วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้โซล่าเซลส์โตเร็วแต่คืนทุนช้า ต้องศึกษาให้ดีก่อนลงทุน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะผู้ประกอบธุรกิจที่มีความคิดหรือกำลังจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มองว่า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันของตนให้สูงขึ้น โดยต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการผลิต มีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าที่สามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งต้องมีแหล่งสนับสนุนทางการเงินที่มั่นคง เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะคุ้มทุน และที่สำคัญราคาเป็นสิ่งที่ผู้ขายกำหนดเองไม่ได้ ขณะที่ผู้ซื้อมีแนวโน้มที่จะปรับราคาขายให้ต่ำลงอีกในอนาคต

ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีการบริหารจัดการจากฝั่งต้นทุนที่ดีประกอบกับการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในระดับสากลที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้กับธุรกิจและนำมาซึ่งผลกำไร
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจควรจะคำนึงถึงคือภาวะของอุตสาหกรรม โครงสร้างตลาด บทบาทของผู้แข่งขันในตลาด โครงสร้างของรายได้และต้นทุน รวมทั้งแนวโน้มของตลาดในระยะข้างหน้า เพื่อที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตนให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีการบริหารจัดการจากฝั่งต้นทุนที่ดี ประกอบกับแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตลอดเวลาเพื่อให้มีความทัดเทียมกับมาตรฐานในระดับสากล เนื่องจากคู่แข่งไม่ได้มีแค่ในประเทศเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีปัจจัยสนับสนุน คือ การเติบโตต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม จำนวนของผู้แข่งขันในตลาดที่ยังน้อย มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่จูงใจ แนวโน้มระดับราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ขยับตัวสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเตา และถ่านหิน และนโยบายของรัฐที่อาจจะพิจารณาเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนขึ้นจากการชะลอแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สืบเนื่องจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น

ปัจจัยท้าทายสำหรับผู้ที่มีความสนใจเข้ามาในตลาดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย โครงสร้างของตลาดที่ผู้ซื้อไฟฟ้ามีจำนวนน้อยรายและมีอำนาจกำหนดราคา วิธีการ และปริมาณการรับซื้อ อีกทั้งต้นทุนในการสร้างและการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงและต้องใช้ระยะเวลาพอประมาณเพื่อคืนทุน (ประมาณ 8-10 ปี) ส่งผลให้ความมั่นคงทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ การเข้ามาร่วมทุนจากต่างประเทศจะเป็นแรงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่สามารถแสวงหาเทคโนโลยีจากผู้ร่วมทุนต่างชาติมีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือผู้ประกอบการรายอื่นๆได้ ส่งผลให้อัตราการแข่งขันอยู่ในระดับที่สูงขึ้น

ขณะนี้ภาคธุรกิจได้มีการทำสัญญาการขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีปริมาณจำหน่ายเข้าสู่ระบบแล้ว ณ ปัจจุบันที่ 55 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับปริมาณไฟฟ้าที่กำลังจะเสนอขายเข้าระบบในระยะอันใกล้นี้ คาดว่าภายในปี 55 จะมีปริมาณไฟฟ้าเข้าระบบทั้งสิ้นประมาณ 755-1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเกินเป้าหมายตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 15 ปี ซึ่งอยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ภายในปี 65 ไปมากเลยทีเดียว

นอกจากนี้หากหน่วยงานการไฟฟ้าสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นี้ได้ตามปริมาณเสนอซื้อทั้งหมด ก็จะสามารถทดแทนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าเดิม (PDP 2010) ไปได้ถึง 2 โรง

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีระดับสูงกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบทางเลือกพลังงานไฟฟ้าในกรณีที่ประเทศไทยไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ ทางเลือกหลักน่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และถ่านหิน แต่เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นดังรูปขณะที่เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มีโอกาสที่ต้นทุนจะต่ำลงอีกจากความก้าวหน้าทางวิทยาการทั้งยังเป็นพลังงานสะอาด จึงนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น