วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

คนไทยควรฉลาดในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้

ความล้มเหลวของการจัดการศึกษาแบบท่องจำและมองปัญหาแบบแยกเป็นส่วนๆ โดยไม่เข้าใจภาพใหญ่ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ขาดความรู้

ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวม เวลาเกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เห็นได้ชัดเจน เช่นน้ำท่วม ดินถล่ม ก็มักจะคิดว่าเป็นเรื่องภัยทางธรรมชาติที่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของใคร และรัฐบาลชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบบรรเทาทุกข์ โดยไม่ได้มองอย่างเป็นระบบว่าเพราะเราตัดไม้ทำลายป่า เพื่อทำเกษตรสมัยใหม่ รีสอร์ท, บ้าน, สร้างถนนอาคารกีดขวางทางเดินน้ำมาก จึงทำให้เกิดปัญหาบ่อยและร้ายแรงกว่าในสมัยก่อน
 

ปัญหาธุรกิจขนส่งถ่านหินในสมุทรสาครซึ่งสร้างปัญหามลภาวะกระทบอาชีพเกษตรกร ชาวประมงและสุขภาพของประชาชนโดยตรงได้เป็นข่าวขึ้นก็ต่อเมื่อผู้นำในการคัดค้านการขนส่งถ่านหินถูกมือปืนรับจ้างลอบสังหาร แม้คราวนี้ตำรวจจะจับคนร้ายได้ และศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการประกอบกิจการถ่านหินในพื้นที่ แต่ความเป็นจริงก็ยังมีโรงงานลักลอบขนถ่านหินกันอยู่ และรัฐบาลทุกชุดไม่เคยสนใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
 

ถ่านหินนั้นเป็นพลังงานที่ก่อมลภาวะ (ก๊าซพิษ) เป็นอันตรายต่อสุขภาพคนเรามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน แต่เนื่องจากต้นทุนต่ำสำหรับธุรกิจเอกชน จึงยังเป็นที่นิยมใช้อยู่รวมทั้งมีการใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง มีการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย มีการรณรงค์ปลูกต้นไม้และภูมิทัศน์ เพื่อสร้างภาพให้ดูสวยงามน่าอยู่ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องมลภาวะ ด้วยการลงทุนเรื่องการลดมลภาวะอย่างจริงจัง เช่น การกรอง, ดูดเอาก๊าซพิษไปเก็บไว้ชั้นใต้ดิน เพราะต้องเพิ่มต้นทุน
 

การใช้พลังงานอื่นนอกจากถ่านหินแม้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและสินค้าต่างๆ จะสูงขึ้น เราก็ต้องยอมรับ เพราะต้นทุนทางสังคมที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของคนสำคัญกว่าต้นทุนของผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งควรมีแผนการพัฒนาและพลังงานทางเลือกอื่น เพื่อลดหรือเลิกใช้ถ่านหินในที่สุด แม้จะต้องลงทุนมาก ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะสูงกว่า แต่เพื่อประโยชน์สังคมก็ควรจะต้องทำ
 

ปัญหาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีมากกว่านี้และนับวันจะสร้างภัยพิบัติมากขึ้น เพราะคนไทยหรือโดยเฉพาะทั้งนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ สนใจแต่เรื่องการพัฒนาทางธุรกิจ เน้นการลงทุน การเพิ่มผลผลิตและการบริโภคเพื่อหาเงิน หากำไรส่วนตัว โดยไม่เข้าใจว่าการทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงนี่คือ ความเสียหายต่อประชาชนส่วนใหญ่รวมทั้งลูกหลานของเราที่มีมูลค่ามากกว่ากำไรเป็นตัวเงินที่นายทุน นักธุรกิจ คนรวยคนชั้นกลางส่วนน้อยได้ประโยชน์ไปหลายเท่า
 

โครงการถมทะเลเพื่อสร้างเมืองใหม่และขายที่ดินของพรรคเพื่อไทย คือ โครงการที่จะถล่มระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมของไทยที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เรื่องทำนองนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็คิดไม่ต่างกันนัก พวกเขาสนับสนุนการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา ซึ่งไปรุกรานที่ป่าไม้เดิมเพราะเป็นธุรกิจที่ทำเงิน แต่การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมแบบมุ่งแต่เงินนี้คือ ตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม เพิ่มสูงขึ้น โครงการแลนด์บริดจ์ทางภาคใต้ก็จะสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้มกับต้นทุนทางสังคม เช่นเดียวกัน
 

พวกข้าราชการ พลังงานรัฐวิสาหกิจ ธุรกิจพลังงานและอื่นๆ มักคิดแต่เรื่องเติบโตทางเศรษฐกิจคล้ายๆ กัน พวกเขาคิดแต่เรื่องธุรกิจการหาเงิน อยากผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่ม อยากสร้างโรงงานไฟฟ้าเพิ่ม รวมทั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ซึ่งมีปัญหาความเสี่ยงภัยจากกากรังสีรั่วไหลที่สูงมาก บริษัทสำรวจพลังงานแห่งหนึ่งของไทย โฆษณาว่าพวกเขาคือผู้บุกเบิก ผู้พัฒนาให้คนไทย เจริญรุ่งเรืองและจะได้มีพลังงานใช้อย่างไม่รู้จบ นี่คือการหลอกลวง ครอบงำทางความคิด ความเชื่อให้ประชาชนงมงายไม่รู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พลังงานจากฟอสซิลที่สำคัญทั้ง 3 อย่าง คือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินนั้น เป็นพลังงานที่รวมทั้งโลกมีจำนวนจำกัด ใช้หมดแล้วหมดไปเลย น้ำมันทั้งโลก อาจจะถูกใช้หมดไปใน 40-50 ปีข้างหน้า ถ่านหินก็จะหมดตามมา แม้ก๊าซธรรมชาติทั้งโลกยังเหลือมาก แต่พลังงานทั้ง 3 ชนิดนี้ก็จะต้องถูกใช้หมดไปในวันหนึ่ง และปัญหาสำคัญคือการใช้พลังงานถ่านหินและน้ำมันก่อมลภาวะมาก
 

ความจริงของโลกที่ประชาชนควรรู้คือ เราควรใช้พลังงานอย่างประหยัด ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างจริงจัง เปลี่ยนวิธีการผลิต การบริโภคและการใช้ชีวิตแบบลดการบริโภคฟุ่มเฟือยมาใช้เฉพาะที่จำเป็น และใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น ใช้การขนส่งสาธารณะ จักรยาน การเดินแทนรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งใช้น้ำมันมาก สร้างมลภาวะ สร้างปัญหาโรคร้อนและภาวะเรือนเรือนกระจก ซึ่งจะก่ออันตรายอย่างใหญ่หลวงชนิดน้ำจะท่วมโลก ผลผลิตการเกษตรจะลดลง อาหารและน้ำจะขาดแคลน ฯลฯ ประเทศไทยจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ต้องสนับสนุนนโยบายเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม และนโยบายอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง รวมทั้งรัฐไม่ควรอุดหนุนให้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ มีราคาต่ำลงเพื่อการหาเสียงและเน้นการทำให้เศรษฐกิจเติบโต เพราะให้คนใช้พลังงานมากสร้างปัญหาทั้งสิ่งแวดล้อมและประเทศเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ควรจะปล่อยตามราคาตลาดและเก็บภาษีพลังงานในอัตราก้าวหน้า ช่วยอุดหนุนชดเชยเฉพาะคนจนหรือกิจการที่จำเป็น เช่น สำหรับเกษตรกรและเรือประมง
 

ทั้งกระทรวงศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนอื่นๆ ควรสนใจศึกษาและเผยแพร่ ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนเข้าใจอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การจัดงาน ปลูกต้นไม้ ใช้ถุงผ้า ขี่จักรยาน ฯลฯ แบบชั่วครู่ชั่วยาม แต่ต้องวางแผนเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตเพื่อลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานและลดการปล่อยมลภาวะลงให้ได้ทั้งระบบ ประเทศไทยจึงจะเดินหน้าไปอย่างฉลาดพอที่จะอยู่รอดอย่างมีคุณภาพชีวิตพอสมควร ในโลกยุคที่วิกฤติทางเศรษฐกิจสังคมและวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมกำลังตามไล่ล่ามนุษย์เราอย่างรุนแรง


source:http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/wittayakorn_c/20110912/408769/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น