วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

เรื่องขี้ๆ! แต่มีดี ขี้วัวทำเงิน บทบาทวิถีชุมชนพอเพียง


นั่งฟางแทนโซฟาแกะกินเมล็ดบัวจากฝักสดๆ สูดอากาศธรรมชาติใต้ต้นมะขามใหญ่กับวิถีชีวิตชาวบ้านห้วยบง ตำบลป่าเซ่า อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่จัดเตรียมต้อนรับคณะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้ร่วมเป็นแรงผลักดันสร้างชุมชนเข้มแข็งและคณะอาจารย์จากมหาวิทาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ผู้ถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนบรรยากาศรายล้อมไปด้วยชาวบ้านและกลิ่นอายแนบชิดแอบอิงธรรมชาติช่างเป็นภาพของการต้อนรับที่อบอุ่นและน่าประทับใจ

“ขอต้อนรับสู่หมู่บ้านวิทยาลัยวัย” ผศ.ดร.เจษฎา มิ่งฉาย แห่งคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ พูดขำๆ แต่เรื่องนี้ไม่ขำ ทั้งยังน่าเรียนรู้

“จะปลูกพืชต้องเตรียมดิน จะกินต้องเตรียมอาหาร จะพัฒนาต้องเตรียมคน จะพัฒนาใครเขา ต้องพัฒนาที่ตัวเราเองก่อน”

นี่คือหนึ่งรูปแบบของความคิดผู้นำ ที่สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่ชุมชนจากการแปลงเรื่องขี้วัวทำให้มีค่ามหาศาลได้ ด้วยการนำขี้วัวมาทำแก๊สเพื่อใช้หุงต้มเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวและเพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดคุณค่ามากที่สุด

ผศ.ดร.เจษฎากล่าวก่อนเริ่มโครงการอาจารย์และทีมนักวิชาการเข้าไปประเมินศักยภาพในด้านต่างๆของบ้านห้วยบงและได้พบกับสิ่งที่ชาวบ้านมองข้าม จากความเคยชิน

“คิดดูมีวัวตั้ง 800 ตัว วัวหนึ่งตัวขี้ประมาณ 6 กิโลกรัม แล้วในพื้นที่จะมีกี่ตันต่อวัน เมื่อก่อนชาวบ้านก็แค่ตากแห้งขาย ทำปุ๋ย ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่นักวิจัยในคณะฯ มาประชุมกันว่า ถ้าเราเอาวัวเป็นตัวตั้ง เหมือนใช้วัวเป็นศูนย์กลางเราจะพัฒนาอะไรได้บ้าง”

จากความคิดวิเคราะห์จนก่อเกิดเป็นการพัฒนาเพื่อชุมชนขึ้นเป็นแก๊สที่ใช้ในครัวเรือนจากขี้วัว

“โดยเฉลี่ย คนบ้านห้วยบงใช้แก๊สเฉลี่ย 2 เดือน ต่อ 1 ถัง ต่อ 1 ครัวเรือน เป็นเงิน 300 บาท มาใช้ตรงนี้ สามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้เฉลี่ย 100-150 บาท ของเสียที่ออกมาจากระบบการทำแก๊ส ยังนำมาทำปุ๋ยได้ เพราะขี้วัวนำมาใส่ต้นไม้เลยทำให้หญ้าขึ้นเยอะ ขี้วัวมันใช้ลดต้นทุนการผลิตได้ จึงเป็นการพัฒนาคนโดยใช้วัวเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา”

ซึ่งจากข้อมูลพื้นฐานทะเบียนเกษตรกรรายครัวเรือน ปี 2553 พบว่าบ้านห้วยบงหมู่ที่ 7 มีผู้เลี้ยงโคเนื้อรวม 45 ราย มีโคเนื้อลูกผสมอเมริกัน-บราห์มันและพันธุ์พื้นเมืองรวมกันกว่า 778 ตัว

เราต้องหาความรู้ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่ความรู้ในแล็บ เป็นความรู้จากพื้นที่ เอาคนในชุมชนมาเป็นนักวิจัยท้องถิ่นทำในสิ่งที่ไม่ยุ่งยากเกิดเป็นรูปแบบงานวิจัยในการผลิตแก๊สชีวภาพครบวงจรสำหรับบ้านห้วยบง เป็นเทคโนโลยีที่สามารถทำเองได้ ประดิษฐ์เองได้ ดูแลเองได้ ซ่อมเองได้

ซึ่งผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา จินดา มาฮาด เป็นหนึ่งในการคว้าโอกาสทองนี้ไว้ให้แก่คนในชุมชน เพราะตอนแรกเขาก็เหมือนหน่วยกล้าตายลุยใช้แก๊สขี้วัวเองก่อน แต่ตอนนี้มีทั้งหมด 18 ครัวเรือนที่ใช้ จาก 200 หลังคาเรือน ที่เหลือยังไม่เคยใช้เพราะบางคนยังไม่มั่นใจ

“แรกๆ มันก็น่ากลัวนะ กลัวตูมตาม แต่พอมีความรู้จริงๆ มันไม่อันตราย เราสามารถดูแลได้แถมใช้แทนแก๊สถังได้เลยนะ แต่ยังไงเราก็ควรมีสำรองไว้ด้วย ผมนี่อย่างเคยใช้อยู่ 2 เดือนต่อถัง ก็ขยับไปเป็น 4 เดือน แก๊สจากขี้วัวไม่เหม็นด้วย ปิ้งปลาอะไรก็ได้ รสชาติอาหารไม่เสีย”

เมื่อท้าอย่างนี้ ก็ต้องขอลองพิสูจน์กันดูหน่อยว่าจะออกมาอร่อยอย่างที่แม่บ้านของที่นี่การันตีไว้หรือไม่ แม่บ้านผู้ใหญ่รีบจับกระทะวาดฝีไม้ลายมือโชว์ทอดไข่ให้กินทั้งไข่ดาว ไข่เจียว นอกจากนั้นผู้ใหญ่บ้านยังบอกอีกว่า ที่นี่มีทรัพยากรสนับสนุนไม่ใช่ทำแก๊สแล้วก็จบ เพราะหมู่บ้านแห่งนี้จัดตั้งธนาคารขึ้นเองแต่ไม่ได้มีไว้ฝากเงิน แต่เป็นธนาคารฝากขายขี้วัว เพื่อให้เกิดเป็นการค้าแบบมืออาชีพจึงขายเชิงพาณิชย์ที่เป็นระบบ

“เราได้รับการเรียนรู้ ประชาคมกับทางมหาวิทยาลัย เลยคิดตั้งธนาคารขี้วัวเป็นจุดจำหน่ายแห่งเดียวในหมู่บ้าน เราจะกำหนดราคาได้เสมอกัน มีการถือหุ้น หุ้นละ 20 บาท ลูกค้ามาซื้อ เงินที่ได้ก็จะมีการแบ่งปันผลกันระหว่างสมาชิก”

เมื่อถามผู้ใหญ่บ้านว่า อะไรคือสิ่งที่อาจารย์ซื้อใจชาวบ้านให้มาช่วยกันพัฒนาในเรื่องนี้

“มันคือสิ่งดีๆ ที่นำมาให้เราและก็ใช้ได้ผล ส่วนศัพท์แสงทางวิชาการยากๆ เราก็ใช้ความจำเอาเพราะไม่ได้เรียนมา ของอย่างนี้มันเรียนรู้กันได้ จริงๆ ก็ไม่ได้เป็นคำอะไรยากมากด้วยถ้าอยากมาทำบ้างก็มาดูที่หมู่บ้านเราได้เลย”

แม้เป็นชาวบ้านแต่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นแม้เรื่องที่คิดว่าทำได้ยากก็กลายเป็นง่ายได้

“ของแบบนี้มันไม่ใช่ใครสอนใคร แต่คือการเรียนรู้ร่วมกันนี่คือหัวใจการทำงานเชิงพื้นที่”

ขณะเดียวกัน พัชราพร อ่อนสำรวย นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เองก็มองว่า ได้เรียนรู้จากของจริงไม่ใช่ขีดๆ เขียนๆ อยู่แต่ในห้องเรียน

“ชอบลงพื้นที่มากกว่า เพราะมองว่าในห้องเรียนมันไม่เห็นภาพจริง ถึงแม้ว่าเราจะมีแล็บที่ทันสมัยเพียงใด แต่มันต้องออกมาดูข้างนอกบ้าง เพราะเราโชคดีที่มีแปลงปฏิบัติการใหญ่เท่ากับจังหวัดหนึ่งจังหวัด”

ด้าน ผศ.ดร.เจษฎา กล่าวเสริมว่า ขณะเดียวกันเกษตรกรเองก็โชคดีมีห้องแล็บในคณะเกษตรฯ ไว้ทำงาน อยากตรวจสอบเรื่องอะไรก็แลกเปลี่ยนเป็นที่ปรึกษาให้ การอยู่ของคณะเกษตรฯ กับชุมชนมันเกื้อหนุนกัน

“ทั้งที่ทำครั้งแรกผมโดนโห่ไล่นะ แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นเหมือนญาติกันแล้ว แค่นี้ก็มีความสุข แม้เอาไปขอตำแหน่งไม่ได้ อีกอย่างเรามักพูดว่าอยากให้เด็กรักบ้านเกิดแต่ถ้ายังผลิตเด็กเพื่อป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรม ความฝันแบบนั้นคงเป็นไปได้ยาก ถ้าเราทำให้เห็นว่ามันสามารถประกอบเป็นอาชีพได้จริง นั่นคือทางออกซึ่งมันมีตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าทำสวนก็อยู่ได้”
............

การรักชุมชนไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชนชนบท หากแต่เป็นการปรับปรุงส่งเสริมและผลักดันให้ชุมชนมีการพึ่งพาตัวเองจากชุมชนชนบทสู่ชุมชนที่เข้มแข็ง และสามารถอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตัวเอง
>>>>>>>>>>







       ………
เรื่อง : อุบลวรรณา โพธิ์รัง
source:http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000113005

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น