วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

คืนสู่สามัญ

ในขณะที่ประชาคมโลกเรียกร้องหาพลังงานทางเลือกสะอาดลดภาวะวิกฤติโลกร้อน แต่อีกทางมุ่งมั่นใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อตอบสนองเศรษฐกิจทั่วโลกที่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะเป็นพลังงานให้คุณประโยชน์มหาศาลแต่อีกด้านหนึ่งก็ให้โทษมหันต์หากไม่สามารถดูแลควบคุมได้

เหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดฟูกุชิมะ ได้รับผลกระทบ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายประเทศต้องทบทวนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้กลายเป็นโอกาสธุรกิจของพลังงานถ่านหิน วัตถุดิบจากธรรมชาติกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง เพราะเป็น วัตถุดิบต้นทุนต่ำ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด ในฐานะน้องใหม่ เชื่อว่าถ่านหินจะกลายเป็นธุรกิจที่สดใสนับจากนี้ไปจนถึงอีก 10 ปีข้างหน้า

บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด ก่อตั้งเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาเพื่อทำธุรกิจถ่านหินโดยเฉพาะ เริ่มแรกได้วางบทบาทตนเองเป็นบริษัทค้าถ่านหินในรูปแบบซื้อมา-ขายไป (Trader) มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยซื้อถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียมาจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทได้กลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) อีกครั้ง ชื่อว่า EARTH เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นำไปขยายกิจการ เพราะมองเห็นโอกาสธุรกิจถ่านหินที่จะเติบโตอย่างมาก

หลังจากพบว่าราคาถ่านหินในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 20 ต่อปี จากปี 2550 ราคาอยู่ที่ 14 เหรียญต่อตัน แต่ในปัจจุบัน ราคาอยู่ราว 52-53 เหรียญ ขณะเดียวกันความต้องการของตลาดโลกมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศจีน ที่กำลังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดยั้ง และถูกจับตามองให้เป็นผู้นำภูมิภาคเอเชีย

ขจรพงศ์ คำดี กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ บอก ผู้จัดการ 360 ํ ถึงเหตุผลสนับสนุนเบื้องต้นทำให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการบริษัท PT TRI TUNGGAL PITRIATI (TTP) บริษัทท้องถิ่นในประเทศอินโดนีเซีย และได้รับสัมปทานจากรัฐบาลให้สามารถขุดถ่านหิน บริษัทได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนมิถุนายนหลังจากนำบริษัทเข้าตลาดฯ เพียงเดือนเดียว

มูลค่าการซื้อกิจการในครั้งนี้เป็นจำนวนเงิน 1,200 ล้านบาท แต่ไม่ได้ชำระในรูปแบบเงินสด โดยจะแลกเปลี่ยนหุ้นระหว่างสองบริษัท โดยบริษัทพีทีจะเข้ามาถือหุ้นใน บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ร้อยละ 13 ในขณะที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นในบริษัทพีที ร้อยละ 100

การเข้าซื้อกิจการในบริษัทพีทีทำให้บริษัทมีปริมาณสำรองถ่านหินถึง 8 ล้านตัน และจำนวนถ่านหินทั้งหมดได้มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าจากตลาดจีนทั้งหมดแล้ว และต้องส่งภายใน 4 ปีจากนี้ไป

การขยายบทบาทจากผู้ค้ามาเป็นเจ้าของเหมือง (miner) กลายเป็นจุดเปลี่ยนในการทำธุรกิจของบริษัท จะทำให้บริษัทได้รับความเชื่อมั่นจากคู่ค้าว่าสามารถส่งสินค้าได้ตามปริมาณ และระยะเวลาที่ต้องส่งมอบ อีกทั้งทำให้มีปริมาณสำรองในมือเพิ่มขึ้น และประการสำคัญคือมีต้นทุนลดลง จะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้น

ขณะเดียวกันทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ประกอบการรายที่ 3 ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยรองจาก บมจ.บ้านปู และ บมจ.ลานนารีซอร์สเซส ที่มีเหมืองถ่านหินเป็นของบริษัทเอง

การมีเหมืองเป็นของตนเอง เป็นเป้าหมายหลักของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ในปีนี้ เพราะบทบาทจากผู้ค้าเหมือง ทำให้ บริษัทเชื่อว่าได้สร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะสามารถพาลูกค้าไปเยี่ยมชมกระบวนการขุดเจาะและผลิตในประเทศอินโดนีเซีย

“การเข้าไปอยู่ในสมาคมผู้ค้าเหมืองถ่านหิน และได้ร่วมแสดงความคิดต่างๆ เป็นสิ่งที่เราปรารถนามานาน หลังจากที่ผ่านมาบทบาทของเราเล่นอยู่ด้านนอกในฐานะผู้ค้าเท่านั้น”

การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และมีธุรกิจเหมืองถ่านหินเป็นของตนเองในช่วงระยะเพียง 2 เดือน ดูเหมือนว่าเป็นการวางแผนไว้ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะกระบวนการทำงานดูกระชับและรวดเร็ว

หากมองย้อนหลังธุรกิจของ บมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ไปเมื่อ 4 ปีก่อน จะพบว่าธุรกิจนี้เริ่มต้นจากคนเพียง 2 คน คือ ขจรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ และพิสุทธิ์ พิหเคนทร์ ประธานกรรมการบริหารผู้ถือหุ้นร่วม

ผู้ร่วมทุนทั้งสองไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจถ่านหิน แต่จากวิสัยทัศน์ของขจรพงศ์เห็นว่าธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่มีอนาคต เริ่มเข้าไปศึกษาตลาดถ่านหินอย่างจริงจังเกือบ 1 ปีในประเทศอินโดนีเซีย เริ่มนำถ่านหินมาจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการไทย และก่อตั้งบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เพอร์เฟค จำกัด

หลังจากคลุกคลีอยู่ในธุรกิจถ่านหิน ยิ่งตอกย้ำให้ขจรพงศ์เชื่อว่าธุรกิจถ่านหินจะไปได้ดี แต่ด้วยศักยภาพการทำธุรกิจอยู่ นอกตลาดทำให้ไม่มีเงินทุนในการขยายธุรกิจได้มากนัก ทำให้บริษัทเลือกใช้วิธีการเข้าซื้อกิจการ บมจ.แอ๊ดวานซ์เพ้นท์ เคมิเคิล (ไทยแลนด์) หรือ APC ผู้ประกอบการธุรกิจสี แต่มีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอด

เป้าหมายของบริษัทต้องการเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้เร็วที่สุด มากกว่าที่จะรอเวลานำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจึงเลือกใช้วิธีการ Black Door ได้รูดตัวเองลงบางส่วน เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของตลาดว่าผู้ถือหุ้นเดิมต้องมีหุ้นเหลือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

จากการประเมินมูลค่าบริษัท แอ๊ดวานซ์เพ้นท์ เคมิเคิล เหลือ 22 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีมูลค่า 200 ล้านบาท จึงทำให้มีทุนรวมกัน 222 ล้านบาท บริษัทเลือกวิธีแลกหุ้นให้บริษัท แอ๊ดวานซ์เพ้นท์ มาถือหุ้นในบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เพอร์เฟค จำกัด 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบริษัทก็เข้าไปถือหุ้นในบริษัท แอ๊ดวานซ์ฯ ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์

จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธเลือกวิธีการแลกเปลี่ยนหุ้นมาโดยตลอด รวมถึงการเข้าไปซื้อกิจการ ในบริษัท PT TRI ในประเทศอินโดนีเซีย

“เรามีศักยภาพเข้าตลาดได้อยู่แล้ว แต่การเข้าซื้อกิจการทำให้เวลาเร็วขึ้น ส่งผลดีกับเรา” ขจรพงศ์ให้ความเห็นเรื่องนี้

หลังจากบริษัทเข้าไปบริหาร ได้เปลี่ยนชื่อบริษัท แอ๊ดวานซ์เพ้นท์ ไปเป็น บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพื่อเข้าตลาดหลัก ทรัพย์ รวมทั้งเปลี่ยนกรรมการใหม่ทั้งหมด ธุรกิจเดิมไม่ทำ ส่วนทรัพย์สินและหนี้สินยกให้กับผู้ถือหุ้นเดิม โดยให้ธุรกิจในบัญชีกลายเป็นศูนย์ เพื่อเริ่มทำธุรกิจถ่านหิน

โครงสร้างธุรกิจของกลุ่มบริษัท จึงมีบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทแม่ ในขณะที่บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เพอร์เฟค จำกัด เป็นบริษัทลูก มีหน้าที่ซื้อ-ขายถ่านหินจำหน่ายกับลูกค้าในต่างประเทศ ส่วนในประเทศส่งขายให้กับบริษัทแม่ และบริษัทแม่ส่งขายให้กับลูกค้าในประเทศ

ปัจจุบันบริษัทจำหน่ายถ่านหินประมาณ 1.2 ล้านตัน คาดว่าในปีหน้าจะเริ่มผลิตเป็น 3.2 ล้านตัน หลังจากที่เหมือง ถ่านหินในอินโดนีเซียจะเริ่มดำเนินการขุดได้ก่อนสิ้นปีนี้

แม้ว่าบริษัทจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์และมีโอกาสระดมทุนได้มากขึ้น แต่ด้วยศักยภาพของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 160 ล้านบาท มีผลประกอบการ 1,805 ล้านบาท กำไร 70 ล้านบาท ในปี 2553 ยังถือว่าไม่มากนัก ดังนั้นการเข้าซื้อกิจการในอินโดนีเซีย จึงเป็นการเลือกซื้อเหมืองถ่านหินขนาดกลาง มีพื้นที่ไม่เกิน 200 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์เท่ากับ 6.25 ไร่) บริษัทสามารถขุดได้ 2 แปลงแปลงแรก 16 เฮกตาร์ และอีก 1 แปลง 194 เฮกตาร์

เหตุผลที่เลือกขนาดพื้นที่ไม่เกิน 200 เฮกตาร์ เพราะรัฐท้องถิ่นสามารถอนุมัติได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตที่เมืองหลวงจากาตาร์ ซึ่งบริษัทได้ขุดเจาะที่กะลิมันตัน

อีกเหตุผลหนึ่งพื้นที่ขุดเจาะที่บริษัทเลือกจะต้องไม่ขุดลึกจนเกินไป บริษัทได้ประเมินไว้ว่าสัดส่วนหน้าดิน ต้อง 5:1 หมายถึงขุดพบดิน 5 ส่วน และเจอถ่านหิน 1 ส่วน ในขณะที่บริษัทใหญ่ๆ สามารถใช้สัดส่วน 8:1 เป็นวิธีการบริหารจัดการเพื่อให้ได้ถ่านหินให้เร็วที่สุด

การตัดสินใจเลือกขุดเจาะถ่านหินที่ไม่ลงลึกจนเกินไปอาจเป็นเพราะบริษัทต้องการรายได้รวดเร็วและควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ

ขจรพงศ์ยกตัวอย่างวิธีการดูแลต้นทุนอีกด้านหนึ่ง ถ่านหินที่ขุดขึ้นมาจะไม่บดในอินโดนีเซีย แต่จะส่งเข้ามาบดในประเทศไทย กรณีส่งขายภายในประเทศ เพราะทำให้ต้นทุนถูกลง 2 เหรียญ หรือถ้าไม่บดก็สามารถเก็บเป็นก้อนไว้ได้

ถ่านหินที่จำหน่ายในปัจจุบันมี 4 ขนาด คือ เล็กกว่า 10 มม., 10 มม.-25 มม., 25 มม.-50 มม. และ 0 มม.-50 มม. ขนาดของถ่านหินจะมีราคาและให้ค่าความร้อนต่างกัน

หลังจากบริษัทตัดสินใจซื้อเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย บริษัทเริ่มขยายกิจการในประเทศด้วยการสร้างโรงงานคัดแยกถ่านหินและโกดังเก็บสินค้าแห่งที่ 2 ที่อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อรองรับปริมาณความต้องการถ่านหินโดยรอบ และโรงงานมีกำลังการผลิตสูงสุด 6 หมื่นตันต่อเดือน ส่วนโรงงานจะสร้างแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

การตั้งโรงงานในอยุธยา ภาคตะวันตกเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารต้นทุน เพราะตั้งอยู่ใกล้กับบริษัทลูกค้าไม่เกิน 300 กิโลเมตร เพราะการแข่งขันในประเทศไทย ค่าขนส่งเป็นต้นทุนแพงที่สุดในการบริหารงาน

โรงงานในฝั่งตะวันตกแม้ว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้ แต่ก็ยอมรับว่ามีคู่แข่งที่ให้บริการอยู่แล้ว คือ บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) แต่ราคาจำหน่ายของบริษัทและคู่แข่งจะใกล้เคียงกัน โดยไม่เล่นสงครามราคามากนัก

เนื่องจากธุรกิจถ่านหิน บริษัทจะไม่ให้ลูกค้าซื้อจากผู้ประกอบการเพียงรายเดียว เป็นการป้องกันความเสี่ยง เพราะถ่านหินเป็นวัตถุดิบมาจากธรรมชาติ บางครั้งกระบวนการผลิตบางวันอาจมีปัญหาเกิดจากฝนตกหนัก จนทำให้ไม่สามารถขุดเจาะได้

“พนักงานขายถ่านหินทุกบริษัทรู้จักเป็นอย่างดี เป็นวงการธุรกิจที่ค่อนข้างแคบ บางครั้งเมื่อเราหรือบริษัทอีกแห่งมีปัญหาก็จะให้บริษัทคู่แข่งไปส่งสินค้าแทนบ้างเป็นบางครั้ง” ขจรพงศ์กล่าว

แต่โรงงานแห่งแรกในฝั่งตะวันออกในจังหวัดชลบุรี บริษัทเป็นเพียงรายเดียวที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การจำหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียงราคาจะดีกว่าในฝั่งตะวันตก

สำหรับลูกค้าหลักในประเทศที่ใช้ถ่านหินในปัจจุบันจะมี 3 อุตสาหกรรมหลัก คือโรงไฟฟ้า บริษัทปูนซีเมนต์ โรงงานกระดาษ ส่วนลูกค้าที่ใช้บริการของบริษัท เช่น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย บริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด บริษัท ไทยเปเปอร์มิลล์ จำกัด บริษัท อีลิท คราฟ เปเปอร์ จำกัด และธุรกิจบะหมี่ไวไว อายิโนะโมะโต๊ะ มีลูกค้าร่วม 100 ราย

อย่างไรก็ดี โอกาสในการทำตลาดในประเทศไทยยังมีอีกมาก โดยเฉพาะโรงงานที่ใช้น้ำมันเตาสร้างไอน้ำ จะใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบในการผลิต แต่น้ำมันมีต้นทุนลิตรละ 23 บาท แม้จะให้ค่าความร้อน 1 หมื่นกิโลแคลอรี แต่หากใช้ถ่านหินทดแทนน้ำมันเตาจะมีต้นทุนถูกกว่า เพราะถ่านหิน 2 กิโลกรัมสามารถให้ความร้อนได้เทียบเท่ากับน้ำมัน 1 ลิตร และถ่านหินมีราคาเฉลี่ย 2.50 บาทต่อหนึ่งกิโลกรัม หรือราคาจำหน่าย 2,500 บาทต่อตัน เปรียบเทียบให้เห็นว่าถ่านหินมีต้นทุนเพียง 5 บาทใน ขณะที่น้ำมันมีราคา 23 บาทต่อลิตร สามารถลดต้นทุนได้ 3-4 เท่า ประการสำคัญราคาถ่านหินจะไม่แพงกว่าราคาน้ำมัน

ลูกค้าบางรายได้เปลี่ยนมาใช้ถ่านหินผลิตพลังงานและสามารถคืนทุนได้ภายใน 18 เดือน ปัจจุบันมีเตาผลิตไอน้ำราว 6,500 ลูก และมีเตาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพียง 500 ลูก ดังนั้น จึงมีโอกาสอีกมากที่ลูกค้าจะหันมาใช้ถ่านหิน

ลูกค้าในต่างประเทศ บริษัทจะขายให้กับลูกค้าโดยตรง และขายผ่านตัวแทนจำหน่าย เช่น ในประเทศจีน จะส่งตรงให้กับลูกค้า และจำหน่ายผ่านตัวแทนในฮ่องกง โดยเฉพาะการส่งสินค้าไปจีน บริษัทจะส่งจากอินโดนีเซียไปจีนผ่านทางเรือ จะใช้เวลาในการขนส่ง 6-7 วัน

ส่วนถ่านหินที่จีนได้ซื้อล่วงหน้า 8 ล้านตันใน 4 ปีข้างหน้า ราคาจะไม่กำหนดตายตัว แต่ราคาจะขึ้นกับการส่งมอบในแต่ละช่วงของอนาคต โดยยึดราคาการประกาศของ ICI หรือ Indo Cold Index ที่จะประกาศทุกวันศุกร์ในอินโดนีเซีย

นอกจากในตลาดจีนแล้ว บริษัทเริ่มมองหาตลาดอื่นเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นในประเทศเกาหลีใต้หรือประเทศเวียดนาม เพราะบริษัทผลิตไฟฟ้ายังมีความต้องการใช้ถ่านหินอีกจำนวนมาก

แหล่งวัตถุดิบถ่านหินในโลกยังมีเพียงพอรองรับกับธุรกิจ เพราะจากการสำรวจในประเทศออสเตรเลียพบว่ามีถ่านหินในปัจจุบัน 7 หมื่นล้านตัน ในขณะที่อินโดนีเซียมีประมาณ 27,000 ล้านตัน คาดกันว่าจะสามารถรองรับได้ 115 ปี

ปริมาณถ่านหินที่ยังมีอยู่จำนวนมากในตลาด ทำให้บริษัทวางแผนธุรกิจไว้ว่าใน 5 ปีข้างหน้า ต้องเพิ่มปริมาณสำรองให้มากกว่า 100 ตัน หรือกรณีมีคำสั่งซื้อ 3 ล้านตัน บริษัทจะต้องมีถ่านหินสำรองอย่างน้อย 15-20 ล้านตัน รวมถึงมองหาเหมืองขนาดใหญ่เพิ่มประมาณ 3 แห่ง

ขจรพงศ์บอกว่า ถ่านหินเป็นก้าวแรกเท่านั้น แต่บริษัทยังมีแผนธุรกิจอีกมาก โดยเฉพาะมีเป้าหมายทำ Up stream Down stream ของวงจรธุรกิจถ่านหินทั้งหมด

เขายอมรับว่าธุรกิจเพิ่งเริ่มต้น และวันนี้ยังต้องเดินทางอีกไกล 


 นภาพร ไชยขันแก้ว
source:http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=92557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น