วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

มโนทัศน์แห่งอนาคต : ตอนที่ 2

ศตวรรษที่ 21 ซึ่งไม่เหมือนศตวรรษก่อนๆ นี้บ่งบอกได้ด้วยพลังแห่งการเกื้อกูลกัน  กล่าวคือ การปฏิสนธิข้ามระหว่างทั้งสามสาขาวิชา ซึ่งเป็นเครื่องหมายของจุดเปลี่ยนอย่างเฉียบพลันในการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์  การผสมข้ามพันธุ์ระหว่างการปฏิวัติทั้งสามนี้จะถูกเร่งอย่างรุนแรงและเพิ่มความหลากหลายให้แก่การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และมอบอำนาจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในการจัดการกับสสาร ชีวิต และสมองกล

               ที่จริงแล้วมันเป็นการยากที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์วิจัยในอนาคตโดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับทั้งสามสาขาวิชาเหล่านี้อยู่บ้างเลย  นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติทั้งสามนี้จะพบแล้วว่าตนเองอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด

               ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างการปฏิวัติทั้งสามเป็นรูปแบบที่เปลี่ยนผันได้อย่างรุนแรง  บ่อยครั้งเมื่อเกิดทางตันขึ้นในสาขาวิชาหนึ่งๆ โดยปกติแล้วก็พบว่ามีคำตอบในการพัฒนาที่เหนือความคาดหมายอย่างสิ้นเชิงในอีกสาขาวิชาหนึ่ง  ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งนักชีววิทยารู้สึกสิ้นหวังในการที่จะถอดรหัสยีนจำนวนเป็นล้านๆ ซึ่งบรรจุแบบพิมพ์แห่งชีวิตเอาไว้  แต่กระแสของยีนที่ค้นพบในห้องทดลองนั้นขับเคลื่อนโดยพัฒนาการของอีกสาขาหนึ่ง  การเพิ่มอย่างทวีคูณของอำนาจแห่งการคำนวณทำหน้าที่เป็นกลไกและเรียงลำดับยีนได้โดยอัตโนมัติ  ที่คล้ายๆ กันก็คือ แผงวงจรคอมพิวเตอร์ที่ทำจากซิลิกอนจะเข้าถึงจุดอิ่มตัวเมื่อพวกมันเชื่องช้าเกินไปสำหรับคอมพิวเตอร์ในศตวรรษหน้า  แต่ความก้าวหน้าใหม่ๆ ในการวิจัยดีเอ็นเอทำให้เกิดสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ชนิดใหม่ซึ่งคำนวณโดยมีพื้นฐานอยู่บนโมเลกุลอินทรีย์  ดังนั้น การค้นพบทั้งหลายในสาขาหนึ่งจึงหล่อเลี้ยงและส่งเสริมการค้นพบในสาขาที่ไม่มีความคาบเกี่ยวกันโดยสิ้นเชิง

               หนึ่งในผลที่ตามมาจากพลังงานเกื้อกูลอันเข้มแข็งระหว่างการปฏิวัติต่างๆ เหล่านี้คือก้าวย่างที่สม่ำเสมอของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์กำลังเร่งขึ้นสู่อัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
              
ความมั่งคั่งของชาติ
               ความเร่งรุดของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าสู่ศตวรรษต่อไปนี้จำเป็นต้องมีผลกระทบต่อความมั่งคั่งของชาติและมาตรฐานการดำรงชีพของเรา  สามศตวรรษที่ผ่านมานี้ความมั่งคั่งโดยปกติแล้วถูกสั่งสมโดยชาติที่ถึงพร้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติหรือได้เก็บสะสมทุนไว้เป็นปริมาณมาก  การถือกำเนิดขึ้นของมหาอำนาจในยุโรปในศตวรรษที่ 19 และของสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 20 เป็นไปตามหลักการที่พบเห็นได้ในตำราข้อนี้

               อย่างไรก็ตาม เลสเตอร์ ซี. ทูโรว์ (Lester C. Thurow) อดีตคณบดีของคณะบริหารของ MIT (Sloan School of Management, Massachusetts Institute of Technology) เน้นย้ำไว้ว่า ในศตวรรษที่กำลังจะมาถึงจะมีการโยกย้ายความมั่งคั่งจากชาติที่มีทรัพยากรธรรมชาติและทุนสะสม ในแบบเดียวกันกับการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงได้  การเคลื่อนที่ของความมั่งคั่งที่ก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนจะจัดรูปการกระจายอำนาจบนโลกใบนี้  ทูโรว์เขียนไว้ว่า ในศตวรรษที่ 21 กำลังสมองและจินตนาการ

ประดิษฐกรรม และการจัดกลุ่มเทคโนโลยีใหม่เป็นกุญแจสำคัญเชิงกลยุทธ์Ž  ที่จริงแล้วหลายชาติที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์จะพบว่าความมั่งคั่งของพวกเขาลดลงอย่างมากด้วยเหตุผลที่ว่า ในตลาดการค้าในอนาคตสินค้าจะมีราคาถูก การค้าขายจะเป็นเครือข่ายทั้งโลก ตลาดจะถูกเชื่อมโยงด้วยระบบอิเล็ก-ทรอนิกส์  ที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ ราคาสินค้าของทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างได้ตกลงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์จากช่วงทศวรรษ 1970 ถึงทศวรรษ 1990  และจากการประมาณการของทูโรว์ จะตกลงอีก 60 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2020

               แม้แต่เงินทุนสะสมเองก็จะถูกลดสภาพกลายเป็นสินค้าหนึ่งที่วิ่งแข่งขันกันรอบโลกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์  หลายชาติที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติจะเจริญงอกงามในศตวรรษหน้า เพราะว่าพวกเขาวางหลักประกันไว้บนเทคโนโลยีที่ทำให้เป็นต่อในการแข่งขันในตลาดโลกได้  ทุกวันนี้ความรู้และทักษะจะยืนหยัดเป็นหนึ่งในฐานะแหล่งความได้เปรียบเดียวที่เปรียบเทียบกันได้Ž ทูโรว์ยืนยัน

               ผลที่ตามมาก็คือ บางชาติได้รวบรวมรายชื่อเทคโนโลยีสำคัญต่างๆ ที่จะรับใช้พวกเขาในฐานะเครื่องยนต์กลไกแห่งความมั่งคั่งและร่ำรวยสู่ศตวรรษหน้า  รายชื่อสามัญรวบรวมขึ้นในปี 1990 โดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมต่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นรายชื่อนั้นรวมถึง
               ‘ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์
               ‘ เทคโนโลยีชีวภาพ
               ‘ อุตสาหกรรมวัสดุศาสตร์ใหม่
               ‘ โทรคมนาคม
               ‘ การผลิตเครื่องบินโดยสาร
               ‘ เครื่องมือเครื่องจักรและหุ่นยนต์
               ‘ คอมพิวเตอร์ (ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์)
              
               เทคโนโลยีใดๆ ที่คัดสรรมาเพื่อนำพาศตวรรษที่ 21 ล้วนหยั่งรากลึกในการปฏิวัติเชิงควอนตัม คอมพิวเตอร์ และดีเอ็นเอ โดยไม่มีข้อยกเว้น

               ที่สำคัญก็คือ การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ทั้งสามไม่ได้เป็นเพียงกุญแจสู่ความก้าวล้ำทางวิทยาศาสตร์ในศตวรรษต่อไปเท่านั้น  พวกมันยังเป็นเครื่องจักรแห่งความมั่งคั่งและความร่ำรวยที่ไม่เคยหยุดนิ่งด้วย  ชาติต่างๆ อาจจะกล้าแกร่งขึ้นหรือล่มสลายลงเพราะความสามารถของพวกเขาที่จะใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติทั้งสามนี้  ในกิจกรรมใดๆ ย่อมต้องมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้  ผู้ชนะนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นชาติที่เล็งเห็นถึงความสำคัญยิ่งของการปฏิวัติทั้งสาม  พวกที่มองข้ามพลังของการปฏิวัติเหล่านี้อาจจะพบว่าตนเป็นพวกชายขอบในตลาดการค้าโลกในศตวรรษที่ 21
              
กรอบเวลาสำหรับอนาคต
               ในการทำนายเกี่ยวกับอนาคต เราจำเป็นต้องเข้าใจกรอบเวลาที่กำลังถกเถียงกันอยู่นี้ เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าเทคโนโลยีที่แตกต่างกันจะเติบโตสมบูรณ์ในเวลาที่ต่างกัน  กรอบเวลาของการทำนายในหนังสือเล่มนี้แยกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การค้นพบและเทคโนโลยีซึ่งจะวิวัฒนาการตั้งแต่ปัจจุบันถึงปี 2020  พวกที่จะวิวัฒนาการตั้งแต่ปี 2020 ถึง 2050และพวกที่จะปรากฏโฉมตั้งแต่ปี 2050 ไปจนถึงสิ้นศตวรรษที่ 21 (นี่ไม่ใช่กรอบเวลาที่ตายตัว  พวกมันเพียงแค่แสดงช่วงเวลาทั่วไปที่เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์บางอย่างจะผลิดอกออกผล)
              
               สู่ปี 2020
               จากวันนี้ถึงปี 2020 นักวิทยาศาสตร์เห็นการระเบิดของกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ในแบบที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน  ในสองเทคโนโลยีหลักคือพลังของคอมพิวเตอร์และการถอดรหัสดีเอ็นเอ เราจะเห็นอุตสาหกรรมทั้งหมดเจริญงอกงามและล่มสลายบนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ร่ายมนตร์สะกดเราไว้  ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 พลังของคอมพิวเตอร์ได้ก้าวหน้าไปโดยราวหมื่นล้านเท่า  แท้ที่จริงแล้ว ด้วยเหตุที่ทั้งพลังคอมพิวเตอร์และการถอดรหัสดีเอ็นเอเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 2 ปี เราก็สามารถคำนวณกรอบระยะเวลาที่ความก้าวล้ำทางวิทยาศาสตร์จะเกิดขึ้น  นี่หมายความว่าการทำนายเกี่ยวกับอนาคตของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีชีวภาพสามารถประเมินเป็นตัวเลขด้วยความแม่นยำทางสถิติที่สมเหตุสมผลออกมาเป็นประมาณปี 2020

               สำหรับคอมพิวเตอร์นั้น อัตราการเติบโตที่ไม่เคยลดละถูกกำหนดเชิงปริมาณโดยกฎของมัวร์ซึ่งกล่าวไว้ว่า พลังของคอมพิวเตอร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 18 เดือน โดยประมาณ (ความคิดนี้เสนอขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1965 โดยกอร์ดอน มัวร์ (Gordon Moore) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอินเทล  มันไม่ใช่กฎทางวิทยาศาสตร์ในแง่เดียวกันกับกฎของนิวตัน  แต่เป็นหลักการแปลกแต่จริงง่ายๆ ที่ได้ทำนายวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์มาหลายสิบปีแล้วได้อย่างเหลือเชื่อ)  กฎของมัวร์ ในทางกลับกัน กำหนดชะตาของบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ที่วางพื้นฐานแผนการในอนาคตและออกรุ่นผลิตภัณฑ์โดยฝากความหวังไว้กับการเติบโตอย่างต่อเนื่องดังกล่าว  ภายในปี 2020 เครื่องประมวลผลขนาดเล็ก (microprocessor) มีแนวโน้มที่จะมีราคาถูกและมีจำนวนมากเหมือนเศษกระดาษเครื่องประมวลผลจำนวนเป็นล้านๆ จะกระจัดกระจายอยู่รอบตัวเราเพื่อเป็นระบบอัจฉริยะ (intelligent systems) ให้เราเชื่อมต่อได้ทุกที่  ทุกสิ่งรอบตัวเราจะเปลี่ยนไป รวมถึงธรรมชาติของการค้า ความมั่งคั่งของชาติ และวิธีที่เราติดต่อสื่อสาร ทำงาน เล่นสนุก และดำรงชีวิต  เราจะมีบ้านอัจฉริยะ รถ ทีวี เสื้อผ้า อัญมณี และเงินตรา  เราจะพูดกับเครื่องใช้ของเราและพวกมันจะตอบกลับ  นักวิทยาศาสตร์ยังคาดไว้ด้วยว่าเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจะเชื่อมโยงทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกัน และวิวัฒนาการเป็นเยื่อที่ประกอบไปด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์หลายล้านเครือข่ายรวมกันเป็น ดาวเคราะห์อัจฉริยะŽ  ในที่สุดเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจะกลายเป็น กระจกวิเศษŽ ที่เคยปรากฏอยู่เพียงแต่ในนิทาน  มันสามารถพูดตอบโต้ด้วยความชาญฉลาดของมนุษยชาติเอง

               อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าปฏิวัติวงการที่สามารถแกะทรานซิสเตอร์ขนาดเล็กลงจากแผ่นซิลิกอน  นักวิทยาศาสตร์คาดว่าแรงขับเคลื่อนที่ไม่หยุดยั้งนี้จะสรรค์สร้างคอม-พิวเตอร์ที่ล้ำยุคและมีสมรรถนะสูงไปจนถึงปี 2020 ที่ในที่สุดกฎเหล็กของฟิสิกส์์ควอนตัมจะรับช่วงต่ออีกครั้งหนึ่ง  เมื่อถึงเวลานั้นขนาดชิ้นส่วนของตัวประเมินผลจะเล็กลงเหลือราวขนาดของโมเลกุล และปรากฏการณ์ควอนตัมจะครอบคลุมทั้งหมดและยุคซิลิกอนในตำนานก็จะสิ้นสุดลง

               เส้นกราฟแสดงการเติบโตของเทคโนโลยีชีวภาพจะน่าตื่นตาไม่น้อยหน้ากันในยุคนี้ในการวิจัยทางชีวโมเลกุล สิ่งที่ขับเคลื่อนความสามารถอันน่าอัศจรรย์ที่จะถอดรหัสความลับแห่งชีวิตคือการนำคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์มาเรียงรหัสดีเอ็นเอแบบอัตโนมัติ  กระบวนการนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไม่ลดละจนกระทั่งราวปี 2020  จนกระทั่งกล่าวได้ว่าสิ่งมีชีวิตหลายพันชนิดจะถูกถอดรหัสดีเอ็นเอ  ก่อนจะถึงตอนนั้นเป็นไปได้ว่าใครก็ตามบนโลกนี้จะมีรหัสดีเอ็นเอของตนเองเก็บไว้ในแผ่นซีดี  ถึงตอนนั้นเราจะมีพจนานุกรมแห่งชีวิต

               ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ผูกพันอย่างลึกซึ้งกับชีววิทยาและการแพทย์  โรคทางพันธุกรรมจำนวนมากจะถูกกำจัดไปโดยการฉีดยีนที่ถูกต้องเข้าไปในเซลล์ของผู้ป่วย  และด้วยสาเหตุที่ขณะนี้ค้นพบว่ามะเร็งเป็นการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม  มะเร็งกลุ่มใหญ่อาจรักษาได้ในที่สุดโดยไม่ต้องผ่าตัดที่รบกวนบริเวณรอบๆ หรือทำเคมีบำบัด  ในทำนองเดียวกัน สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีส่วนในการเกิดโรคติดต่อจะถูกพิชิตในความจริงเสมือนโดยการระบุจุดอ่อนในเกราะหุ้มของพวกมัน และสร้างตัวการทางเคมีโจมตีจุดอ่อนเหล่านั้น  ความรู้ทางโมเลกุลของเราเกี่ยวกับการพัฒนาเซลล์จะก้าวหน้าไปถึงขั้นที่สามารถปลูกทั้งอวัยวะ รวมถึงตับและไตได้ในห้องทดลอง
              
               จากปี 2020 ถึงปี 2050
               คำทำนายถึงการเติบโตอย่างรุนแรงของอำนาจของคอมพิวเตอร์และการถอดรหัสดีเอ็นเอจากบัดนี้จนถึงปี 2020 นั้นอาจดูเหมือนจะหลอกลวงไปเล็กน้อย ในแง่ที่ว่าทั้งคู่นั้นขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว  พลังคอมพิวเตอร์ขับเคลื่อนโดยใส่ทรานซิสเตอร์เข้าไปยังตัวปฏิบัติการขนาดเล็ก  ขณะที่การถอดรหัสดีเอ็นเอทำโดยระบบคอมพิวเตอร์ที่แน่ๆ คือเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่สามารถเติบโตแบบทวีคูณอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ช้าไม่นานก็จะต้องไปติดชะงักที่คอขวด

               เมื่อถึงเวลาประมาณปี 2020 ทั้งคู่จะเผชิญกับอุปสรรคชิ้นใหญ่ เนื่องจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีแผ่นซิลิกอน  ในที่สุดเราจะถูกบังคับให้ประดิษฐ์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ศักย-ภาพยังไม่เคยสำรวจและทดสอบมาก่อน ตั้งแต่คอมพิวเตอร์แสง คอมพิวเตอร์โมเลกุลและคอมพิวเตอร์ดีเอ็นเอ ไปจนถึงคอมพิวเตอร์ควอนตัม  การออกแบบใหม่ที่แหวกแนวจากที่มีอยู่ต้องพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของทฤษฎีควอนตัม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกระทบกระเทือนความก้าวหน้าของวิทยาการคอมพิวเตอร์  ในที่สุดยุคของตัวปฏิบัติการขนาดเล็กจะสิ้นสุดลง และอุปกรณ์ควอนตัมชนิดใหม่ต่างๆ จะมาแทนที่

               ถ้าความยากลำบากในเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เหล่านี้ถูกพิชิตได้ ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2020 ถึงปี 2050 จะเป็นทางเข้าสู่ตลาดแห่งเทคโนโลยีชนิดใหม่โดยสิ้นเชิง  นั่นคือหุ่นยนต์อัตโนมัติที่แท้จริงที่มีสามัญสำนึก สามารถเข้าใจภาษามนุษย์ สามารถจดจำและจัดการวัตถุต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมของพวกมันและสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาด  การพัฒนาดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะแปรเปลี่ยนความสัมพันธ์ของเรากับเครื่องจักรตลอดไป

               ในทำนองเดียวกัน เทคโนโลยีชีวภาพจะเผชิญหน้ากับปัญหาชุดใหม่ก่อนปี 2020สาขาวิชานี้จะท่วมท้นไปด้วยยีนนับล้านๆ ที่หน้าที่พื้นฐานยังคลุมเครืออยู่มาก  แม้แต่ก่อนปี 2020 จุดสนใจจะหันเหจากการถอดรหัสดีเอ็นเอไปสู่การทำความเข้าใจหน้าที่พื้นฐานของยีนซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำได้โดยอัตโนมัติ  และการเข้าใจโรคและลักษณะทางพันธุกรรมที่เกิดจากกลุ่มยีน หรืออีกนัยหนึ่งคือพวกที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาแบบหลายยีน (multiple genes) ที่ยุ่งยากซับซ้อน  การเบนความสนใจมาสู่โรคที่เกิดจากกลุ่มยีน (polygenic diseases) ซึ่งอาจพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่าเป็นกุญแจในการแก้ปัญหาโรคเรื้อรังที่ก่อความทุกข์ทรมานยิ่งบางอย่างที่มนุษย์กำลังเผชิญ ได้แก่ โรคหัวใจโรคไขข้อ โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน โรคจิตเภท และอื่นๆ  มันอาจนำไปสู่การถอดแบบมนุษย์หรือโคลนนิ่งและการแยก ยีนอายุขัยŽ ที่เชื่อกันว่าควบคุมกระบวนการแก่ชราทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้น

               หลังปี 2020 เราคาดหวังว่าจะมีเทคโนโลยีอันน่าทึ่งใหม่ๆ ซึ่งถือกำเนิดในห้องทดลองฟิสิกส์์จะผลิดอกออกผลด้วยเช่นกัน ตั้งแต่เลเซอร์รุ่นใหม่และโทรทัศน์สามมิติไปถึงปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น  ตัวนำยิ่งยวดที่อุณหภูมิปกติอาจจะนำไปใช้ในทางการค้าและทำให้เกิด การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2Ž  ทฤษฎีควอนตัมจะทำให้เราสามารถผลิตเครื่องจักรขนาดเท่าโมเลกุล นำไปสู่เครื่องจักรชนิดใหม่คุณสมบัติพิสดารที่เรียกว่านาโนเทคโนโลยี  ลงท้ายเราอาจสามารถสร้างเครื่องจักรไอออนิกที่อาจทำให้การเดินทางระหว่างดาวเคราะห์เป็นเรื่องธรรมดาในที่สุด
              
               จากปี 2050 ถึงปี 2100 และต่อจากนั้น
               ประการสุดท้าย หนังสือเล่มนี้ทำนายเกี่ยวกับความล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ปี 2050 ถึงต้นศตวรรษที่ 22  ถึงแม้ว่าการทำนายใดๆ เกี่ยวกับอนาคตที่ยาวไกลเช่นนั้นจำเป็นต้องมีความคลุมเครือ  แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่มีแนวโน้มที่จะถูกครอบงำด้วยพัฒนาการใหม่หลายอย่าง  หุ่นยนต์อาจจะเข้าถึง ความรู้สึกตัวŽ และสำนึกในตัวตนพวกมันเองไม่มากก็น้อย  สิ่งนี้เพิ่มประโยชน์ใช้สอยของพวกมันในสังคมได้เมื่อพวกมันสามารถตัดสินใจอย่างอิสระและมีบทบาทเป็นเลขานุการ พ่อบ้าน ผู้ช่วยและลูกมือในทำนองเดียวกันการปฏิวัติดีเอ็นเอจะก้าวหน้าไปถึงจุดที่นักชีวพันธุศาสตร์สามารถสร้างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่จากการโอนถ่ายยีนที่ไม่ใช่เพียงสองสามชิ้น แต่เป็นจำนวนร้อยๆ ทำให้เรามีแหล่งอาหารเพิ่มขึ้น ปรับปรุงยาและสุขภาพ  การปฏิวัติดังกล่าวอาจทำให้เราสามารถออกแบบรูปแบบชีวิตใหม่ และจัดแต่งโครงสร้างทั้งทางกายภาพ และบางทีทางจิตใจของลูกหลานของเรา ที่อาจก่อให้เกิดคำถามด้านจริยธรรมได้ด้วย

               ทฤษฎีควอนตัมสร้างอิทธิพลที่ทรงพลังในศตวรรษต่อไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการก่อกำเนิดพลังงาน  เราอาจเห็นจุดเริ่มต้นของจรวดที่สามารถไปยังดวงดาวใกล้เคียงและแผนการที่จะสร้างอาณานิคมแห่งแรกๆ ในอวกาศ

               หลังปี 2100 นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าจะมีการบรรจบกันของการปฏิวัติทั้งสาม  เมื่อทฤษฎีควอนตัมให้วงจรทรานซิสเตอร์และเครื่องจักรทั้งเครื่องที่มีขนาดเท่าโมเลกุลแก่เราทำให้เราสามารถจำลองแบบคลื่นสมองบนคอมพิวเตอร์  ในยุคนี้นักวิทยาศาสตร์บางคนได้ค้นคว้าเกี่ยวกับการยืดชีวิตโดยการปลูกถ่ายอวัยวะและร่างกาย การจัดการกับองค์ประกอบทางพันธุกรรม หรือแม้แต่เชื่อมต่อกับสิ่งประดิษฐ์ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ไปสู่อารยธรรมของดาวเคราะห์
               เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่น่ามึนงงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับใหญ่ขนาดนี้ มีบางเสียงคอยบอกว่าเรากำลังจะไปไกลและเร็วเกินไป  จนกระทั่งผลกระทบทางสังคมที่คาดไม่ถึงจะถูกปลดปล่อยโดยการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้

               ผมจะพยายามบอกเล่าถึงข้อสงสัยและความกังวลอันสมเหตุสมผลเหล่านี้ โดยสำรวจอย่างระมัดระวังถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมที่อาจจะอ่อนไหวต่อการปฏิวัติที่ทรงอำนาจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพวกมันทำให้ความแตกแยกที่มีอยู่ในสังคมนั้นแย่ลงไปอีก

               ยิ่งไปกว่านั้น เราจะตั้งคำถามหนึ่งที่ไกลตัวเรายิ่งกว่า นั่นคือเรากำลังรีบไปที่ไหนกัน ถ้ายุคหนึ่งของวิทยาศาสตร์กำลังสิ้นสุดลง และอีกยุคหนึ่งกำลังเริ่มต้นขึ้น แล้วทั้งหมดนี้กำลังนำเราไปยังแห่งหนใด?

               นี่คือคำถามของนักฟิสิกส์์ดาราศาสตร์ผู้กวาดสายตาไปตามท้องฟ้าเพื่อมองหาสัญญาณที่แสดงถึงอารยธรรมต่างดาวที่อาจจะก้าวหน้ากว่าเรามาก  มีดวงดาวประมาณ 2 แสนล้านดวงในกาแล็กซี่ของเรา และมีกาแล็กซี่อยู่ล้านล้านล้านกาแล็กซี่ในอวกาศ แทนที่จะสูญเงินเป็นล้านๆ ดอลลาร์ในการสุ่มเสาะหาสัญญาณที่แสดงถึงสิ่งมีชีวิตต่างดาวในหมู่ดวงดาวทั้งหมด  นักฟิสิกส์์ดาราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสืบเสาะเหล่านี้ได้พยายามมุ่งไปที่การสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของพลังงานและร่องรอยของอารยธรรมที่ก้าวหน้ากว่าเราหลายศตวรรษหรือหลายพันปี
               นักฟิสิกส์์ดาราศาสตร์ผู้ซึ่งคอยกวาดตามองท้องฟ้าได้ประยุกต์ใช้กฎทางอุณหพลศาสตร์และพลังงาน และสามารถแบ่งแยกอารยธรรมต่างดาวที่สมมุติฐานไว้เป็นสามประเภทตามวิธีการใช้พลังงาน  นักดาราศาสตร์ชาวรัสเซียชื่อนิโคไล คาร์ดาเชฟ (Nikolai Kardashev) และนักฟิสิกส์์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันชื่อฟรีแมน ไดสัน (Freeman Dyson) ตั้งชื่อชนิดไว้ว่าอารยธรรมแบบที่หนึ่ง สอง และสาม

               สมมุติว่าการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานในแต่ละปีอยู่ในอัตราที่ไม่สูงนัก ใครก็คาดคะเนอนาคตข้างหน้านับศตวรรษได้เมื่อแหล่งพลังงานบางอย่างจะหมดสิ้น บีบให้สังคมก้าวสู่ระดับต่อไป

               อารยธรรมแบบที่หนึ่งคืออารยธรรมที่ควบคุมพลังงานทุกชนิดบนโลก  อารย-ธรรมดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนดินฟ้าอากาศ ทำเหมืองในมหาสมุทร หรือดึงพลังงานจากศูนย์กลางดาวเคราะห์ของพวกเขาได้  ความต้องการทางพลังงานนั้นมีมากจนกระทั่งพวกเขาต้องเอาทรัพยากรที่มีศักยภาพของทั้งดาวเคราะห์มาใช้  การนำมาใช้และจัดการทรัพยากรขนาดใหญ่เช่นนี้ต้องการความร่วมมือในระดับที่ซับซ้อนผ่านการสื่อสารโดยรวมที่ละเอียดถี่ถ้วน  นี่หมายความว่าพวกเขาต้องเข้าถึงอารยธรรมของทั้งดาวเคราะห์อย่างแท้จริง คือเป็นแบบของอารยธรรมที่ได้วางมือเกือบทั้งหมดจากการดิ้นรนตามกลุ่มผลประโยชน์ ศาสนา นิกาย ชนชาติที่แบ่งแยกต้นกำเนิดของพวกเขา

               อารยธรรมแบบที่สองคืออารยธรรมที่ควบคุมพลังงานของดวงดาว  ความต้องการพลังงานนั้นมากมายมหาศาลจนกระทั่งพวกเขาได้ใช้ทรัพยากรบนดาวเคราะห์จนหมด และต้องใช้ดวงอาทิตย์เองในการขับเคลื่อนเครื่องจักรของพวกเขา  ไดสันคาดว่าการสร้างทรงกลมขนาดมหึมารอบๆ ดวงอาทิตย์ อารยธรรมดังกล่าวอาจจะสามารถนำพลังงานทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์มาใช้  พวกเขาเริ่มการสำรวจและตั้งอาณานิคมที่ระบบดวงดาวใกล้เคียงด้วยเช่นกัน

               อารยธรรมแบบที่สามคืออารยธรรมที่ได้ใช้พลังงานที่ออกมาจากดาวดวงหนึ่งไปหมดแล้ว  พวกเขาต้องไปยังระบบดาวและกลุ่มกาแล็กซี่ใกล้ๆ และวิวัฒนาการไปเป็นอารยธรรมกาแล็กซี่ในที่สุด  พวกเขาได้รับพลังงานจากการนำพลังงานของกลุ่มดาวต่างๆ ในกาแล็กซี่มาใช้

               (เพื่อให้รู้สึกถึงขอบเขต สหพันธรัฐแห่งดาวเคราะห์ที่บรรยายถึงในเรื่องสตาร์เทร็ก (Star Trek) อาจพิจารณาได้ว่าอยู่ในสถานะเริ่มของแบบที่สอง  เพราะพวกเขาเพิ่งจะสามารถจุดระเบิดดวงดาวและก่อตั้งอาณานิคมในระบบดาวใกล้เคียงได้ 2-3 ระบบ)

               ระบบการแบ่งแยกประเภทอารยธรรมนี้เป็นระบบที่สมเหตุสมผลเพราะว่ามันพึ่งพาแหล่งพลังงานใช้สอยที่มี  อารยธรรมที่ก้าวหน้าทางอวกาศจะมีแหล่งพลังงานทั้งสามอยู่ในกำมือในที่สุด อันได้แก่ ดาวเคราะห์ ดวงอาทิตย์ และกาแล็กซี่ของพวกเขา ไม่มีทางเลือกอื่นอีก

               จากอัตราการเติบโตที่ไม่สูงมากคือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่พบโดยทั่วไปบนโลก  เราคำนวณได้ว่า เมื่อใดดาวเคราะห์ของเราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สถานะที่สูงกว่าในกาแล็กซี่แห่งนี้ ตัวอย่างเช่น นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ประมาณบนพื้นฐานของการพิจารณาด้านพลังงานว่าสัดส่วนหมื่นล้านเท่าอาจแบ่งผลต่างของความจำเป็นด้านพลังงานระหว่างอารยธรรมหลากหลายประเภท  ถึงแม้ว่าในตอนต้นตัวเลขมหาศาลนี้อาจจะดูเหมือนอุปสรรคที่ไม่สามารถข้ามผ่านไปได้ แต่อัตราการเติบโตที่คงตัวที่ 3 เปอร์เซ็นต์ก็จะเอาชนะสัดส่วนนี้ได้  ที่จริงแล้วเราคาดได้ว่าน่าจะไปถึงสถานะของแบบที่หนึ่งภายในหนึ่งหรือสองศตวรรษ เพื่อจะไปถึงสถานะของแบบที่สองอาจใช้เวลาไม่เกินประมาณ 800

ปี  แต่เพื่อไปให้ถึงสถานะของอารยธรรมแบบที่สามอาจใช้เวลาถึง 10,000 ปี หรือมากกว่านั้น (ขึ้นกับฟิสิกส์์ของการเดินทางระหว่างดวงดาว)  แต่แม้แต่เรื่องนี้ก็เป็นเพียงพริบตาเดียวจากมุมมองของจักรวาลที่มีอายุยืนนาน

               ตอนนี้เรากำลังอยู่ที่ไหน? คุณอาจจะถาม  ปัจจุบันนี้เราเป็นอารยธรรมชนิด 0กล่าวได้ว่าเราเพียงใช้พืชที่ตายแล้ว (ถ่านหินและน้ำมัน) เพื่อเป็นพลังงานเครื่องจักรของเรา  ในระดับดาวเคราะห์ เราก็เหมือนเด็กๆ ที่กำลังก้าวย่างอย่างลังเลและงุ่มง่ามไปสู่อวกาศ  แต่ก่อนจะสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 พลังที่มิอาจต้านทานของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ทั้งสามจะบังคับชาติต่างๆ บนโลกให้ร่วมมือกันในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์  ก่อนจะถึงศตวรรษที่ 22 เราจะมีพื้นฐานสำหรับอารยธรรมแบบที่หนึ่งเรียบร้อยแล้ว และมนุษยชาติจะได้ย่างก้าวเป็นครั้งแรกไปสู่ดวงดาว
               การปฏิวัติข้อมูลข่าวสารกำลังสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งทลายความใจแคบและการยึดติดผลประโยชน์หรือพวกพ้อง และในเวลาเดียวกันก็สร้างสรรค์วัฒนธรรมร่วมกันทั้งโลก  เช่นเดียวกับการที่แท่นพิมพ์กูเตนเบิร์กทำให้ผู้คนรู้ถึงโลกอื่นๆ ภายนอกหมู่บ้านหรือชุมชนของพวกเขา  การปฏิวัติข้อมูลกำลังก่อสร้างและลอกเลียนวัฒนธรรมร่วมแห่งดาวเคราะห์จากวัฒนธรรมที่เล็กกว่านับพัน

               นี่หมายความว่าสักวันหนึ่งการเดินทางที่พุ่งสุดตัวสู่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะนำพวกเราให้วิวัฒนาการไปสู่อารยธรรมแบบที่หนึ่งอย่างแท้จริง  อารยธรรมแห่งดาวเคราะห์ที่นำพลังแห่งดาวเคราะห์ไปใช้อย่างแท้จริง การเดินทางไปสู่อารยธรรมแห่งดาวเคราะห์จะเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่สม่ำเสมอ  ในขณะเดียวกันไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะต้องเต็มไปด้วยความพลิกผันและอุปสรรคขวากหนามที่ไม่คาดคิด  ในเบื้องหลังย่อมเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ การระบาดของโรคติดต่อที่รุนแรงถึงตาย หรือการพังทลายของสิ่งแวดล้อมในการขวางกั้นไม่ให้การพังทลายเช่นนั้นเกิดขึ้น  ผมคิดว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มีศักยภาพในการสร้างแรงที่จะดึงมนุษยชาติไปสู่อารยธรรมแบบที่หนึ่ง

               เรายังอยู่ห่างไกลจากโอกาสที่จะได้เห็นการสิ้นสุดของวิทยาศาสตร์  เราจะเห็นว่าการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ทั้งสามกำลังปลดปล่อยพลังที่อาจจะมีอำนาจมากพอที่จะยกระดับอารยธรรมของพวกเราเข้าสู่สถานะของแบบที่หนึ่ง  ดังนั้น เมื่อนิวตันเพียงผู้เดียวเริ่มจ้องมองมหาสมุทรแห่งความรู้อันกว้างใหญ่ที่ไม่มีใครสำรวจไว้มาก่อน  เขาคงไม่เคยตระหนักว่าปฏิกิริยาลูกโซ่แห่งเหตุการณ์ที่เขาและคนอื่นๆ ได้เริ่มต้นขึ้นจะกระทบสังคมยุคใหม่ทั้งหมดในวันหนึ่ง  สังคมซึ่งในที่สุดจะหลอมรวมเป็นอารยธรรมแห่งดาวเคราะห์และขับดันมันสู่เส้นทางแห่งดวงดาว

source:http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1315806767&grpid=no&catid=&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น