วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คุมเข้ม "ปั๊ม" ช่วงหน้าฝน สคบ. ปรามผู้ค้าตั้งหัวจ่ายน้ำมันไม่เต็มลิตร

สคบ. คุมเข้มปั๊มน้ำมัน หลังได้รับเรื่องร้องเรียนเพียบ เตือนประชาชนระวังเติมน้ำมันช่วงหน้าฝน อาจมีน้ำปนส่งผลเครื่องยนต์พัง ตั้งข้อสังเกตหัวจ่ายน้ำมันไม่เต็มลิตร เอาเปรียบผู้บริโภค งัดมาตรการสุ่มตรวจถี่เพื่อป้องปราม พร้อมแนะเทคนิคการตรวจสอบการให้บริการ และช่องทางที่อาจทำให้เสียเงินฟรี
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.เตรียมร่วมมือกับสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆ ช่วยประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนที่ใช้บริการเติมน้ำมันในปั๊มน้ำมันทั่วประเทศให้เฝ้าระวังการเติมน้ำมันในช่วงฤดูฝน เพราะอาจมีน้ำเข้าไปผสมทำให้เครื่องยนต์ขัดข้อง

ทั้งนี้ พบว่าที่ผ่านมามีผู้บริโภคบางรายไปเติมน้ำมันของปั๊มน้ำมันมีชื่อแห่งหนึ่งแล้วพบว่ามีน้ำปนอยู่กับน้ำมันในปริมาณมากทำให้เครื่องยนต์สตาร์ตไม่ติด ดังนั้น คงจะให้เครือข่ายให้ไปช่วยประชาสัมพันธ์ รณรงค์ และบอกต่อ รวมทั้งให้ภาคประชาชนที่ต้องเติมน้ำมันเป็นประจำคอยตรวจสอบปั๊มที่เข้าไปเติมน้ำมันด้วย หากไม่แน่ใจว่ามีน้ำเข้ามาปนอยู่กับน้ำมันหรือไม่ ก็สามารถเอารถเข้าไปที่ตรวจสอบที่สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีเครื่องมือช่วยตรวจก่อนก็ได้

นอกจากนี้ สคบ.ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหัวจ่ายน้ำมันที่เอาเปรียบผู้บริโภคด้วย เนื่องจากไม่มั่นใจว่าการกดน้ำมันออกมา 1 ลิตร จะได้จริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวคงต้องออกสุ่มตรวจ และคอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะกรณีการเติมน้ำมันไม่ครบปริมาณที่กำหนดจะทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรจากส่วนต่างของปริมาณน้ำมัน และเอาเปรียบผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สคบ.ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เฝ้าระวังการเติมน้ำมันแล้ว โดยเฉพาะวิธีการตรวจสอบการให้บริการ เช่น ผู้ใช้ควรลงจากรถมาดูที่หน้าจอของตู้น้ำมันว่าตัวเลขที่หน้าจอเริ่มต้นที่ 0.00 หรือไม่ก่อนที่จะเติมน้ำมัน

ผู้บริโภคควรตรวจดูหัวจ่ายน้ำมันด้วยว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกกำหนดไว้หรือไม่ หากมีรถเติมน้ำมันอยู่ก่อนแล้วให้ดูว่าวางหัวจ่ายในตำแหน่งที่กำหนดไว้หรือว่าถือรอโดยไม่วางหรือวางผิดตำแหน่ง

นอกจากนี้ สถานีบริการน้ำมันควรบอกราคาเป็นจำนวนตัวเลขมากกว่าที่จะบอกว่าเติมน้ำมันเต็มถัง เพราะถ้าหากเด็กปั๊มมีการกดปล่อยหัวจ่ายน้ำมันแรงเกินไปจะทำให้เกิดฟองขึ้นได้ ซึ่งระบบเซ็นเซอร์ของหัวจ่ายน้ำมันจะหยุดทำงานทันทีเมื่อสัมผัสกับฟองที่เกิดขึ้นหรือได้เพียงลมเปล่าๆ เท่านั้น ทำให้ได้ปริมาณน้ำมันไม่ตรงตามที่ต้องการ

ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้บริการยังสามารถขอให้สถานีบริการน้ำมันทดสอบความเที่ยงตรงของการจ่ายน้ำมันได้ โดยแต่ละสถานีจะมีการบริการทดสอบดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการไว้ทุกสถานีอยู่แล้ว
source : http://www.manager.co.th/Business/ViewNews.aspx?NewsID=9540000094782

โถใครจะเชื่อ ว่าไทยผลิตน้ำมันเป็นอันดับที่ 33 ของโลกแล้ว!


หลังจากได้รวบรวมความคิดและวิธีการนำเสนอแล้ว สิ่งแรกที่ผมนึกถึงคือเนื้อเพลงลูกทุ่งยอดนิยม “สามสิบยังแจ๋ว” ของ ยอดรัก สลักใจ ที่ว่า “โถใครจะเชื่อว่าแม่บุญเหลืออายุมากแล้ว สามสิบยังแจ๋ว แจ๋วเสียจนน่าจีบ”

ในที่นี้ก็คือว่า “โถใครจะเชื่อว่าไทยผลิตน้ำมันเป็นอันดับที่ 33 ของโลกแล้ว ใกล้เคียงกับประเทศเอกวาดอร์ ประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก”

ข้อมูลข้างต้นมาจากรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ” ของวุฒิสภาที่มี คุณรสนา โตสิตระกูล เป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาฯ

การส่งออกพลังงาน (ทั้งน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และคอนเดนเสท-ปิโตรเลียมเหลวที่ได้จากการเจาะก๊าซธรรมชาติ) ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงประมาณสิบปีมานี้ โดยที่ปี 2544 เป็นปีแรกที่เราเริ่มส่งออกน้ำมันดิบ และในอีก 3 ปีต่อมาเราก็เริ่มส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป สำหรับคอนเดนเสทนั้นมีการขนใส่เรือไปขายมาตั้งแต่เริ่มเจาะก๊าซในอ่าวไทยเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว

มูลค่าการส่งออกพลังงานในปี 2551 เท่ากับ 9,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยในขณะนั้นก็ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท (ตอนนั้น 33 บาทต่อดอลลาร์) ในขณะที่ประเทศเอกวาดอร์ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มโอเปก (กลุ่มที่มีสมาชิก 12 ประเทศ ซึ่งมีแหล่งน้ำมันดิบรวมกันเท่ากับ 79% ของโลก) มีการส่งออกพลังงานมากกว่าไทยเราเพียงนิดเดียวเท่านั้น

ถ้าพูดถึงการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เราถูกโฆษณาว่าจะ “โชติช่วงชัชวาล” ตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เอกสารของวุฒิสภาชิ้นนี้ระบุว่า ประเทศไทยเราผลิตก๊าซธรรมชาติได้เป็นอันดับที่ 27 ของโลก มากกว่า 2 ประเทศของสมาชิกกลุ่มโอเปก คือ ลิเบีย (ซึ่งสหรัฐอเมริกาเข้าไปแทรกแซงในสงคราม

กลางเหมือง) และคูเวต (ซึ่งสหรัฐอเมริกาหวงยิ่งนัก) เสียด้วยซ้ำ ถ้าเทียบกับมูลค่าการส่งออกข้าวหรือยางพารา (ในปี 2551) พบว่าเราส่งน้ำมันมากกว่าครับ

ผมถามจริงๆ นะครับว่า มีท่านผู้อ่านสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ได้ทราบความจริงเรื่องนี้มาก่อน ถ้าอย่างนั้นคงเห็นด้วยกับผมนะครับว่าเราต้องร้อง โถใครจะเชื่อ …

อย่างไรก็ตาม มูลค่าในการส่งออกพลังงานดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าเป็นพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศไทยทั้งหมด เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนสักนิดครับ ผมขออธิบายโดยย่อดังนี้ (1) มูลค่าพลังงานที่ส่งออก 90% เป็นน้ำมันสำเร็จรูป อีก 10% เป็นน้ำมันดิบที่ขุดในประเทศไทย (2) น้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดิบจากการนำเข้า มีบางส่วนเป็นน้ำมันดิบที่ขุดในบ้านเราเอง

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ยอดการส่งออกพลังงานเป็นการนับรวมทั้งน้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้น้ำมันดิบทั้งจากการนำเข้าและจากการขุดในประเทศ รวมทั้งการส่งออกน้ำมันดิบที่เจาะจากประเทศไทยด้วย

ดังนั้น เมื่อพูดถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศ (ที่มีมูลค่าประมาณถึง 70% ของจีดีพี) แท้ที่จริงแล้วเป็นการส่งออกสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากนำเข้า มูลค่าการส่งออกจึงไม่ได้สะท้อนความมั่งคั่งของคนในประเทศ เราจึงอย่าไปหลงดีใจกับตัวเลขหลอกๆ รวมทั้งแนวคิดลวงโลกเรื่องจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติด้วย

ถ้าเราอยากจะทราบว่า ประเทศไทยเราผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ (ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และใช้ในอุตสาหกรรมรวมทั้งรถยนต์) ว่ามีมูลค่าปีละเท่าใด ก็ต้องสืบค้น แต่เนื่องจากผมไม่ทราบข้อมูลจึงขอคิดย้อนกลับจากข้อมูลในตารางที่ 6.1-6 ของกระทรวงพลังงาน เรื่องรายได้ของรัฐบาลจากค่าภาคหลวง

พบว่าในปี 2553 รัฐบาลได้ค่าภาคหลวงจากกิจการปิโตรเลียมจำนวน 44,713 ล้านบาท ซึ่งค่าภาคหลวงหรือค่าสัมปทานนี้มีอัตราประมาณ 12.5% ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ทั้งหมด ดังนั้นเราสามารถคำนวณได้ว่า มูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากเขตประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 3.13 แสนล้านบาท

สิ่งที่เราสนใจก็คือ ผลผลิตปิโตรเลียมที่สะสมมานับล้านปีจากบรรพชนรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนมาถึงคนรุ่นเราที่มีมูลค่า 3.13 แสนล้านนั้น ถ้าแหล่งปิโตรเลียมนี้ตั้งอยู่ในประเทศอื่นๆ คนในประเทศนั้นควรจะได้รับส่วนแบ่งไปเท่าใด มากหรือน้อยกว่าที่ประเทศไทยเราได้รับคือ 12.5% หรือไม่ นี่คือคำถามที่บทความนี้จะต้องตอบครับ

รายงานของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาชิ้นเดิมระบุว่า ประเทศโบลิเวีย รัฐได้รับจากค่าภาคหลวงสูงถึง 82% ของยอดการผลิตก๊าซธรรมชาติ ประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างอินโดนีเซีย ก็ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากน้ำมันดิบที่ 85% และก๊าซธรรมชาติที่ 70%

จากการศึกษาค้นคว้าของผมเอง พบสหรัฐอเมริกาได้ค่าภาคหลวงอยู่ในอันดับที่ 93 จากทั้งหมด 104 ระบบ โดยได้รับในช่วง 12.5 ถึง 16.6% (มากกว่าไทย) และต่อมาได้ปรับเพิ่มเป็น 18.75% ซึ่งเขายังถือว่าต่ำเกินไป (ข้อมูลจาก United States Government Accountability Office หรือ GAO)

ที่น่าสนใจคือการคิดค่าภาคหลวงน้ำมันดิบของเมือง Alberta ประเทศแคนาดา โดยคิดอัตราค่าภาคหลวงตามราคาน้ำมันดิบ โดยที่เพดานได้กระโดดไปจาก 30% ไปอยู่ที่ 40% เมื่อราคาน้ำมันดิบเกิน $70 ต่อบาร์เรล

โดยสรุป ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมของประเทศไทยน่าจะอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราต่ำที่สุดในโลก ถ้าเราใช้อัตรา ที่ 30% รัฐบาลก็จะได้ค่าภาคหลวงประมาณ 107,300 ล้านบาท ไม่ใช่ 44,713 ล้านบาทอย่างที่เป็นอยู่

โถใครจะเชื่อ…ในชื่อบทความนี้ถือว่าเป็นข่าวดีของประเทศ แต่เมื่อสาวลึกถึงผลประโยชน์ที่คนไทยได้รับค่าภาคหลวงที่ต่ำที่สุดก็ถือเป็นเรื่องร้าย เรื่องเศร้าที่ไม่น่าเชื่อ มันชุ่ยและแสนทรามถึงเพียงนี้เชียวหรือ? มิน่าละ บริษัทยูโนแคล ที่ขุดเจาะก๊าซในหลายประเทศทั่วโลก แต่เกินกว่าครึ่งของกำไรของบริษัทแม่ มาจากประเทศไทยประเทศเดียวครับ!

ประสาท  มีแต้ม
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000094606

วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

งานส่งท้าย"ประเสริฐ" ลงทุนพลังงานแดนจิงโจ้



ก่อนที่ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะอำลาตำแหน่งซีอีโอปตท.

จึงนำคณะสื่อ มวลชนไปประชุมสัมมนาร่วมกับผู้บริหารกลุ่มปตท. เกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ในด้านถ่านหิน และก๊าซ ที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งปตท. ไปร่วมลงทุนที่นั่น

ประเทศออสเตร เลียเป็นทวีปเดียวในโลกที่ไม่มีนิวเคลียร์ แต่มีการส่งออกยูเรเนียมเกือบครึ่งหนึ่งที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก มีถ่านหิน 9% ของทั่วโลก เป็นอันดับที่ 9 ของโลกที่ผลิตพลังงาน อัตราการผลิตมี 35% และอัตราการใช้ต่ำกว่าพลเมืองของประเทศที่มีอยู่ประมาณ 22 ล้านคน

เชื้อเพลิงหลักๆ ของออสเตรเลีย คือ 1.ถ่านหิน ซึ่งมีมากที่รัฐควีนส์แลนด์และรัฐนิวเซาท์เวลส์ 2.ยูเรเนียม และ 3.ก๊าซ จึงเป็นที่สนใจของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ปตท. ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่สนใจลงทุนในออสเตรเลียเช่นกัน

นายประเสริฐ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงาน โดยการนำเข้ามีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของการใช้พลังงานโดยรวมที่คิดเป็นมูลค่า 1.8-1.9 ล้านล้านบาท/ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทำให้การนำเข้าพลังงานเป็นสัดส่วน 10% ของจีดีพี หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท/ปี ดังนั้น เพื่อความมั่นคงสร้างความยั่งยืนทางพลังงานให้กับประเทศไทย ปตท. จึงได้สรรหาทรัพยากร จากแหล่งพลังงานจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจไฟฟ้า โดยจะมุ่งการลงทุนไปที่การสำรวจและขุดเจาะเป็นหลัก

ทางปตท. ได้กำหนดนโยบายที่จะลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นโดยใช้บริษัท ปตท. อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัดและบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เพื่อจัดหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมโดยเน้นการลงทุน 3 ด้านหลักๆ คือ 1.การลงทุนธุรกิจเหมืองถ่านหินในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลียน บรูไน มาดากัสการ์ เป็นต้น 2.ก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่จะสร้างคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ (เอฟแอลเอ็นจี) ในออสเตรเลีย และ 3.โครงการผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ใช้พลังน้ำและถ่านหิน

ปัจจุบันกลุ่มปตท. ได้เข้าลงทุนสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ เหมืองถ่านหิน และพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ในออสเตรเลีย โดยใช้บริษัท ปตท. เอเชีย แปซิฟิค ไมนิ่ง (เอพีเอ็ม) และบริษัท ปตท.สผ. ออสตราเลเซีย (PTTEP Australasia) เป็นหัวหอกใหญ่ในการขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียม

ทั้งนี้ ธุรกิจถ่านหินนับเป็นธุรกิจใหม่ของปตท. ที่มีแนวโน้มสร้างรายได้ที่ดี เนื่องจากมีปริมาณสำรองถ่านหินทั่วโลกกว่า 120 ปี ขณะที่น้ำมันมีปริมาณสำรองเหลือเพียง 40 ปี และก๊าชธรรมชาติเหลือเพียง 60 ปี รวมทั้งถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกอีกด้วย

เป้าหมายการลงทุนในธุรกิจถ่านหินของปตท. จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 35-40 ล้านตัน ในปี"58 และขยายเป็น 70 ล้านตันต่อปี ในปี"63 โดยเน้นการขยายกิจการและขอสัมปทานใหม่ผ่านบริษัท ปตท. เอเชีย แปซิฟิค ไมนิ่ง ที่มีเหมืองในอินโดนีเซีย คือ เหมืองถ่านหิน Sebuku และเหมืองถ่านหิน Jembayan ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตถ่านหินกว่า 10 ล้านตัน/ปี ขณะที่มีประเทศที่ปตท. ถือสัมปทานถ่านหินอยู่ ประกอบด้วยบรูไน เกาะมาดากัสการ์ และมองโกเลีย

ส่วนธุรกิจแอลเอ็นจีนั้น นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานกรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า กลุ่มปตท. วางแผนสร้างเรือผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (เอฟแอลเอ็นจี หรือ floating LNG) คาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 2 ล้านตัน/ปี ในปี"59 ซึ่งจะผลิตในออสเตรเลีย โดยจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท เบื้องต้นเป็นการลงทุนร่วมระหว่าง ปตท.-ปตท.สผ. และ SBM/Linde ประเทศเยอรมนีร่วมศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้ โดยจะผลิตจากแหล่งแคชแอนด์เมเปิล ในออสเตรเลีย ซึ่งจะรู้ผลการเจาะสำรวจปริมาณสำรองได้ในปลายปีหน้า

การลงทุนครั้งนี้จะทำให้ปตท. สามารถจัดส่งก๊าซฯ กลับมาใช้ในประเทศไทยรองรับความต้องการแอลเอ็นจีที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และมีต้นทุนที่ถูกกว่าการนำเข้าแอลเอ็นจีจากประเทศอื่น เนื่องจากตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี มีแผนเลื่อนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไป ในขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังไม่ดำเนินการได้ตามแผน ดังนั้น ในระยะยาว ก๊าซจะเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกที่มีความจำเป็นมากขึ้น

ด้าน นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานโครงการต่างประเทศ ปตท.สผ. กล่าวว่า การที่ กลุ่มปตท. ลงทุนผลิต เอฟแอลเอ็นจี จะส่งผลดีต่อประเทศไทยเนื่องจากสามารถจัดหาก๊าซแอลเอ็นจีได้ในราคาถูกกว่าราคาในตลาดโลก ช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าเพื่อผลิตไฟฟ้าในอนาคต ทั้งนี้ ปริมาณความต้องการก๊าซแอลเอ็นจีในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านตัน/ปี ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 5 ล้านตัน/ปี

ส่วนโครงการผลิตน้ำมันดิบในแหล่งมอนทารา ประเทศออสเตรเลีย นั้นจะสามารถดำเนินการผลิตน้ำมันดิบปริมาณ 40,000 บาร์เรล/วัน ได้ในไตรมาส 1 ปี"55 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนที่ได้เลื่อนมาจากการซ่อมบำรุงภายหลังประสบอุบัติเหตุ

สำหรับแผนการลงทุนในช่วง 5 ปี ของปตท.สผ. นั้น จะให้ความสำคัญกับการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ ตลอดจนการรักษาระดับการผลิตเดิมที่มีอยู่ โดยได้ตั้งเป้ากำลังการผลิตปิโตรเลียมไว้ที่ 9 แสนบาร์เรล/วัน ภายในปี"63 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตประมาณ 3 แสนบาร์เรล/วัน

อย่างไรก็ตาม นายประเสริฐ ได้วางนโยบายเตรียมใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า ตั้งเป้ามีรายได้ 6.6 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันที่มีรายได้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อผลักดันให้ปตท. ติดอันดับอยู่ 1 ใน 100 อันดับแรกของบริษัทชั้นนำ จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูน จากปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 128

เป้าหมายที่ท้าทายนี้คงต้องส่งไม้ต่อให้กับนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ว่าที่ซีอีโอปตท. คนใหม่ ที่จะเริ่มงานหลังวันที่ 10 ก.ย.นี้

source : http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURObFkyOHlOVE14TURjMU5BPT0=&sectionid=TURNd05RPT0=&day=TWpBeE1TMHdOeTB6TVE9PQ==

AIS to Green (ทดสอบระบบ ติดตั้งกังหันลม บนเสาส่งสัญญานโทรศัพท์)

การนำไฟฟ้าจากพลังงานลม เพื่อทำหน้าที่เป็นไฟฟ้าร่วม กับ ไฟฟ้าหลัก หรือที่เรียกว่า ระบบ ไฮบริด หลักการนำไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าพลังงานกันหันมลม เมื่อมีไฟฟ้ามากพอที่เข้าระบบ เลี้ยงระบบการส่งสัญญาน จนกว่าจะไม่มีลม หรือไม่มากกว่าพอ ระบบก็จะพลักระบบไปใช้ระบบไฟฟ้าหลัก
AIS ถือเป็นเจ้าแรกที่นำพลังงานลม ที่ไม่วันหมด จากโลก มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งนั้นหมายถึง ลดการใช้ทรัพย์กรของประเทศ. ช่วยลด CO2 ของโลกมากกว่าหลายตัน ต่อปี และ ยังสามารถนำใช้กับพื้นที่ ที่ไม่มีไฟฟ้าหลัก หรือ มีกำจัด (remote area )

ข้อมูลเฉพาะ : Made in Thailand.
ขนาดความสูงของเสา : 77.7 ม.
ติดตั้งกังหันลมที่ความสูง: 45 ม.
ขนาดกังหันลม : 2.40 ม.
ขนาดไฟฟ้า : 48 V.
ขอขอบคุณ
เจ้าของ : บริษัท เอไอเอส อินโฟ เซอรวิส จำกัด
ทีมงาน วิศวะกร เอไอเอส : คุณ สันติ, คุณ เท็น , คุณเหมี่ยน และวิศวะกร ท่านอื่น
ที่ปรึกษา : คุณ บรรจง ขยันกิจ (กังหันลม) , คุณ ตราชัย (วิศวะระบบออกแบบอิเล็กทรอนิก)

 
source : http://thaiwindmill.com/?p=2301

ความรู้เกี่ยวกับ Wind turbine

ปัจจุบันนี้กังหันลมผลิตไฟฟ้าอยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากสื่อสารมวลชนนำเสนอข่าวความก้าวหน้าของกังหันลมผลิตไฟฟ้าในประเทศต่างๆ แรงจูงใจที่ทำให้ทีมงานตัดสินใจทำการพัฒนากังหันลมผลิตไฟฟ้าเนื่องจากข้อได้เปรียบของกังหันฯเมื่อเทียบกับเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) คือกังหันลมสามารถผลิตพลังงานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน (ตลอด 24 ชั่วโมง) ตราบเท่าที่มีลม ที่สำคัญที่สุดคือ"เราผลิตได้เอง"
ก่อนที่จะพูดถึงกังหันลมเราควรทำความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานดังนี้


กังหันลมผลิตไฟฟ้า กังหันลมผลิตไฟฟ้า คือเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (อาจเรียกว่าเครื่องปั่นไฟ) ขับเคลื่อนด้วยกังหันซึ่งใช้กำลังลมมาขับ ใบพัดทำหน้าที่รับกำลังลมมาเปลี่ยนให้เป็นแรงหมุน นำไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ใบพัดและเครื่องกำเนิดไฟฟ้ายึดติดเป็นชุดเดียวกัน ติดตั้งไว้บนเสาสูงเพื่อให้ได้กำลังลมแรง แล้วจึงต่อสายไฟลงมาใช้งาน

ข้อมูลพื้นฐาน
1) ความเร็วลมจากธรรมชาติจะแรงหรืออ่อนเราใช้หน่วยวัดความเร็วหลายอย่าง เช่นวัดเป็น ไมล์ต่อชั่วโมง (Mile/Hour mph) และ สามารถคำนวนลงมาเป็น ฟุตต่อนาที (Foot/Minute ft/min) หรือ วัดเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง (Kilometer/Hour km/h) และ สามารถคำนวนลงมาเป็น เมตรต่อวินาที (Meter/Second m/s) โดยการคำนวนดังนี้ ความเร็วลม กิโลเมตรต่อชั่วโมง คูณด้วย 1000 ให้กลายเป็นเมตรต่อชั่วโมง เมื่อหารด้วย 60 จะได้เป็นเมตรต่อนาที และ หารด้วย 60 อีกครั้งเพื่อให้เป็นเมตรต่อวินาที (Kilometer/Hour km/h x 1000 / (60 x 60) = Meter/Second)

ตัวอย่าง ความเร็วลม 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อคิดเป็นเมตรต่อวินาทีจะได้ 18 x 1000 / (60 x 60) = 5 เมตรต่อวินาที
ข้อมูลที่ควรจำ 1 เมตรต่อวินาที = 3.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง = 2.24 ไมล์ต่อชั่วโมง


2) ความเร็วลมระดับที่กังหันลมเริ่มหมุนออกตัวเรียกว่า ความเร็วลมเริ่มต้น (Starting Wind Speed) เนื่องจากระบบมีความฝืด (Friction) และ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวรอาจมีแรงหนืด (Cogging Force) บางครั้งอาจทำให้ระบบสตาร์ทได้ยากขึ้น (ความเร็วลมประมาณ 3-3.5 เมตรต่อวินาที)

3) ความเร็วลมระดับที่กังหันลมสามารถเริ่มต้นทำงานและผลิตไฟฟ้าได้เรียกว่า ความเร็วลมเข้าระบบ (Cut-in Wind Speed) แต่ในขณะนี้อาจได้กำลังน้อยหรือยังไม่ได้กำลังเลย (ความเร็วลมประมาณ 3.5-4 เมตรต่อวินาที)

4) ความเร็วลมระดับที่จ่ายกำลังได้เต็มพิกัดอย่างต่อเนื่องเรียกว่า ความเร็วลมเต็มพิกัด (Rated Wind Speed) นี่คือจุดที่กังหันลมผลิตไฟฟ้าได้ถูกออกแบบและทดสอบมา (ความเร็วลมประมาณ 10-12 เมตรต่อวินาที)

5) ความเร็วลมระดับสูงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้จำเป็นต้องหยุดการทำงานเรียกว่า ความเร็วลมตัดออก (Cut-out Wind Speed) การทำเช่นนี้เพื่อความปลอดภัยของระบบ (ความเร็วลมประมาณ 15 เมตรต่อวินาที)

6) ความเร็วลมระดับสูงสุดเท่าที่กังกันลมสามารถทนอยู่ได้ เรียกว่า ความเร็วลมสูงสุด (Maximum Wind Speed) ที่ความเร็วลมระดับนี้ ใบพัดกังหันลมต้องออกแบบให้หลบลม เพื่อป้องกันความเสียหาย (ความเร็วลมประมาณ 20 เมตรต่อวินาที)

หมายเหตุ กังหันลมผลิตไฟฟ้าโดยทั่วไปจะทำงานผลิตกระแสไฟฟ้าได้เต็มพิกัดที่ความเร็วลมประมาณ 10-12 เมตรต่อวินาที และถ้าความเร็วลมลดลงครึ่งหนึ่งเหลือประมาณ 5-6 เมตรต่อวินาที กำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้จะลดลงเหลือเพียง 1/8 (1 ใน 8) เท่านั้น (ดูรายละเอียดจากหัวข้อ การคำนวนกำลังที่ได้รับจากลม)

7) ขนาดของใบพัดกังหันลม นิยมพูดกันด้วยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง แทนที่จะบอกด้วยความยาวของใบพัด หรือรัศมีของใบพัด การวัดรัศมี คือวัดความยาวเริ่มตั้งแต่จุดศูนย์กลางของการหมุน (เพลา) จนถึงปลายของใบพัด เมื่อคูณด้วย 2 ก็จะเป็นเส้นผ่าศูนย์กลาง หน่วยความยาวที่วัดอาจเป็น ฟุต (Foot) หรือเป็นเมตร (Meter)

ตัวอย่าง ใบพัดกังหันลมที่มีขนาดความยาวรัศมีวัดจากจุดศูนย์กลางของเพลาจนถึงปลายใบพัดเท่ากับ 1.0 เมตร เราเรียกใบพัดนี้ว่าขนาด 2.0 เมตร (เส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับ รัศมี 1.0 ม x 2 = 2.0 ม)

8) ความเร็วในการหมุนของกังหันลมนับเป็นจำนวนรอบต่อนาที ถ้าเราไปยืนดูกังหันลมขนาดใหญ่ซึ่งกำลังหมุนอยู่ แล้วอยากรู้ว่าความเร็วรอบเท่าไร ให้ใช้นาฬิกาจับเวลาว่าภายในเวลา 1 นาที ใบพัดของกังหันลมหมุนผ่านเสากี่ครั้งแล้วหารด้วยจำนวนใบพัด ก็จะได้เป็นความเร็วรอบต่อนาที (ดูรายละเอียดจากหัวข้อ การคำนวนความเร็วรอบของใบพัด)

ตัวอย่าง ในการจับเวลา 1 นาที นับจำนวนครั้งที่ใบพัดหมุนผ่านเสาได้ 180 ครั้ง และกังหันลมเป็นชนิด 3 ใบพัด ความเร็วรอบในขณะนั้นเท่ากับ 180 / 3 = 60 รอบ/นาที

ข้อความตามข้อ 9 และ 10 นี้ บุคคลทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจ

9) กำลังของกังหันลมผลิตไฟฟ้า คือปริมาณไฟฟ้าที่เครื่องสามารถผลิตขึ้นมาได้ ขนาดเล็กจะบอกหน่วยกำลังเป็น วัตต์ (Watt) ถ้ากำลังสูงขึ้นเป็นขนาดใหญ่จะบอกเป็นกิโลวัตต์ (Kilowatt) 1 กิโลวัตต์มีค่าเท่ากับ 1000 วัตต์ การบอกกำลังนี้จะต้องกำกับด้วยว่า ณ.ความเร็วลมเท่าไร เวลานำไปใช้งานจริงกำลังที่จะได้รับจริงๆขึ้นอยู่กับความเร็วลม ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากกราฟแสดงกำลัง ณ.ความเร็วลมต่างๆ ของกังหันลมผลิตไฟฟ้าตัวนั้น

10) พลังงาน คือผลคูณระหว่างกำลัง คูณกับเวลาที่กังหันลมสามารถผลิตกำลังได้ ตัวอย่างเช่นผลิตกำลังได้ 250 วัตต์เป็นเวลา 4 ชั่วโมง สามารถคำนวนเป็นพลังงานได้ = 250 วัตต์ x 4 ชั่วโมง = 1000 วัตต์-ชั่วโมง หรือเท่ากับ 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือที่เรียกว่าพลังงานไฟฟ้า 1 หน่วย

การจำหน่ายหรือขายไฟฟ้า จะพูดถึงพลังงานเท่านั้น และจะซื้อขายกันเป็นจำนวนหน่วย (1 หน่วย = 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง)

ปัจจุบัน การไฟฟ้ารับซื้อพลังงานไฟฟ้าผลิตจากลมในราคาหน่วยละ 2.60 บาท + เงินเพิ่มให้เป็นพิเศษอีก 4.50 บาท รวมเป็น 7.10 บาท

11) ประจุไฟฟ้า ที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่ เราก็ใช้หน่วยวัดปริมาณ หรือพลังงานที่ประจุเก็บไว้เป็น วัตต์-ชั่วโมง หรือ กิโลวัตต์-ชั่วโมง (1 กิโลวัตต์ = 1000 วัตต์) เวลานำไปใช้งานก็จะสามารถคำนวนได้ว่า ถ้าใช้กำลังขนาดนี้ จะสามารถใช้งานได้นานเท่าไร

ตัวอย่าง พลังงานที่ผลิตได้ตามข้อ 10 เวลาใช้งานสมมุติว่าไช้เปิดเครื่องรับโทรทัศน์ที่กินกำลังไฟ 200 วัตต์ ก็จะสามารถใช้งานได้นาน 5 ชั่วโมง การคำนวน ระยะเวลาใช้งาน = พลังงานที่เก็บไว้ 1000 วัตต์-ชั่วโมง / กำลังที่ใช้งาน 200 วัตต์ = 5 ชั่วโมง

รูปแบบของกังหันลม
 
กังหันลมมีอยู่ 2 รูปแบบ คือกังหันลมแบบแกนตั้ง (Vertical Axis Wind Turbine หรือ VAWT) และกังหันลมแบบแกนนอน (Horizontral Axis Wind Turbine หรือ HAWT) ซึ่งต่อไปจะขอนำเสนอเฉพาะแกนนอน (HAWT) เนื่องจากมีใช้งานกันทั่วไป

กังหันลมแกนนอน มีจำนวนใบพัดได้ตั้งแต่ 1 ใบขึ้นไป และอาจเป็น 2, 3, 4, 5, 6, 12 หรือ 60 ใบ ซึ่งต่อไปจะขอนำเสนอเฉพาะแบบ 3 ใบ เนื่องจากมีใช้งานมากที่สุด

การคำนวนกำลังที่ได้รับจากลม กำลังที่ได้รับจากลม มีหน่วยเป็นวัตต์ (Power, Watt) สามารถคำนวนได้จากสูตร

Power (Watt) = 1/2 X Air density X Swept area X Wind velocity3

เมื่อ Air density คือ ความหนาแน่นของอากาศ ซึ่งมีค่าเท่ากับ 1.23 กิโลกรัมต่อลูกบาตรเมตร ที่ระดับน้ำทะเล
Swept area คือ พื้นที่วงกลมของใบพัด มีหน่วยเป็นตารางเมตร คำนวนได้จาก 22 / 7 X รัศมี2
Wind velocity คือความเร็วลม มีหน่วยวัดเป็น เมตรต่อวินาที (นำมายกกำลัง 3)

ตัวอย่าง การหากำลังสำหรับกังหันลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เมตร (r = 7.5) ที่ความเร็วลม 8 เมตรต่อวินาที

กำลังลม = 1/2 X 1.23 X (22 / 7 X 7.52) X 83
= 0.5 X 1.23 X 176.78 X 512
= 55,664 วัตต์ หรือ 55.664 กิโลวัตต์


หมายเหตุ กำลังที่ได้รับนี้เป็นกำลังที่ได้รับจากลม (ไม่ใช่กำลังไฟฟ้าที่ใช้ได้) ซึ่งต่อไปจะต้องขึ้นอยู่กับประสืทธิภาพของใบพัด (ประมาณ 45%) มีการสูญเสียกำลังในเกียร์ทดรอบ ประมาณ 5% (ประสิทธิภาพ 95%) และรวมทั้งประสิทธิภาพของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ประมาณ 85%) ซึ่งการสูญเสียทั้งหมดจะต้องถูกหักออกไปอีก จึงจะเหลือเป็นกำลังไฟฟ้าที่ใช้ได้ จากตัวอย่างข้างบน กำลังไฟฟ้าที่สามารถใช้ได้ = 55,664 X 0.45 X 0.95 X 0.85 = 20,226 วัตต์ หรือ 20.226 กิโลวัตต์


การคำนวนความเร็วรอบของใบพัด
 ใบพัดกังหันลมจะหมุนด้วยความเร็วรอบเท่าไรขึ้นอยู่กับปัจจัยสามอย่างคือ ความเร็วลม จำนวนใบ และความโตของใบพัด เราสามารถคำนวนความเร็วรอบได้ดังนี้


ความเร็วรอบ (RPM) = ความเร็วลม (m/s) X TSR X 60 / (22 / 7 X D)
หรือ = ความเร็วลม (m/s) X TSR X 60 X 7 / (22 X D)

เมื่อ TSR (Tip Speed Ratio) คืออัตราส่วนความเร็ว ณ.ปลายใบพัดเมื่อเทียบกับความเร็วลม ซึ่งใบพัดชนิดสามใบมีค่าเท่ากับ 5 เท่าของความเร็วลม
D คือขนาดเส้นผ่าศูณย์กลางของใบพัด (เมตร) นำมาคำนวนเป็นเส้นรอบวง โดยคูณด้วย 22 / 7

ตัวอย่างการคำนวนความเร็วรอบของใบพัดชนิดสามใบ ขนาดเส้นผ่าศูณย์กลาง 15 เมตร ณ.ความเร็วลม 8 เมตรต่อวินาที

ความเร็วรอบ = 8 X 5 X 60 X 7 / (22 X 15)
= 16800 / 330
= 50.90 รอบต่อนาที

หมายเหตุ จากสูตรการคำนวนนี้ ถ้าความเร็วลมลดลง ความเร็วรอบก็จะลดลงในอัตราส่วนเดียวกัน เช่นความเร็วลมลดลงจาก 8 เหลือ 6 เมตรต่อวินาที ความเร็วรอบก็จะลดลงจาก 50.90 เหลือ 38.175 รอบต่อนาที ซึ่งในกรณีที่ต้องการทดรอบเพิ่มขึ้นให้ได้ 1500 รอบต่อนาทีอาจต้องใช้เกียร์ทดอัตรา 1:40




เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator)


 
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับกังหันลมผลิตไฟฟ้าจำเป็นต้องออกแบบเป็นพิเศษ เนื่องจากความเร็วรอบของกังหันลมต่ำมาก อย่างเช่นกังหันขนาด 5 เมตร ชนิดใบพัด 3 ใบ ขณะลมอ่อน ลมปานกลาง และลมแรง จะมีความเร็วรอบประมาณ 100, 150 และ 200 รอบต่อนาทีตามลำดับ ฉะนั้นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจึงจำเป็นต้องมีจำนวนขั้วแม่เหล็ก (Pole) มากเพียงพอ เช่น 16 ขั้วเป็นอย่างน้อย 24 หรือ 36 ขั้วจะดีกว่า และ 48 หรือมากกว่าจะดีมาก จำนวนขั้วแม่เหล็กและความเร็วรอบจะส่งผลให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าผลิตความถี่ไฟฟ้า ความถี่ยิ่งสูงการเหนี่ยวนำไฟฟ้าจะยิ่งดีขึ้น เราสามารถคำนวนความถี่ได้จากสูตร

F คือความถี่ (Hz) = N คือความเร็วรอบ (รอบต่อนาที) x P คือจำนวนขั้วแม่เหล็ก (Pole) / 120

ตัวอย่าง เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิด 16 ขั้วแม่เหล็ก หมุนด้วยความเร็วรอบ 200 รอบต่อนาที จะได้ความถี่ = 200 x 16 /120 = 26.66 Hz

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของกังหันลมผลิตไฟฟ้าส่วนมากจะเป็นระบบไฟฟ้ากระแสสลับ ความถี่ แรงดัน และกำลังไฟฟ้าทางด้านไฟออกจะแปรผันอยู่ตลอดเวลา (ไม่คงที่) เนื่องจากความเร็วลมเปลี่ยนแปลง ทำให้ความเร็วรอบไม่คงที่ ฉะนั้นจึงไม่สามารถนำไฟที่ผลิตได้ซึ่งมีความถี่และแรงดันไม่คงที่มาใช้ได้โดยตรง แต่จะนิยมประจุเก็บเข้าแบตเตอรี่ แล้วจึงใช้ไฟจากแบตเตอรี่ซึ่งมีแรงดันค่อนข้างคงที่ ทั้งยังสามารถเก็บไว้ใช้ในเวลาที่ไม่มีลมได้อีกด้วย

แบตเตอรี่ (Battery) เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำหน้าที่ประจุ (ชาร์จ) พลังงานไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี่ เปรียบเสมือนการสูบน้ำเก็บไว้ในถัง เครื่องสูบน้ำสูบได้ปริมาณไม่มาก แต่สูบตลอดทั้งวันทั้งคืน ปริมาณน้ำจึงถูกเก็บไว้ในถัง ความจุของถังควรมากกว่าขีดความสามารถที่สูบได้เป็น 2 หรือ 3 เท่า ขนาดของแบตเตอรี่ก็เช่นเดียวกัน ควรมีความจุมากกว่าพลังงานที่ผลิตได้ในรอบวันสัก 2 หรือ 3 เท่า

ขนาดความจุของแบตเตอรี่ จะบอกเป็น แอมแปร์ชั่วโมง (Ampare-hour หรือ Ah) ตัวอย่างเช่นแบตฯที่ใช้ในรถยนต์ขนาดกลาง 70 Ah ผู้ผลิตจะมีข้อความแสดงไว้ว่า 12 V 70 Ah (20 HR) อย่างนี้หมายความว่าแบตฯลูกนี้เมื่อชาร์จไฟเต็มแล้ว สามารถใช้งานที่กระแส 3.5 แอมแปร์ได้นาน 20 ชั่วโมง (3.5 A x 20 hour = 70 Ah)

เครื่องเปลี่ยนระบบไฟ (Inverter) อินเวิร์ทเตอร์ ทำหน้าที่เปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรง (DC) จากแบตเตอรี่ ให้กลายเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) พร้อมทั้งปรับแรงดัน (Volt) ให้ได้ตามที่ต้องการใช้งาน เช่น 110V หรือ 220V และจะต้องมีขนาดกำลัง (วัตต์) เหมาะสมความต้องการใช้งาน อินเวิร์ทเตอร์ที่ดีจะมีระบบป้องกันจาก 1) การใช้โหลดเกินพิกัด (Overload) 2) อุณหภูมิของเครื่องสูงเกินกำหนด (Over temperature) 3) แรงดัน (โวลท์) ของแบตเตอรี่ต่ำกว่ากำหนด (Low battery voltage)
การนำอินเวิร์ทเตอร์ไปใช้งานกับโหลดประเภทมอเตอร์ ต้องพิจารณาว่าอินเวิร์ทเตอร์นั้นสามารถรองรับกำลังวัตต์กระชากจากการสตาร์ทของมอเตอร์ (Surge power) ได้เท่ากับหรือสูงกว่าที่มอเตอร์ต้องการหรือไม่
อินเวิร์ทเตอร์บางแบบมีระบบเปิดอัตโนมัติเมื่อมีโหลด และปิดอัตโนมัติเมื่อไม่มีโหลด (Automatic power ON-OFF) เพื่อลดการสูญเสียพลังงานแบตเตอรี่ขณะไม่ใช้งาน โดยไม่เปิดทิ้งไว้ตลอดเวลา

ชุดรองรับการหันเห (Yaw bearing) เนื่องจากกระแสลมจะเปลี่ยนทิศทางอยู่ตลอดเวลา กังหันลมจึงจำเป็นต้องปรับทิศทางตามลม ทำให้ต้องมีลูกปืนรองรับชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมทั้งใบพัด (Yaw Bearing) ทำให้สามารถปรับทิศทางได้รอบตัว และต้องมีหางเสือ (Tail Vane) เพื่อช่วยให้กังหันตรงทางลมอยู่เสมอในกรณีของกังหันแบบต้นลม (Upwind turbine) ซึ่งมีใบพัดอยู่ด้านหน้า แต่ถ้าเป็นกังหันแบบท้ายลม (Downwind turbine) แบบใบพัดอยู่ด้านหลังไม่จำเป็นต้องมีหางเสือ


********************************************************************************

โครงการฟาร์มผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด (Solar Farm) และกังหันลม (Windfarm)

 การผลิตไฟฟ้าด้วยแสงแดด และพลังงานลมได้รับการสนับสนุนจากทางราชการ โดยการไฟฟ้ารับซื้อพลังงานไฟฟ้าในราคาหน่วยละประมาณ 3.00 บาท พร้อมมีเงินเพิ่ม (Adder) ให้อีก 8.00 บาทสำหรับพลังงานแสงแดด และ 4.50 บาทสำหรับพลังงานลม กรณีพิเศษ ถ้าเป็นโครงการพลังงานลมซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการผลิตไฟฟ้าจากเครื่องยนต์ดีเซลอยู่ก่อนแล้ว (ทั้งนี้เพื่อลดการใช้น้ำมัน) และผู้ขายไฟเป็นผู้ผลิตขนาดเล็กพิเศษ (ไม่เกิน 50kW) จะได้รับเงินเพิ่มพิเศษอีก 1.50 บาทต่อหน่วย ทั้งหมดนี้เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ลงทุน การที่จะทำให้ใช้เงินลงทุนในโครงการต่ำที่สุด กังหันลมเพื่อผลิตและขายไฟให้แก่การไฟฟ้ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลิตในประเทศ และใช้เทคโนโลยีที่ไม่สูงหรือซับซ้อนมาก สามารถออกแบบสร้าง ติดตั้ง และซ่อมบำรุงได้ด้วยตนเอง จืงจะสามารถคืนทุนได้ในเวลาสั้นและยั่งยืนตลอดไป


การจ่ายไฟเข้าระบบ (Grid Connected) การจ่ายไฟเข้าระบบสายส่งของการไฟฟ้า สามารถทำได้เฉพาะกรณีเท่านั้น เช่นการทำสัญญาขายไฟให้กับการไฟฟ้า หรือเป็นการขออณุญาติต่อไฟเข้าระบบเพื่อเป็นการลดปริมาณการซื้อไฟจากการไฟฟ้า ตัวอย่างสองกรณีนี้เป็นระบบ Grid Connect ซึ่งสามารถใช้ Wind Turbine แบบต้นทุนต่ำ ไม่จำเป็นต้องมี แบตเตอรี่ และ Inverter แต่ใช้ระบบที่เรียกว่า อินดั๊กชั่น เจ็นเนอเรเตอร์ (Induction Generator) ทำให้งบประมาณการลงทุนต่ำกว่าครึ่งของระบบ Battery และ Grid connected Inverter ทั้งนี้เนื่องจาก Battery+Inverter มีราคาแพงกว่า Turbine เสียอีก โครงการฟาร์มกังหันลม (Windfarm) เพื่อผลิตและขายไฟให้แก่การไฟฟ้า สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ระบบนี้


อินดั๊กชั่น เจ็นเนอเรเตอร์ (Induction Generator) วิธีการนี้เป็นการผลิตไฟฟ้าโดยระบบเหนี่ยวนำแบบไม่ซินโครนัส (Asynchronous Induction Generator) ซึ่งใช้ไฟจากระบบ (Grid) เป็นตัวกระตุ้น (Exciting) ระบบนี้ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ ในอดีตมีใช้มานานแล้ว หลักการของระบบนี้เหมาะสำหรับการจ่ายไฟเข้าระบบสายส่ง (Grid Connect) เท่านั้น โดยไม่สามารถทำการผลิตไฟเพื่อใช้เอง (โดยไม่เกี่ยวข้องกับสายส่ง) เหมือนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบซินโครนัส (Synchronous Generator) โดยทั่วไปซึ่งมีระบบกระตุ้นด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในตัวเอง (Self Excited)



ตัวอย่างวงจรระบบควบคุม Induction Generator แบบ Single Line Diagram และ Wiring Diagram















ศักยภาพพลังงานลมของประเทศไทย

ลมในประเทศไทยมีความเร็วในระดับต่ำถึงปานกลาง โดยมีความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 6-8 เมตรต่อวินาที ณ.บริเวณรอบอ่าวไทย โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงไปจนถึงสุราษฎร์ธานี และระยะเวลาที่มีลมระดับปานกลางจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเรื่อยไปจนถึงเดือนเมษายน รวมเวลา 6 เดือน แต่จะมีลมอ่อนใน 6 เดือนที่เหลือ คือเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม ส่วนบริเวณที่มีศักยภาพสูงและมีลมแรงได้แก่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา


แผนที่ลมภาพแรกข้างบนนี้แสดงศักยภาพลมเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทย (Average)


การดูข้อมูลศักยภาพลมตามรูปข้างบนนี้ แสดงให้เห็นว่าศักยภาพของลมตามชั้นต่างๆตั้งแต่ 1.1 จนถึง 7 มีความเร็วลม ณ.ความสูงจากพื้นดินที่ 10 ม. 30 ม. และ 50 ม. แตกต่างกันไป

โปรดดูตัวอย่างต่อไปนี้

1.ถ้าต้องการความเร็วลมที่ 6 เมตรต่อวินาที เมื่ออยู่ในพื้นที่ศักยภาพลมระดับชั้น
   
 2 (สีเขียวอ่อน) จะต้องอยู่ที่ความสูง 50 เมตร
   3 (สีเขียวแก่) จะต้องอยู่ที่ความสูง 30 เมตร

4 (สีเหลือง) จะต้องอยู่ที่ความสูง 10 เมตร


     2.ถ้าต้องการความเร็วลมที่ 8 เมตรต่อวินาที เมื่ออยู่ในพื้นที่ศักยภาพลมระดับชั้น 

5 (สีชมพู) จะต้องอยู่ที่ความสูง 50 เมตร  
          
  6 (สีแดง) จะต้องอยู่ที่ความสูง 30 เมตร

7 (สีน้ำตาล) จะต้องอยู่ที่ความสูง 10 เมตร



ภาพด้านล่างนี้แสดงศักยภาพของลมในแต่ละเดือนตั้งแต่ มกราคม จนถึง ธันวาคม

January มกราคม February กุมภาพันธ์ March มีนาคม



April เมษายน May พฤษภาคม June มิถุนายน



July กรกฎาคม August สิงหาคม September กันยายน



October ตุลาคม November พฤศจิกายน December ธันวาคม



ปัจจุบันบริษัทในประเทศไทยที่ผลิต ติดตั้ง และจำหน่ายกังหันลมมีกี่บริษัท

บริษัทแบบเชิงพาณิชย์มีที่จ​ะพอแนะนำได้ดังนี้ครับ
1. บริษัทพระพายเอ็นจิเนียริ่งhttp://www.prapai.co.th/ab​outus.php
2. Thai Wind Turbine http://www.thaiwindturbine​.com/index.html
3. บ.ไทยวินด์ฟาร์ม http://thaiwindfarm.com/
สำหรับหากสนใจลงมือทำเอง
• พี่บรรจง นักทำ....กังหันลม....จากรา​ยการ “คนค้นฅน” บ.ไทยวิลมิลล์ http://thaiwindmill.com/




คลิปวิดีโอการทำงานของทุ่งกังหันลมผลิตไฟฟ้า ขนาด 100 kW
คำถามที่พบบ่อย  (FAQ)

A : โดยทั่วไปกังหันลมผลิตไฟฟ้าจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ตามแกนหมุนของกังหันลม คือ กังหันลมแกนหมุนแนวตั้ง และกังหันลมแกนหมุนแนวนอน โดยองค์ประกอบต่าง ๆ ของอุปกรณ์กังหันลมทั้งสองชนิดจะคล้ายคลึงกัน จะมีที่แตกต่างกันก็ตรงการวางชุดแกนหมุนใบพัด
ทั้งนี้กังหันลมแกนหมุนแนวตั้งมีการพัฒนาใช้งานในขนาดเล็กเป็นหลัก ส่วนขนาดใหญ่จะไม่ค่อยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเชิงพาณิชย์ โดยมีการใช้งานอยู่ประมาณร้อยละ 25 ของกังหันลมที่มีใช้งานในปัจจุบัน สำหรับกังหันลมผลิตไฟฟ้าแกนหมุนแนวนอนนั้น ชนิดที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและได้รับความนิยมในการใช้งานอย่างแพร่หลายในเชิงพาณิชย์มากที่สุดเป็นกังหันลมผลิตไฟฟ้าชนิดสามใบพัด ซึ่งมีการใช้งานมากถึงร้อยละ 75 ของกังหันลมที่มีใช้งานในปัจจุบัน




A : เนื่องจากประเทศไทยอยู่ใกล้เขตศูนย์สูตรจึงทำให้ได้รับแรงลมเฉลี่ยในระดับต่ำถึงปานกลางประมาณ 4 เมตรต่อวินาที ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากพลังงานลมในระดับดังกล่าว จึงต้องมีการพัฒนารูปแบบของกังหันลมผลิตไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมกับความเร็วลมที่มีอยู่ โดยที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่ได้ศึกษาพัฒนาและผลิตกังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำขึ้นเองเพื่อใช้งานในประเทศ ซึ่งกังหันลมที่ผลิตได้จะมีค่าลมเริ่มทำงาน (Cut in) ลมที่ผลิตพลังงานสูงสุด (Rated) และความสามารถในการผลิตได้เต็มกำลังการผลิต ที่มีความเหมาะสมกับความเร็วลมระดับต่ำถึงปานกลางของประเทศไทย ขณะที่กังหันลมที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้นเป็นกังหันลมที่ถูกออกแบบไว้ที่ความเร็วลมสูงกว่าประเทศไทยมาก ดังนั้นการใช้งานจึงไม่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่ เพราะการออกแบบกังหันลมให้มีกำลังผลิตสูงมากที่ความเร็วลมต่ำ จะไม่มีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม เื่นื่องจากพลังงานที่ได้จากลมจะเป็นสัดส่วนกับความเร็วลมยกกำลังสาม
นอกจากนั้นกังหันลมที่ผลิตขึ้นเองในประเทศยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่ากังหันลมที่นำเข้าจากต่างประเทศมาก จึงทำให้ในปัจจุบันได้มีการเลือกหากังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำมาติดตั้งใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้นในประเทศไทย ขณะที่การให้ความสำคัญในด้านพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนของผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัจจัยด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในอนาคต ก็จะผลักดันให้การติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกมากในอนาคตอันใกล้นี้


3. สถานที่แถบใดบ้างที่สามารถใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม

A : จากการศึกษาเพื่อหาความเร็วลมเฉลี่ยในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานพบว่า แหล่งศักยภาพพลังงานลมที่ดีของประเทศไทยมีความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 6.4 เมตรต่อวินาทีขึ้นไป ที่ระดับความสูง 50 เมตร ในแถบภาคใต้บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี และที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ อันเกิดจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และอีกแหล่งคือบริเวณเทือกเขาด้านทิศตะวันตกตั้งแต่ภาคใต้ตอนบนจรดภาคเหนือตอนล่างในจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดตาก อันเกิดจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนแหล่งที่มีศักยภาพรองลงมาจะมีความเร็วลมเฉลี่ยที่ 4.4 เมตรต่อวินาทีขึ้นไป ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งที่มีศักยภาพลมสูงที่สุด
อย่างไรก็ตามสำหรับการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้านั้น นอกจากจะต้องพิจารณาถึงศักยภาพของแรงลมบริเวณพื้นที่ติดตั้งแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพของกังหันลมที่นำมาใช้ติดตั้งด้วย เนื่องจากศักยภาพแรงลมของประเทศไทยนั้นจะไม่เหมาะกับการติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่ที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งต้องการความเร็วลมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12-15 เมตรต่อวินาที ทางเลือกที่เหมาะสมในการติดตั้งกังหันลมของประเทศไทยจึงควรเป็นระบบขนาดเล็กในช่วงกำลังระดับกิโลวัตต์ที่เหมาะสม โดยในส่วนของกังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำของพระพาย เทคโนโลยี นั้น ได้ออกแบบให้สามารถทำงานได้ที่ความเร็วลมต่ำ โดยมีค่าลมเริ่มทำงาน (Cut in) ที่ 2.5 เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นระดับความเร็วลมที่พบมากในแทบทุกพื้นที่ และจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการวิจัยค้นคว้าอย่างต่อเนื่องจึงทำให้การเลือกติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันสามารถได้ประสิทธิภาพในการผลิตเต็มกำลังการผลิต และมีความเป็นไปได้ในการติดตั้งใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น


4. การติดตั้งกังหันลมมีแบบไหนบ้าง

A : การติดตั้งกังหันลมมีหลายแบบ แต่ที่นิยมติดตั้งเพื่อใช้งานจริง มีอยู่ 2-3 แบบ คือ
  • การติดตั้งแบบ Home Stand Alone คือการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าแยกตาม load ต่าง ๆ ที่ต้องการใช้ไฟ
  • การติดตั้งแบบ Home Grid Stand Alone คือการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าป้อนจ่ายเข้าระบบสายส่งไฟฟ้าในบ้านเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้า หรือเพื่อขายกระแสไฟฟ้ากลับ (สำหรับบางประเทศ)
  • การติดตั้งแบบ Grid Wind Farm คือการติดตั้งกังหันลมจำนวนมาก ๆ หรือต้นใหญ่ ๆ ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูง เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้า หรือเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับบ้านเรือนหลาย ๆ หลัง

5. การติดตั้งแบบ Stand Alone จะต้องใช้อุปกรณ์ใดบ้างในการติดตั้ง

A : ระบบการติดตั้งแบบ Stand Alone นิยมติดตั้งในพื้นที่ที่ห่างไกลจากสายส่งหลักหรือชุมชน โดยไม่จำเป็นต้องเดินสายส่งเข้าสู่พื้นที่ที่ต้องการใช้งาน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการติดตั้งและค่าใช้จ่ายต่อหน่วยการใช้ไฟฟ้าถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการติดตั้งที่ต้องมีการเดินสายส่งไฟฟ้ามากกว่า 1 กิโลเมตรขึ้นไป
ในการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าระบบ Stand Alone จะประกอบด้วยชุดอุปกรณ์หลัก ๆ ดังนี้. - ระบบควบคุมการทำงานของกังหันลม (Wind Turbine Controller) ทำหน้าที่ควบคุมแรงดันไฟฟ้าและกระแสให้เป็นไปตามความต้องการที่ระดับความเร็วลมต่าง ๆ โดยกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพจะมีระบบป้องกันตัวเอง (Self Protection) เพื่อควบคุมการทำงานไม่ให้ความเร็วลมของกังหันลมมากเกินไปกว่าที่ได้ออกแบบไว้
- แบตเตอรี่ (Battery Bank) ทำหน้าที่เก็บพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากการทำงานของกังหันลม ซึ่งโดยทั่วไปแบตเตอรี่ที่ใช้จะมีแรงดันตั้งแต่ 12-48 โวลต์
- ชุดแปลงไฟฟ้า (Inverter) ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสตรง (DC) จากแบตเตอรี่ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) พร้อมทั้งปรับแรงดันโวลต์ให้ได้ตามความต้องการใช้งานของโหลด เช่น 110V หรือ 220V โดย Inverter แต่ละรุ่นแต่ละขนาดจะมีการทำงานแตกต่างกันออกไปตามความสามารถและภาระทางไฟฟ้าที่นำไปใช้งาน ดังนั้นหากต้องการใช้ไฟฟ้ากระแสสลับก็จะต้องมีการคำนวณภาระทางไฟฟ้าที่จะใช้งานเพื่อการคัดเลือก Inverter ที่เหมาะสมต่อไป


6. การติดตั้งแบบ Home Grid Stand Alone คืออะไร

A : การติดตั้งแบบ Home Grid Stand Alone คือการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าป้อนจ่ายเข้าระบบสายส่งไฟฟ้าในบ้านเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้า หรือเพื่อขายกระแสไฟฟ้ากลับ (สำหรับบางประเทศ)
โดยการทำงานของกังหันลมผลิตไฟฟ้าในระบบเชื่อมต่อนี้ เมื่อไม่มีลมหรือความเร็วลมไม่เพียงพอต่อการทำงานของกังหันลม เราก็จะใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่งตามปกติ และเมื่อกังหันลมผลิตไฟฟ้าทำงาน ก็จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้ามาใช้ทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่งปกติได้ นอกจากนี้สำหรับบางประเทศเมื่อกังหันลมที่ติดตั้งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้ามากเกินความต้องการ เราก็จะสามารถขายกระแสไฟฟ้ากลับคืนไปทางระบบสายส่งได้เช่นกัน


7. จะรู้ได้อย่างไรว่าที่บ้านมีลมเพียงพอ หรือมีวิธีวัดลมได้อย่างไร

A : ในการพิจารณาสภาพของลม ณ ตำแหน่งที่ต้องการนั้น จะประกอบด้วยปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือความเร็วลมและทิศทางลม ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทราบถึงความเร็วลมในแต่ละช่วงเวลา และพลังงานลมที่จะผลิตได้ต่อเดือนและต่อปี โดยในการวัดความเร็วลมนั้นจะประกอบด้วยเครื่องมือ 2 ชนิด คือ เครื่องมือวัดความเร็วลม (Anemometer) และเครื่องบันทึกความเร็วลม (Wind Data Logger) การทำงานของอุปกรณ์จะเริ่มเมื่อมีอากาศไหลผ่านซึ่งทำให้แขนของเครื่องวัดความเร็วลมหมุนด้วยความเร็วลมเชิงเส้นในอัตราใกล้เคียงกับความเร็วของอากาศที่ไหลผ่าน หลังจากนั้นข้อมูลก็จะถูกส่งไปยังเครื่องบันทึกความเร็วลม และด้วยข้อมูลดังกล่าวก็จะช่วยให้เราสามารถประมาณค่าความเร็วลมในแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้สามารถเลือกกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่เหมาสมได้ต่อไป


8. กังหันลมผลิตไฟฟ้าจะสามารถลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างไร เป็นจำนวนเท่าไร

A : ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) ที่เกิดขึ้นมากที่สุดจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล หรือการเผาทำลายป่า โดยการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อให้บริการแก่บ้านเรือนหรือโรงงานอุตสาหกรรม ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ต้องนำเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ มาผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้ความร้อน และก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ขึ้น
ตารางที่ 1 การประเมินการผลิตไฟฟ้าสายส่งของประเทศในปี 2006 โดย EGAT


ที่มา: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

ทั้งนี้ จากการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ที่แสดงในตารางที่ 1 จะได้ว่ามีการปล่อย CO2 จากการผลิตไฟฟ้าในปี 2006 ประมาณ 87,700,079 ตัน ซึ่งสามารถนำไปคำนวณค่าการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 emission factor) ของการผลิตไฟฟ้าได้ดังนี้

จากค่าที่คำนวณได้ หมายความว่าทุก ๆ 1 MWh ของการผลิตไฟฟ้า จะเกิดก๊าซ CO2 เท่ากับ 0.624 ตัน ซึ่งค่าดังกล่าวจะสามารถนำไปประเมินความสามารถในการลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากการใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าได้ดังนี้
สมมติให้ใน 1 วัน กังหันลมผลิตไฟฟ้าสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้รวม 10,000 วัตต์ (10 กิโลวัตต์ หรือเท่ากับ 10 หน่วยไฟฟ้า) จากการคำนวณโดยใช้ค่าการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าข้างต้นจะได้ว่า


CO2 ที่สามารถลดได้
=
.
ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ (MWh)
x การเกิดก๊าซ CO2 ต่อการผลิตไฟฟ้า 1 MWh
=
0.01 x 0.624
=
.
0.00624 ตันคาร์บอนฯ (tCO2)
หรือเท่ากับ 6.24 กิโลกรัมคาร์บอนฯ ต่อวัน

สรุปได้ว่าหากภายใน 1 วัน กังหันลมผลิตไฟฟ้าสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 10,000 วัตต์ ก็จะสามารถช่วยลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซต์ที่เกิดจากการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เท่ากับ 6.24 กิโลกรัมคาร์บอนฯ ต่อวัน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดมลพิษให้แก่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากต่างประเทศอีกด้วย


9. ติดตั้งกังหันลมแล้วจะลดค่าไฟฟ้าได้เท่าไหร่ และจะคุ้มทุนเมื่อไหร่

A : กังหันลมผลิตไฟฟ้าจะสามารถผลิตและลดค่าไฟฟ้าได้เท่าไหร่ขึ้นอยู่กับขนาดของกังหันลมที่ใช้และสภาพลมในพื้นที่ที่ทำการติดตั้ง เช่น สมมติให้ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 1000 วัตต์ โดยมีกำลังการผลิตเฉลี่ย 40% ในพื้นที่ที่มีความเร็วลม 3-6 เมตรต่อวินาที และคำนวณการไหลของลมใน 24 ชั่วโมง นำมาใช้เพียงแค่ 10 ชั่วโมง จะสามารถคำนวณหน่วยไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ดังนี้

หน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อวัน
=


ขนาดของกังหันลม x กำลังการผลิตเฉลี่ย
x ระยะเวลาของแรงลมที่นำมาใช้
=
1000 x 40% x 10
=
4000 kW/hr (4 ยูนิตไฟฟ้า)
ดังนั้นกังหันลมจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 4000 kW/hr หรือ 4 ยูนิตไฟฟ้าใน 1 วัน โดยหากมีการเปิดใช้ไฟฟ้าวันละ 10 ชั่วโมง ก็จะสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้กับระบบแสงสว่างภายในที่พักอาศัยด้วยหลอดฟลูออเรสเซนต์ขนาด 18 วัตต์ ได้ถึง 22 หลอด ซึ่งโดยปกตินั้นการใช้ไฟฟ้าภายในที่พักอาศัยจะใช้ไฟส่องสว่างเพียง 3-5 หลอดเท่านั้น จึงทำให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เพียงพอสำหรับระบบแสงสว่าง อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ เช่น พัดลม ได้อีกด้วย
ในส่วนของความคุ้มทุนจากการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้านั้นจะสามารถพิจารณาได้จากลักษณะการติดตั้งกังหันลมดังนี้
.
- กรณีติดตั้งในพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้า การติดตั้งกังหันลมในลักษณะนี้เป็นการติดตั้งในระบบ Stand Alone เหมาะกับการติดตั้งใช้งานในพื้นที่ห่างไกลจากระบบสายส่ง เช่น ตามชนบท หรือเกาะต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับการติดตั้งที่ต้องมีการเดินสายส่ง นอกจากนี้การติดตั้งแบบ Stand Alone ยังคุ้มค่าต่อการลงทุนและเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบดีเซล ที่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนเริ่มต้นสูง อีกทั้งยังก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
. - กรณีติดตั้งในพื้นที่ที่มีสายส่งไฟฟ้า การติดตั้งกังหันลมในกรณีนี้ส่วนใหญ่เป็นการติดตั้งในระบบเชื่อมต่อกับสายส่ง (Grid Connected) ซึ่งเป็นระบบที่ได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่รัฐบาลมีโครงการสนับสนุน เนื่องจากการติดตั้งในระบบนี้จะช่วยลดค่าไฟฟ้าจากการใช้ไฟฟ้าในระบบสายส่งปกติ ขณะที่ไฟฟ้าที่เหลือใช้ก็สามารถนำไปขายคืนได้อีกด้วย นอกจากนี้หากเกิดเหตุการณ์ที่ไฟฟ้าดับเป็นระยะเวลานาน ๆ ไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็จะเป็นแหล่งพลังงานสำรองที่มีมูลค่าและคุ้มค่าต่อการลงทุนมาก

ในส่วนของประเทศไทยนั้นหากรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้การสนับสนุนโครงการด้านพลังงานลมอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษี หรือการสนับสนุนภาระค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ความคุ้มค่าในการลงทุนติดตั้งกังหันลมมีมากขึ้น ขณะที่ทางเลือกในการติดตั้งทุ่งกังหันลม (Wind Farm) ก็จะมีระยะเวลาคืนทุนที่เร็วขึ้นจากการขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้แก่การไฟฟ้า รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิตของโครงการ


A : กังหันลมผลิตไฟฟ้าจะผลิตไฟฟ้าได้เมื่อมีความเร็วลมจนถึงระดับ Cut-In คือเพียงพอต่อการหมุนของรอบ Generator ซึ่งหากไม่มีลมหรือลมไม่เพียงพอกังหันลมก็จะไม่หมุน ซึ่งเป็นธรรมชาติของลมที่ไม่ได้พัดตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
สำหรับวิธีที่จะให้มีไฟฟ้าต่อเนื่องสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
  1. ใช้ระบบ Hybrid Wind + Solar โดยเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใน Battery
  2. ใช้ระบบควบคู่กับ Generator หากไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลมและที่เก็บสำรองไว้ลดลง Generator ก็จะทำงานทดแทน
  3. ใช้ระบบ Source Transfer Switch (STS) ซึ่งเหมาะกับสถานที่ที่มีสายไฟฟ้าปกติเข้าถึง โดยสามารถเลือกการใช้งานได้จากกังหันลมเป็นหลัก และหากลมไม่มีก็สามารถสลับไปใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้า (หรือไฟฟ้าในบ้าน) แทน หากลมมาก็ให้สลับกลับมาใช้จากกังหันลมแทน

ชุดญี่ปุ่น ตอน การพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ประเทศญี่ปุ่นจะยังไม่ผ่านพ้นวิกฤตการณ์จากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมา  แต่ญี่ปุ่นก็แสดงให้เห็นอีกด้านหนึ่งว่า ผลพวงจากการปิดตัวลงของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมา ซึ่งส่งผลให้เกิดการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ ญี่ปุ่นก็สามารถแก้ปัญหาและนำพลังงานไฟฟ้าในส่วนอื่นเข้ามาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว


ญี่ปุ่นได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างขีดสุดในทุกๆ ด้าน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้สิ่งหนึ่งที่เราพบคือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามญี่ปุ่นจะต้องมีการวางแผนในรูปแบบระยะยาวเสมอ ทั้งนี้เรื่องของพลังงานก็เช่นเดียวกัน ซึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน นั่นก็คือการให้ความสำคัญกับ 3 สิ่งด้วยกัน คือ สิ่งแวดล้อม ชุมชน และความมั่นคงทางพลังงาน

นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นมีนโยบายในการฟื้นฟูประเทศ ด้วยการเปิดประเทศและการพัฒนาอุตสาหกรรมทุกรูปแบบ ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบปีหลังจากนั้น สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลก นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นคิดค้น ทำให้เกิดสินค้าที่มีจุดเด่นทางด้านความล้ำสมัยและมีราคาถูกกว่าสินค้าจากฝั่งตะวันตก จึงทำให้อุตสาหกรรมเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก

แต่ในอีกด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมก็นำมาซึ่งมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้เองญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก


ประเด็นเรื่องของภาวะโลกร้อนคือประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ได้เริ่มส่งผลโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ จึงเป็นที่มาในการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันหาทางออกในเรื่องดังกล่าว ซึ่งญี่ปุ่นในฐานะประเทศสมาชิกและได้มีส่วนในการผลักดันแนวคิด Low Carbon Society หรือ “สังคมคาร์บอนต่ำ” ซึ่งประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ องค์ประกอบแรกสุด คือ ภาคการผลิต จะต้องพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการให้ปล่อยของเสียออกสู่ธรรมชาติน้อยที่สุด องค์ประกอบที่สอง คือ ภาคการบริโภค จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าและการบริการ โดยต้องคำนึงถึงความจำเป็นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และองค์ประกอบสุดท้าย คือ มนุษย์ จะต้องเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติให้มากที่สุด ดังนั้นมนุษย์จะต้องบำรุงรักษาธรรมชาติเพื่อให้อยู่คู่กับเราตลอดไป


ตัวอย่างที่สำคัญในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำในประเทศญี่ปุ่น นั่นก็คือภาคการผลิตพลังงาน จากการที่เราได้มีโอกาสเดินทางไปดูการทำงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดทาเคฮาราในจังหวัดฮิโรชิมา เราพบว่าที่นี่คือหนึ่งในโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สามารถเป็นแบบอย่างได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นขุมพลังในการสร้างความมั่นคงทางไฟฟ้าแล้ว กระบวนการในการผลิตยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนในการนำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิง แน่นอนว่าการเผาไหม้ย่อมส่งผลให้เกิดมลพิษตามมา แต่ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ได้นำเอาเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาใช้ จึงส่งผลให้ไม่เกิดปัญหาทางมลพิษใดๆ นอกจากนี้การบริหารงานด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ คือสิ่งที่ทำให้ชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้าเกิดความเชื่อมั่นและยอมรับ โดยตัวอย่างที่เราเห็นก็คือ ทางโรงไฟฟ้าได้มีการติดตั้งอุปกรณ์วัดค่ามลพิษทางอากาศ ซึ่งสามารถเข้าไปเช็กผลออนไลน์ได้ทางอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง หรือจะเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่ชุมชนสามารถเข้าไปเยี่ยมชมและศึกษากระบวนการในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และนอกจากนี้การเข้ามาของโรงไฟฟ้ายังได้ช่วยทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน ซึ่งจากกระบวนการทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดการเข้าใจซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าก็เข้าใจและตระหนักดีว่า โรงไฟฟ้าคือส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ และโรงไฟฟ้าก็ตระหนักดีว่า ชุมชนคือส่วนที่ใกล้ชิดกับโรงไฟฟ้ามากที่สุด ดังนั้นไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามจะต้องไม่ให้ชุมชนได้รับผลกระทบมากที่สุดนั่นเอง และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นปราศจากปัญหาและได้รับการยอมรับจากประชาชน


เมื่อพูดถึงประเทศไทยเรื่องของความมั่นคงทางพลังงาน ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ได้รับการพูดถึงไม่มากนัก แต่หากมองในระยะยาวแล้วกลับเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วนไม่แพ้วาระอื่นๆ ซึ่งจากกรณีของประเทศญี่ปุ่นนั้น คุณสุมิต วงศ์แสงจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นได้สะท้อนให้เห็นถึงการวางแผนในระยะยาว เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีวินัยและความรับผิดชอบสูง ดังนั้นในส่วนของการพัฒนาโรงไฟฟ้า จึงได้มีการวางแผนในระยะยาวมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการที่โรงไฟฟ้าเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้าง ซึ่งจากกระบวนการที่ได้กล่าวมานี้ได้ทำให้เกิดความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งในอนาคตบทบาทของถ่านหินในประเทศไทยก็จะมีมากขึ้นเหมือนเช่นญี่ปุ่น เพราะถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีความเหมาะสมที่สุดในขณะนี้ ดังนั้นการได้ศึกษาและเรียนรู้กรณีของญี่ปุ่น จึงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศไทยในการนำมาปรับใช้ ซึ่งในอนาคตแน่นอนว่าเราจำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพราะการมีส่วนร่วมระหว่างกันนี่เองที่จะทำให้การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยเกิดความยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการพัฒนาในระยะยาว


ท้ายที่สุดนี้ การพัฒนาพลังงานในประเทศไทยอาจจะต้องใช้เชื้อเพลิงหลายชนิดร่วมกัน คงไม่มีอะไรดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด แต่สิ่งสำคัญที่เราจะต้องขบคิดกันต่อไปว่า ในแต่ละครอบครัวมีจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกวัน เรามีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งก็ส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่อพูดถึงการผลิตแล้วเรายังคงมีเท่าเดิม ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกันหาทางออกอย่างจริงจัง อย่ารอช้าจนถึงเวลาที่ไฟฟ้าในประเทศไทยขาดแคลน

source : http://www.posttoday.com