วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

เลขาสศช.ชู 'เศรษฐกิจสีเขียว' ปรับทิศทางประเทศสู่ความยั่งยืน

สศช.ชี้ถึงเวลาประเทศไทยปรับตัวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน วางกรอบแผนพัฒนาฉบับใหม่ มุ่ง 4 ด้าน

ความเป็นธรรม -สังคมแห่งการเรียนรู้-พัฒนาเกษตร-ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน

             อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)



นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวในการสัมมนากรุงเทพธุรกิจ "Green Forum : Green Economy ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยยั่งยืน" เมื่อวันพุธที่ 24 .. 2554 ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ดว่าปัจจุบันหลายประเทศกำลังพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว หรือ “Green Economy” ซึ่งตามคำนิยมขององค์การสหประชาชาติ กล่าวว่าหมายถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ ส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคม รวมทั้งลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์ เศรษฐกิจสีเขียวจึงประกอบไปด้วย การลดคาร์บอน การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ การเติบโตของประเทศตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียว จึงถือเป็นการเติบโตสีเขียว” เป็นการพัฒนาที่มุ่งไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่กิจกรรมภายใต้แนวทางการพัฒนาดังกล่าว มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อเกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ไม่ส่งผลกระทบทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและไม่สูญเสียความสมดุลในการที่จะค้ำจุนการดำรงชีพ และสนับสนุนวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตของประชากรในทุกสาขาการผลิต

ในเรื่องของการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนอันนั้นคือ คำจำกัดความ และหากเราตีความตรงนี้แล้วถามว่า วงจรการใช้ทรัพยากรและความเป็นอยู่ของมนุษย์ของเราอยู่ตรงไหน และมิติในการพัฒนาของเรานั้นจำเป็นต้องพิจารณาใน 3 ด้านได้แก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เราจะมองข้ามสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ เพราะเราพูดถึงเทคโนโลยีการผลิต ก็เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพราะเทคโนโลยีการผลิตปัจจุบันก็ต้องคำนึงถึงการทำสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ถามว่าใครเป็นได้รับผลกระทบ ก็คือ ทั้งผู้ผลิตก่อนแล้วก็คือประชาชน และผู้บริโภคทั่วไป และกระทบไปยังประชาชนและสิ่งแวดล้อม

จากนั้นมาพูดถึงการพัฒนาของเราว่าในช่วง 50 - 60 ปีประเทศไทยพัฒนามาได้อย่างไร ผมจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง 1.ช่วงที่เรามีทรัพยากรเหลือเฟือ คือตั้งแต่ปี 2500 - 2539 ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 - 7 เป็นช่วงที่เราใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย เพื่อมุ่งที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโต มีจีดีพีที่เติบโต และเป็นช่วงที่ทรัพยากรมีราคาถูก ก็ทำให้เศรษฐกิจเราเติบโตมากกมาย แต่ผลที่ตามมาก็คือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม ความสามารถในการแข่งขันของเราต้องพิจารณาเกี่ยวกับว่ามีประเทศเกิดใหม่ที่มีต้นทุนทางทรัพยากรถูกกว่าเรา เราไม่ได้เป็นประเทศที่มีทรัพยากรถูกอีกต่อไป

ในช่วงที่ 2 คือตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาเป็นปีที่เรามาดูว่า ทรัพยากรไม่สามารถใช้อย่างฟุ่มเฟือยได้ เราต้องกลับมาดูความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาอย่างสมดุล ในช่วงปี 2540 หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 8 เป็นต้นมา ก็เลยกำหนดทิศทางว่าการพัฒนาต่อไปในอนาคตต้องใช้คนเป็นศูนย์กลาง การพัฒนาคนเป็นคำตอบว่าต่อไปประเทศของเราจะพัฒนาต่อไปได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่ที่คุณภาพของคน การพัฒนาจะต้องมีความสมดุลทั้ง 3 ด้าน ดังที่ได้เรียนมาสักครู่นี้ ต่อมาในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 11 ก็มีสิ่งที่ต้องเตรียมเข้าไปอีกก็คือ เรื่องเทคโนโลยี และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องสำคัญ เทคโนโลยีแบบที่รู้จักกันนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้เรียนกันอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่เป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ปรับปรุงการผลิตและเพิ่มความสามารถในการดูแลสิ่งแวดล้อม

ทำไมเราจึงต้องพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะมาตรฐานสินค้าจากภายนอก เริ่มกำหนดมากขึ้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม คือ นอกจากเรื่องของสิทธิมนุษยชนแล้ว ข้อกำหนดในเรื่องสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญมากขึ้นในการซื้อขายกับต่างประเทศ เพราะสาเหตุที่การค้าทุกวันนี้เป็นการค้าเสรี สิ่งที่ปกป้องการค้าระหว่างประเทศก็คือข้อกำหนด ที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี อะไรก็ตามที่ไม่เป็นมิตรกับสุขภาพของคนไม่เป็นมิตรกับสังคมก็จะถูกข้อกำหนดที่เข้มข้นขึ้น เช่น สายการบินที่ถูกไปใช้สหภาพยุโรป ที่มีการเรียกเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ามาตรการเหล่านี้มีความเข้มข้นมากขึ้น อะไรก็ตามที่ไม่เป็นมิตรกับสุขภาพของคน ในยุโรปและอเมริกา ได้กำหนดเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาในเรื่องของความปลอดภัย ย้อนกลับไปดูถึงแหล่งกำเนิดของวัตถุดิบ ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ และเป็นเรื่องที่เรียกว่าการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี”

อีกประการหนึ่งก็คือเรื่องของมาตรการเรื่องการขนส่งกับเรื่องพลังงาน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกันมาก วิกฤติน้ำมันในปี 2519 - 2520เป็นวิกฤติน้ำมันครั้งแรกที่เผชิญอยู่ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเป็นเรื่องที่ใช้แล้วหมดไปเช่นกัน ความจำเป็นที่จะทำให้ภาคการขนส่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปล่อยมลพิษน้อย และใช้พลังงานน้อย ก็เป็นเรื่องที่เราต้องมาช่วยกันคิดว่าสิ่งที่เราเรียกว่า “GREEN TRANSPORT” จะต้องทำกันอย่างไร ส่วนผสมของน้ำมันและเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหลาย จะต้องเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงไบโอ เช่นเอทานอล ในหลายประเทศเช่นบราซิล มีเอทานอล 100 % ในประเทศไทยเรายังไม่ได้ส่งเสริมกันขนาดนั้น แต่ในอนาคตเชื่อว่าแรงผลักดันให้ใช้เชื้อเพลิงเหล่านี้จะมีมากขึ้น และมีส่วนทำให้การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์อบนไดออกไซด์

ภาคอุตสาหกรรมถือว่าเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ ในภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก ในอดีต การลดการปล่อยก๊าซฯต้องเปลี่ยนเทคโนโลยี ปัจจุบันนอกจากเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ให้ช่วบลดก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ยังต้องใช้เทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน และได้สินค้าที่มีคุณภาพเช่นเดิม

สิ่งที่อยากให้ รัฐบาลสนับสนุนสำหรับอุตสาหกรรมก็คือเรื่องของ 3R คือ Reuse Reduce และ Recycle เนื่องจากในอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้นต้องคำนึงทั้งกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ให้มีของเสียหรือมีน้อยที่สุด นั่นคือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

คำถามก็คือใน 5 ปีข้างหน้าเราพูดอะไรไว้บ้าง ก็คือการพูดถึงไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับหน้า มี 6 เรื่องด้วยกัน เราพูดกันถึงเรื่อง 1.ความเป็นธรรมในสังคม นโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะการกระจายรายได้ การเข้าถึงบริการสาธารณะ 2.สังคมแห่งการเรียนรู้ นั่นก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 3.เรื่องของความเข้มแข็งของภาคเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร และพลังงาน เราจัดในหมวดหมู่เดียวกันเพราะเห็นความสำคัญของทุกๆเรื่องควบคู่กัน เราคงไม่อยากเห็นพืชพลังงานที่ไปทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น แต่กลับเสียความมั่นคงทางอาหาร อันนี้เราคงไม่อยากเห็นภาพแบบนั้นแต่อยากเห็นภาพที่มีความสมดุลกันมากกว่า 4.การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน เมื่อสักครู่ผมเรียนไปว่าในอดีตเรามุ่งเน้นการใช้ทรัพยากร แต่ในอนาคตนั้นการปรับโครงสร้าง เราไม่ได้มองแค่เรื่องของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผมไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์ที่ซ้ำลอยกับที่มาบตาพุด

ในบรรดาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เราต้องพิจารณา ให้มีมาตรฐานของสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น และการลงทุนขยายอุตสาหกรรมของไทย จะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมสะอาด และสินค้าที่มีความสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นรายได้จากทุนทางวัฒนาธรรม ที่เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเรายังใช้น้อย ได้แก่ วัฒนธรรมไทย โบราณสถาน วิถีชีวิต สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นสินค้าและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและสินค้าต่างๆได้ โดยใช้แนวคิดในเรื่องของการออกแบบให้มากขึ้น เพราะการออกแบบเท่านั้นในเวลานี้จะทำให้สินค้าของเรามีราคามากขึ้น เนื่องจากมีความแตกต่างกับสินค้าในตลาด ดูไปถึงวัสดุที่ใช้ วิธีการ และสามารถมุ่งแนวความคิดไปที่สินค้าที่เป็นสินค้าสีเขียว หรือกรีน” ได้ วันนี้อุตสาหกรรมที่เรียนว่าอุตสาหกรรมที่สะอาดมีอะไรบ้าง เช่นพลาสติก หากยังใช้พลาสติกเหมือนเดิมไปอีก ไม่ช้าต้นทุนในการจัดการสิ่งแวดล้อมของเราจะสูงขึ้น แต่หากเราลองดูว่าพืชเกษตรที่นำมาสู่การทำไบโอพลาสติก เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน ไบโอพลาสติกยังแพงอยู่ ทำอย่างไรให้มันราคาถูกลง วิธีการก็คือ สร้างการตลาดสร้างการยอมรับ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และการผลิตก็จะสามารถทำจำนวนมากและมีราคาถูกลงได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมจะเรียนว่าจะต้องมีการคิดออกแบบ และทำวิจัยเพื่อสามารถผลักดันมาใช้ได้จริง อีกเรื่องหนึ่งที่พูดไว้ในแผนพัฒนาคือการเชื่อมโยงกับโลก และประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ และสุดท้ายเป็นเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันนั้นคือทิศทางหลักๆในการพัฒนาประเทศภายใต้แผนเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับใหม่

อีกสิ่งหนึ่งที่จะมุ่งเน้นก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว “Green Economy” มีเรื่องสำคัญคือ 1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการผลิตและการบริโภค ให้สินค้าที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ทดแทนด้วยสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัตถุดิบต่างๆเป็นพืชไร่ทั้งหมด พืชเกษตรไม่ได้ทำได้แต่พืชพลังงาน แต่ทำได้อีกหลายอย่างเช่นสินค้าไบโอ และสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของเราต้องผลิตเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย

คนที่ปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมมีอยู่ 2 - 3 ส่วน ภาคการผลิตนั้นปล่อยแน่นอน และในภาคครัวเรือนล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องปรับอากาศในบ้าน ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกอย่างนำไปสู่การใช้ไฟฟ้า ซึ่งใช้มากเท่าไหร่ก็เท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่านั้น แม้ว่าโรงไฟฟ้าจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประเทศไทยก็ตาม

การพัฒนาประเทศต้องอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา ดังนั้นเราจะเห็นว่าการวิจัยและพัฒนา รัฐบาลชุดนี้ ประกาศเรื่องการเพิ่มงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาเป็น 2 % ของจีดีพี โดยเป็นเรื่องที่ท้าทายมากเนื่องจาก ในปัจจุบันงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาของประเทศมีเพียง 1 % ของจีดีพีเท่านั้น จีนเองก็ประกาศงบของการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ซึ่งมากกว่าประเทศไทย นอกจากนั้นการจะไปสู่เศรษฐกิจแบบกรีนได้หรือไม่ ยังต้องมีมาตรการจูงใจหรือมาตรการทางภาษี มาตรการทางภาษีต้องถือว่าเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรของชาติ ซึ่งหากจะไปสู่เรื่องกรีนนั้นเราก็จำเป็นต้องมีมาตรการจูงใจ รวมทั้งมีการสนับสนุนอย่างเข้มข้นให้กับโรงงานต่างๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมสีเขียวดำเนินไปได้ รวมทั้งการสนับสนุนในเรื่องของเทคโนโลยี และที่สำคัญต้องมีการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

เราพูดเสมอว่าเอกชนเป็นตัวนำในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าภาคเอกชนจะขับเคลื่อนเรื่องใดต้องดูตลาด การขับเคลื่อนของแต่ละภาคส่วน ต้องมีฝ่ายที่นำ ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่าแล้วแต่ ว่าฝ่ายภาคประชาชน รัฐ หรือเอกชนก็แล้วแต่ แต่ภาครัฐควรจะเป็นตัวนำในการขับเคลื่อน ซึ่งแม้ว่าการใช้จ่ายของภาครัฐ จะไม่ถึง 20 % ของจีดีพีก็ตาม แต่ก็มีความหมาย เพราะการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นเงินก้อนใหญ่ ที่กำหนดมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้าง และเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งสัญญาณในการสนับสนุน

เรื่องเหล่านี้จะผลักดันต่อไปได้อย่างไร บางเรื่องอาจทำไม่ได้ทั้งหมด อาจต้องมีการขับเคลื่อนแบบโครงการนำร่องให้เป็นตัวอย่าง มีการพูดกันมากในเรื่องของ Smart City , Smart Community ก็แล้วแต่เราจะผลักดัน ออกแบบให้ทำอย่างไร เช่น การออกแบบเมืองที่ ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การออกแบบเมืองที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องยอมรับว่าการออกแบบอย่างนี้ต้องใช้เทคโนโลยี และการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนที่ไม่ถูก เนื่องจากปัจจุบันเรายังต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งการสามารถพัฒนาเมืองแบบนี้ได้ยังสามารถขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วจะซื้อคาร์บอนเครดิตจากการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้

ทั้งหมดนี้ก็คงจะเป็นแนวทางถึงการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป อย่างไร แต่อย่างที่ผมกราบเรียนไปก่อนหน้านี้ ว่าเรื่องพลังงานและภาคขนส่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าหามาตรการมารองรับ และเป็นปัจจัยให้กับผู้บริโภคนั้นมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากภาครัฐมีการสนับสนุนเรื่องพลังงานทดแทน นโยบายของภาครัฐก็ต้องออกมาจูงใจให้นโยบายเหล่านี้ประสบความสำเร็จ สุดท้ายผมขอจะเรียนว่าในส่วนของสภาพัฒฯที่จะมีบทบาทในการขับเคลื่อน ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11 ก็อาจจะมีส่วนที่หยิบยกออกมาผลักดันรวบกับบางภาคส่วน สิ่งที่เราอยากเห็นก็คือ การเรียนรู้ในเรื่องการประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีจิตสำนึกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

Green Forum : Green Economy
ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น