตั้งกังหันได้ก็จะจ่ายค่าเช่าให้ไร่ละ 30,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังจะจ่ายค่าชดเชยให้อีกส่วนหนึ่งหากต้องตัดต้นไม้ ขณะที่เจ้าของที่ดินก็ยังสามารถทำการเกษตรในที่ดินได้เหมือนเดิม
"เรื่องนี้ส่งผลให้ที่ดินในเขตเทพสถิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดิน ภ.บ.ท.5 ปรับราคาจาก ไร่ละ 2-3 หมื่นบาทเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ขึ้นมาเป็นไร่ละ 4-5 หมื่นบาท บางแปลงถ้าติดถนนจะปรับขึ้นไปถึงไร่ละ 1 แสนบาท และมีการซื้อขายกันคึกคัก เนื่องจากเห็นว่าถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวก็น่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้ เนื่องจากสภาพอากาศเย็นตลอดทั้งปี และอยู่กับแหล่งท่องเที่ยวทั้งป่าหินงามและทุ่งกะเจียว " นายสถาพรกล่าว
source : http://www.marinerthai.com/forum/index.php?topic=8217.0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น