วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

โครงสร้างราคาน้ำมันป่วนไม่หยุด "หม่อมอุ๋ย"ลั่น3เดือนรัฐต้องถอย

ลดราคาน้ำมันเบนซิน-ดีเซลป่วนหนัก หลังคนแห่เติมน้ำมันเบนซิน 91 มากกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ตลอด 4 วันที่ผ่านมา รมว.พลังงานต้องเรียกประชุม กบง.ด่วนเพื่อถ่างส่วนต่างราคาน้ำมัน สุดท้ายหมดท่าต้องหันมาใช้วิธีเก่า ๆ ด้วยการลดเงินจัดเก็บเข้ากองทุนฯ และเพิ่มชดเชยราคาน้ำมันให้ผู้ค้า กองทุนน้ำมันใกล้หมดสภาพ ชักหน้าไม่ถึงหลัง เหตุกระทรวงการคลังยืนกระต่ายขาเดียวไม่ยอมยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอีก



ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานความลักลั่นของราคาน้ำมันในประเทศได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างราคาและการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอย่างใหญ่หลวง เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตัดสินใจดำเนินประกาศลดราคาน้ำมันเบนซิน-ดีเซลโดยไม่ดูสภาพความเป็นจริงของโครงสร้างราคาน้ำมันแก๊สโซฮฮล์ และภาระการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อใช้หนี้ค้างชำระ ตลอดจนความจำเป็นในการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภายในประเทศ

ส่งผลให้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดความวุ่นวายขึ้นในระบบโครงสร้างราคาน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันเบนซิน 91 ซึ่งตามปกติจะมีราคาห่างจากน้ำมันแก๊ส โซฮอล์ 91 (E10) อยู่ประมาณ 7 บาท/ ลิตร ถูกทำให้มีส่วนต่างแคบเข้ามาไม่ถึง 1 บาท/ลิตร จากการประกาศยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเป็นการชั่วคราว (ลิตรละ 7-8 บาท) ผลของการลดราคาน้ำมันดังกล่าว ทำให้ผู‰ใช้รถแห่ไปเติมเบนซิน 91 จนหมดสถานีบริการ ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91/95 ทั้ง E10-20 มียอดจำหน่ายลดลงอย่างน่ากลัว ตามด้วยคำถามทั้งจากหน่วยงานราชการเอง กับบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ที่ว่า

1)เงินที่ได้รับจากการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากน้ำมันเบนซิน 91/95 -ดีเซล ที่หายไปเดือนละ 6,160 ล้านบาท จะนำมาชดเชยให้กับกองทุนน้ำมันอย่างไร ในขณะที่กองทุนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรักาาเสถียรภาพราคาน้ำมันภายในประเทศ 2)นโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนภายใต้หลักการการกำหนดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ "ต่ำกว่า" น้ำมันเบนซินเพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นอย่างที่ดำเนินการมาโดยตลอด จะทำอย่างไร

3)ภาษีสรรพสามิตที่ "ยกเว้น" สำหรับน้ำมันดีเซล เพื่อตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ซึ่งกำลังจะหมดอายุการยกเว้นลงในสิ้นเดือนกันยายนจะทำอย่างไร หากรัฐบาลเลือกที่จะต่ออายุมาตรการนี้ออกไปอีก ส่งผลให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้จากภาษีน้ำมันดีเซลหายไปถึงปีละ 1 แสนล้านบาท และ 4)การลดราคาน้ำมันไม่ช่วยให้เกิดการประหยัด ส่งผลให้ประเทศต้องนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น

คลังไม่ยอมลดภาษีสรรพสามิต

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังดำเนินการอยู่ถือเป็นการ "บิดเบือน" โครงสร้างราคาน้ำมันครั้งใหญ่ จากเหตุผลที่ว่า รัฐบาลเลือกที่จะลดราคาน้ำมันเบนซิน โดยอาศัยกลไกของกองทุนน้ำมันเข้ามา บริหาร ในขณะที่กองทุนน้ำมันกำลังตกอยู่ในสถาวะ "รายรับ" ไม่พอ "รายจ่าย" ที่ต้องใช้ไปในการอุดหนุนทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ราคารน้ำมันแก๊สโซฮฮล์ และ การใช้หนี้ค้างชำระที่เป็นผลมาจากการตรึงราคาน้ำมันในอดีต รวมเบ็ดเสร็จไม่ต่ำกว่า 14,800 ล้านบาท



"รัฐบาลใช้กองทุนน้ำมันจนเกินกว่าความสามารถที่กองทุนจะแบกรับภาระได้ การลดราคาเบนซิน-ดีเซลลงในครั้งนี้เหมือนกับฟางเส้นสุดท้าย กองทุนปัจจุบันแทบจะไม่มีรายรับเข้ามาอีกแล้วเพราะ รายรับจากน้ำมันเบนซิน 95 ที่เรียกเก็บเงินลิตรละ 7.50 บาท เบนซิน 91 ลิตรละ 6.70 บาท กับ ดีเซลลิตรละ 2.80 บาทถูกนำไปใช้ลดราคาน้ำมันในครั้งนี้จนหมดแล้ว ส่งผลให้กองทุนมีรายรับเหลืออยู่แค่ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 E10 ที่เรียกเก็บอยู่ลิตรละ 2.40 บาท ก๊าซ LPG กก.ละ 1.24 บาท น้ำมันเตา/น้ำมันก๊าดอีกนิดหน่อย นอกจากนี้กองทุนยังมีภาระต้องอุดหนุนส่วนต่างราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 กับ E20 ให้กับผู้ค้าน้ำมันอีกลิตรละ 13.50 บาทและ 1.30 บาท/ลิตรตามลำดับ" แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนความคิดที่ว่ารัฐบาลจะใช้วิธีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตด้วยการต่ออายุมาตรการยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล (5.70 บาท/ลิตร) ออกไปอีก เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเวลให้อยู่ในระดับ 26.99 บาท/ลิตรตามที่หาเสียงเอาไว้ และ ใช้กลไกการยกเว้นภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากน้ำมันแก๊ส โซฮอล์-เบนซิน 91/95 ที่จัดเก็บอยู่ระหว่าง 5-7 บาท/ลิตรนั้น

"กรมสรรพสามิตในฐานะเป็นกรมที่หารายได้เข้ารัฐคงยอมรับไม่ได้ที่จะให้ยกเว้นหรือลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทุกประเภทลงอีก เพื่อใช้แก้ปัญหาส่วนต่างระหว่างน้ำมันเบนซิน 91 กับ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ให้เพิ่มมากขึ้นเพราะ ลำพังมาตรการชั่วคราวในการยกเว้นภาษีสรรพสามิตดีเซลที่คาดว่า จะต้องต่ออายุออกไปนั้น ก็เป็นภาระหนักหนาที่กรมสรรพสามิตจะต้องหารายได้จากการเก็บบภาษีประเภทอื่น ๆ มาชดเชยอยู่แล้ว"แหล่งข่าวกล่าว

ผู้ค้าป่วน ปรับตัวรับราคาใหม่

นายเอเดรียน เบนเด็ก ประธานกรรมการและผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัทเชฟรอน (ไทย) จำกัด (น้ำมันคาลเท็กซ์) กล่าวถึง การลดราคาน้ำมันตามนโยบายของรัฐบาลว่า ถือเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ จากจำนวนสถานีบริการน้ำมันคาลเท๊กซ์ปัจจุบันมีเพียง 80 แห่งที่มีน้ำมันเบนซิน 95 จำหน่าย เมื่อนโยบายรัฐบาลออกมาในลักษณะนี้ ทางคาลเท็กซ์ได้วางแผนที่จะเพิ่มสถานีบริการที่มีน้ำมันเบนซิน 95 จำหน่ายเพิ่มเป็น 120 แห่งให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ โดยคาลเท็กซ์ยังคงให้บริการน้ำมัน ครบทุกประเภท ทั้งน้ำมันเบนซินคาลเท็กซ์ เทครอน 95 และ 91 น้ำมันแก๊สโซฮอล์คาลเท็กซ์เทครอน 95 และ 91 และน้ำมันดีเซลคาลเท็กซ์ เทครอน ดี และเพื่อความสะดวกให้ลูกค้าให้สังเกตุ ป้ายแสดงว่า "ที่นี่ จำหน่ายเบนซิน 95"

ขณะที่แหล่งข่าวจาก บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการชะลอการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมัน 3 ประเภทคือ น้ำมันเบนซิน 91 เบนซิน 95 และน้ำมันดีเซล จนส่งผลให้ผู้ใช้หันไปเติมน้ำมันเบนซินมากขึ้นเมื่อเทียบกับน้ำมันแก๊ส โซฮอล์นั้นเชื่อว่า จะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น รวมถึงขณะนี้ผู้ใช้อยู่ในภาวะ "ตื่นเต้น" ที่ราคาน้ำมันเบนซินลดลงทันทีสูงสุดถึง 7 บาท ส่งผลให้หันกลับมาเติมน้ำมันกลุ่มเบนซินมากขึ้น จนเกิดเหตุการณ์น้ำมันไม่พอจำหน่ายในสถานีบริการพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล

"ด้วยความที่นโยบายน้ำมันเปลี่ยนได้ง่าย เอสโซ่เราจึงไม่ปรับอะไรตอนนี้ ในอนาคตรัฐบาลอาจจะกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อเพิ่มส่วนต่างให้น้ำมันเบนซินปกติกับแก๊สโซฮอล์ 2-4 บาท/ ลิตรก็ได้ หรือ มีวิธีการลดส่วนต่างของราคาเบนซินกับแก๊สโซฮอล์ ถึงตอนนั้น ผู้ใช้ก็จะกลับมาเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เหมือนเดิม"

ด้าน นายสรัญ รังคสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการลดราคาน้ำมันที่ออกมายังไม่ได้ส่งผลให้ บริษัท ปตท. ต้องปรับแผนการจำหน่ายน้ำมันหน้าสถานีบริการ ด้วยการเพิ่มการจำหน่ายน้ำมันเบนซินให้มากขึ้นกว่าปกติ โดยเฉลี่ยในช่วง 3 วันที่ผ่านมามียอดการใช้น้ำมันเบนซิน 91 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 หรือจากเดิมที่มีการใช้น้ำมันเบนซิน 91 อยู่ที่ 2 ล้านลิตร/วันได้ปรับเพิ่มเป็น 3-4 ล้านลิตร/วัน

กลับลำหนุนคนใช้โซฮอล์ 91-95

ความผิดพลาดในการลดราคาน้ำมันเบนซินลงจนใกล้เคียงกับราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ทำให้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องเรียกประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ยที่ประชุม กบง. มีมติ 1)ลดการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันจากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลง 95 ลง 1.07 บาท/ลิตร (รวม VAT) จากเดิมที่เก็บอยู่ 2.40 บาท/ลิตร 2)เพิ่มการชดเชยให้กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ที่ 1.60 บาท/ลิตร จากเดิมที่เก็บอยู่ 10 สตางค์/ลิตร และ 3)เพิ่มการชดเชยราคาให้กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ที่ 1.60 บาท/ลิตรจากเดิมที่ชดเชยอยู่ 2.80 บาท/ลิตร (ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันราคาใหม่ตามตารางประกอบ)

"มติ กบง.ครั้งนี้ ส่งผลราคาน้ำมันแก๊สโซฮฮล์ E10 ถูกกว่าน้ำมันเบนซิน 91 อยู่ 3.03 บาท/ลิตร และ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ถูกกว่า 4.50 บาท/ลิตร เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้รถหันกลับมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์เหมือนเดิม ในขณะที่รัฐบาลก็สามาถทำตามสัญญาด้วยการลดราคาน้ำมันเบนซิน-ดีเซลลงให้แล้ว แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นก็คือ กองทุนน้ำมัน กำลังเข้าใกล้ภาวะขาดสภาพคล่องเข้าไปทุกทีเพราะรัฐบาลเลือกใช้วิธีลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนจากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และยังนำเงินกองทุนไปอุดหนุนราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อีกลิตรละ 1.60 บาทมให้กับบริษัทผุ้ค้าน้ำมัน หลังจากที่กระทรวงการคลังไม่ยอมที่จะให้นำมาตรการยกเว้นภาษีสรรพสามิตกลับมาใช้อีก" แหล่งข่าวกล่าว

ด้าน นายศิวะนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน(สบพ.) กล่าวถึงสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันมีเงินสดสุทธิในบัญชี 16,707 ล้านบาท เมื่อรวมกับภาระที่หายไปจากการยกเลิกการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯจากน้ำมัน 3 ประเภทก่อนหน้านี้ และภาระครั้งล่าสุดเพื่อเพิ่มส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันเบนซิน กับราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ แล้ว กองทุนน้ำมันจะติดลบทางบัญชีอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท/เดือน โดยยังคงมีรายได้ประมาณ 600 ล้านบาท/เดือนจากการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากน้ำมันเตา น้ำมันก๊าด และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)

"เงินสดในบัญชีที่เหลืออยู่ดังกล่าว ผมเชื่อว่า จะทำให้กองทุนน้ำมันยังคงพยุงตัวต่อไปได้จนถึงเดือนมกราคม 2555 ส่วนกองทุนน้ำมันจะต้องกู้ยืมเงินหรือไม่นั่น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร แต่ขณะนี้ยืนยันว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินแต่อย่างใด" นายศิวะนันท์กล่าว

"หม่อมอุ่ย" ฟันธง 3 เดือนถอย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงนโยบายชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลไม่ครบเครื่อง ทำให้โครงสร้างตลาดบิดเบือน เพราะส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน 91 และแก๊สโซฮอล์ 91 มีราคาใกล้กันมากส่วนต่างแค่ 25 สตางค์ ทำให้ผู้บริโภคก็จะหันกับไปใช้เบนซิน 91 ผลกระทบคือทำลายโครงสร้างการส่งเสริมพลังงานทางเลือก

"โครงสร้างเดิมไม่ทำอะไรก็ครบเครื่องอยู่แล้ว เพราะส่วนต่างของราคาน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์และดีเซลกับไบโอดีเซลกว้างพอที่จะดึงให้คนไปใช้พลังงานทางเลือก มีผลต่อการประหยัดพลังงาน การนำเข้าน้ำมันดิบลดลง ทั้งยังทำให้ราคามันสัมปะหลัง ปาล์ม ที่มาทำเอทานอล ทำไบโอดีเซลมีราคาดีขึ้น และทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้นส่งผลถึงการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ เพราะพืชสองชนิดนี้ทำให้ ชาวไร่ชาวนามีรายได้มากขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา"

นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า เชื่อว่านโยบายนี้จะอยู่ได้ไม่นานสัก 3 เดือนรัฐบาลก็จะต้องแก้ เพราะผลกระทบที่ตามมาจะรับไม่ไหว เพราะเมื่อการใช้พลังงานทางเลือกลดลง การนำเข้าน้ำมันดิบก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อดุลการค้าอีก ปัญหาจะรุมเร้าบีบให้รัฐบาลต้องแก้นโยบาย ไม่แก้ไม่ได้ เพราะผลกระทบไปไกลกว่าที่คิด

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการหารือกับกรมสรรพสามิต ว่าจากนี้ต่อไป 6 เดือน รัฐบาลจะไม่มีการปรับโครงสร้างภาษีน้ำมัน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายชะลอการนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน และมาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมาจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตตลอดทั้งปีแน่นอน ส่วนระยะเวลามาตรการยกเว้นการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลที่กำลังจะมีผลสิ้นสุดในวันที่ 1 ก.ย.นี้ทางกระทรวงการคลัง จะเสนอให้มีการขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือน
source:http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1314840115&grpid=00&catid=&subcatid=



พิชัยเร่งสนพ.ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน



สนพ. เผย พิชัย เร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงาน LPG ครัวเรือนขึ้น ไตรมาสละ 50 สต. - 1 บาท ขนส่ง 3 บาท 4 ไตรมาส

 
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. เปิดเผยว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้ สนพ.เร่งศึกษาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ โดยในส่วนของก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ภาคครัวเรือน หากจะปรับขึ้นจะขึ้นประมาณไตรมาสละ 50 สต. - 1 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันถูกตรึงราคาอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาเท่ากับภาคขนส่ง ส่วนราคาภาคขนส่งจะขยับราคาสูงขึ้นให้ใกล้เคียงกับภาคอุตสาหกรรม ที่มีการปรับขึ้นราคาไตรมาสละ 3 บาทต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 4 ไตรมาส โดยทั้ง 2 ภาค จะดำเนินการก็ต่อเมื่อมีการจัดทำคูปอง และบัตรเครดิตพลังงาน ออกมาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

Link : http://www.innnews.co.th/พิชัยเร่งสนพ-ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน--305755_02.html                                                           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น