วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

BIG STORY : แมกไซไซ คนดีศรีเอเชีย

ฟิลิปปินส์ 1 ก.ย.-BIG STORY วันนี้ ภูมิใจนำเสนอเรื่องราวคุณงามความดีของผู้คนในเอเชียที่ได้อุทิศตนช่วยเหลือสังคมและเพื่อนมนุษย์ที่ยากจนและด้อยโอกาสให้สามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี วันนี้ผลงานของพวกเขาได้รับการยกย่องและเชิดชูบนเวทีประกาศผลรางวัล “แมกไซไซ” ที่เปรียบเสมือนรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในภูมิภาคเอเชียของเรา

รางวัลแมกไซไซอันทรงเกียรติประจำปีนี้ ตกเป็นของผู้อุทิศตนช่วยเหลือสังคมอย่างไม่รู้เหน็ด รู้เหนื่อย จากประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ผู้ที่ร่วมกันสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยลดปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

คนเก่งและคนดีคนแรก คือ นายฮาริช ฮันเด วิศวกรจากเมืองบังกาลอร์ของอินเดีย ที่นำความรู้ที่ได้จากสถาบันเอ็มไอทีของสหรัฐ มาพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีราคาถูก เพื่อนำแสงสว่างและพลังงานความร้อนไปสู่ชาวอินเดียผู้ยากไร้ในชนบทนับล้านชีวิต

ฮันเดกล่าวว่า ไฟฟ้าสำหรับคนจนจะขายแบบธุรกิจหวังผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เขาจึงดำเนินธุรกิจร่วมกับธนาคารในท้องถิ่นและระบบสหกรณ์เพื่อคืนกำไรสู่สังคมด้วย เขาเชื่อว่านี่คือรูปแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผู้ได้รับการประกาศเกียรติคุณคนที่ 2 คือ ผู้อุทิศตนจากอินเดียเช่นกัน เธอผู้นี้คือ นีลีมา มีชรา จากหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในรัฐ มหาราษฏระ ผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือสตรีให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยศูนย์จะให้ความรู้สตรีเหล่านี้ตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้า ระบบการตลาด บัญชี รวมถึงการใช้คอมพิวเตอร์ จนทำให้พวกเธอเหล่านี้สามารถต่อยอดการผลิตสินค้าส่งไปขายยังรัฐใกล้เคียงได้ด้วย มิชราบอกว่า หากความต้องการพื้นฐานของคนเหล่านี้ได้รับการเติมเต็ม พวกเขาก็พร้อมจะปฏิรูปสังคม โดยสังคมที่แข็งแรงต้องเริ่มต้นที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ก่อน

ส่วนคนดีจากอินโดนีเซีย ได้แก่ นายฮาซาเนน จูเอนี นักสอนศาสนาชาวมุสลิม ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เขาท้าทาย วัฒนธรรมท้องถิ่นของอินโดนีเซีย ที่มุ่งส่งเสริมการศึกษาเฉพาะเด็กผู้ชาย ด้วยการเปิดโรงเรียนมัธยมกินนอนสำหรับเด็กหญิงขึ้นเป็นแห่งแรกในจังหวัดลอมบ็อก

นางตรี มัมปูนี จากจังหวัดชวาของอินโดนีเซีย เป็นอีกผู้หนึ่งที่นำเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กมาให้แสงสว่างแก่คนจนนับล้านชีวิต เธอบอกว่าจะต้องมีการแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ผู้คนในทุกระดับชั้นอย่างเท่าเทียมกัน

คนสุดท้ายได้แก่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกัมพูชา นายกูล พันฮา ผู้ปลุกกระแสประชาธิปไตยภาคประชาชนขึ้นในระบบการเมืองของกัมพูชา ที่เต็มไปด้วยการเลือกตั้งที่สกปรก เขาก่อตั้งกลุ่ม “คอมเฟรล” คอยสอดส่องการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2536 และยังจัดตั้งกลุ่ม “จับตา ส.ส.” โดยจะมีการประกาศคะแนนความประพฤติของ ส.ส.ให้สาธารณชนได้รับรู้ด้วย

รางวัลนี้ยังมอบให้กลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในฟิลิปปินส์ ที่ดัดแปลงอุปกรณ์ปั๊มน้ำจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ผันน้ำจากแม่น้ำขึ้นไปหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของผู้คนยากจนบนภูเขา โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าและแก๊ส นวัตกรรมที่สร้างสรรค์สุดยอดนี้ยังถูก ถ่ายทอดไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีภูเขาอย่างอัฟกานิสถานและเนปาลด้วย

รางวัลแมกไซไซก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ ของฟิลิปปินส์ ผู้ล่วงลับจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2500 หรือ 54 ปีมาแล้ว เพื่อเชิดชูเกียรติให้คนทำดีในสังคมได้มีกำลังใจ ประกอบคุณงาม ความดี สร้างสรรค์ สังคมเอเชียให้น่าอยู่ตลอดไป.-สำนักข่าวไทย



source:http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/261214.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น